แห่ฟังล้น ! ปริศนา ‘เศียรพระศรีสรรเพชญ์’ ใช่หรือมั่ว ? วงเสวนาเสียงแตก เชื่อ-ไม่เชื่อ

เมื่อวันที่19 มีนาคม เวลา 13.30 น. ที่พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (พช.) พระนคร มีการจัดเสวนาเรื่อง ‘ปริศนาเศียรพระพุทธรูปกับข้อสันนิษฐานเรื่องพระศรีสรรเพชญ์ ‘ วิทยากรโดย ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง , ประทีป เพ็งตะโก ผอ. สำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา, ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ดำเนินรายการโดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. สันติ เล็กสุขุม ราชบัณฑิตประเภทวิชาสถาปัตยศิลป์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศคึกคัก มีผู้สนใจเข้าฟังอย่างคับคั่งมากกว่า 300 คน จนเต็มพื้นที่ เจ้าหน้าที่ต้องนำเก้าอี้มาเสริม อีกทั้งส่วนหนึ่งต้องยืนฟังทางด้านข้างและด้านหลังของพระที่นั่งซึ่งจุคนได้ไม่เพียงพอ โดยมีทั้งนักศึกษา อาจารย์มหาวิทยาลัย ครูมัธยม ประชาชนทั่วไป รวมถึงพระสงฆ์อีกด้วย

 

จากซ้าย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สันติ เล็กสุขุม, ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์, ประทีป เพ็งตะโก และผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล
จากซ้าย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สันติ เล็กสุขุม, ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์, ประทีป เพ็งตะโก และผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล

อธิบดีกรมศิลป์ปลื้ม คนไทยสนใจประวัติศาสตร์

นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ผู้เปิดงานเสวนาดังกล่าว อันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน ของพช.พระนคร กล่าวว่า ตนรู้สึกตื้นตันใจที่ประชาชนให้ความสนใจกับกิจกรรมของกรมศิลปากร ล้มล้างคำกล่าวที่ว่า คนไทยไม่ใส่ใจเรื่องศิลปวัฒนธรรม สำหรับประเด็นเรื่องพระศรีสรรเพชญ์นี้ เป็นปริศนาที่ต้องการหาคำตอบอีกมาก ซึ่งนอกเหนือจากเรื่องพระเศียร ยังมีอีกหลายประเด็น เช่น การที่เอกสารโบราณระบุว่ามีการหุ้มทองสองหมื่นกว่าบาท โดยเชื่อว่าพม่าใช้ไฟลนไปหมดแล้วนั้น เป็นข้อเท็จจริงมากน้อยแค่ไหน

Advertisement
ประชาชนร่วมฟังเสวนาล้นพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร
ประชาชนร่วมฟังเสวนาล้นพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร

อาจารย์ ม.ราม มั่นใจเศียรใหญ่ใน พช.พระนคร คือ ‘พระศรีสรรเพชญ์’

ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง กล่าวว่า ตนมองว่ามีความเป็นไปได้ที่พระเศียรขนาดใหญ่ซึ่งจัดแสดงอยู่ในพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร คือเศียรพระศรีสรรเพชญ์ ของวัดพระศรีสรรเพชญ์ในพระราชวังหลวง พระนครศรีอยุธยา เนื่องจากเหตุผลหลายประการโดยตนศึกษาจากรูปแบบศิลปะ รวมถึงเอกสารต่างๆ เช่น ทะเบียนโบราณวัตถุ ราชกิจจานุเบกษา คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารจากหอหลวง พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐ อักษรนิติ์ รวมถึงพระราชปุจฉาสมัยรัชกาลที่ 1 เป็นต้น

ผศ.ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง ผู้เสนอแนวคิด เศียรพระพุทธรูปใหญ่ในพช.พระนคร คือเศียรพระศรีสรรเพชญ์
ผศ.ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง ผู้เสนอแนวคิด เศียรพระพุทธรูปใหญ่ในพช.พระนคร คือเศียรพระศรีสรรเพชญ์

“เศียรพระพุทธรูปชิ้นนี้มีความสูงราว 173 เซนติเมตร ถ้ามีสภาพสมบูรณ์ เศียรพระพุทธรูปชิ้นนี้จะต้องมีความสูงไม่ต่ำกว่า 200 เซนติเมตร และถ้ารวมพระรัศมีจะต้องมีความสูงไม่ต่ำ 250 เซนติเมตร ตามประวัติที่ปรากฎในทะเบียนโบราณวัตถุระบุว่าพบในพระวิหารหลวงวัดพระศรีสรรเพชญ์ พระราชวังหลวงกรุงศรีอยุธยา ขนย้ายมาไว้ที่ พช.พระนคร ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม พ.ศ.2470 ทั้งนี้ เพราะมีปรากฏในประกาศราชกิจจานุเบกษา เรื่องแจ้งความราชบัณฑิตยสภา ลงวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ.2470 สาเหตุที่สันนิษฐานว่าเศียรดังกล่าวคือเศียรพระศรีสรรเพชญ์ ด้วยเหตุผลหลายประการ เริ่มจากเรื่องของขนาดเศียรที่มีขนาดใหญ่มาก จึงตัดประเด็นที่ว่าเป็นเศียรของพระพุทธรูปในศาลารายรอบมหาสถูปออก เนื่องจากพื้นที่ประดิษฐานไม่เพียงพอ ส่วนวิหารพระโลกนาถก็เป็นไปไม่ได้ เพราะพระโลกนาถเป็นพระพุทธรูปประธานก็ถูกอัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดพระเชตุพน ท่าเตียน ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 เช่นเดียวกับพระพุทธรูปในอุโบสถ และวิหารป่าเลไลยก์ นอกจากนี้ในพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ ยังกล่าวการหล่อพระศรีสรรเพชญ์ ในจุลศักราช 862 ตรงกับ พ.ศ.2043 ระบุถึงขนาดพระวรกายและข้อมูลอื่นๆ ไว้ค่อนข้างละเอียด”  ผศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าว

ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ยังกล่าวอีกว่า จากการศึกษาลักษณะพระพักตร์ และขนาดของพระพุทธรูปที่ พช.พระนคร พบว่ามีความสอดคล้องกัน นอกจากนี้ยังมีร่องรอยหลักฐานในคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม ที่ทำให้ทราบว่า พระพุทธรูปที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในวัดพระศรีสรรเพชญ์ คือ พระศรีสรรเพชญ์ สอดคล้องกับขนาดของเศียรพระพุทธรูปที่ พช.พระนคร อีกทั้งพระเศียรนี้ยังมีอุนาโลม ซึ่งชี้ให้เห็นว่าเป็นพระพุทธรูปสำคัญ

Advertisement
เศียรพระพุทธรูปสำริดขนาดใหญ่ จัดแสดงอยู่ในพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ผศ. ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ ม. รามคำแหง ตรวจสอบหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีแล้วพบว่าเป็นเศียรพระศรีสรรเพชญ์ ในวิหารหลวงวัดพระศรีสรรเพชญ์ อยุธยา ที่เหลือรอดจากถูกไฟไหม้ในสงครามเสียกรุง
เศียรพระพุทธรูปสำริดขนาดใหญ่ จัดแสดงอยู่ในพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ผศ. ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ ม. รามคำแหง ตรวจสอบหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีแล้วเชื่อว่าเป็นเศียรพระศรีสรรเพชญ์ ในวิหารหลวงวัดพระศรีสรรเพชญ์ อยุธยา ที่เหลือรอดจากถูกไฟไหม้ในสงครามเสียกรุง

ผอ.ศิลปากรอยุธยา เบรก ! ถ้าใช่ ทำไม ร.1 ไม่อัญเชิญ ?

ประทีป เพ็งตะโก ผอ.สำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ปัญหาของประเด็นนี้คือ มีหลักฐานด้านเอกสารระบุว่า ในสมัยรัชกาลที่ 1 มีการอัญเชิญแกนพระศรีสรรเพชญ์มายังพระนคร เพื่อปฏิสังขรณ์ แต่อยู่ในสภาพชำรุดมาก ครั้นจะหลอมใหม่ พระสังฆราชและพระราชาคณะให้ความเห็นว่า การนำพระพุทธรูปไปหลอมในไฟใหม่ เป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ สุดท้าย จึงมีการนำแกนดังกล่าวบรรจุไว้ในพระเจดีย์สรรพเพชดาญาณ ซึ่งไม่มีใครทราบว่าในเจดีย์ดังกล่าว มีพระเศียรอยู่หรือไม่ เหตุใดเมื่อรัชกาลที่ 1 อัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญมาปฏิสังขรณ์ในพระนคร จึงไม่ทรงอัญเชิญเศียรพระศรีสรรเพชญ์จากอยุธยามาด้วย ทั้งที่เป็นพระพุทธรูปสำคัญ พระองค์ต้องเคยทรงทอดพระเนตรเห็นอยู่แล้ว เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่ทรงทราบว่าเศียรใดคือเศียรพระศรีสรรเพชญ์

ประทีป เพ็งตะโก ผอ.สำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา
ประทีป เพ็งตะโก ผอ.สำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา

สุดมึน ! ทะเบียนสับสน – คนสำคัญไม่พูดถึง

ประทีป ยังกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ในสมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ก็ยังไม่มีการกล่าวถึงเศียรพระศรีสรรเพชญ์เลย  ไม่ว่าจะเป็น สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งมีความรู้ในด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี รวมถึงพระยาโบราณราชธานินทร์ ซึ่งดูแลมณฑลกรุงเก่า และก่อตั้งอยุธยาพิพิธภัณฑสถาน หรือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจันทรเกษมในเวลาต่อมา อันเป็นสถานที่เก็บรักษาเศียรพระพุทธรูปดังกล่าว ก่อนที่จะย้ายมายัง พช.พระนคร ก็ไม่เคยพูดถึงเศียรพระศรีสรรเพชญ์ อีกทั้งเอกสารทะเบียนโบราณวัตถุก็มีข้อมูลบางอย่างไม่ตรงกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าขบคิด เพราะทะเบียนของ พช.จันทรเกษม ก็ไม่มีรายการพระเศียรนี้อยู่ ถามว่าโบราณวัตถุสำคัญขนาดนี้ เหตุใดไม่มีในทะเบียนก่อนจะส่งพระเศียรมายัง พช.พระนคร

“สมัยรัชกาลที่ 1 เราไม่รู้ว่าตอนขนแกนพระศรีสรรเพชญ์มามา มีเศียรหรือเปล่า ถ้าไม่มี เชื่อว่ารัชกาลที่ 1 คงทรงตรัสถามถึง ส่วนในสมัยรัชกาลที่ 5 เหตุใดเอกสารในยุคนั้น ไม่มีการกล่าวถึงเศียรพระศรีสรรเพชญ์เลย รวมถึงกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และพระยาโบราณราชธานินทร์ ก็ไม่พูดถึง เศียรใหญ่ขนาดนี้ ทำไมไม่มีใครเห็น พระพุทธรูปสำคัญขนาดนี้ ทำไมไม่มีคนพูดถึงนอกจากนี้ ในทะเบียนโบราณวัตถุ ซึ่งเดิมระบุว่าพบเศียรที่วิหารหลวง วัดพระศรีสรรเพชญ์ ต่อมา กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงตัดคำว่าวิหารหลวงออก เหลือเพียงว่า พบที่วัดพระศรีสรรเพชญ์เท่านั้น จึงน่าสงสัยว่าทำไมท่านจึงตัดออก” ประทีปกล่าว และว่า ตนมองว่าความรู้ความเข้าใจของรัชกาลที่ 5 และพระยาโบราณราชธานินทร์นั้น ทุกคนคงเข้าใจว่าทั้งพระวรกายและเศียรอยู่ในเจดีย์ที่วัดพระเชตุพนแล้ว

อาจารย์ศิลปากรสงสัย หลักฐานยังขัดแย้ง แนะ ‘ค้นคว้าเพิ่ม’

ศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร กล่าวในประเด็นเรื่องรูปแบบศิลปกรรม ว่าเศียรดังกล่าวเป็นพระเศียรสมัยอยุธยาตอนกลาง ซึ่งช่างพยายามสั่งสมและเริ่มคิดงานของตัวเองแล้ว โดยเกิดขึ้นพร้อมๆ เจดีย์ ซึ่งมีการปรับเป็นเจดีย์อยุธยาอย่างแท้จริงซึ่งมีการใช้มาลัยเถา ตัวอย่าง เช่น เจดีย์วัดพระศรีสรรเพชญ์ สำหรับประเด็นที่ว่าเศียรนี้จะเป็นเศียรพระศรีสรรเพชญ์จริงหรือไม่นั้น ตนไม่แน่ใจ เพราะยังมีข้อสงสัย คือ ถ้าใช่จริง เหตุใดรัชกาลที่หนึ่ง จึงไม่ทรงอัญเชิญเศียรไป นอกจากนี้ หลักฐานบางอย่างยังมีความขัดแย้งกัน จึงมองว่า เป็นสิ่งที่ต้องวิเคราะห์กันต่อไป เพื่อค้นคว้าเพิ่มเติม อย่าเชื่อทั้งที่หลักฐานยังไม่พอ

ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร
ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร

รุ่งโรจน์ แจง ร.1 ไม่อัญเชิญ เพราะไม่เจอ เชื่อถูกพม่าฝังดิน

สำหรับประเด็นที่ถูกตั้งคำถามว่าเหตุใดรัชกาลที่ 1 ไม่ทรงอัญเชิญเศียรพระศรีสรรเพชญ์มาบูรณะที่กรุงเทพฯ นั้น ผศ.ดร. รุ่งโรจน์ กล่าวว่า ตนเชื่อว่ารัชกาลที่ 1 ไม่ทรงพบเศียรดังกล่าวในช่วงเวลานั้น เนื่องจากเศียรอาจถูกฝังดินไว้โดยพม่า เพื่อเป็นการทำลายหรือข่มขวัญในเชิงสัญลักษณ์ หรือหากไม่ใช่เช่นนั้น ก็ไม่มีหลักฐานใดเลยที่ระบุว่ารัชกาลที่ 1 ซึ่งเชื่อว่าทรงจดจำพระพักตร์ของพระศรีสรรเพชญ์ได้นั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังกรุงเก่าด้วยพระองค์เอง จึงเป็นไปได้ว่า เป็นการส่งข้าหลวงไป นอกจากนี้ การที่ไม่ซ่อมบูรณะพระศรีสรรเพชญ์ เพราะชำรุดเกินกว่าจะซ่อมได้นั้น ถามว่า พระพุทธรูปองค์อื่นๆที่ชำรุดมาก เช่น พระกรหายไป ก็ยังมีหลักฐานว่าได้รับการปฏิสังขรณ์ แสดงว่า การไม่ซ่อมพระศรีสรรเพชญ์ ต้องมีเหตุผลสำคัญ ซึ่งตนเชื่อว่า เป็นเพราะการไม่พบพระเศียรนั่นเอง ส่วนกรณีของทะเบียนที่ระบุไม่ตรงกัน ซึ่งกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ตัดคำว่าวิหารหลวงออก ตนมองว่า แม้ไม่มีคำดังกล่าว ถามว่า วิหารใดในวัดพระศรีสรรเพชญ์์ ที่จะมีความสูงมากพอที่จะประดิษฐานพระศรีสรรเพชญ์ซึ่งเป็นพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่ได้อีก นอกจากวิหารหลวง หรือวิหารพระศรีสรรเพชญ์

ราชบัณฑิตชี้ สำคัญกว่าข้อสรุป คือการได้ถกเถียง

ศาสตราจารย์ เกียรติคุณ ดร.สันติ เล็กสุขุม ราชบัณฑิต ประเภทวิชาสถาปัตยศิลป์ กล่าวว่า ข้อเสนอของผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ถือว่าน่าสนใจที่พยายามนำหลักฐานหลายอย่าง เช่น เอกสารโบราณ โดยพยายามคัดแยกส่วนที่ย้อนแย้งออกไป แล้วหาประเด็นซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของตัวเองถึงความเป็นไปได้ในเชิงช่าง แต่ไม่ได้หมายความว่า ข้อเสนอนี้จะต้องเป็นที่ยอมรับ สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าข้อสรุปว่าใช่เศียรพระศรีสรรเพชญ์หรือไม่ คือการได้ถกเถียง และพิจารณาหลักฐานว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งตนมองว่าอย่าเพิ่งเชื่อทั้งหมด อย่างไรก็ตาม นับเป็นโอกาสอันดีที่ได้มีการวิจารณ์ประเด็นที่เป็นกระแส โดยได้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขามาร่วมกันแสดงความเห็น

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สันติ เล็กสุขุม ราชบัณฑิต ประเภทวิชาสถาปัตยศิลป์
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สันติ เล็กสุขุม ราชบัณฑิต ประเภทวิชาสถาปัตยศิลป์

ประชาชนร่วมถก เชื่อ-ไม่เชื่อ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงซักถาม มีผู้สนใจแสดงความเห็นจำนวนมาก อาทิ ผศ. นพ. ถนอม บรรณประเสริฐ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งสนใจด้านประวัติศาสตร์ กล่าวว่า ตนไม่เชื่อว่าเศียรดังกล่าวคือเศียรพระศรีสรรเพชญ์ เพราะหากถูกเผาตามที่ปรากฏในเอกสารโบราณ จะต้องไม่อยู่ในสภาพดีเช่นนี้ อีกทั้งช่างที่สร้างพระพุทธรูปในยุคนั้น คือช่างสกุลบ้านพลูหลวง ซึ่งมีอายุต่อมาถึงสมัยรัชกาลที่ 2 ย่อมต้องเคยเห็นพระเศียรนี้ และรู้ว่าคือเศียรพระศรีสรรเพชญ์ นอกจากนี้ เทคนิคเชิงช่างของเศียรดังกล่าว ก็ไม่ตรงกับเอกสารโบราณอีกด้วย
ดร. สุพจน์ ประเสริฐศรี ข้าราชการบำนาญ ยูเนสโก กล่าวว่า มีวิธีพิสูจน์ คือ ให้นักวิทยาศาสตร์เข้าร่วม ซึ่งปัจจุบันพิสูจน์ได้ง่าย เช่น เคมี โลหะวิทยาเพื่อดูสารประกอบ โดยกลับไปที่วัดพระศรีสรรเพชญ์เพื่อหาเศษโลหะ ถ้าตรงกันก็น่าจะเชื่อถือได้
ปาริชาติ ประคองจิตร์ นักเขียน กล่าวว่า ไม่จำเป็นต้องฟันธงว่าเป็นเศียรพระศรีสรรเพชญ์จริงหรือไม่ ให้ถือว่า เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็เพียงพอแล้ว โดยประโยชน์สูงสุดคือได้ตื่นตัวถกเถียงด้านโบราณคดี
ผู้เข้าฟังอีกราย กล่าวว่า ตนขอฝากอธิบดีกรมศิลปากรให้หางบประมาณในการเอกซเรย์เจดีย์พระศรีสรรเพชญ์ที่ วัดพระเชตุพน ให้ทราบไปเลยว่าในเจดีย์มีเศียรหรือไม่

ทั้งนี้ เมื่อจบงานเสวนา ประชาชนและนักวิชาการยังจับกลุ่มพูดคุยซักถามประเด็นที่สงสัยอีกเป็นเวลานาน จึงแยกย้ายกลับ

ครูมัธยม ร่วมถกประเด็นปริศนาเศียรพระศรีสรรเพชญ์
ครูมัธยม ร่วมถกประเด็นปริศนาเศียรพระศรีสรรเพชญ์

เสวนาเศียรพระศรีสรรเพชญ์

เสวนาเศียรพระศรีสรรเพชญ์

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image