เขียนถึงหนังสองรส: 47 Meters Down และ War for the Planet of the Apes

เขียนถึงหนังสองรส: 47 Meters Down และ War for the Planet of the Apes

เขียนถึงหนังสองรส: 47 Meters Down และ War for the Planet of the Apes

47 Meters Down

เมื่อปีที่แล้วหนัง The Shallows ที่ เบลค ไลฟ์ลี่ แทบจะแสดงคนเดียว ออกมาสร้างความฮือฮาให้คอหนังทริลเลอร์ได้ลุ้นกันจนตัวโก่ง กับบทหญิงแกร่งที่ต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอดจากฉลามขาวในสถานที่จำกัดบนโขดหินแคบๆ

มาปีนี้ 47 Meters Down มาแบบเดียวกัน หนังแนว Survival ที่แม้จะชอบเบลค ไลฟ์ลี่ มาก แต่ต้องยอมรับว่า 47 Meters Down สนุกกว่า

เรื่องของหญิงสาวสองคน ลิซา (แมนดี้ มัวร์) และเคท (แคลร์ โฮลท์) ที่พยายามเอาชีวิตรอดจากกรงดูฉลามที่เธอเข้าไปอยู่ เพื่อดูชีวิตปลาฉลามในท้องทะเล แต่โชคร้ายโซ่และแท่นที่ยึดกรงเกิดหลุด ทำให้กรงตกจากความลึกระดับ 5 เมตร เป็น 47 เมตร รายล้อมตัวเธอคือฝูงฉลาม เครื่องช่วยชีวิตมีเพียงออกซิเจนในถังที่กำลังจะหมด แถมสื่อสารกับคนบนเรือไม่ได้เพราะอยู่ระดับที่ลึกเกินไป

Advertisement

คำโปรยของหนังสะท้อนความหมดหวังได้อย่างเห็นภาพ “No Help Above, No Hope Below”

หนังไม่ยาวมาก ประมาณ 90 นาทีเท่านั้น แต่ภาพมืดสลัวใต้ท้องทะเล เสียงดนตรี เสียงหายใจ เสียงน้ำ ทำให้คนดูอึดอัดหายใจไม่ทั่วท้อง รู้สึกเหมือนติดอยู่ในทะเลด้วยกันกับสองสาว ในความตื่นเต้นมีอารมณ์แบบอยากจะสมน้ำหน้า ใครใช้ให้ทำอะไรพิเรนทร์แบบนี้

พี่น้องสองสาวที่นิสัยแตกต่างกัน คนพี่ขี้กลัว กำลังมีปัญหาเพราะถูกแฟนทิ้งเนื่องจากทำตัวเป็นคนน่าเบื่อ เลยอยากจะพิสูจน์ตัวเองด้วยการลงไปดูฉลามใต้ทะเลและถ่ายรูปอวดแฟน ส่วนคนน้องรักสนุกชอบเรื่องตื่นเต้น ก่อนจะลงไปลิซ่าคนพี่ ดูสภาพเรือแล้วชักไม่แน่ใจ ยิ่งเห็นกรงสนิมเขรอะก็ลังเล แต่เคท ซ่าส์และไม่คิดหน้าคิดหลัง

Advertisement

ถึงจะหมั่นไส้เรื่องการหาเรื่องให้ตัวเอง แต่ก็เอาใจช่วยสุดขีด หนังเล่นกับอารมณ์คนดูอย่างมาก ทั้งภาพ และดนตรีประกอบกดดันจริงๆ ทุกครั้งที่เคทว่ายน้ำออกไปพยายามติดต่อคนให้มาช่วย หรือสื่อสารกับคนบนเรือ คนดูจะดูอย่างหวาดระแวง กลัวขาขาวๆ ที่กระทุ่มน้ำไหวๆ จะถูกฉลามโผล่เข้ามางาบ ลุ้นจนเหนื่อย ดูหนังไป ดูนาฬิกาไป อยากให้หนังจบเร็วๆ ไม่ใช่ไม่สนุก แต่อยากรู้ว่าสองสาวจะรอดชีวิตไหม

ดาราสาวทั้งสองคนแสดงดี แม้หน้าจะครอบด้วยหน้ากากออกซิเจน แต่แววตาและน้ำเสียงสื่ออารมณ์จนดึงคนดูให้เหมือนร่วมอยู่ในเหตุการณ์ หนังมีความสมจริง CG ฉลามเหมือนจริงมากๆ โผล่มาไม่บ่อย แต่มาทีไรสะดุ้งทุกที อากัปกริยาของฉลามก็เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ใช่ฉลามกลายพันธุ์ที่เจตนามุ่งร้าย แต่เป็นฉลามที่ได้กลิ่นเลือด (บาดแผลจากตัวสองสาว) ก็จะเข้ามากินเหยื่อ

ดูหนังจบเกิดความสงสัย มีด้วยหรือการหย่อนกรงลงใต้ทะเลเพื่อดูฉลามชัดๆ แบบในหนัง หาข้อมูลพบว่ามีจริงๆ ที่ใกล้เคียงกันที่เมืองดาร์วิน ประเทศออสเตรเลีย มีสถานที่ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวที่ชอบเสี่ยงตายชื่อ Crocosaurus Cove Park ที่นี่ใช้กรงกระจกใส ที่เรียกว่า Cage of Death ให้นักท่องเที่ยวเข้าไปอยู่ และหย่อนลงในสระที่มีจระเข้น้ำเค็มขนาดยักษ์ เพื่อล่อให้จระเข้เข้ามาใกล้ๆ นักท่องเที่ยวจะได้เผชิญหน้ากับจระเข้ผ่านกรงกระจก โดยคิดค่าเผชิญหน้าประมาณ 5,000 บาท ต่อเวลายี่สิบนาที

เรื่องแบบนี้ตัวใครตัวมัน ไม่กลัวก็ไปทดลองดูได้ แต่อย่าลืมตรวจสอบให้แน่ใจนะว่าสลิงที่หย่อนกรงจะไม่ขาด และกระจกกรงแก้วแข็งแรงจริงๆ

War for the Planet of the Apes

ก่อนที่จะมาเป็น War for the Planet of the Apes หนังสงครามระหว่างสายพันธุ์มนุษย์และวานร มีหนังที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับ Planet of the Apes ถึงแปดภาค แต่ที่น่าจดจำและเป็นหนังคลาสสิคมากๆ เห็นจะไม่พ้น Planet of the Apes 1968 ที่มีดารานำคือ ชาร์ลตัน เฮสตัน ในหนังเรื่องนั้น โลกได้ถูกปกครองโดยเหล่าวานรเรียบร้อยแล้ว ประชากรวานรระดับสูงในเรื่องเป็นนักวิทยาศาสตร์ และนักรบ ในขณะที่มนุษย์กลายเป็นทาสของวานร

ปี 2011 มีหนัง Rise of the Planet of the Apes ภาครีบู๊ตของหนังตระกูลพิภพวานร ก่อนโลกจะถูกปกครองด้วยเหล่าวานรออกมา หนังประสบความสำเร็จทั้งรายได้ และคำวิจารณ์ ตามต่อด้วย Dawn of the Planet of the Apes 2014 ที่ได้รับคำชื่นชมอย่างท่วมท้น และทำรายได้ทั่วโลกถึง 710 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ มาปีนี้มีหนัง War for the Planet of the Apes ออกมาเป็นบทสรุปเพื่ออธิบายว่า เหตุใดโลกจึงถูกปกครองโดยวานร (ตามที่ปรากฏในหนังไซไฟคลาสสิค Planet of the Apes 1968)

ถ้าจะถามว่า ควรดูสองภาคแรกก่อนดู War for the Planet of the Apes หรือไม่ ถ้าดูเพื่อให้เข้าใจเรื่อง ไม่จำเป็นต้องดู เพราะมีบทสรุปอธิบายความเป็นมาให้เข้าใจได้ แต่ถ้าจะดูเพื่อให้เกิดความ “อิน” ในหนังภาคนี้ อยากแนะนำให้ดู เพราะคนดูจะได้เห็นความเป็นมาของซีซาร์ วานรที่มีความคิดอ่านและอารมณ์แบบมนุษย์ ทั้งยังมีคุณธรรมที่อาจจะเหนือกว่ามนุษย์บางคนด้วยซ้ำ

แมตต์ รีฟส์ ผู้กำกับภาคที่สองและภาคนี้ พูดถึงหนังทั้งสามภาคว่า “หนังแต่ละภาคมีคอนเซ็ปต์ที่แตกต่างกัน ภาคแรกพูดถึงจุดเริ่มต้นของเผ่าพันธุ์ที่เป็นฝ่ายถูกกระทำ นำไปสู่การปฏิวัติ ภาคสองพูดถึงการขึ้นมาเป็นผู้นำในช่วงเวลาที่ยากลำบาก ภาคที่สาม คือการตอกย้ำสถานะในการเป็นตำนานของซีซาร์ เขามีสถานะแทบจะเหมือนโมเสสในพระคัมภีร์”

ภาคนี้ซีซาร์ (แอนดี้ เซอร์คิส) ต้องเผชิญกับความสูญเสียครั้งใหญ่ จากผู้พัน (วูดดี้ ฮาร์เรลสัน) ซึ่งออกไล่ล่าเผ่าพันธุ์วานรอย่างโหดเหี้ยม ความเจ็บแค้นทำให้ซีซาร์ละทิ้งคุณธรรมที่เคยมี จากที่เคยกล่าวว่า “I did not start this war. I fight only to protect apes.” ลุกขึ้นล้างแค้นผู้พันแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน นอกจากความเคียดแค้นแล้ว ซีซาร์ก็เหมือนผู้พันคือ ต้องการดำรงเผ่าพันธุ์ของตนไว้ หนังปิดฉากได้สวยงาม รวมทั้งเจาะลึกเข้าไปในใจตัวละครเอกทั้งสองตัว คนดูจะสัมผัสได้ถึงความเจ็บปวดของซีซาร์ และรู้สาเหตุของความเหี้ยมโหดของผู้พัน

แต่อยากจะเตือนไว้ก่อนว่า แม้หนังจะชื่อ War for the Planet of the Apes แต่หนังไม่เน้นฉากแอคชั่น หรือการทำสงครามระหว่างวานรกับมนุษย์ การเผชิญหน้ากันครั้งสุดท้ายระหว่างซีซาร์และผู้พันก็ผิดคาด ฉากที่น่าจะเป็นความรุนแรง กลับกลายเป็นฉากที่สร้างความสะเทือนใจ แม้จะไม่มีบทสนทนาระหว่างศัตรูคู่อาฆาตทั้งสอง

โทนของหนังค่อนข้างเคร่งเครียด เล่าเรื่องแบบเนิบๆ ไม่หวือหวา ออกแนวดราม่าและหม่นหมองกว่าสองภาคที่ผ่านมา หนังมีบทพูดไม่มาก เน้นความลึกซึ้งทางอารมณ์ของตัวละคร ในภาคนี้คุณธรรมของซีซาร์พ่ายแพ้ต่อความเคียดแค้น ส่วนผู้พัน ความโหดร้ายของเขาสรุปในประโยคที่เขาพูดปลุกใจทหาร

“บางครั้งเราจำเป็นต้องละทิ้งมนุษยธรรมของเรา เพื่อปกป้องความเป็นมนุษย์”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image