สุจิตต์ วงษ์เทศ : สังฆราช, สังฆราชา

สังฆราชโบราณแยกเป็น 2 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายคามวาสีเรียก พระสังฆราช และฝ่ายอรัญวาสีเรียก พระสังฆราชา และพระครู มีแล้วตั้งแต่ยุคต้นอยุธยา อยู่ในพระธรรมนูญ (หนังสือกฎหมายตราสามดวง) และมีในรัฐสุโขทัย

น่าเชื่อว่าสมณศักดิ์ตำแหน่งเหล่านี้มีก่อนยุคอยุธยา แล้วมีเลียนแบบตำแหน่งของศาสนาพราหมณ์ เช่น พระมหาราชครูพระครูมหิธร, พระราชครูพระครูพิเชษฐ์, พระราชครูพระครูพิราม ฯลฯ
รัฐสุโขทัย มีจารึกหลายหลักระบุนามสังฆราช มีหลักหนึ่ง (จารึกวัดพระเสด็จ สุโขทัย พ.ศ. 2052-2061) ข้อความเกี่ยวกับทำบุญสร้างโบสถ์ มีนามสังฆราชยาวมาก ดังนี้

“สมเด็จพระสังฆราชจุฑามณีศรีสังฆปรินายก สธรรมดิลกบรมเวธาจารีย์ บพิตรฯ”

พญาลิไทให้อัญเชิญสังฆราชจากลังกาไปรัฐสุโขทัย มีในจารึกวัดป่ามะม่วง สุโขทัย ระบุนามว่า “มหาสามีสังฆราช” แต่จารึกวัดป่าแดง สุโขทัย ระบุนาม “สังฆราชมหาสวามีเจ้า”

Advertisement

คำว่า มหาสามี และมหาสวามี น่าจะหมายถึงเป็นพระอาวุโสมาก

หลานพ่อขุนผาเมือง รัฐสุโขทัย ออกบวชแล้วธุดงค์แสวงบุญไปอยู่ลังกา 10 ปี ได้รับยกย่องจากมหาชนลังกาสมัยนั้นว่า

“สมเด็จพระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุนีศรีรัตนลังกาทีปมหาสามีเป็นเจ้า”

Advertisement

เมื่อกลับจากลังกาถึงดินแดนสยามสุวรรณภูมิ ได้ปฏิสังขรณ์พระมหาธาตุหลวง เมืองนครชัยศรี เป็นยอดปรางค์ ปัจจุบันคือพระปฐมเจดีย์ จ. นครปฐม สร้างครอบสมัย ร.5

คำอธิบายภาพประกอบ

ภิกษุดินเผา 3 รูป ครองจีวร ถือบาตร ทำท่าบิณฑบาต เป็นหลักฐานเก่าสุดที่แสดงว่ามีพระสงฆ์ในดินแดนสุวรรณภูมิ ลายเส้นจากประติมากรรมดินเผา ราวหลัง พ.ศ. 1000 พบที่เมือง อู่ทอง จ. สุพรรณบุรี (ภาพจากหนังสือ สุวัณณภูมิ โดย ธนิต อยู่โพธิ์ กรมศิลปากร พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2510)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image