บวชนาคไม่มีในอินเดีย! “ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว” ชวนฟังทำขวัญนาคดั้งเดิมอุษาคเนย์

มีเรื่องเล่าหนึ่งเกี่ยวกับพิธีบวชนาค ว่า มีงูใหญ่ หรือพญานาค ปลอมตัวเข้ามาบวช แต่ภายหลังถูกจับได้จึงถูกขับให้ลาสิกขา พญานาคจึงขอร้องต่อพระพุทธเจ้าว่า ภายภาคหน้า แม้จะนาคจะบวชไม่ได้ก็ขอให้ผู้ที่กำลังเตรียมตัวบวชนั้นมีชื่อเรียกว่านาค

จึงเกิดเป็นพิธี ทำขวัญนาค, ขานนาค, บวชนาค แบบที่เห็นทุกวันนี้

เรื่องนี้ “ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ” บอกเล่าไว้ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับล่าสุด (30 มิ.ย.-6 ก.ค.2560) ในบทความชื่อ “บวชนาคไม่มีในอินเดีย แถมเข้าพรรษาเดิมก็ไม่ใช่ประเพณีพุทธ” ว่า แม้เรื่องนาคปลอมเป็นมนุษย์มาบวชเป็นพระแล้วถูกจับได้ มีในพระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค 1 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในพระไตรปิฎก แต่ข้อความในพระไตรปิฎกก็จบลงตรงที่ตัดสินให้ “สึก”

ไม่ได้มีเรื่องการที่นาคร้องขอ ว่าก่อนบวชเป็นพระต้อง “บวชนาค”

Advertisement

“นาค” มาจากภาษาตระกูลอิน มีรากมาจากภาษาตระกูลอินโด-ยูโรเปียน แปลว่า เปลือย สังคมอินเดียยุคนั้น ใช้คำนี้เรียกชนพื้นเมืองในอุษาคเนย์ รวมถึงชนพื้นเมืองในอัสสัมทางตอนเหนือของพม่า (นาคาแลนด์) อย่างดูถูก

บวชนาค จึงหมายถึง บวชคนพื้นเมือง ล้าหลัง ไม่นุ่งผ้าให้เข้ามาอยู่ในพุทธศาสนา พิธีบวชนาคจึงไม่มีในพระไตรปิฎก ไม่มีในอินเดีย, ลังกา

รายการ “ขรรค์ชัย บุนปาน – สุจิตต์ วงษ์เทศ ทอดน่องท่องเที่ยว” ชวนทำความเข้าใจพิธี “บวชนาค” ประเพณีพื้นเมืองอุษาคเนย์ ไม่มีในอินเดีย พร้อมทั้งฟังดนตรีปี่พาทย์ และสาธิตการสู่ขวัญนาคแบบอีสานดั้งเดิม และแบบภาคกลาง

Advertisement

ตอน : ทำขวัญนาค ผี, พุทธ, พราหมณ์

ถ่ายทอดสดจากวัดแก้วไพฑูรย์ (บางประทุนใน) เขตจอมทอง กรุงเทพฯ ผ่านทางเฟสบุ๊คมติชนออนไลน์ www.facebook.com/MatichonOnline

พฤหัสบดี 6 กรกฎาคม เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป

ร่วมพิสูจน์ พยานหลักฐานว่าอารยธรรมอินเดียไม่ได้มีอำนาจควบคุมคนพื้นเมืองได้หมด เพราะอย่างน้อยก็ยังมีพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์เหลือไว้ให้ “นาค”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image