Spider–Man: Homecoming ก่อนจะเป็นซุปเปอร์ฮีโร่

Spider–Man: Homecoming ก่อนจะเป็นซุปเปอร์ฮีโร่

ถ้าทอม ฮอลแลนด์ ไม่ใส่ชุดสไปเดอร์แมนออกต่อกรกับเหล่าร้าย หนังเรื่องนี้จะเป็นหนัง coming of age ซึ่งเล่าเรื่องของวัยรุ่นที่พยายามจะสร้างความสำคัญและพิสูจน์ตัวเองให้ผู้ใหญ่ยอมรับ

เนื้อหาหนังอาจสนุกสู้ภาคต่างๆ ก่อนหน้านี้ไม่ได้ แต่มีสาระและข้อคิดดีๆ

Spider-Man ภาคนี้ไม่ใช่ฮีโร่ที่เก่งกาจ น่าเกรงขาม ชนิดโผล่มาเมื่อไหร่เหล่าร้ายหวาดกลัว แต่กลับเป็นไอ้แมงมุมที่อยู่ในขั้นฝึกหัด ที่ผู้ร้ายแค่รู้สึกรำคาญยามโผล่มา นี่เป็นการตีความที่ต่างกับภาคก่อนๆ

หลังจากสไปดี้ หรือ ปีเตอร์ ปาร์กเกอร์ (ทอม ฮอลแลนด์) ได้ร่วมทีมกับไอออนแมน (โทนี สตาร์ค) ในการปะทะกับกัปตันอเมริกา (สตีฟ โรเจอร์) ปีเตอร์ก็กลับสู่ชีวิตเด็กนักเรียนมัธยมย่านควีนส์ตามเดิม แม้เขาจะมีชุดสไปเดอร์แมนสุดไฮเทคที่โทนี สตาร์ค พัฒนาจนสามารถทำอะไรได้หลายอย่าง แต่ภารกิจของเขาเป็นเพียงแค่ดูแลละแวกบ้านไม่ให้เกิดความวุ่นวายเท่านั้น

Advertisement

ปีเตอร์จึงพยายามพิสูจน์ตัวเองให้โทนียอมรับ เพื่อเข้าร่วมทีมอเวนเจอร์ จนไปล่วงรู้การลักลอบสร้างและขายอาวุธมหาประลัยจากเศษซากอาวุธต่างดาวของวัลเจอร์ มนุษย์นกแร้ง หรือเอเดรียน ทูมส์ (ไมเคิล คีตัน)โดยบังเอิญ ปีเตอร์ในคราบสไปเดอร์แมน เข้าขัดขวางและต่อกรกับวัลเจอร์และพรรคพวก ทั้งๆ ที่ตัวเองยังมือใหม่และด้อยประสบการณ์ ศึกครั้งนี้จะหนักเกินไปไหมสำหรับฮีโร่ฝึกหัดคนนี้ ไหนจะต้องต่อกรกับผู้ร้ายที่ฝีมือเหนือกว่า ไหนจะต้องพยายามพิชิตใจสาวสวยดาราโรงเรียน

โทนของหนังเป็นเรื่องชีวิตเด็กรุ่นใหม่ วัยรุ่นไฮสกูลที่อยากซ่าส์อยากดัง หมกมุ่นกับโซเซียลมีเดีย ไม่คิดหน้าคิดหลัง มากกว่าจะเป็นหนังซุปเปอร์ฮีโร่ที่มีฉากแอคชั่นต่อสู้อลังการ สไปดี้ในภาคนี้กึ่งๆ เป็นตัวตลก แม้พยายามทำเหี้ยมหาญซักถามผู้ร้ายด้วยการเปิดโหมดเสียงข่มขวัญ (ล้อเลียนเสียงแบทแมน) แต่คนร้ายก็มิได้เกรงกลัว

ชุดสไปเดอร์แมนไม่สามารถกลบความเป็นเด็กของปีเตอร์ได้ ซึ่งเป็นการตีความของผู้กำกับจอน วัตต์ ที่ต้องการให้ Spider–Man ภาคนี้เป็นวัยรุ่นที่ค่อยๆ เรียนรู้ชีวิต ความรับผิดชอบ ก่อนจะพัฒนาไปสู่การเป็นฮีโร่ที่แท้จริง

Advertisement

ซุปเปอร์ฮีโร่ที่ปรากฏตัวในหนังตัวอย่างคือไออนแมน และ โทนี สตาร์ค ตัวละครนี้ไม่ใช่ใส่มาเพื่อเรียกแขก แต่มีบทบาทสำคัญต่อพัฒนาการของสไปดี้เป็นอย่างมาก ภาคนี้ โทนี สตาร์คไม่ใช่เศรษฐีเพลย์บอย ขี้เล่น บ้าระห่ำ แบบที่เห็นในหนัง Iron Man หรือ The Avengers แต่เป็นพี่เลี้ยงที่เข้มงวด เอาจริงเอาจัง แม้เขาจะสนับสนุนปีเตอร์ด้วยการออกแบบชุดสไปเดอร์แมนที่ล้ำยุค แต่ก็เรียกคืนทันทีเมื่อปีเตอร์ทำสิ่งที่ล้ำเส้น

ตัวละครที่สร้างพลังให้กับหนังภาคนี้เป็นอย่างมากคือ ไมเคิล คีตัน (ในบทวัลเจอร์ และเอเดรียน ทูมส์) รูปลักษณ์มนุษย์นกแร้งของวัลเจอร์น่าเกรงขาม ดวงตาอำมหิตสีเขียว ปีกโลหะ มือสวมอาวุธที่ทรงพลานุภาพ ฉากบินโฉบสไปดี้ไปโยนทิ้งน้ำ เป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงความเป็นมือใหม่ของสไปดี้ และแสดงศักยภาพที่เหนือชั้นกว่าของวัลเจอร์

ความร้ายกาจของวัลเจอร์หรือเอเดรียน ทูมส์ ก็มีที่มาที่ไป ในสภาพสังคมที่ปลาใหญ่กินปลาเล็ก เอเดรียน ทูมส์ ถูกกดดันจนประกาศว่า “คนรวยหรือคนมีอำนาจอย่างสตาร์ค ไม่เคยเห็นหัวเราหรอก” และถึงจุดที่เขาบอกว่า “โลกกำลังเปลี่ยน ได้เวลาที่เราต้องเปลี่ยนแปลงด้วย” แล้วเขาก็เปลี่ยนตัวเอง จากงานสุจริตไปสู่การประกอบอาชญากรรม เป็นตัวร้ายที่ดูๆ ไป ก็น่าเห็นใจ

นอกจากโทนหม่นหมองของชีวิตเอเดรียน ทูมส์แล้ว มีสีสันน่ารักๆ และมีชีวิตชีวาจากตัวละครที่ไม่ใช่นางเอก นั่นคือ ป้าเมย์ (เมริสา โทเม) คุณป้าลุคใหม่ที่ออกมาทีไรคนดูต้องอมยิ้มและคอยจับตาดูเธอ ตั้งแต่ฉากกินลาบจิบเบียร์ตราช้างในร้านอาหารไทย ที่คนไทยภาคภูมิใจที่มาร์เวลใส่ฉากนี้ลงไปในหนัง ฉากแดนซ์สั้นๆ ร่าเริงน่ารักของเธอกับปีเตอร์ หรือฉากจับหลานแต่งหล่อและติวเข้มการจีบสาว

สำหรับชีวิตวัยรุ่น หนังเรื่องนี้ มีข้อคิดที่น่าสนใจ ปีเตอร์เป็นปลื้มกับชุด Spider–Man ที่ออปชั่นล้ำยุค เปลี่ยนโหมดต่างๆ ได้ตามแต่จะใช้งาน ตั้งแต่ยิงใยได้กว่า 500 รูปแบบ มีเครื่องสะกดรอยตามที่แสดงภาพแบบโฮโลแกรม ปีกใยแมงมุม โดรนลาดตระเวน มีแม้กระทั่ง Suit Lady ที่เป็นปัญญาประดิษฐ์ประจำชุด เมื่อถูกยึดคืนปีเตอร์บอกว่า “ผมทำอะไรไม่ได้ถ้าไม่มีชุดนี้”

แต่ความสามารถและศักยภาพที่แท้จริงของคนบางคนนั้น บางทีไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสิ่งเหล่านี้ และสไปดี้วัยทีนคนนี้ ก็ได้พิสูจน์ความแข็งแกร่งในจิตใจของเขาให้ได้รับการยอมรับในที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image