‘ชาญวิทย์’ ขอสปอยล์ ตอนท้ายมันส์มาก ‘ก้าวสุดท้ายฯ จอมพล ป. ‘ถ้าไม่หนี มีสิทธิตาย’

‘ชาญวิทย์’ อ่านแล้วชวนคิดต่อ ขอสปอยล์ ตอนท้ายมันส์มาก ‘ก้าวสุดท้ายจากแผ่นดินไทย’ จอมพล ป.’ เชื่อ ถ้าไม่หนี มีสิทธิตาย’

เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ที่มิวเซียมสยาม สำนักพิมพ์มติชน ผนึกกำลังพันธมิตร จัดงานใหญ่ “Knowledge Book Fair 2024 เทศกาลอ่านเต็มอิ่ม” ครั้งที่ 2 มหกรรมความรู้ระดับประเทศ ที่รวม 7 ความเต็มอิ่มที่สุด ครบทั้งความรู้และความสนุกครบทั้งความรู้และความสนุก

บรรยากาศเวลา 14.30 น. BookLaunch: เปิดเรื่องลับเมื่อจอมพล ป. ลี้ภัย โดย นายประดาป พิบูลสงคราม ทายาทจอมพล ป., ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์, นายประเสริฐ ศิริ อดีตกำนันบ้านหาดเล็ก อ.คลองใหญ่ จ.ตราด ผู้ขับเรือพาจอมพล ป. ไปส่งที่เกาะกง ประเทศกัมพูชา หลังการรัฐประหาร 16 ก.ย. 2500, ผศ.ดร.ณัฐพล ใจจริง รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ราชภัฏสวนสุนันทา ดำเนินรายการโดย ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ อดีตคณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีผู้ร่วมรับฟังอย่างล้มหลาม ทั้งประชาชน ตบอดจนเยาวชน และนักวิชาการ อาทิ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายสมชาย แซ่จิว ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์จีน เป็นต้น

Advertisement

ในตอนหนึ่ง ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ กล่าวว่า หนังสือ ‘ก้าวสุดท้ายจากแผ่นดินไทย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ฝากไว้ที่หาดเล็ก ตราด’ เล่มนี้เป็นเกร็ดประวัติศาสตร์โดยพูดถึงเหตุการณ์เพียง 3 วันคือ 16-18 กันยายน 2500 และเป็นหนังสือที่ตนเข้าไปเกี่ยวพันด้วยโดยบังเอิญ

“ผมมีความบังเอิญอยู่ 2 เรื่องใหญ่ๆ ในชีวิต เรื่องแรกคือการได้ไปพบหนังสือเล่มหนึ่ง ที่ร้านหนังสือเก่าที่เมือง นิวยอร์ค หนังสือชื่อ The King Of The White Elephant (พระเจ้าช้างเผือก) ผมไม่เคยเห็นหนังสือเล่มนี้มาก่อน ซึ่งหลายท่านคงทราบว่าเขียนโดย ปรีดี พนมยงค์ และก็สร้างเป็นภาพยนตร์ แต่ผมไม่รู้จัก ซึ่งตอนนั้นเรียนปริญญาเอกแล้ว ก็เลยเกิดความสนใจขึ้นมา” ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์เผย

Advertisement

ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์กล่าวว่า ส่วนเหตุบังเอิญที่ว่า คือเมื่อปี ค.ศ.1970 หรือ พ.ศ.2513 ท่านปรีดีย้ายจากเมืองจีนไปอยู่ปารีส ซึ่งตนไปอยู่ปารีสพอดี จึงได้เข้าพบและสัมภาษณ์ท่าน เกี่ยวกับชีวิตของท่าน ซึ่งเป็นเหตุบังเอิญครั้งแรกต่อผู้นำสำคัญของชาติไทย

ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์กล่าวไปอีกว่า เหตุบังเอิญอีกเหตุหนึ่ง เมื่อตอนที่ตนเป็นวัยรุ่นประมาณ ปี พ.ศ.2497 ปีนั้นไฟไหม่ใหญ่ที่อำเภอบ้านโป่ง ซึ่งตนเกิดและโตที่นั้นมา 13 ปี

“ช่วงนั้นมีงานเกี่ยวกับหญิงไทยใจหาญ บรรดาแบบ ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม และบรรดาภริยาผู้ว่าราชการจังหวัดทั้งหลาย จะเป็นสตรีเป็นผู้นำ ที่มีบทบาทเด่นคู่กับสามี เหมือนอย่างปกหนังสือ ที่มีจอมพล ป. พิบูลสงคราม แต่งตัวสมัยใหม่ เดินมาคู่กับท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม บุรุษกับสตรีต้องคู่กัน เพราะเขาเหล่านี้เป็นคนสมัยใหม่ จนเกิดความประทับใจในจอมพล ป.” ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์เผย

ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์กล่าวต่อว่า ความประทับใจที่ชัดขึ้น เกิดจากการที่ตนตามคุณแม่ มาร่วมกลุ่มสตรี ดูละครเรื่อง อานุภาพพ่อขุนรามคำแหง ได้พบเจอกับเหล่าภริยาไฮโซทั้งหลาย

“ไปดูละครที่โรงละครของกระทรวงวัฒนธรรม สนามเสือป่า ก็เห็นจอมพล ป. พิบูลสงคราม มายืนอยู่ด้านหลังโรงละคร แล้วก็มาดูละครอยู่หลังเรา เราหันไปเห็นก็รู้สึกประทับใจนะ” ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์เผย

ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ กล่าวว่า อันนี้ก็เป็นความสนใจส่วนตัวและความบังเอิญ จนเมื่อมาทำงานวิชาการ ก็ได้ศึกษาบทบาทของผู้นำทั้ง 2 คน คือ นายปรีดี พนมยงค์ และ จอมพล ป. พิบูลสงคราม แล้วก็ประทับในในความคิดอันเป็นสมัยใหม่ของทั้งสอง

“หลังจากนั้นหลายคนก็คงทราบ ผมก็ยุ่งอยู่กับปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การ ม.ธรรมศาสตร์ ที่มืดดำสนิท แล้วเราจะกู้ภาพท่านได้อย่างไร เราใช้เวลานานมากกว่าจะกู้ภาพได้ จนมีอนุสาวรีย์ท่านปรีดีอยู่ที่หน้าตึกโดม” ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์เผย

ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์กล่าวว่า ตนก็ได้อยู่ในส่วนที่ปรับภาพความคิดในสมองตนเองว่า ภาพของท่านปรีดีพนมยงค์ ถูกกล่าวหาว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8 ตนคิดว่าเราทำสำเร็จ

“พอตอนหลังมามีงานครบรอบ 100 ปี ท่านจอมพล ป. พิบูลสงคราม เราก็จัดสัมนากันที่ธรรมศาสตร์ และผมจำได้ว่างานครั้งนั้นมีคนมาฟังล้นหลามเลย แล้วคนที่มาร่วมบรรยายกับเราในวันนั้น คือ ท่านสุรยุทธ์ จุลานนท์” ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์เผย

ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์กล่าวว่า เราก็ทำหนังสือ จอมพล ป.พิบูลสงครามเมื่อ 100 ปี ซึ่งท่านเกิดเมื่อปีพ.ศ. 2440 เพราะฉะนั้นเมื่อปี พ.ศ.2540 เราก็จัดงานครบรอบ 100 ปี

“ผมไม่คิดว่าหนังสือเล่มนี้จะขายได้ เพราะภาพจอมพล.ป.พิบูลคราม คนลืมไปหมดแล้วว่า ท่านเป็นนายกรัฐมนตรีที่นานที่สุดในประเทศไทย ท่านมีตำรากับข้าวเยอะมากเลย เราเลี้ยงไก่ เรากินไข่ กินอาหารคาว หวาน มันมาจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม” ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ชี้

ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์กล่าวต่อว่า จอมพล ป. พิบูลสงคราม ท่านถูกลืมไปหมดแล้ว แม้กระทั่งท่านเป็นอธิบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คนก็ลืมไปหมดแล้ว และเป็นอธิการบดีของธรรมศาสตร์อยู่ 5 ปีคนแรก คนธรรมศาสตร์ก็จำไม่ได้แล้ว

“ท่านปรีดี พนมยงค์ ไม่ได้เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่เป็นผู้ประศาสน์การ เป็นผู้ก่อตั้ง คือรายละเอียดของประวัติศาสตร์เหล่านี้เราลืมไปหมดแล้ว เพราะฉะนั้น อันนี้เป็นเหตุบังเอิญที่ทำให้ผมมีภาพของจอมพล ป.พิบูลสงคราม มืดๆ ดำๆ เผด็จการ ฟาสซิสต์มันต้องเปลี่ยนใจแล้ว ต้องดูใหม่ ต้องศึกษาใหม่แล้ว” ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์เผย

ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์กล่าวว่า หลายอย่างที่เราเคยเชื่อตามประวัติศาสตร์ฉบับราชการ เอาเข้าจริงแล้วมันมีประวัติศาสตร์นอกตำราเยอะมาก

“เราต้องมาดูหลายอย่างที่มันดำ มันขาว หรือ ประวัติศาสตร์ที่มีเวอร์ชั่นเดียว มันใช้ไม่ได้แล้ว อย่างน้อยมันต้องมี 2 ด้านมันต้องมองด้านหน้า ด้านหลัง หรือ ควรมี 3 4 5 ด้านด้วยซ้ำไป” ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ชี้

เมื่อถามว่า สิ่งที่จอมพล ป. สร้างไว้ให้สังคมไทย นอกจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีอะไรที่อยากตีความ หรือนำเสนอหรือไม่ เช่น การสร้างความเป็นไทย ?

ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ กล่าวว่า ตนคิดว่าสิ่งที่ประทับใจจากหนังสือเล่มนี้ และอยากฝากไว้ คือบางอย่างมันมีอะไรนิดๆ หน่อยที่มาสะกิดเรา แล้วทำให้เราคิดอะไรได้อีกเยอะ

“ทำไมจอมพล ป. หนีไปเกาะกง ประเทศกัมพูชา เพราะกัมพูชากับไทย ในสมัย จอมพล ป. เป็นมิตรประเทศกัน พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ อดีตนายกกัมพูชา รับดุษฎีบัณฑิต จาก ม.ธรรมศาสตร์ หล่อมากๆ สาวธรรมศาสตร์ กรี้ดกัน พี่สาวผมที่เรียบัญชีเหล่าให้ฟัง ว่าหล่อเหลือเกิน พอไทยกับกัมพูชาทะเลาะกันเรื่องปราสาทเขาพระวิหาร ผมไม่ทราบเป็นใคร ทวงดุษฎีบัณฑิต คืนจากสีหนุ สีหนุแสบมาก ส่งคืนผ่านประธานาธิบดี ซูการ์โน ของอินโดนีเซีย รามคำแหงในปัจจุบัน เคยให้ดุษฎีบัณฑิต กับท่าน ฮุนเซน ยังไม่ทวงคืน ผมว่าอันนี้ก็แปลกและรู้สึกเจ็บปวดมากๆ” ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์กล่าว

ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์กล่าวต่อว่า แล้วทำไมต้องหนีไปกัมพูชา

“เอาเข้าจริงแล้ว ผมคิดว่าในแง่ของ จอมพล ป. ท่านอาจจะตระหนักดีกว่า ถ้าไม่หนี มีสิทธิตาย เชื่อว่าการเมืองไทยในระดับสูง โหด อำมหิต ไว้วางใจมากไป ก็มีคนเตือนเหมือนกัน หนังสือเล่มนี้ผมว่ามีเกร็ดอะไรเยอะแยะที่ผมชอบ”

ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์กล่าวต่อว่า สรุปแล้ว เมื่อจอมพล ป. ไปถึงเกาะกง เจ้าหน้าที่ชายแดนก็ต้องจับตัวไว้ก่อน จะไปรู้หรอว่าเป็นใคร ต้องรายงานไปกรุงพนมเปญ ซึ่งตอนนั้นพระเจ้าแผ่นดินคือ บิดาของสีหนุ สีหนุอยู่ปารีส แต่ตีความได้ว่า ให้ต้อนรับบุคคลผู้นี้ ให้ดีกว่าพ่อ

“ตอนท้ายมันส์มาก จอมพล ป. ให้เงินกำนันโจ๊ด 2,000 บาท ให้ไปซื้อของ ซื้อกับข้าว กำนันก็ไปซื้อ ปรากฎว่ามีเรือราชนาวีกัมพูชา มารับ จอมพล ป. ไปกรุงพนมเปญแล้ว ดังนั้น กำนันก็ไม่ได้เห็นหน้าจอมพล ป.อีกเลย มีเกร็ดประวัติศาสตร์ ที่เราอ่านฉบับราชการแล้วไม่เห็นอะไร เกร็ดเหล่านี้ทำให้ผมคิดและตั้งคำถามอะไรต่อ”

“สิ่งซึ่งผมคิดว่าผู้มีอำนาจในเมืองไทย กลัวมากๆ ต้องไม่ลืมว่า จอมพล ป. ป๊อบปูลาร์มากๆ นะ ภาพของเรา ตอนนี้ ท่านเป็นเผด็จการฟาสซิสต์ ท่านประกาศสงครามกับอังกฤษและอมริกา 25 มกราคม 2485

การประกาศสงครามนั้น ทำให้ไทยรอด ไม่ถูกยึดครองโดยญี่ปุ่น เป็นเมืองขึ้น สงครามนำมาซึ่งการรักษาเอกราชเอาไว้ เพราะว่าเราเป็นมิตรประเทศกับญีุ่ปุ่น

มีสงคราม จึงมีสันติภาพ War and Peace ปรัชญาประวัติศาสตร์ ในสงครามและสันติภาพ ของ ลีโอ ตอลสตอย ซึ่งผมเคยแปลว่าจะเสนอมติชนให้พิมพ์ใหม่ แต่ผมเปลี่ยนใจ ภาษาไทยน่าจะพูดว่า สงครามกับสันติภาพ คงไม่ใช่สงครามและสันติภาพ เพราะไม่ได้แยกกัน เหมือนยูเครนตอนนี้ สันติภาพจะมาอย่างไร เป็นปัญหาที่มีมาตลอดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ” ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์กล่าว

ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์กล่าวต่อว่า หนังสือเล่มนี้ ให้อะไรกับเราเยอะ ระบอบเก่ากับระบอบใหม่ ที่ว่าจะต้องรบกันไปอีกนาน ท่านพูดเมื่อ 2483

“มันมีอีกอันที่ผมอ่านแล้วประทับใจมาก ‘สำหรับบ้านเมือง หมดหน้าที่ของเราแล้ว เรามีหน้าที่แต่สร้างประชาธิปไตยเป็นสำคัญ เวลานี้ก็เป็นหลักเป็นฐานแล้ว ใครจะมาเลิก ไม่ได้แล้ว หมดหน้าที่ของเราแล้ว’ ท่านพูดเมื่อ 2501 ช่วงนั้นจากญี่ปุ่น ท่านจะไปอเมริกา เพื่อไปบรรยาย มีการพูดว่า จะมีการเชิญ จอมพล ป. ไปเป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ มหาวิทยาลัยที่แสนจะท็อป แต่ปรากฏว่ามีอาจารย์คนหนึ่งค้าน บานปลายไปเรื่อย เรื่องของ จอมพล ป. มีอะไรที่เราจะต้องเรียนรู้อีกเยอะ” ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image