ปฏิบัติการทวงคืนมรดกชาติ ศึกษาบทเรียนการทวงคืน กรณีศึกษาพระพุทธรูปจากอินเดีย โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

พระพุทธรูปปางประทานอภัยจากสมัยกุษาณะ ราวคริสต์ศตวรรณที่ 2 จากประเทศอินเดีย (ภาพจากhttp://chasingaphrodite.com/)

กระแสการติดตามทวงถามโบราณวัตถุที่หาค่ามิได้ เนื่องจากเป็นมรดกทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชาติ กลับคืนจากการครอบครองที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายในต่างแดน เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งหลังจากปรากฏพระพุทธรูป พระโพธิสัตว์อวโลติเกศวร ซึ่งเดิมประดิษฐานอยู่ที่ ปราสาทปลายบัด อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ กลายเป็นส่วนหนึ่งของการจัดแสดงงานศิลปะที่ เมโทรโพลิแทน มิวเซียม ออฟ อาร์ต หรือ พิพิธภัณฑ์ศิลปะมหานคร ในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

กรณีทำนองเดียวกันนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ไม่เฉพาะกับประเทศไทย แต่กับหลายๆ ประเทศทั่วโลก การตรวจสอบ ติดตามทวงถามกลับคืน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ที่สามารถกระทำได้ ตราบเท่าที่โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ยังคงถูกคนกลุ่มหนึ่งมองเหมือนเป็นสินค้า ที่สามารถทำเงินมหาศาลได้ โดยไม่ไยดีกับความหมายในเชิงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และคุณค่าในจิตใจของชนชาติผู้เป็นเจ้าของ และยังคงลักลอบส่งโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุเหล่านี้ออกไปขายในตลาดโลกเพื่อทำกำไรมหาศาลสืบต่อกันเป็นทอดๆ อยู่ต่อไป

การติดตามทวงถามกลับคืน ในหลายๆ กรณีประสบความสำเร็จด้วยดี บางกรณียืดเยื้อกลายเป็นคดีที่ใช้ระยะเวลายาวนานในศาล การย้อนกลับไปทบทวนสาระสำคัญและประเด็นหลักๆ ในการติดตามทวงคืนโบราณวัตถุดังกล่าวเหล่านั้นจึงน่าจะเป็นบทเรียนที่ดีสำหรับการติดตามทวงคืน พระโพธิสัตว์อวโลติเกศวร ในครั้งนี้

เริ่มต้นด้วยกรณีศึกษาเกี่ยวกับพระพุทธรูปปางประทานอภัย จากสมัยจักรวรรดิกุษาณะ (ระหว่าง 200 ปีก่อนคริสต์ศักราชจนถึง ค.ศ.320) ของอินเดีย ที่ถูกนำไปจัดแสดงอยู่ใน เนชั่นแนล แกลเลอรี ออฟ ออสเตรเลีย (เอ็นจีเอ) หนึ่งในพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่ใหญ่ที่สุดของออสเตรเลีย ตั้งอยู่ในกรุงแคนเบอร์รา เมืองหลวงของประเทศ

Advertisement

พระพุทธรูปองค์ดังกล่าว เอ็นจีเอจัดซื้อจากนายหน้าค้าวัตถุโบราณชื่อดังชาวอเมริกัน ชื่อ “แนนซี วีเนอร์” ในราคาราว 1.2 ล้านดอลาร์ หรือกว่า 43 ล้านบาท

แนนซี วีเนอร์ เจ้าของ “แมนฮัตตัน แกลเลอรี” ได้ชื่อว่าเป็นนายหน้าค้าวัตถุโบราณจากเอเชียคนสำคัญที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีมานานหลายปี

กรณีดังกล่าวอาจลงเอยโดยไม่มีผู้ใดใส่ใจต่อไปอีก ถ้าหากไม่มี “ผู้ปรารถนาดี” รายหนึ่งกระซิบบอก “เจสัน เฟลช์” ผู้สื่อข่าวอิสระที่เชี่ยวชาญด้านตลาดมืดของโบราณวัตถุระดับมือรางวัลชาวอเมริกันว่า พระพุทธรูปดังกล่าวไม่น่าจะมีที่มาโดยถูกต้องตามกฎหมาย ในปี 2555

Advertisement

“เจสัน เฟลช์” ร่วมมือกับ “มิเชลลา โบแลนด์” ผู้สื่อข่าวของ “ดิ ออสเตรเลีย” หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นออสเตรเลียติดตามเรื่องนี้ ทำหนังสือร้องขอเอกสารแสดงความเป็นเจ้าของที่ถูกต้องตามกฎหมาย จากเอ็นจีเอในปี 2556 ได้รับคำตอบจากเดวิด เอ็ดฮิลล์ โฆษกของเอ็นจีเอว่า เอกสารดังกล่าวเป็น “ความลับ”

โบแลนด์ ไม่ยอมแพ้ ยื่นคำร้องต่อศาลให้ใช้อำนาจบังคับเอ็นจีเอเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวตามรัฐบัญญัติว่าด้วยเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร การพิจารณาคดียืดเยื้อไปจนกระทั่งถึงปี 2557

ในเวลาเดียวกัน เจสัน เฟลช์ ติดตามร่องรอยพระพุทธรูปองค์เดียวกันนี้ พบว่า แนนซี วีเนอร์ เคยเสนอขายต่อ พิพิธภัณฑ์ รอยัล ออนตาริโอ ของประเทศแคนาดา เมื่อปี 2543

ตามข้อมูลของ พิพิธภัณฑ์รอยัล ออนตาริโอ พระพุทธรูปดังกล่าวเป็น “ประติมากรรมพุทธรูปแกะสลักจากศิลาแลง มีอายุราวคริสต์ศตวรรษที่ 2 เป็นพระพุทธรูปจากนคร มถุรา ที่เป็นเมืองหลวงลำดับที่สองของจักรวรรดิกุษาณะ ที่หาได้ยากยิ่ง” และมีเพียงไม่กี่องค์ที่ปรากฏขึ้นในตลาดค้าโบราณวัตถุในช่วงไม่กี่ปีมานี้ “รอยัล ออนตาริโอ” ต้องการซื้อ แต่ต้องการได้รับการยืนยันจากผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการยอมรับด้วยว่าเป็นของแท้ จึงติดต่อ “โดนัลด์ สแตดท์เนอร์” ผู้เชี่ยวชาญศิลปะและวัตถุโบราณอินเดีย

คำตอบของ สแตดท์เนอร์ ก็คือ เชื่อว่านี่เป็นโบราณวัตถุที่ถูกลักลอบนำออกมาขาย “อย่างผิดกฎหมาย” จากอินเดีย และเชื่อว่ามีการปลอมแปลงเอกสารแสดงความเป็นเจ้าของ เพื่อปกปิดร่องรอยดังกล่าว

พิพิธภัณฑ์ รอยัล ออนตาริโอ ปฏิเสธการซื้อครั้งนั้น อีกไม่กี่เดือนต่อมา แนนซี วีเนอร์ ก็เสนอขายต่อ เนชั่นแนล แกลเลอรี ออฟ ออสเตรเลีย หรือ เอ็นจีวี

ที่ออสเตรเลีย ศาลมีคำสั่งให้เอ็นจีวี เปิดเผยข้อมูลตามที่ มิเชลลา โบแลนด์ ร้องขอ ในเดือนตุลาคม 2557 ทางเอ็นจีวี จึงเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว

ข้อมูลที่ แนนซี วีเนอร์ อ้างกับเอ็นจีวี ก็คือ ตนซื้อพระพุทธรูปนี้มาเมื่อปี 2543 เจ้าของเดิมเป็นชายชาวอังกฤษชื่อ แอนดรูว์ เอียน โดนัลด์สัน ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้ซื้อมาขณะพำนักอยู่ในฮ่องกงระหว่างปี 2507 ถึงปี 2509 โดยมีเอกสารรับรองความเป็นเจ้าของ ทำขึ้นในปี 2528 ลงนามโดย โดนัลด์สัน เป็นหลักฐานพิสูจน์ความเป็นเจ้าของที่ถูกต้องตามกฎหมาย

ข้อที่น่าสังเกตในทรรศนะของ เฟลช์ และ โบแลนด์ ก็คือ แอนดรูว์ เอียน โดนัลด์สัน ไม่สามารถให้ปากคำใดๆ ได้ เพราะเสียชีวิตไปตั้งแต่ปี 2544

ในเวลาเดียวกัน เอ็นจีวีก็เริ่มการตรวจสอบถึงที่มาของพระพุทธรูปที่แท้จริง ผู้ที่ทางเอ็นจีวี ติดต่อเพื่อการดังกล่าว ก็หนีไม่พ้น “โดนัลด์ สแตดท์เนอร์”

เดือนตุลาคม ปี 2557 สแตดท์เนอร์ส่งอีเมล์ให้คำตอบต่อเอ็นจีวี ยืนยันข้อเคลือบแคลงของตนอีกครั้งหนึ่ง

กรณีนี้ลงเอยด้วยดี สืบเนื่องจาก เนชั่นแนล แกลเลอรี ออฟ ออสเตรเลีย วิตกว่า การครอบครองเพื่อการจัดแสดงพระพุทธรูปองค์นี้ อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายของออสเตรเลีย ตาม “แนวทางว่าด้วยการเก็บสะสมวัสดุเชิงวัฒนธรรม” ของรัฐบาลออสเตรเลีย และตกลงที่จะส่งคืนโบราณวัตถุชิ้นนี้ให้กับทางการอินเดีย เพื่อนำไปประดิษฐานในจุดที่เหมาะสมต่อไป

โดยทางเอ็นจีวี ก็สามารถเรียกเงินคืนจากแนนซี วีเนอร์ ได้ตามสัญญาซื้อขายที่ทำไว้ก่อนหน้านี้

บทเรียนจากการศึกษากรณีนี้ ก็คือ การทำความเข้าใจต่อกฎหมายที่เกี่ยวเนื่องกับการค้าและการครอบครองวัตถุโบราณ ทั้งเพื่อการจัดแสดงและเพื่อการอื่นๆ ของประเทศที่ครอบครองโบราณวัตถุเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง และมีบทบาทสำคัญในความสำเร็จหรือล้มเหลวของการทวงคืนมรดกของชาติอีกด้วย

นอกเหนือจากนั้น “เจสัน เฟลช์” ยังระบุไว้ในข้อเขียนเกี่ยวกับกรณีนี้ของตนว่า ผู้ที่ขาย “พระพุทธรูปปางประทานอภัย” องค์นี้ให้กับพิพิธภัณฑ์ศิลปะของออสเตรเลียนั้นชื่อ “ดักลาส แลทช์ฟอร์ด” ที่มีถิ่นพำนักอยู่ในประเทศไทย

จำชื่อนี้ไว้ให้ดี เพราะชื่อนี้จะปรากฏมีบทบาทสำคัญในกรณีศึกษาเรื่องทวงคืนโบราณวัตถุอีกหลายกรณี

โดยเฉพาะจากหลายประเทศในแถบเอเชีย!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image