ปรากฏการณ์ “ไสว่าสิบ่ถิ่มกัน” เพลงเดียว ร้อยล้าน จุดเปลี่ยนและเสรีภาพ

“ไสว่าสิบ่ถิ่มกัน ไสว่าสิมีกันและกัน

ไสว่าสิฮักแพงกัน ไสว่าสิมีกันตลอดไป

ไสว่าสิบ่ถิ่มกัน ไสว่าสิมีกันเรื่อยไป

ไสว่าสิบ่แบ่งใจ ไสว่าสิมีแค่…เฮา…”

Advertisement

เป็นอีกหนึ่งบทเพลงที่มีการขับร้องกันทั้งบ้านทั้งเมือง ช่วงต้นปีนี้ ไม่มีใครกล้าปฏิเสธว่าความสำเร็จของเพลง “ไสว่าสิบ่ถิ่มกัน” ที่ปรากฏขึ้น เป็นตัวอย่างการประสบความสำเร็จที่น่าชื่นชม เพราะในวันแรกที่อัพโหลดลงในยูทูบ 1 ล้านวิวในวันเดียวนั้น มาจากเสน่ห์ของภาษาอีสาน “แบบบ้านๆ”

การันตีโดยโพล เพราะช่วงต้นปีที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสานของมหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือที่เรียกว่าอีสานโพล ได้สำรวจพบว่าเพลงแห่งปีที่ชาวอีสานยกให้คือเพลง ไสว่าสิบ่ถิ่มกัน นี้เอง

เมื่อย้อนกลับไปที่จุดเริ่มแรกก็จะพบความน่าทึ่งบางอย่างเพราะเพลงนี้เป็นเพลงประเภทที่ว่าแต่งกันเอง บรรเลงกันเอง และอาจมีมิวสิกวิดีโอกันเองโดยคนที่มีความชื่นชอบในเสียงเพลงกลุ่มหนึ่ง

Advertisement

หลังจากนั้นก็อัพโหลดเพลงดังกล่าวลงใน YouTube ตั้งแต่กลางปี 2558 สามารถทำยอดวิวหลักล้านได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว

หลังจากนั้นไม่นานผู้เข้าประกวดบนเวทีเดอะวอยซ์ท่านหนึ่งได้นำบทเพลงดังกล่าวไปร้องบนเวที สร้างความประทับใจให้กับคนทั้งประเทศ และในวันนั้นเอง ผู้คนต่างก็สงสัยว่าเพลงดังกล่าวมีที่มาอย่างไร ผู้คนชื่นชอบอย่างรวดเร็ว กลายเป็นเพลงที่มีคนแชร์มากที่สุดในวันนั้น และร้องกันจนติด จนถึงทุกวันนี้

โดยคลิปประกวดของนักร้องคนดังกล่าวล่าสุดมีผู้เข้าประชุมแล้วเกือบ 30 ล้านวิว มีรายงานว่า ก้อง ห้วยไร่ มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการเดินสายร้องเพลงไปทั่วประเทศประมาณ 30 ล้านบาทต่อปี และยังไม่นับค่าลิขสิทธิ์อื่นๆ อีก

ล่าสุดเพลงดังกล่าวสามารถทำยอดวิวใน YouTube ได้เกือบ 68,000,000 วิวแล้ว ทำให้ ก้อง ห้วยไร่ กลายเป็นนักร้องที่มีชื่อเสียงอย่างมากของภาคอีสาน กระทั่งสามารถทำมาหากินด้วยการร้องเพลง เเละเดินสายออกคอนเสิร์ตจนมีแฟนคลับในระดับหนึ่ง เพลงดังกล่าวจึงเป็นเพลงที่ได้รับการยอมรับจากคนทั้งประเทศ ผู้ร้องเองก็ได้รับเชิญไปออกรายการจำนวนมากกลายเป็นซูเปอร์สตาร์ในทันที

ความน่าสนใจของปรากฏการณ์ในครั้งนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการสื่อสารและเรื่องของอำนาจ

กล่าวคือ ในยุคโลกาภิวัตน์ เทคโนโลยีการสื่อสารคือเครื่องมือและเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้ผู้คนทั้งโลกหรือทางสังคมเชื่อมโยงกันภายในเวลาอันรวดเร็ว

เรียกว่ายิ่งเทคโนโลยีพัฒนาและผู้คนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีการสื่อสารได้ด้วยราคาที่ถูกลง เราก็ยิ่งจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงอำนาจมากขึ้น

เรื่องนี้สามารถนำมาอธิบายกับปรากฏการณ์เพลง ไสว่าสิบ่ถิ่มกัน ได้

อย่าลืมว่าในอดีต การผูกขาดเรื่องเพลงเป็นเรื่องของทุนขนาดใหญ่ นักร้องที่จะมีชื่อเสียงได้ก็ต้องพึ่งพาค่ายเพลงขนาดใหญ่ หากไม่มีกลุ่มทุนซึ่งเป็นค่ายเพลงสนับสนุนให้ออกอัลบั้มนักร้องคนดังกล่าวก็ไม่สามารถที่จะมีชื่อเสียงได้

เรียกได้ว่านอกจากมีความสามารถในเรื่องการร้องเพลงแล้ว หากใครไม่มีความสัมพันธ์ทางอำนาจกับผู้ที่มีอำนาจในวงการเพลงหรือในค่ายเพลงชื่อดัง ก็จะไม่สามารถเป็นนักร้องดังที่ใจปรารถนาได้

นี่คือกำแพงที่สำคัญที่เป็นกรอบจำกัดการพัฒนาเพลงมากพอสมควร

ปัจจุบันการให้ความสำคัญกับค่ายเพลง เพื่อเป็นพื้นที่ในการผลิตผลงาน ไม่ใช่เรื่องจำเป็นอีกแล้ว เพราะวันนี้ทุกคนต่างมีอำนาจในการสื่อสารของตัวเอง โดยเฉพาะการใช้ยูทูบ หรือเฟซบุ๊กในการสร้างพื้นที่ทางผลงานของตัวเองได้

เราจึงได้เห็นนักร้องที่เป็นภาพตัวแทนของคนชนบท หรือคนที่มีวิธีคิดหลุดออกความเป็นชนชั้นกลาง ซึ่งครอบงำวงการเพลงมาอย่างยาวนาน เข้ามามีพื้นที่ในสังคม โลดแล่นอยู่ในวงการบันเทิงมากขึ้น

นี่คือการปรับตัวและการเปลี่ยนผ่านในสถานะของผู้ผลิตผลงานเพลง

ในส่วนของผู้ฟังเอง ก็มีความเปลี่ยนแปลงเช่นกัน เพราะเมื่อทุกคนสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้มากขึ้น วิถีของการฟังเพลงก็เปลี่ยน

ปัจจุบันเราไม่ต้องฟังเพลงผ่านซีดี หรือโหลดฟังแบบออฟไลน์ให้เปลืองความจำคอมพิวเตอร์อีกแล้ว

แค่ทุกคนคลิกเข้าไปชมในยูทูบ ก็จะได้รับฟังเพลงที่ชอบ แถมมีให้เลือกฟังแทบทุกเพลงทุกยุคสมัย ตามรสนิยมของเราเลยทีเดียว

ซึ่งในอนาคต หากการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตถูกลงกว่านี้ คนระดับล่างในสังคมสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตอย่างกว้างขวางมากขึ้น ธุรกิจเพลงรูปแบบนี้จะยิ่งแข็งแกร่งมากขึ้น

ขณะที่ทางด้านของผู้ผลิตเอง ก็พยายามปรับตัว ปัจจุบันเราจะเห็นการออกอัลบั้มเพลงในรูปแบบชุดลดน้อยลง แต่ค่ายเพลงจะให้ความสำคัญกับเพลงในแต่ละเพลงมากขึ้น

กล่าวให้ชัดก็คือ ค่ายเพลงต้องทำให้เพลงทุกเพลงมีคุณค่า และสร้างเสียงฮือฮาให้กับคนในสังคมได้

เพราะปัจจุบันพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เพลงๆ เดียวสามารถสร้างรายได้ให้กับค่ายเพลงได้หลายช่องทาง และยังทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องได้รับอานิสงส์ไปด้วย

แสดงให้เห็นว่าค่ายเพลงก็ต้องปรับกลยุทธ์การทำเพลงครั้งใหญ่ เพื่อรับการเปลี่ยนนี้

นอกจากการการปรับตัวของค่ายใหญ่ การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการสื่อสารที่เกิดขึ้นในธุรกิจการผลิตเพลง ยังทำให้เราได้เห็นค่ายเพลงขนาดเล็กเกิดขึ้นมากมาย หลากหลายแนวทาง และจากช่องทางออนไลน์ที่เกิดขึ้น ทุกค่ายก็สามารถเลี้ยงตัวเองอยู่ได้ และพัฒนาผลงานที่น่าสนใจและสร้างสรรค์ออกมา

ยิ่งเพลงน่าสนใจมากแค่ไหน ก็ยิ่งขยายความดังได้กว้างขวางและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น อย่างเพลง “ไสว่าสิบ่ถิ่มกัน” ที่ล่าสุดดังไกลไปถึงฝั่งลาว มีการนำเพลงดังกล่าวไปแปลงเนื้อร้อง สร้างความฮือฮาบนโลกออนไลน์พอสมควร

นี่ล้วนเป็นผลของอำนาจการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีการสื่อสารทั้งสิ้น

ปรากฏการณ์ของเพลงนี้จึงช่วยให้เราได้เรียนรู้ว่า ในยุคสังคมออนไลน์เป็นพลังขับเคลื่อนโลกเช่นนี้ ความดังหรือไม่ อยู่ที่นักร้องคนไหนก็ได้ในประเทศไทย จะมีความกล้าที่จะสร้างผลงานสร้างสรรค์ออกมาแล้วเผยแพร่มันออกมาในสังคมออนไลน์ ซึ่งเป็นพื้นที่แห่งโอกาสที่เท่าเทียมมากขึ้น มีเสรีภาพมากขึ้น

ไม่มีอำนาจหรือการครอบงำในประเด็นวัฒนธรรมบันเทิงใดจะยั่งยืนได้อีกต่อไปแล้ว นับตั้งแต่นี้ วัฒนธรรมบันเทิงจะเป็นเรื่องที่สร้างขึ้นโดยประชาชน เป็นของประชาชน เพื่อประชาชน มากขึ้น

หมดยุคที่สื่อบันเทิงต้องมานั่งทำความเข้าใจเรื่องนักร้องคนนี้เป็นเด็กของใครเสียที

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image