วธ.จัดใหญ่รับขึ้นมรดกโลก เปิดตัวแอนโทเนีย-เพลงสงกรานต์4ภาษา ตั้งเป้าดึงนทท.โกยรายได้เข้าปท.

วธ.จัดยิ่งใหญ่สงกรานต์ไทย ‘เสริมศักดิ์’ ตั้งเป้า ดึงนทท.ทั่วโลกโกยรายได้เข้าประเทศ เปิดตัวแอนโทเนีย ‘นางมโหธรเทวี นางสงกรานต์ ประจำปี’67 พร้อมเพลงสงกรานต์ 4 ภาษา

เมื่อวันที่ 4 มีนาคม ที่หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เป็นประธานงานแถลงข่าว เปิดตัวนางมโหธรเทวี นางสงกรานต์ประจำปี 2567 และเพลงสงกรานต์ ฉบับภาษาต่างประเทศในโอกาสที่ องค์การยูเนสโก ได้ประกาศขึ้นทะเบียน “สงกรานต์ในประเทศไทย” เป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ โดยมี นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม นางอติพร สุนทรสนาน เสนะวงศ์ เจ้าของและผู้จัดการวงดนตรีสุนทราภรณ์ รศ.ดร.จารุณี หงส์จารุ อาจารย์ประจำภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายพหลยุทธ กนิษฐบุตร รองอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และ นางนฤมล เลี้ยงรักษา รองประธานสภาวัฒนธรรมกรุงเทพฯ เข้าร่วม

นายเสริมศักดิ์กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้ได้รับความร่วมมือทั้งจากภาครัฐและเอกชน โดยถือว่าเป็นเวลาแห่งความสำคัญ ที่จะจัดงานสงกรานต์ให้ยิ่งใหญ่ หลังยูเนสโก ได้ประกาศขึ้นทะเบียนประเพณี “สงกรานต์ในประเทศไทย เป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้ รัฐบาลมุ่งขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ ด้านเฟสติวัลและด้านการท่องเที่ยวรองรับ Thailand Creative Content Agency (THACCA) และในส่วนของ วธ.ได้กำหนดนโยบายภายใต้ซอฟต์พาวเวอร์ “สร้างเสน่ห์วิถีไทย ครองใจคนทั้งโลก” เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นหมุดหมายการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้แก่ประชาชนและชุมชนและส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ

“รัฐบาลโดย วธ. ตั้งใจผลักดันส่งเสริมการจัดงานสงกรานต์จัดให้ยิ่งใหญ่ที่สุด ดังไกลไปทั่วโลก โดยประเพณีสงกรานต์ในประเทศไทย เป็นประเพณีเก่าแก่ของไทยที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยโบราณ เป็นประเพณีแห่งความสุข ความอบอุ่น อ่อนโยน เต็มไปด้วยบรรยากาศของความกตัญญู ความสนุกสนาน ความเอื้ออาทรและการให้เกียรติ เคารพซึ่งกันและกัน โดยใช้ “น้ำ” เป็นสื่อในการสร้างสัมพันธไมตรี ในปี2567 นี้รัฐบาล โดยความร่วมมือกับทุกภาคส่วนกำหนดจัดงาน “Maha Songkran World Water Festival : ประเพณีสงกรานต์ไทย หมุดหมายนักท่องเที่ยวทั่วโลก” ในช่วงเดือนเมษายน โดยมีการจัดกิจกรรมทั้งในส่วนกลาง (กรุงเทพมหานคร) และส่วนภูมิภาค จึงขอเชิญชวนคนไทยและชาวต่างชาติทั่วโลกร่วมงานดังกล่าว เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสที่ประเพณีสงกรานต์ในประเทศไทย ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ และร่วมสืบสาน รักษา ต่อยอดมรดกภูมิปัญญาประเพณีสงกรานต์ อันทรงคุณค่าของประเทศไทยให้คงอยู่สืบไป”นายเสริมศักดิ์ กล่าว

Advertisement

นายโกวิทกล่าวว่า สวธ. ได้ดำเนินการจัดกิจกรรมสืบสานประเพณีสงกรานต์ พ.ศ.2567 ในโอกาสที่ประเพณีสงกรานต์ในประเทศไทยได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนในรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติจากองค์การยูเนสโก โอกาสนี้แต่งตั้ง น.ส.แอนโทเนีย โพซิ้ว รองนางงามจักรวาล อันดับ 1 ประจำปี 2023 เป็นนางมโหธรเทวี นางสงกรานต์ ปี 2567 เพื่อร่วมถ่ายทอดคุณค่าสาระและแสดงอัตลักษณ์ของประเพณีสงกรานต์ไทย และเพื่อสืบสานประเพณีสงกรานต์ได้จัดทำบทเพลง “เริงสงกรานต์” ฉบับภาษาอังกฤษร่วมกับมูลนิธิสุนทราภรณ์ และวงดนตรีสุนทราภรณ์ เพื่อให้เข้ากับยุคสมัยปัจจุบัน ประพันธ์ทำนองโดย ดร.สรจักร เกษมสุวรรณ ขับร้องโดยคณะนักร้องคลื่นลูกใหม่ของวงดนตรีสุนทราภรณ์ เป็นการนำร่อง ซึ่งวงดนตรีสุนทรภรณ์มีบทเพลงเกี่ยวกับสงกรานต์อีก 7 เพลง จะขยายผลต่อไป มีการจัดทำบทเพลง “สงกรานต์” ซึ่งเป็นเพลงแต่งใหม่ โดย รศ.ดร.จารุณี หงส์จารุ มีทั้งฉบับภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ จำนวน 4 ภาษา ภาษาเยอรมัน ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน และภาษาฝรั่งเศส เนื้อเพลงใช้คำง่ายๆ ชาวไทยและต่างประเทศเข้าใจแนวคิดของประเพณีสงกรานต์ บรรเลงโดยวงดนตรีเฉลิมราชย์

นายโกวิทกล่าวต่อว่า สำหรับเพลงสงกรานต์ ฉบับภาษาต่างประเทศจะเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในทุกช่องทางให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้รับรู้ถึงคุณค่าสาระของประเพณีสงกรานต์ในประเทศไทยอย่างกว้างขวาง และส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศพร้อมจะเสนอสถานทูตทั่วโลก รวมถึงสายการบินของประเทศไทยเพื่อประชาสัมพันธ์สู่นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาประเทศไทย สนับสนุนสร้างพลังสร้างสรรค์หรือซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ ยกระดับและพัฒนาด้านความรู้ ความสามารถ ความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย ให้สร้างมูลค่าและสร้างรายได้ให้แก่ประเทศไทย

นางอติพร สุนทรสนาน เสนะวงศ์ ผู้จัดการวงดนตรีสุนทราภรณ์ กล่าวว่า ในนามวงดนตรีสุนทราภรณ์ ขอแสดงความชื่นชมยินดีในการที่ประเพณีสงกราต์หรือวันขึ้นปีใหม่ไทย ได้รับการยกย่องเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ โดยองค์การยูเนสโกและกระทรวงวัฒนธรรมได้พิจารณาคัดเลือกเพลงรำวงเริงสงกรานต์ที่ประพันธ์ทำนองโดยครูเอื้อ สุนทรสนาน บุคคลสำคัญของโลกทางด้านดนตรียกย่องของยูเนสโกในปี 2553 มาเป็นส่วนหนึ่งของการนำเทศกาลสงกรานต์ของไทยสู่เวทีโลก สำหรับเพลงรำวงเริงสงกรานต์นับว่าเป็นเพลงที่มีทำนองไพเราะ มีความสนุกสสานแบบพื้นบ้านไทย และถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของการเฉลิมฉลองของชาวไทยมาตั้งแต่ปี 2504 หรือเมื่อ63 ปีมาแล้ว

Advertisement

“ในการนำเพลงนี้มาใส่เนื้อร้องภาษาอังกฤษวงดนตรีสุนทราภรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่าจะต้องคงทำนองและจังหวะดนตรีอันไพเราะที่ ครูเอื้อ สุนทรสนาน ได้ประพันธ์ไว้ให้ครบถ้วนเพื่อเป็นการถ่ายทอดบรรยากาศการเฉลิมฉลองเทศกาลสงกรานต์ที่ชาวไทยทุกคนรู้จัก รื่นเริง และคุันเคยกันมานาน เนื้อเพลงของวงดนตรีสุนทราภรณ์ที่ทำเป็นภาษาอังกฤษนั้น ใช้คำง่าย มีสัมผัส และคำซ้ำที่คนไทยในต่างแดนและชาวต่างชาติ น่าจะสามารถเข้าใจและจดจำนำไปร้องได้โดยง่าย มีองค์ประกอบของการเฉลิมฉลองเทศกาลสงกรานต์ครบถ้วน ได้แก่ ความสนุกสานร่วมกัน การละเล่น การรำวง ตลอดจนการสนุกกับการสาดน้ำ วงดนตรีสุนทราภรณ์ หวังว่า เพลงรำวงสงกรานต์ภาคภาษาอังกฤษจะส่วนหนึ่งเผยแพร่วัฒนธรมสงกรานต์หรือปีใหม่ไทยให้เป็นนิยมอย่างแพร่หลายและเป็นที่รู้จักของประชาคมโลก เป็นความภาคภูมิใจของคนไทยต่อไป

นายพหลยุทธ กนิษฐบุตร รองอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ (สบศ.) กล่าวว่า สบศ.ได้บูรณาการจัดการแสดงร่วมกับ สวธ. จัดการแสดงโดยในการฉลองสงการนต์เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาก็ได้จัดการแสดง มีนักแสดงเข้าร่วมกว่า 500 คนเพื่อร่วมฉลอง และได้ผลิตการแสดงชุดตำนานนางสงกรานต์ ที่กล่าวถึงความทุกข์ของมนุษย์ ทั้งความไม่สวย อ้วน รวย จน ซึ่งล้วนที่ความทุกข์ ที่แตกต่างกัน ผสมผสานกับหลักความเชื่อของคนไทย ที่ชอบบนบานศาลกล่าวต่อเทวดา อธิบายถึงประวัติความเป็นมาของประเพณีสงกรานต์ และที่มาของนางสงกรานต์ในแต่ละวัน รวมถึง ที่มาของราศรี 3 ช่วงเวลา เช้า กลางวัน และเย็น โดยตอนเช้าราศรีอยู่ที่หน้า กลางวันอยู่ที่อก และเย็นอยู่ที่เท้า ซึ่งเป็นกุศโลบายของคนเถ้าคนแก่ ที่สอดแทรกเรื่องสุขภาพ ที่ต้องดูแลร่างกายให้สะอาด ซึ่งน่าติดตาม และขอเชิญชวนให้ประชาชนร่วมรับชมในการฉลองสงกรานต์ที่จะถึงนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังช่วงแถลงข่าวประธานได้มอบจักรและตรีศูล สัญลักษณ์ของนางสงกรานต์ ประจำปี 2567 และมอบเกียรติบัตร ให้แก่ น.ส.แอนโทเนีย โพซิ้ว ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็น “นางมโหธรเทวี นางสงกรานต์ ประจำปี 2567” ต่อด้วยการแสดงทางวัฒนธรรม ชุด “ตำนานนางสงกรานต์” โดยแอนโทเนีย โพซิ้ว และการแสดงบทเพลง “เริงสงกรานต์” ฉบับภาษาไทย และภาษาต่างประเทศ โดยคณะนักร้องคลื่นลูกใหม่ของวงดนตรีสุนทราภรณ์

จากนั้น เป็นการแสดงบทเพลง “สงกรานต์” ซึ่งเป็นเพลงแต่งใหม่โดย รศ.ดร.จารุณี หงส์จารุ ฉบับภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ บรรเลงโดยวงดนตรีเฉลิมราชย์ และการแสดงขับร้องบทเพลงเริงสงกรานต์ ฉบับภาษาจีน โดย ส.ว.ประเสิรฐ ประคุณศึกษาพันธ์ ร่วมกับคณะเม้ง ป.ปลา นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรม สรงน้ำพระพุทธรูป การสาธิตการจัดประเพณีสงกรานต์ จากสภาวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดชลบุรี จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดภูเก็ต อีกด้วย

ทั้งนี้ สวธ. ได้จัดกิจกรรมเพื่อสืบสานประเพณีสงกรานต์ ประจำปี 2567 ประกอบด้วย-งานรดน้ำขอพรศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2567 ณ อาคารเอนกประสงค์ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย วันที่ 10 เมษายน 2567 นิทรรศการ สงกรานต์ไทย มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ 10-12 เมษายน 2567 เวลา 10.00-21.00 น. ณ ลานกลางแจ้งหน้าหอศิลป์กรุงเทพมหานคร (BACC) งานสืบสานประเพณีสงกรานต์ พุทธศักราช 2567 ณ วัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพมหานคร ระหว่าง 12-16 เมษายน 2567 และกิจกรรมการแสดงสืบสานประเพณีสงกรานต์ ในงานใต้ร่มพระบารมี 242 กรุงรัตนโกสินทร์ ในวันที่ 13 เมษายน 2567 ณ เวทีการแสดง สังคีตศาลา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image