เสวนา “บดินทรเดชา แม่ทัพกล้า-ขุนพลแก้ว” คึกคัก สกุล ‘สิงหเสนี’ ร่วมงาน

เมื่อเวลา 13.30น. วันที่ 24 สิงหาคม ที่ศูนย์อาชีพและธุรกิจมติชน (มติชน อคาเดมี) สโมสรศิลปวัฒนธรรมจัดงานเสวนา “บดินทรเดชา แม่ทัพกล้า- “ขุนพลแก้ว” คู่พระทัย” โดยมี รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ เป็นวิทยากร และดำเนินรายการโดย ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบรรยากาศงานเสวนาเป็นไปอย่างคึกคัก มีผู้เข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก อาทิ ม.ร.ว.โอภาศ กาญจนะวิชัย และคุณหญิงอัมพร กาญจนะวิชัย ผู้อุปถัมป์จัดทำหนังสือ “เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) สมุหนายก แม่ทัพใหญ่ผู้สำเร็จราชการในสงครามอานามสยามยุทธ์” ยังมีผู้สืบสายสกุลสิงหเสนีเข้าร่วมงานเสวนาด้วย อาทิ ศรีสุดา สิงหเสนี, กฤษฎาพร สิงหเสนี, ดวงเดือน สิงหเสนี, อภิชาติ สิงหเสนี และพระครูปลัดสาธิต สิงหเสนี เป็นต้น

รศ.ดร.ศานติ กล่าวว่า เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ท่านเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญหลายด้านหลายมิติ เเต่เวลาที่เราศึกษามักจะมีคำถาม คือ ท่านเป็นใครมากจากไหนก่อนรับราชการสมัยร.3 ท่านมีประวัติอย่างไร ซึ่งจริงๆเรื่องนี้ไม่ได้เพิ่งมีปัญหา เเต่ประวัติของท่านในช่วงที่ท่านรับราชการมีการพูดคุยถกเถียง มีงานเขียนหลายชิ้นสะท้อนเรื่องนี้ในสมัยรัชกาลที่ 5 เเสดงว่าการศึกษาประวัติมีปัญหากว่า 100 ปีเเล้วไม่ใช่เพิ่งมามีปัญหาในยุคเรา ประวัติท่านมีประเด็นสำคัญหลายอย่างเเต่อาจจะเป็นเรื่องเล่า ที่มีความขัดกันเองในประวัตินั้น บางก็บอกว่าต้นตระกูลของ เจ้าพระยาบดินทรเดชา มีเชื้อสายจากจีน บ้างก็ว่ามีเชื้อสายจากแขก พราหม

“การศึกษาย้อนหลังจากบิดา คือเจ้าพระยาอภัยราชา (ปิ่น) เดิมเป็นเสมียรของรัชกาลที่ 1 มีความดีความชอบได้เป็นเจ้าพระยาพลเทพ เสนาบดีจตุสดมภ์กรมนา ต่อมาได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยามหาเสนา ขึ้นไปในตำเเหน่งสูงสุดของราชการเเล้วคือสมุหพระกลาโหม ซึ่งพระยาบดินทรเดชา เกิดก่อนสถาปณารัตนโกสินทร์ 5 ปี พระองค์เป็นบุตรของบุคคลสำคัญทางราชการตั้งเเต่ตอนนั้น ต่อมาพระยาอภัยราชาได้ถวายให้นายสิงห์ เข้ารับราชการตำแหน่งสุดท้ายในรัชกาลที่ 1 คือ จมื่นเสมอใจราช”

Advertisement

รศ.ดร.ศานติ กล่าวอีกว่า ร.2 โปรดให้จมื่นเสมอใจราช ย้ายไปอยู่วังหน้า ดำรงตำเเหน่ง จมื่นศรีบริรักษ์ ทำงานกับบิดา ซึ่งดำรงเเหน่งสมเด็จเจ้าพระยาวังหน้า ต่อมาเกิดสงครามโดยพม่า ยกทัพมาตีเมืองถลาง หรือเมืองภูเก็ตในปัจจุบัน จมื่นศรีบริรักษ์ ได้เป็นนายกองคนหนึ่งเเละมีความดีความชอบ กลับมาก็ได้เลื่อนเป็นพระพรหมสุรินทร์ ต่อมา 2354 เกิดศึกที่เขมร ก็ไปในกองทัพด้วยกลับก็ได้เป็น พระยาราชโยธา ซึ่งเป็นเจ้ากรมมหาดไทยฝ่ายเหนือของวังหน้า ต่อมาได้เลื่อนขึ้นอีก เป็นพระยาเกษตรรักษา ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 2 เจ้าพระยาบดินทรเดชา เติบโตในการทำงานราชการอย่างมาก จนได้เป็นขุนพลแก้ว ของรัชกาลที่ 3

“ในช่วงนี้ท่านมีปัญหาชีวิตมากมาย มีอยู่ครั้งหนึ่งเมืองน่านคล้องช้างเผือกได้ ร.2 ก็เสด็จไปรับเเละโปรดให้วังหน้าขึ้นไปรับด้วย ตอนนั้นเจ้าพระยาบดินทรเดชาจะไปรับเสด็จ ตอนนั้นเป็นช่วงเช้ามีหมอกลงจัด ก็ให้ฝีพายเร่งพายเรือ แต่เป็นจังหวะเดียวกันกับขบวนเรือหลวงออกมาเเล้วเป็น 5 ขบวนหลัง ปรากฎว่าท่านตัดหน้าขบวนเข้าไป ซึ่งโทษคือกบฎต้องประหารชีวิต ก็เลยถูกกรมพระราชวังบวรฯ วังหน้าจับคุมขังไว้เเล้วพอหลังจากไปรับช้างกลับมา วังหน้าทิวงคต พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 ซึ่งขณะนั้น ดำรงตำเเหน่ง กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ช่วยทูลขอเเละถูกปล่อยออกมาดำรงตำเเหน่ง พระยาเกษตรรักษานอกราชการ แสดงถึงความใกล้ชิดของเจ้าพระยาบดินทรเดชา กับร.3 ต่อมาเมื่อ ร.3 ขึ้นครองราชย์ก็โปรดให้เป็นพระยาราชสุภาวดี

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเสร็จสิ้นงานเสวนา ม.ร.ว.โอภาส มอบพระพุทธบดินทร ให้กับวิทยากรและผู้ดำเนินรายการ และมอบหนังสือประวัติเจ้าพระยาบดินทรเดชา ให้กับตัวแทนโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)และโรงเรียนในเครือ รวมถึงโรงเรียนวัดเทพลีลา ทั้งนี้เนื้อหาการเสวนาเป็นส่วนหนึ่งของ หนังสือ “เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) สมุหนายก แม่ทัพใหญ่ผู้สำเร็จราชการในสงครามอานามสยามยุทธ์” ของ รองศาสตราจารย์ ดร.ศานติ ภักดีคำ ซึ่งหนังสือเล่มนี้จะบอกเล่าประวัติของเจ้าพระยาบดินทรเดชา ผู้เป็น “ขุนพลแก้ว” ของรัชกาลที่ 3

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image