ของไทยแน่ๆ! นักโบราณต่อจิ๊กซอว์ ‘โกลเด้นบอย’ ฟันธง ‘ชัยวรมันที่ 6’ ล้านเปอร์เซ็นต์

ของไทยชัวร์! นักโบราณต่อจิ๊กซอว์ ‘โกลเด้นบอย’ ฟันธง ‘พระเจ้าชัยวรมันที่ 6’ แน่ๆ ยูนีคแบบ ‘พิมาย’ ไม่ใช่บาปวน แถมอาจโยงการ ตปท.

เมื่อวันที่ 25 มกราคม ที่ห้องประชุมอาคารข่าวสด สโมสรศิลปวัฒนธรรม จัดงานเสวนา “ตามหา ‘Golden Boy’ เทพแห่งที่ราบสูง?” โดยมีวิทยากรที่เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีร่วมให้มุมมอง ได้แก่ นายศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี, ดร.ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระด้านโบราณคดี ดำเนินรายการโดย เอกภัทร์ เชิดธรรมธร

เวลา 13.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศภายในงาน มีผู้เดินทางมาลงทะเบียนรับฟังเสวนาอย่างล้นหลาม โดยบางส่วนเลือกซื้อหนังสือจากสำนักพิมพ์มติชนในหมวดประวัติศาสตร์โบราณคดีและการเมือง ซึ่งนำมาวางจำหน่ายภายในงาน พร้อมทั้งสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรมในราคาพิเศษลด 15 เปอร์เซ็นต์

Advertisement

นอกจากนี้ ยังมีนักวิชาการร่วมด้วย อาทิ ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ อดีตคณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ โดยผู้บริหารเครือมติชนให้การต้อนรับ นำโดย นายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน), น.ส.ปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บมจ.มติชน, นายวรศักดิ์ ประยูรศุข กรรมการผู้จัดการ บริษัท งานดี จำกัด ในเครือมติชน, นายสุริวงค์ เอื้อปฏิภาน บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ข่าวสด เป็นต้น

สำหรับโกลเด้นบอย คือโบราณวัตถุ 1 ใน 2 ชิ้นที่นำกลับสู่ประเทศไทยได้สำเร็จ หลังเกิดกระแสการทวงคืนจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน (The Met) ในนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งได้ประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อ 15 ธันวาคม 2566 ว่าจะส่งโบราณวัตถุ 2 ชิ้น (อีกชิ้นคือประติมากรรมสตรีนั่งชันเข่าพนมมือสูง) กลับคืนสู่ประเทศไทยซึ่งเป็นมาตุภูมิ และหนึ่งในนั้นคือ ‘โกลเด้นบอย’ ที่ประเมินว่าราคาอาจสูงถึง 100 ล้านบาท

Advertisement

ดร.ทนงศักดิ์ นักโบราณคดีผู้มีส่วนสำคัญในการทวงคืน ‘โกลเด้นบอย’ หรือรูปสำริดพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 จากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน หรือ The Met ในนิวยอร์ก กล่าวว่า โกลเด้นบอย คือประติมากรรมสำริดที่ถูกค้นพบว่ามาจากในไทย ตนเพิ่งทราบเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ว่าเป็นของไทย ในพิพิธภัณฑ์ The Met ที่สหรัฐอเมริกาที่ทวงคืนมานั้นเขียนไว้ว่าเป็น ‘พระศิวะยืน (กัมพูชา อังกอร์ เสียมเรียบ)’ ป้ายบอกอยู่ว่าไม่ใช่ของไทย แต่ในทางการค้า เอาไปจำหน่ายอยู่ในพิพิธภัณฑ์ The Met คาดว่า พ.ศ.2518 คือปีที่ถูกนำออกไปจากประเทศไทย

เมื่อถามว่า โกลเด้นบอยบ่งบอกอะไร และประติมากรรมชิ้นนี้คือใคร ?

ดร.ทนงศักดิ์กล่าวว่า ทางพิพิธภัณฑ์เขาบอกว่าเป็นพระศิวะ ตีความตามลักษณะของประติมากรรมที่พบได้น้อยมาก เป็นศิลปกรรมเขมร ตีความว่าสร้างจากสำริด ที่สระกำแพงใหญ่ จ.ศรีสะเกษ เชื่อว่าเป็นพระศิวะ แต่องค์ที่เราเห็นไม่ได้ก้าวขา ยืนค่อนข้างตรงและไม่มีสัญลักษณ์อะไรที่บ่งบอกว่าเป็นพระศิวะ แต่ทางพิพิธภัณฑ์ก็มีการนำเสนอบทความนักวิชาการว่าอาจไม่ใช่พระศิวะ จึงใส่เครื่องหมายคำถามไว้ สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นประติมากรรมสำริด พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ซึ่งบทความนั้นตีพิมพ์ 2 ครั้ง บอกตรงกัน ก็เป็นหน้าที่ของเราแล้วว่าจะช่วยกันตีความอย่างไร

เมื่อถามว่า เห็นด้วยหรือไม่ว่าคือรูปปั้น พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ?

ดร.ทนงศักดิ์กล่าวว่า เมื่อตนเห็นรูปประติมากรรมชิ้นนี้รู้สึกเหมือนผีสิงอย่างไรไม่รู้ มองแล้วต้องชะตาว่าเป็นสิ่งที่เราตามหามานาน ว่าอยู่ไหน เป็นมาอย่างไร

“เชื่อว่าสระกำแพงใหญ่ไม่ใช่ประติมากรรมทวารบาลแน่ๆ เพราะพบสำริดแบบเดียวกันในกัมพูชา และไทยเจอหลายองค์ จึงคิดว่าน่าจะเป็นรูปคนมากกว่า คิดว่าน่าจะเป็นพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 นั่นแหละ ศึกษารูปแบบศิลปะแล้วบ่งบอก” ดร.ทนงศักดิ์ชี้

ดร.ทนงศักดิ์กล่าวว่า โบราณวัตถุชิ้นนี้ในพิพิธภัณฑ์ The Met เขาบอกว่าเป็นของกัมพูชา ค่อนข้างชัดเจนว่า ในพิพิธภัณฑ์จะต่อท้ายอังกอร์ เสียมเรียบ ให้รายละเอียดครบถ้วนชัดเจน จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า ‘เป็นของไทยมาก่อน’ จนกระทั่งเราพบเจอว่าอีกชิ้นหนึ่งเผยแพร่อยู่ใน ‘Khmer Gold’ บอกว่ามีประติมากรรมสำคัญอยู่ ซึ่งพบในไทย เป็นศิลปกรรมแบบบาปวน และกะไหล่ทองบาปวน อยู่ใน The Metropolitan Museums

ดร.ทนงศักดิ์กล่าวต่อว่า มันไม่ใช่อยู่ในกัมพูชา ต้องเป็นของประเทศไทยแน่ๆ ลองเสิร์ชบ้านยาง, ละหาน ขึ้นมาเต็มกูเกิล ตนล็อกเป้าไว้ว่าต้องไป จ.บุรีรัมย์ ซึ่งก่อนเดินทางได้ตรวจสอบข้อมูลของ ดักลาส แลตช์ฟอร์ด อีกชิ้น ก็ระบุว่าอยู่ที่ จ.บุรีรัมย์

“เอกสารของนักวิชาการต่างประเทศสันนิษฐานเช่นกันว่าเป็นรูปของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 โดยอธิบายเครื่องนุ่งห่ม เครื่องทรง ทรงมงกุฎยอดแหลมแบบนี้ว่าไม่น่าใช่บุคคลธรรมดา น่าจะเป็นกษัตริย์ อีกปีที่พิมพ์เผยแพร่คือ 2001 ยืนยันหลักฐานเช่นเดิมว่าถึงแม้อธิบายอย่างไรก็ยังขึ้นป้ายว่าเป็นพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 เหมือนเดิม” ดร.ทนงศักดิ์ระบุ

ดร.ทนงศักดิ์กล่าวถึงแหล่งที่พบว่า ประติมากรรมสำริด ‘โกลเด้นบอย’ ชิ้นนี้ ระบุว่าสูง 105.5 ซม. เป็นตัวที่ทำให้เรารู้ว่ามาถูกทาง จากนั้นมีการเข้าไปสำรวจในหมู่บ้านยางโป่งสะเดา เห็นชัดว่าเข้าไปในพื้นที่มันเต็มไปด้วยปราสาท และเห็นได้ชัดว่าปราสาทบ้านยางอยู่ใกล้ปราสาทปลายบัด 2 มาก ซึ่งประติมากรรมสำริดชิ้นสำคัญกระจายอยู่รอบเขาปลายบัด 2 เต็มไปหมด ทำให้เราฉุกคิดว่า ทำไมประติมากรรมชิ้นสำคัญจึงพบที่บ้านยางไม่ได้ มันคงจะมีที่มาที่ไปอยู่ เอกสารชิ้นสำคัญที่ได้รับจากฝ่ายกัมพูชาคือเส้นทางการค้าของ ดักลาส แลตช์ฟอร์ด ซึ่งเขามาร์กไว้เลยว่า ‘ละหาน’ โชคดีที่คณะติดตามคืนฝั่งกัมพูชาติดต่อเรามาตลอด

เมื่อถามว่า ‘ดักลาส แลตช์ฟอร์ด’ เป็นใคร เกี่ยวโยงกับเรื่องนี้อย่างไร?

ดร.ทนงศักดิ์กล่าวว่า ดักลาส แลตช์ฟอร์ด เกิดที่อินเดีย มาอยู่ไทย ทำทุกอย่างจนได้สัญชาติไทย เป็นพ่อค้าโบราณวัตถุคนสำคัญของโลก ในกลุ่มวัฒนธรรมเขมร เขาเอาโบราณวัตถุข้ามชาติ โดยเฉพาะกัมพูชาเข้ามาผ่านไทย จึงมีบันทึกหลักฐานเกี่ยวกับโบราณวัตถุทุกชิ้น ซึ่งบอกด้วยว่าซื้อมาเท่าไหร่ ขายไปเท่าไหร่ จึงกลายเป็นหลักฐานสำคัญที่ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ฟ้อง ยึดคืนจากต้นทาง ซึ่งทางพิพิธภัณฑ์ไม่ยอมส่งอ้างว่าเขาต้องหาข้อมูลเพิ่มก่อน ทั่วโลกจึงรู้จักชื่อ ‘ดักลาส แลตช์ฟอร์ด’ เพราะเคยถูกอเมริกาฟ้องร้อง” ดร.ทนงศักดิ์ชี้

ดร.ทนงศักดิ์ระบุว่า บ้านยางโป่งสะเดา ต.ตาจง อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ เป็นแหล่งที่พบโกลเด้นบอย เข้าไปสำรวจดูที่ฐาน 2 ฐาน ในหนังสือระบุว่า เป็นตำแหน่งที่ตั้งของบ้านยาง แต่ไม่ได้ระบุว่าเป็นที่ตั้งประติมากรรมโกลเด้นบอย แต่หลักฐานชิ้นนี้นำเราไปสู่สถานที่พบโกลเด้นบอย

“คุณเสถียร อดีตนายกเทศมนตรี เป็นบุคคลสำคัญ เพราะดักลาส แลตช์ฟอร์ด เข้ามาขอซื้อ ติดต่อกับพ่อของคนนี้ เพราะพ่อเขาให้เช่าบ้านเป็นสำนักงานทำการซื้อขายโบราณวัตถุจากประโคนชัยทั้งหมด เข้ามา 2506 แล้ว 2507 ก็มีการตีพิมพ์ว่าพบโบราณวัตถุกลุ่มประโคนชัย เมื่อเราเข้าไปในหมู่บ้าน ปลัดฯ จาก อ.โนนดินแดง ที่เพิ่งย้ายมาอยู่ เป็นบุคคลสำคัญในการช่วยทวงคืน ช่วยแปลภาษาเขมรจากชาวบ้าน และยืนยันว่าหมู่บ้านนี้ไม่โกหกเราแน่ๆ

อีกคนที่ติดต่อคือ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านบ้านยาง เอาหนังสือไปกาง แค่ดูรูป ชี้ไปเขารู้เลย บอกว่าองค์นี้สูง 160 ซม. แต่ในหนังสือเขียน 105.5 ซม. ซึ่งลูกสาวจำได้ว่าตอนขายพ่อเอาลวดมัดไว้ แล้วขายออกไป ตรงชายผ้าของโกลเด้นบอยจึงหัก” ดร.ทนงศักดิ์เผย

ดร.ทนงศักดิ์กล่าวอีกว่า ตนเคยพาทีมสื่อไปเก็บหลักฐานว่าเป็นของไทยแน่ๆ โดยพยายามเสนอให้คณะติดตามทวงคืนโบราณวัตถุเข้าไปเก็บข้อมูลว่าจริงๆ แล้วเกิดที่นี่ (บ้านยาง) แต่อธิบดีที่เป็นประธานในการศึกษา มอบหมายให้ตนดำเนินการ จึงถือวิสาสะเชิญสื่อไปด้วย จนออกเป็นข่าวยืนยันว่าเกิดจากไทยจริงๆ ชาวบ้านแย่งกันให้ข้อมูลก็ยิ่งมั่นใจ

“ไล่ปีแล้วลงล็อก เพราะลูกสาวของเขาจำได้ว่ากำลังท้องลูกคนโต ปี 2518 จึงรู้ว่าเจอโกลเด้นบอย เมื่อปี 2518 แล้วก็ขายออกหลังขุดพบแค่คืนเดียว เพราะราคาสูง ต้องขายแพง ราคา 1 ล้านบาท และมีคนมารับออกไป คือที่มาของโกลเด้นบอย” ดร.ทนงศักดิ์เผย

ในตอนหนึ่ง ดร.ทนงศักดิ์กล่าวอีกว่า จากหลักฐานโบราณคดีแวดล้อมในเขา ที่บ้านยาง พบว่ามีหลักฐานมาก เจอ 300 องค์ หลังจากพ่อคุณเสถียรย้ายออกไป ก็รวมของขาย ดักลาสถามว่ามีชิ้นอื่นอีกไหม แกบอกว่ามีอยู่ 300 องค์ แต่ความจริงมีมากกว่านั้น ไม่ได้เจอเฉพาะบนเขา ตีนเขาก็เจอ

“ผมได้ไปสำรวจในหมู่บ้าน ไปเจอตาอายุ 80 บอกว่าขุดเจอที่ทุ่งนา บอกว่า ‘ผู้ว่าฯ มายึดเอาของผมไป เงินสักบาทก็ไม่ให้ผม ผมก็นั่งรออยู่ว่าเมื่อไหร่แกจะเอามาให้’ ผมไปหาอีกทีแกเสียชีวิตแล้ว” ดร.ทนงศักดิ์กล่าว และว่า นอกจากหลักฐานประติมากรรมยังพบ ‘เสมา’ แบบทวารวดีอีกด้วย”

ดร.ทนงศักดิ์กล่าวถึงการศึกษาเรื่องราวของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ด้วยว่า เนื่องจากมีจารึกสำคัญคือ จารึกปราสาทพนมรุ้งที่เกี่ยวข้องกับ ‘ราชวงศ์มหิธรปุระ’ ปรากฏอยู่ในจารึก K.384 แสดงให้เห็นว่า บรรพบุรุษสายพ่อของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 อยู่ตรงกษิตินทราคราม ซึ่งทรงมีพี่ชายและพระอนุชา และวงศ์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 มีความเกี่ยวพันกับบริเวณปราสาทพนมรุ้งอย่างแน่นอน หลักฐานชัดเจนขึ้นเมื่อพบจารึกที่พนมสันดัก ที่บอกว่าพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ทรงขึ้นครองราชย์โดยธรรม โดยมีศรีทิวากรบัณฑิต เป็นพรามหณ์ผู้ประกอบพิธีราชาภิเษก และจารึกยังบอกไว้ชัดด้วยว่า เมื่อขึ้นเป็นกษัตริย์ทรงเสด็จไปที่ไหนมาบ้าง กษัตริย์ที่ครองราชย์ต่อมาคือ ธรณินทรวรมันที่ 1 และพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ซึ่งมีการสร้างปราสาทพนมรุ้ง โดยจารึกที่ธาตุสามปาง บ้านธาตุ สปป.ลาว ก็มีรายละเอียดระบุชัด ส่วนจารึกปราสาทหินพนมวันที่ 1 ที่เกี่ยวเนื่องกับราชวงศ์นี้ยังมีจารึกปราสาทหินพิมาย 3

“ถ้าให้ผมแปล คือหลังจากพระสุริยวรมันที่ 2 ขึ้นครองราชย์แล้วก็ให้ขุนนางที่สนิทของตัวเองที่มีชื่อในจารึกนครวัดมาดูแลเมืองพิมาย คนนี้สร้างสิ่งต่างๆ ให้เมืองพิมายและถวายให้พระเจ้าธรณินทรวรมันที่ 1 ซึ่งเป็นพี่ชายของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ซึ่งเจอมากที่สุดในพนมบาย็อง ระบุว่า เมื่อพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ฝากทุกสิ่งอย่างได้แล้วก็ขึ้นครองราชย์ที่ถิ่นฐานเดิมของพระองค์ แล้วถิ่นนั้นอยู่ที่ไหน? นักวิชาการสันนิษฐานว่าอยู่ที่ ‘แม่น้ำมูล’ ส่วนผมก็เดาว่าน่าจะอยู่ที่ ‘พิมาย’ ผมตั้งคำถามง่ายๆ ว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าทั้งหมดเป็นศิลปะแบบ ‘บาปวน’ ทั้ง 5 องค์ที่พบ ซึ่งดูท่าของมือ เท้าเอวเหมือนกัน แต่โกลเด้นบอยไม่เท้า” ดร.ทนงศักดิ์กล่าว

เมื่อถามต่อว่า ถ้าโกลเด้นบอย ประติมากรรมทั้ง 5 ชิ้น ถูกเหมารวมเป็นศิลปะแบบบาปวน จะเกิดอะไรขึ้น ?

ดร.ทนงศักดิ์กล่าวว่า ถ้าเรามองเป็นศิลปะแบบอื่นอาจจะเป็นประโยชน์ในการตีความด้านโบราณคดีมากขึ้นหรือไม่ ในมุมมองของตน ‘โกลเด้นบอย’ คือศิลปะแบบพิมาย ไม่ใช่บาปวน ถ้าเรามองว่าโกลเด้นบอยคือพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 จะเกี่ยวพันกับปราสาทหินพิมายพอดี เราจึงเจอจารึกพี่ชายของเขาอยู่ที่นั่น แม้ตัวจารึกหลักที่อยู่ภายในจะหายไปก็ตาม และตนมองว่าหากไม่มีประติมากรรมสำริดแบบประโคนชัย ก็ไม่มีราชวงศ์มหิธรปุระ

“สรุปว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 สถาปนาราชวงศ์มหิธรปุระ และศิลปะแบบพิมายมีความเฉพาะตัว เกิดขึ้นที่พิมายครั้งแรก ไม่มีให้เห็นในปราสาทสมัยบาปวน หรือปราสาทนครวัด จึงเรียกว่าเป็นศิลปกรรมอีกรูปแบบหนึ่ง เรียกว่า ‘บาปวน’ ไม่ได้” ดร.ทนงศักดิ์กล่าว

ในช่วงท้าย ดร.ทนงศักดิ์กล่าวถึงความเฉพาะของ ‘ศิลปะพิมาย’ เมื่อมองเทียบบาปวน โดยมองว่า ปราสาทพิมายในสมัยหลังชัดเจนว่ามี 2 ตอน ‘มีเส้นแบ่งตรงกลาง’ ซึ่งเกิดขึ้นที่พิมายเป็นครั้งแรก นอกจากนี้จุดสำคัญที่ชี้ว่าศิลปะพิมายต่างจากศิลปะแบบบาปวน คือลายหัวนาค ที่เปลี่ยนเป็นนาคใบไม้ หลังรับรูปแบบบาปวนมาใช้ ดังนั้น มีการรับและพัฒนารูปแบบศิลปกรรมเป็นของตัวเองมาตลอด

เมื่อมองมาถึงโกลเด้นบอย ประติมากรรมเห็นได้ชัดว่า ‘เศียร’ ของสระกำแพงใหญ่เป็นทรงผมลายดอกไม้คั่น ซึ่งประติมากรรมแบบบาปวนอีกชิ้นที่อยู่ใน The Met ทรงผมก็มีลายดอกไม้คั่นเช่นกัน แต่โกลเด้นบอยคนละแบบ ต่างกันทั้งในรายละเอียด ทั้งลายผ้านุ่งและเข็มขัด ที่เหมือนกับประติมากรรมในปราสาทพิมาย

“ในราชวงศ์นี้จึงมีรูปแบบศิลปะเฉพาะตัวไม่เหมือนแบบบาปวน เพราะมีพัฒนาการค่อนข้างชัดในรายละเอียด ผมจึงสรุปว่า โกลเด้นบอยคือพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 อยู่ที่บ้านยาง จ.บุรีรัมย์ และคงจะสืบเนื่องพุทธศาสนามาจากทวารวดี มีความเป็นวัฒนธรรมเขมร“ ดร.ทนงศักดิ์ชี้

ดร.ทนงศักดิ์กล่าวต่อว่า โกลเด้นบอย จึงเป็นหลักฐานที่เชื่อมโยงถึงความสัมพันธ์ของสองประเทศ ที่แบ่งพรมแดนแล้วได้ค่อนข้างดีมาก บ่งบอกว่าวัฒนธรรมเขมรในอดีตมีวิวัฒนาการที่เกิดขึ้นมาในสังคมอย่างไร ที่ราบสูง บนหรือล่าง แผ่ไปทางที่ลุ่มทะเลสาบ เราเรียนประวัติศาสตร์มักถูกสอนว่าแผ่จากล่างขึ้นบนเสมอ ไม่เคยคิดว่าจะเคยแผ่จากบนลงล่าง และหลักฐานชิ้นนี้เป็นตัวชี้ได้ดีมาก

“เป็นเหตุผลเดียวว่าทำไมเราไม่ค่อยพบประติมากรรมสำริดกลุ่มประโคนชัยในกัมพูชา ไม่เกิน 10 ชิ้น สะท้อนว่ารากเหง้าพุทธศาสนาที่ไทยยิ่งใหญ่แค่ไหน เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่อาจโยงไปถึงการต่างประเทศ นี่คือหลักฐานทางวัฒนธรรม” ดร.ทนงศักดิ์ชี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image