กลอนหูไพฑูรย์ž ปลุกขบคิดตั้ง-ถอด ศิลปินแห่งชาติ

ดูท่าทีจะไม่จบง่ายๆ สำหรับ กลอนหูž คำผวน กรณีการหนีฟังคำพิพากษาของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรŽ อดีตนายกรัฐมนตรี  ในคดีจำนำข้าว จากแป้นพิมพ์ของ ไพฑูรย์ ธัญญา นามปากกาของ รศ.ดร.ธัญญา สังขพันธานนท์ นักเขียนรางวัลซีไรต์จากเรื่องก่อกองทราย เมื่อ พ.ศ.2534 และศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์หมาดๆ เมื่อปี 2559

เมื่อ คำผวนŽ ทำพิษ เจอสังคมสะกิดแรงๆ ว่าเข้าข่ายหยาบคายและเหยียดเพศ กระทั่งลุกลามไปสู่การร่วมลงชื่อออกแถลงการรณ์ประณามโดยกลุ่มกวี นักเขียน และนักวิชาการ 126 ราย อีกทั้งคัดค้านไม่ให้ส่ง ไพฑูรย์ ธัญญา เป็นตัวแทนกวีไทยไปร่วมงานกวีอาเซียน ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย แต่เจ้าตัวยังคงนิ่งเงียบ ไร้ความเคลื่อนไหวใดๆ

นอกจากนี้ ยังมีปรากฏการณ์สำคัญที่สังคมจับตา นั่นคือการล่ารายชื่อถอดถอนจากตำแหน่งศิลปินแห่งชาติ ด้วยเหตุผลที่ว่า นี่คือสถานะอันทรงเกียรติ ไม่ควรถูกเหยียบย่ำทำลายโดยพฤติกรรมส่วนตัวผ่านบทกวีที่ไม่เหมาะสม ตัวเลขอัพเดตเกือบครึ่งหมื่นในขณะนี้อาจไม่สำคัญเท่าการที่ประชาชนคนไทยส่วนหนึ่งพากันตั้งคำถามถึงหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้มีความเหมาะสมเป็นศิลปินแห่งชาติ

ประเดิมด้วย ศ.ดร.สมภาร พรมทา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาพุทธปรัชญา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย หนึ่งในผู้มีส่วนคัดเลือกศิลปินแห่งชาติปีที่ผ่านมา ซึ่งออกปากฝากเหล่าคณะกรรมการผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ให้ รำลึกŽ ถึงคำอภิปรายยาวเหยียดของตนเรื่องคุณสมบัติผู้ที่จะได้เป็นศิลปินแห่งชาติด้วย โดยย้ำว่าไม่เกี่ยวกับอดีตนายกฯปู แต่เกี่ยวกับการรักษามาตรฐานคุณสมบัติศิลปินแห่งชาติ และยอมรับตรงๆ ว่ารู้สึก เสียใจŽ เพราะไม่คาดคิดว่าคุณภาพศิลปินแห่งชาติจะเป็นเช่นนี้

Advertisement

ไม่เพียงเท่านั้น ยังตั้งคำถามถึงการมอบรางวัลต่างๆ ว่าเหตุใดจึงต้องให้กันทุกปี ทั้งยังรีบร้อน ทำไมไม่ค่อยๆ ดู จนมั่นใจก่อน มิฉะนั้น วันหนึ่งอาจเป็นการสร้างของโหลŽ ที่คนไม่สนใจ

มาย้อนดูคุณสมบัติและที่มาที่ไปของตำแหน่งอันทรงเกียรติ จากเว็บไซต์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ซึ่งระบุว่า ศิลปินแห่งชาติ นับเป็นทรัพยากรบุคคลสำคัญทางด้านศิลปะที่ได้สืบสานงานศิลปะของชาติให้เชื่อมโยงจากอดีตมาสู่ปัจจุบัน เป็นการถ่ายทอดภูมิปัญญาของบรรพบุรุษในอดีตให้มีความรุ่งโรจน์สืบไปยังอนาคตข้างหน้าŽ

เป็นโครงการที่ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ พ.ศ.2527 เพื่อสรรหา ส่งเสริมสนับสนุน และช่วยเหลือศิลปินผู้สร้างสรรค์ ผลงาน ศิลปะล้ำค่า อันทรงคุณค่าของแผ่นดิน ยกย่องเชิดชูเกียรติ โดยมีผู้พิจารณาคือ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติŽ

Advertisement

ส่วนคุณสมบัติ มีด้วยกัน 7 ประการ ได้แก่ 1.เป็นผู้มีสัญชาติไทยและยังมีชีวิตอยู่ในวันตัดสิน 2.เป็นผู้ที่มีความสามารถ มีความเชี่ยวชาญ และมีผลงานดีเด่น เป็นที่ยอมรับของวงการศิลปินแขนงนั้น 3.เป็นผู้สร้างสรรค์และพัฒนาศิลปะแขนงนั้นจนถึงปัจจุบัน 4.เป็นผู้ผดุงและถ่ายทอดศิลปะแขนงนั้น 5.เป็นผู้ปฏิบัติงานศิลปะแขนงนั้นอยู่ในปัจจุบัน 6.เป็นผู้มีคุณธรรมและมีความรักในวิชาชีพของตน และ 7.เป็นผู้มีผลงานที่ยังประโยชน์ต่อสังคมและมนุษยชาติ

ถามว่า การสังคายนาคุณสมบัติศิลปินแห่งชาติ ควรทำหรือไม่ และเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด?

กฤช เหลือลมัย กวี คอลัมนิสต์ และหนึ่งในผู้ร่วมลงนามคัดค้านการส่ง ไพฑูรย์ ธัญญาŽ ไปร่วมงานระดับนานาชาติที่มาเลเซียนิ่งคิดอยู่พักใหญ่ ก่อนตอบว่า หลักเกณฑ์ที่มีอยู่ก็ถือว่าเหมาะสม และครอบจักรวาล ไม่จำเป็นต้องปรับปรุง ทั้งยังระบุเรื่อง คุณธรรมŽ อยู่แล้ว ปัญหาคือ ใครเป็นคนตัดสินในสิ่งที่เป็นนามธรรมเช่นนี้

เท่าที่รู้การตัดสินจะมีกรรมการชุดหนึ่ง แต่จะมีคนรวบรวมข้อมูลของบุคคล 2-3 คนที่คิดว่าจะได้เป็นไปให้พิจารณา ถ้าทำข้อมูลของใครเยอะหน่อย กรรมการเห็นว่ามีผลงานก็จะได้รับคัดเลือก แน่นอนว่าข้อมูลเหล่านั้นคือประวัติและผลงาน ส่วนข้อมูลพฤติกรรมเป็นเรื่องที่พูดลำบากในการจะบอกว่าคนนั้นดี คนนี้ไม่ดี จริงๆ มักรู้กันอยู่แล้วว่าปีนี้อยากให้ใคร ก็ทำข้อมูลของคนนั้นเยอะหน่อย มีการเรียงลำดับว่าใครจะได้ก่อน-หลัง คนนี้อาวุโสยังน้อย ให้อีกคนไปก่อนก็แล้วกันŽ

เมื่อถามว่า เสียงวิจารณ์ในประเด็นกลุ่มบุคคลเพียงไม่กี่คนมีอำนาจตัดสินว่าใครจะได้เป็นศิลปินแห่งชาติ เป็นเรื่องจริงหรือไม่ ?

กฤช ตอบทันทีว่า จริง เพราะตำแหน่งนี้ไม่ได้ตัดสินจากผลงานเป็นชิ้นๆ แต่ตัดสินที่ตัวบุคคล จึงง่ายต่อการใช้อำนาจที่มีอยู่ อย่างไรก็ตาม เรื่องเหล่านี้คงไม่ได้เป็นเฉพาะการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ แต่ยังรวมถึงหลายๆ รางวัลในแวดวงนักเขียนด้วย

สำหรับประเด็นการถอดถอนหากพฤติกรรมเปลี่ยนหลังได้เป็นศิลปินแห่งชาติ กฤช มองว่า แค่ใช้กฎเกณฑ์ทางสังคม เช่น ออกแถลงการณ์ประณามพฤติกรรมเป็นกรณีไปก็เพียงพอแล้วไม่จำเป็นต้องถอดถอน

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ชวนกระอักกระอ่วนเช่นนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก

นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ระบุว่า เมื่อครั้งผมดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม มีผู้เสนอให้วางหลักเกณฑ์ในการถอดถอนศิลปินแห่งชาติขึ้นในที่ประชุม โดยยกตัวอย่างศิลปินแห่งชาติท่านหนึ่ง โดยผมแสดงความเห็นว่า ตอนเสนอชื่อศิลปินแห่งชาติ ไม่ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ถอดถอนไว้ และเชื่อว่าหากระบุเงื่อนไข ก็คงมีหลายคนถอนตัว ไม่ยอมรับตำแหน่ง การถอดถอนจึงไม่น่าทำได้

หากให้ศิลปินมีการปฏิบัติตนเหมือนคนทั่วไปเขาคงไม่สามารถสร้างศิลปะที่ยิ่งใหญ่ได้ จึงมีการถอนวาระนี้ออกไป จากนั้นก็ไม่มีแนวคิดถอนศิลปินแห่งชาติอีกเลย กระทั่งเกิดกรณีบทกวี น้ำในหูž มองว่ากระทรวงวัฒนธรรมก็น่าจะยังคงยืนหยัดในความเห็นเดิมที่จะไม่ถอดถอนศิลปินแห่งชาติในกรณีเช่นนี้Ž นิพิฏฐ์สรุป

ด้านศิลปินแห่งชาติตัวจริงอย่าง สุชาติ สวัสดิ์ศรี มีมุมมองที่ชวนขบคิดในประเด็นของสวัสดิการรายเดือน ซึ่งศิลปินแห่งชาติจะได้รับเงินเป็นรายเดือน เดือนละ 20,000 บาท รวมถึงค่ารักษาพยาบาล ค่าประสบสาธารณภัย ค่าสิ่งของที่นำไปเยี่ยมยามเจ็บป่วย หรือโอกาสสำคัญ อีกทั้งเงินช่วยเหลือเมื่อเสียชีวิต เป็นค่าร่วมบำเพ็ญกุศลศพ ค่าเครื่องเคารพศพตามประเพณี และค่าจัดทำหนังสือเพื่อเผยแพร่ผลงาน

ทั้งหมดนี้ สุชาติ มองว่าการได้เงินภาษีจากประชาชน เป็นเหมือนบำนาญ และยังมีสิทธิพิเศษต่างๆ อีกด้วยนั้น กระทรวงวัฒนธรรมควรถามกลับไปที่ประชาชนว่ามีความคิดเห็นอย่างไร โดยให้ประชาชนเป็นผู้สังคายนาว่าคุณสมบัติศิลปินแห่งชาติควรเป็นอย่างไร ซึ่งในทางปฏิบัติน่าจะเป็นไปได้ ส่วนการถอดถอน คงทำไม่ได้ เพราะไม่มีหลักกำหนดไว้

ครั้นมาย้อนดูประวัติศาสตร์นับแต่ก่อตั้งโครงการเมื่อ 33 ปีก่อน แน่นอนว่ายังไม่มีใครถูกถอดถอน แต่เคยมีผู้ไม่ยอมรับตำแหน่งและสวัสดิการใดๆ 1 ราย คือ สุจิตต์ วงษ์เทศ ที่แม้จะยังมีชื่อในเว็บไซต์และเอกสารทางการ ว่าเป็นศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ (กวีนิพนธ์) ประจำปี 2545 แต่เจ้าตัวประกาศยืนยันไม่รับอย่างเด็ดขาด โดยให้เหตุผลอย่างทีเล่นทีจริงว่า ฝีมือยังไม่ถึงขนาดŽ และตนยังต้องพัฒนาอีกเยอะ

นี่คือส่วนหนึ่งของความคิดความเห็นในประเด็นร้อนแรงที่ทำให้สังคมไทยหันมาพิจารณา ขบคิด ถึงที่มาของตำแหน่งอันทรงเกียรตินี้อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image