Jumanji 2 กับ The Greatest Showman สองหนังน่าดูประจำสัปดาห์

Jumanji 2 กับ The Greatest Showman สองหนังน่าดูประจำสัปดาห์

Jumanji: Welcome to the Jungle

เป็นธรรมดาของหนังที่ไม่ว่าจะเป็นฉบับรีเมก รีบูต หรือภาคต่อ หากเป็นเรื่องที่เคยสร้างมาก่อน คนดูก็มักจะเอาไปเปรียบเทียบกัน

Jumanji ก็เช่นกัน ภาคแรกปี 1995 สร้างจากวรรณกรรมเยาวชนที่แต่งโดย คริส แวน ออลสเบิร์ก เป็นหนังขึ้นหิ้งที่หลายคนชื่นชอบ

หนังมีบรรยากาศแบบหนังยุคเก่า ซึ่งเป็นยุคแรกๆ ที่มีการใช้ CG สร้างสัตว์ต่างๆ ขึ้นมา อาจยังไม่เนียนตา แต่เนื้อหาแปลก แสดงนำโดย โรบิน วิลเลียมส์ หนังทำเงินทั่วโลกได้มากกว่า 250 ล้านเหรียญสหรัฐ

Advertisement

แฟนรอชมหนังวิลเลียมส์ ดาราผู้ล่วงลับที่แสดงได้อย่างน่าประทับใจ แถมด้วย เคิร์สเตน ดันสต์ นางเอกสไปเดอร์แมนภาคก่อน ในวัยเด็ก ที่ภาคต่อซึ่งกว่าจะได้ดู เวลาก็ผ่านไปถึง 22 ปี

หนังภาคต่อนี้เชื่อมกับภาคแรกอย่างลงตัว ท้ายเรื่องภาคแรก ตัวเอกโยนเกมกระดานลงน้ำ ภาคนี้เกมลอยมาติดหาด และมีผู้เก็บไปให้ลูกเล่น ดูแล้วก็อดเปรียบเทียบกันไม่ได้

Jumanji 2017 ยังคงเป็นหนังผจญภัยที่มีกลิ่นอายคล้ายแบบเดิม ตัวละครยังคงต้องวิ่งหนีสิงสาราสัตว์แบบป่าราบเช่นภาคก่อน ซึ่งแม้ไม่เคยดู ดูแค่ภาคนี้ก็รู้เรื่องและสนุก หนังออกแนวแฟนตาซี ดูเพลิน โคตรฮา จนเดินออกจากโรงพร้อมรอยยิ้ม

Advertisement

ภาคนี้กลับกันกับภาคแรก จากการเล่นเกมกระดานที่พาเอาสัตว์ป่าและสิ่งมหัศจรรย์ (ต้นไม้กินคน) ออกมาถล่มเมือง Jumanji: Welcome to the Jungle ตัวละครถูกดูดเข้าไปในเกม ต้องผจญภัยในป่าที่มีสารพัดสัตว์ดุร้าย (ฮิบโปกินคน แรด งู เสือจากัวร์) และเผชิญหน้ากับ แวน เพลต์ ตัวร้ายตัวเดียวกันกับภาค1995 (แต่นักแสดงคนละคน)

ตัวเดินเกมกระดานที่เดิมเป็นสัตว์ ช้าง จระเข้ แรด เปลี่ยนเป็นวีดิโอเกม หนังเล่าเรื่องเด็กไฮสกูลสี่คนที่ถูกลงโทษให้ทำความสะอาดห้องใต้ดิน และไปพบวีดิโอเกมรุ่นเก่า จูแมนจี้ ที่บอกว่าเป็นเกมสำหรับผู้ที่หวังจะทิ้งโลกไว้เบื้องหลัง ทั้งสี่คนเล่นเกมโดยเลือกคาแร็กเตอร์ ที่ทำให้พวกเขาถูกดูดเข้าไปในเกม ซ้ำติดอยู่กับร่างอวตารที่เลือกไว้ จะหลุดออกมาได้ ก็ต้องเล่นเกมให้ชนะเสียก่อน

ผู้กำกับ เจค คัสแดน สร้างบุคลิกนอกเกมของเด็กทั้งสี่ ให้กลับตาลปัตรกับคาแร็กเตอร์ในเกมที่เขาเลือก สเปนเซอร์ (อเล็กซ์ วูล์ฟ) เด็กหนุ่มขี้ก้าง ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง กลายเป็น ดร.เบรฟสโตน (ดเวย์น จอห์นสัน) นักโบราณคดีผู้กล้าหาญ หมัดหนัก ฟริดจ์ (เซอร์ดาเรียส เบลน) นักกีฬาผิวสีแข็งแรงร่างใหญ่ กลายเป็นฟินบาร์ (เควิน ฮาร์ต) นักสัตววิทยาร่างเล็กขี้หงุดหงิด ที่มาพร้อมเป้บรรจุอุปกรณ์เอาตัวรอด

มาร์ธา (มอร์แกน เทิร์นเนอร์) สาวปากกล้า ไม่เข้าสังคม เป็นสาวเซ็กซี่ที่ทักษะการต่อสู้สุดแซบ รูบี้ (แคเรน กิลแลน) และท้ายสุด เบธานี (เมดิสัน ไอส์แมน) สาวฮอตบ้าเซลฟี่ที่คิดถึงแต่ตัวเอง เป็นศาสตราจารย์อ้วนตุ้ยนุ้ย โอเบรอน (แจ็ค แบล็ค) ผู้ชำนาญเรื่องแผนที่

การกำหนดให้ตัวละครมีคาแร็กเตอร์ที่ตรงข้ามกับชีวิตจริง ทำให้หนังมีลูกเล่นที่ฮามาก นักแสดงทั้งสี่แสดงได้เพี้ยนสมบทบาท ที่ชอบมากคือ แจ็ค แบล็ค ชายอ้วนใจหญิงที่มีจริตสาวซ่า วี้ดว้ายแอบเหล่สเปนเซอร์ ในคราบ ดร.เบรฟสโตน จนรูบี้ต้องเตือนให้เก็บอาการ

ฉากหัดฉี่ของแจ็ค แบล็ค ตลกมาก พอๆ กับฉากรู้บี้อ่อยผู้ร้าย ที่บ้าได้ใจจนเรียกเสียงหัวเราะได้ลั่นโรง แคเรน กิลเลน ในเรื่องนี้สวยเซ็กซี่ ต่างจากบทเนบิวลา สาวหัวโล้นตัวสีฟ้าสุดโหด ที่เธอเคยแสดงในหนัง Guardians of the Galaxy

หนังยังแอบล้อเลียนหนังดังของค่ายต่างๆ ไว้เกือบทั้งเรื่อง อย่างการแต่งกายของรูบี้ที่คล้ายกับลาร่า ครอฟต์  (แองเจลินา โจลี) ในหนัง Tomb Raider รูปปั้นเสือจากัวร์ที่กำหนดให้ผู้เล่นเกมต้องเอาตาที่เป็นอัญมณีสีเขียวไปคืน ก็มีรูปลักษณ์คล้ายกับโปสเตอร์เสือจากัวร์ในหนัง Black Panther ของค่ายมาร์เวล

ฉากอเล็กซ์ นักบินซีแพลน (นิค โจนาส ดาราสมทบจากวง Jonas Brothers) พาผู้เล่นเกมทั้งสี่คนหนีการไล่ล่าของ แวน แพลต์ โดยทางลับ ก็เหมือนจะลอกเลียนหนัง Indianna Jones ที่พระเอกคือ ดร.โจนส์ต้องเผชิญกับกับดักนานาชนิดในอุโมงค์มหาภัย

และที่หมาดๆ หนังปีนี้เอง สเปนเซอร์ใส่เสื้อฝนสีเหลืองเดินไปยังบ้านร้างที่เรียกว่าบ้านเพี้ยน ล้อเลียนฉากเด็กชายใส่เสื้อฝนสีเหลือง เล่นเรือกระดาษ ไปตามถนนที่ฝนตกหนัก ตอนต้นๆ เรื่องของหนังเรื่อง IT

แม้หนังจะตลก ดูเอาฮา แต่ไม่ถึงกับไร้สาระ มีประเด็น Coming of Age การค้นหาตัวตน เรียนรู้ และเติบโตผ่านร่างอวตารในโลกของเกม หนังไม่ระทึกและคลาสสิคเท่าภาคแรก แต่เป็นหนังสนุกที่ดูแล้วอารมณ์ดี

The Greatest Showman

ไปดูหนังเรื่องนี้เพราะ ฮิวจ์ แจ๊คแมน แท้ๆ ดูหนังตัวอย่าง หน้าตาสะอาดหล่อเหลาทิ้งคราบวูล์ฟเวอรีนจากหนัง X-Men แบบไม่เห็นฝุ่น แจ็คแมนขึ้นแท่นดาราดังของฮอลลีวู๊ดจากบทวูล์ฟเวอรีน ซึ่งเขารับบทนี้ตั้งแต่ X–Men ภาคแรกปี 2000 จนถึงปี 2017 ก็กล่าวอำลาบทบาทนี้ในหนังเรื่อง Logan หนังแอคชั่นแนวดราม่า ที่ทั้งดาร์กและมืดหม่น

ที่ผ่านมา แจ็คแมนพยายามฉีกภาพตัวเองไม่ให้คนดูยึดติดกับบทวูล์ฟเวอร์รีน โดยแสดงหนังหลายแนว ที่ชอบมากมี Real Steel (2011) รับบทนักมวยตกอับที่ตระเวนไปที่ต่างๆ กับลูกชาย ซึ่งไม่ค่อยลงรอยกัน หากินโดยการเป็นโปรโมเตอร์มวยหุ่นยนต์ แต่สุดยอดคือเมื่อแสดงหนังเพลงเกี่ยวกับการปฏิวัติฝรั่งเศสเรื่อง Les Miserables (2012) หนังที่ทำให้เขาได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลออสการ์นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม

แม้จะไม่ได้รางวัลนี้ แต่ลีลาร้องเล่นเต้นรำ (แถมด้วยการเล่นดนตรีได้หลายอย่าง) ของแจ็คแมน เคยได้รับการการันตีด้วยรางวัลโทนี่สาขา Best Actor in a Musical ปี 2004 จากละครเวทีเรื่อง The Boy from Oz

มาถึงเรื่อง The Greatest Showman หนังมิวสิคัลอัตชีวประวัติของชายที่มีตัวตนจริงและเป็นตำนานวงการโชว์ในสหรัฐอเมริกา พี.ที.บาร์นัม ชายช่างฝัน จินตนาการล้ำ ผู้ค้นคิดโชว์การแสดงต่างๆ ตั้งแต่ละครสัตว์ กายกรรม และนำกลุ่ม The Oddities (กลุ่มคนประหลาดหลากหลายรูปแบบ ที่ผิดปรกติจากคนทั่วไป) ออกมาปรากฏตัวต่อสาธารณชน ให้เขาเหล่านั้นได้แสดงออกซึ่งความสามารถ

กระทั่งยกระดับการแสดงละครสัตว์ ที่เดิมเหมือนการแสดงปาหี่ มาเป็นThe Greatest Show on Earth ที่แม้แต่แฝดสยาม อิน จัน ก็เคยแสดงร่วมในคณะของเขา

The Greatest Showman เป็นหนังเพลงที่กระแสอาจไม่ “ปัง” เหมือน La La Land แต่หนังมิวสิคัลเรื่องนี้เป็นงานศิลป์ที่ไม่ธรรมดา เพราะได้ เบน พาเซค และ จัสติน พอล ซึ่งเป็นทีมผู้แต่งเพลงหนัง La La Land ที่เพิ่งคว้ารางวัลออสการ์ปีที่ผ่านมา จากเพลง City of Stars มาเป็นผู้สร้างสรรค์เพลงไพเราะมากมายในเรื่อง

ยุคของหนังคืออยู่ในช่วง ปี 1800s แต่พาเซคและพอลกลับแต่งเพลงโดยใช้ท่วงทำนองเกือบทั้งหมดเป็นแบบเข้าถึงง่าย ติดหู ไม่ใช่ออกแนวคลาสสิคแบบดนตรีในยุคนั้น

แจ็คแมนพูดถึงนักแต่งเพลงและเพลงในเรื่องว่า “พวกเขาคือจังหวะการเต้นของหัวใจสำหรับหนังมิวสิคัลเรื่องนี้ เพลงพวกเขาดีมาก….. ไม่ใช่แค่แสดงความรู้สึกของตัวละครเท่านั้น แต่เพลงสะท้อนบุคลิกของ พี.ที.บาร์นัม ที่ไม่ได้ผูกโยงตัวเองไว้กับโลกที่เขาอยู่ แต่เขากำลังสร้างโลกอีกใบหนึ่งขึ้นมา”

หนังอัดแน่นด้วยเพลงไพเราะมากมาย ตั้งแต่ A Million Dreams เพลงที่บอกเล่าถึงความใฝ่ฝันของบาร์นัม ที่ถูกนำมาขับขานหลายตอนโดยนักแสดงหลายคน

Rewrite the Stars เพลงที่กล่าวถึงความรักต้องห้ามของหนุ่มชั้นสูงระหว่าง ฟิลลิป คาร์ไลล์ (แซค แอฟรอน) และนักกายกรรมผิวสี แอนน์ วิลเลอร์ (เซนดาญ่า)

Never Enough ที่ลอเรน อัลเฟรด ขับร้องผ่านรีเบกก้า เฟอร์กูสัน ในบน เจนนี ลินด์ นักร้องสาวสวยที่ทำให้ใจบาร์นัมหวั่นไหว

แต่ที่สุดของเพลงไพเราะ หนีไม่พันเพลง This is Me ที่ขับร้องอย่างทรงพลังผ่านตัวละครที่โดดเด่น แอนนี โจนส์ สาวอ้วนหนวดเครายาว ที่รับบทโดยนักร้องบรอดเวย์ คีลา เซตเทิล เพลงความหมายดี ที่ปลุกพลังให้เรายืนหยัดและภูมิใจกับการเป็นตัวของตัวเอง และเป็นเพลงที่ได้รับการเสนอชิงรางวัลเพลงประกอบหนังยอดเยี่ยมในเวทีลูกโลกทองคำปีนี้

ผู้กำกับไมเคิล เกรซีย์ นำเสนอชีวิตที่เริ่มต้นจากศูนย์ของบาร์นัม วิธีคิดในการบุกเบิกธุรกิจโชว์ ที่กล้าคิดนอกกรอบ ท้าทายอคติของคนด้วยการสรรหาคนที่มีความผิดปรกติและไม่ได้รับการยอมรับมาจัดโชว์ (ตั้งแต่หญิงอ้วนมีหนวดเครา คนแคระ แฝดสยาม มนุษย์หมาป่า ฯลฯ) แม้คนบางกลุ่มจะต่อต้าน แต่ก็ไม่สามารถทำลายจินตนาการและความฝันของเขาได้

หนังเล่าเรื่องมุมสว่างของบาร์นัม ที่ปรุงแต่งขึ้นมาเพื่อความบันเทิง มากกว่าจะเป็นชีวิตที่แท้จริงของบาร์นัม

The Greatest Showman เป็นหนังสนุก มีคติ สะท้อนสภาพสังคมเรื่องชนชั้นและผิวสี ไม่ใช่หนังดราม่าเล่าชีวิตรันทด แต่เป็นหนังมิวสิคัลตระการตาที่ฟิลกู๊ด

ฮิวจ์ แจ็คแมน แสดงเป็นบาร์นัม ที่ทั้งร้องทั้งเต้นได้อย่างน่าดู นักแสดงอื่นๆ มิเชล วิลเลียมส์ ( ในบทแชริตี้ ภริยาที่คอยอยู่เคียงข้าง) แซค แอฟรอน เซนดาญ่า (ที่เรื่องนี้สวยกว่าตอนแสดงใน Spider-Man Home Coming หลายเท่า) รีเบกก้า เฟอร์กูสัน ก็ล้วนมีการแสดงที่น่าจดจำ

เป็นหนังที่เชียร์ให้ไปดูอย่างมาก แม้หนังจะมีข้อด้อย เช่น เดินเรื่องเร็วไปหน่อย แต่ในความเป็นหนังมิวสิคัล เพลงและท่าเต้นในหนังเรื่องนี้เข้ากับเนื้อเรื่อง และไพเราะกว่า La La Land (ความเห็นส่วนตัว) โปรดักชั่นสวย ฉากโชว์อลังการ แม้จะไม่ใช่หนังเพลงที่สมบูรณ์แบบ แต่บางทีคุณอาจเกิดอารมณ์เดียวกับแจ็คแมน นั่นคือ

“ภาพยนตร์นี้จะเติมเต็มหัวใจคุณ ทำให้คุณส่งเสียงเชียร์พร้อมรอยยิ้ม และถ้าคุณเป็นเหมือนผม คุณอาจร้องไห้ออกมาบ้างระหว่างเรื่อง”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image