ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ชิมไอติม ‘ศรีเทพ’ เปิดปมลึก ‘สุริยเทพ’ จากยุคโลกแบนสู่โลกกลม

ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องชิมไอติม ‘ศรีเทพ’ เปิดปมลึก ‘สุริยเทพ’ จากยุคโลกแบนสู่โลกกลม ออนแอร์ พฤหัสบดี 25 ม.ค.นี้ 2 ทุ่มตรง 

เมื่อวันที่ 16 มกราคม ที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ นายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และนายสุจิตต์ วงษ์เทศ ผู้ก่อตั้งนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ถ่ายทำรายการ ‘ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว’ ตอน ‘สุริยเทพ เมืองศรีเทพ โลกแบนสู่โลกกลม’ ดำเนินรายการโดย นายธัชชัย ยอดพิชัย ผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสารศิลปวัฒนธรรม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายขรรค์ชัยและนายสุจิตต์ เดินทางเข้าเยี่ยมชมโบราณสถาน ‘เขาคลังนอก’ รับประทานไอศกรีมแท่งที่ได้รับแรงบันดาลใจจากประติมากรรมปูนปั้น ‘เขาคลังใน’ โดยนายขรรค์ชัย เลือกรูปคนแคระรสชาเย็น ส่วนนายสุจิตต์ เลือกรูปสิงห์รสมะพร้าวอ่อน

สุจิตต์ วงษ์เทศ เยี่ยมเขาคลังนอก

จากนั้น เดินทางไปยังที่ทำการอุทยานฯ แล้วโดยสารรถไฟฟ้าไปยังโบราณสถาน ‘ปรางค์สองพี่น้อง’

Advertisement

นายสุจิตต์ กล่าวว่า ศรีเทพ เป็นที่ตั้งของเมืองโบราณศรีเทพ แต่เป็นชื่อใหม่สมัยอยุธยาหรือต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ยังไม่พบหลักฐานว่าชิ่อเดิมคืออะไร แต่ตนเขื่อว่า ศรีเทพ คือ ‘โถโลโปตี้’ หรือ ‘ทวารวดี’ ไม่ใช่นครปฐม เนื่องจากตรงตามตำแหน่งที่ปรากฏในจดหมายเหตุจีนทุกฉบับที่ระบุว่า โถโลโปตี้ หรือ ทวารวดี ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่ใช่ตะวันตก

จากนั้น นายสุจิตต์ กล่าวถึงประติมากรรม ‘สุริยเทพ’ เพียงองค์เดียวที่พบจากการขุดแต่งโบราณสถาน คือ ‘ปรางค์สองพี่น้อง’ ในขณะที่องค์อื่นๆ ไม่ได้พบจากการดำเนินงานทางโบราณคดี ปัจจุบันจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร กรุงเทพฯ โดยมีข้อสังเกตว่า เมืองศรีเทพ พบสุริยเทพมากที่สุดในบรรดาเมืองโบราณทั่วประเทศ คือ อย่างน้อย 5 องค์ และอาจพบเพิ่มอีกในอนาคค

“ปรางค์สองพี่น้อง นักโบราณคดีทั้งประเทศมีความเห็นสอดคล้องกันว่าส่งอิทธิพลต่อกรุงศรีอยุธยา เป็นพยานหลักฐานชัดเจนว่าเป็นบรรพชนของปรางค์สมัยอยุธยาหลายองค์ ที่สำคัญคือพระปรางค์วัดพุทไธสวรรย์ และพระปรางค์วัดราชบูรณะ” นายสุจิตต์ กล่าว

Advertisement
จากซ้าย ธัชชัย ยอดพิชัย, ขรรค์ชัย บุนปานและสุจิตต์ วงษ์เทศ ถ่ายทำรายการหน้าปรางค์สองพี่น้อง ในอุทยานฯ ศรีเทพ

นายสุจิตต์ กล่าวว่า สาเหตุที่ตนตั้งชื่อตอนว่า ‘สุริยเทพ เมืองศรีเทพ โลกแบนสู่โลกกลม’ เนื่องจากต้องการอธิบายว่า ในอดีตเมื่อครั้งทีาคนเชื่อกันว่าโลกแบน เรารับความเชื่อเรื่องสุริยเทพมาจากอินเดีย โดยถือเป็นเทวดาแห่งแสงสว่าง ดวงอาทิตย์ทำให้เกิดกลางวัน-กลางคืน

“กลางคืนสลัว บางทีมืดมิด สิ่งที่มนุษย์กลัวคือความมืด แต่ในอีกแง่ คนก็อยู่กับความมืดได้ ความกลัวทำให้เกิดจินตนาการ เดิมเชื่อกันว่าโลกแบน พระอาทิตย์หมุนรอบเขาพระสุเมรุ
ต่อมา ชาวยุโรปพิสูจน์ว่าโลกกลม และหมุนรอบดวงอาทิตย์ ซึ่งปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ความรู้ใหม่จากยุโรปแพร่เข้ามา” นายสุจิตต์กล่าว

นายสุจิตต์ กล่าวว่า สุริยเทพคือสัญลักษณ์ของอำนาจที่คุมเวลา นับเป็นอำนาจที่มีพลังสูงส่ง

“สุริยเทพแพร่เข้ามาในช่วงหลัง พ.ศ.1000 ผมเชื่อว่าการที่ชนชั้นนำเป็นผู้กำหนดเวลา ฤกษ์ยามต่างๆ ทำให้คนเลื่อมใส มีประเพณีสิบสองเดือน ปรากฏวรรณคดีเรื่อง ทวาทศมาส ซึ่งแต่ขึ้นสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เราพบหลักฐานว่า มีการนับเริ่มต้นปีที่เดือน 5 ทางจันทรคติ ตรงกับเดือนเมษายนตามสุริยคติ” นายสุจิตต์ กล่าว

สุริยเทพองค์เดียวที่พบจากการดำเนินงานทางโบราณคดี บริเวณปรางค์สองพี่น้อง เมื่อ พ.ศ.2535 จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร

 

จากนั้น นายสุจิตต์ กล่าวถึง ‘สุริยมณฑลใหญ่’ ซึ่งเป็นตราที่รัชกาลที่ 4 พระราชทาน ‘ตระกูลบุนนาค’ โดยบุคคลแรกที่ได้รับคือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ต่อมา รัชกาลที่ 5 พระราชทานตรา ‘สุริยมณฑลน้อย‘ แก่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ซึ่งทั้งหมดนี้สะะท้อนถึงการสืบเนื่องและดำรงความเชื่อเรื่อง ‘สุริยเทพ’ ตามแบบประเพณี แม้ความรู้ใหม่จะแพร่เข้ามาในสยามแล้ว

ด้าน นายขรรค์ชัย กล่าวว่า วันนี้ก่อนถ่ายทำที่ปรางค์สองพี่น้อง ตนและนายสุจิตต์ได้ไปเยี่ยมชม ‘เขาคลังนอก’ ซึ่งได้รับความสนใจมากหลังจากเมืองโบราณศรีเทพได้รับการรับรองจากยูเนสให้เป็น ‘มรดกโลกทางวัฒนธรรม’ เมื่อปี 2566 ส่วนตัวมองว่า นอกจากการท่องเที่ยวแล้ว รัฐบาลต้องส่งเสริมให้ประชาชนโดยเฉพาะชาวบ้านในพื้นที่ได้เรียนรู้ความเป็นมาของท้องถิ่น เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจ และความรู้สึกถึงการมีส่วนร่วม ส่งเสริมวัฒนธรรมและวิถีชีวิตร่วมสมัยให้เจริญก้าวหน้า มีรายได้ การศึกษา และความปลอดภัย

รับชมรายการในตอนดังกล่าวได้ในวันพฤหัสบดีที่ 25 มกราคมนี้ เวลา 20.00 น. ทางเฟซบุ๊กมติชนออนไลน์, ศิลปวัฒนธรรม, ข่าวสด และยูทูปมติชนทีวี

ขรรค์ชัย-สุจิตต์ โดยสารรถไฟฟ้าของอุทยานฯศรีเทพที่พร้อมให้บริการนักท่องเที่ยว
โบราณสถานเขาคลังนอก เมืองโบราณศรีเทพ หลังการบูรณะล่าสุด
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image