นักวิชาการอิสระเผย ไม่มีหลักฐานจากเอกสารชั้นต้นระบุถึงการสร้าง “กู่พญามังราย” ที่เชียงราย

เมื่อวันที่ 26 มกราคม จากกรณี มีการจัดงานเนื่องในวันคล้ายวันพระญามังราย ทรงสร้างเมืองเชียงรายปีที่ 756 มีพิธีสักการะสถูปพระญามังราย ที่วัดดอยงำเมือง จ.เชียงราย ซึ่งตามตำนานเล่าว่าพญาไชยสงครามโอรสพญามังรายสร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระอัฐิของพญามังราย ที่นำกลับมาจากเชียงใหม่หลังสวรรคต นั้น

นายอภิชิต ศิริชัย นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีเชียงราย ตั้งข้อสังเกตุ โดยค้นคว้าหลักฐานต่างๆ แล้วเผยแพร่ในเฟสบุ๊คส่วนตัว Aphichit SIrichai เรื่อง “กู่พระญามังราย เรื่องราวที่เคยรับรู้ กับ หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ปรากฏ” มีรายละเอียดว่า

เนื้อหาของเหตุการณ์ว่าด้วย “การสิ้นพระชนม์ของพระญามังราย และการบรรจุอัฐิของพระองค์” ในเอกสารชั้นต้นไม่มีเนื้อหาว่าพระญาไชยสงครามได้นำพระอัฐิของพระญามังราย พระราชบิดากลับมาเชียงรายแต่อย่างใด เนื้อหาจากเอกสารสำคัญฉบับต่างๆ มีช่วงเหตุการณ์ดังนี้

Advertisement

1. ชินกาลมาลีปกรณ์ กล่าวว่า “… เมื่อพระเจ้ามังรายล่วงลับไปแล้ว พระราชบุตรของพระเจ้ามังราย พระนามว่า เจ้าคราม ประสูติปีฉลู มีพระชนม์ 46 ปี ครองราชสมบัติในนครพิงค์ ได้ 4 เดือน แล้วทรงแต่งตั้งพระราชกุมารผู้เป็นพระราชโอรสของพระองค์ พระนามว่า เจ้าแสนพู ไว้ในนครพิงค์แล้ว พระองค์ได้เสด็จไปแคว้นโยน เจ้าเคริง (เจ้าเครื่อง) พระอนุชาของพระเจ้าครามทราบข่าวพระบิดาสวรรคต จึงยกพลเสนามาจากเมืองนายยึดนครหริภุญไชย …

ไม่กล่าวถึงพระญาไชยสงครามนำอัฐิพระราชบิดากลับมาเชียงราย

2. พื้นเมืองเชียงแสน กล่าวว่า “… สกราชได้ 672 ตัว ปีก่าเล้า พรญาเจ้ามังครามได้ลงไปเสวยเมืองพิงเชียงใหม่แล้ว ท่านค็ปลงราชสัมปัตติในเงินยางเชียงแสน เชียงราย ทังมวล ไว้หื้อเจ้าพระญาแสนพูตนลูกได้เสวยแทนทังมวล …”

Advertisement

ถัดไปกล่าวถึงเรื่องพระญาแสนพูสร้างเวียงเชียงแสน

3. พื้นเมืองเชียงราย กล่าวว่า “… เถิงปีรวายสัน สกได้ 658 ตัว เดือน 7 เพง เมงวัน 5 ฤกฏ์ 8 ตัว ยามแตรรุ่ง ไว้ลักขณาที่มีน ส้างเวียงเชียงใหม่ สกได้ 680 ตัว อายุมังรายตายฟ้าผ่าหั้นแล ลุนนั้นขุนครามไปกินเมืองเชียงใหม่ได้ 8 ปีตาย
สกได้ 687 ตัว ปีดับเป้า พระญาแสนพูอายุ 59 ได้เปนมหากระสัตรในเมืองล้านนา อยู่เสวยเมืองนานได้ 2 ปี เถิงปีเมืองเหม้า สกได้ 689 ตัว เดือน 7 ออก 12 ฅ่ำ วัน 6 ไทเปิกสี ยามแตรฅ่ำ ไว้ลักขณาที่ฑุลล์ ส้างเวียงเชียงแสน…”

ถัดไปกล่าวถึงเรื่องพระญาแสนพูสร้างเวียงเชียงแสน ไม่กล่าวถึงพระญาไชยสงครามนำอัฐิพระราชบิดากลับมาเชียงรายแต่อย่างใด

4. พื้นเมืองเชียงใหม่ กล่าวว่า “… ส่วนเจ้าพรญามังรายอยู่เสวยราชสมบัติในเมืองเชียงใหม่ด้วยประกอบชอบธัมม์เลิกยกยอวรพุทธสาสนากระทำบุญหื้อทานไปไจ้ไจ้ตราบอายุได้ 80 ปี ก็จุตติไปสู่โลกพายหน้าด้วยวิบากผลตายฟ้าผ่าที่กาดเชียงใหม่กลางเวียง สกราชได้ 679 ตัว ปีเมืองไส้วันนั้นแล เสนาอามาจทังหลายก็เอาคาบพรญามังรายใส่ในโกศฅำไว้แล้ว ก็ใช้ไปไหว้สาเจ้าพรญาไชยสงครามยังเมืองเชียงรายหื้อรู้ชุอัน เจ้าพรญาไชยสงครามคันรู้ว่าพ่อตนจุตติก็มาด้วยหมู่ริพลโยธาอันมากเถิงเมืองเชียงใหม่ แล้วก็สร้างแปลงยังวิมานเมรุปราสาทใส่คาบพ่อตน กระทำบุญหื้อทานเลิกซากส่งสะกานเผาเสียในกาดเชียงใหม่ แล้วก็ก่อกู่จุดูกพ่อตนไว้ที่กาดเชียงใหม่กลางเวียงที่นั้น เอาไม้สรีมาปลูกไว้เหนือกู่ที่นั้นแล้วก็ตั้งลำทับล้อมไว้ เพื่อบ่หื้อเป็นสาธารณ์แก่คนทังหลายหั้นแล เจ้าพรญาไชยสงครามแต่งบ้านแปลงเมืองอยู่ได้ 4 เดือน แล้วก็กระทำอภิเสกลูกตนผู้พี่อ้ายชื่อท้าวแสนพู อายุได้ 41 ปี หื้อเป็นพรญาเสวยราชสมบัติในเมืองเชียงใหม่แทนพรญามังรายตนปู่ในปีเปิดสง้า สกราชได้ 680 ในเดือนเชษฐไทว่าเดือน 9 เพง วันนั้นแลเป็นชั่วราชวงส์ 1 แล ถัดนั้นก็แต่หื้อลูกผู้กลางคือพ่อท้าวน้ำถ้วมไปกินเมืองฝาง หื้อลูกตนผู้น้องซ้อยคือพ่อท้าวงั่วหื้อไปกินเมืองเชียงของแล เจ้าแสนพูเสวยเชียงใหม่…”

ถัดไปกล่าวถึงเจ้าขุนเครือใช้อุบายเพื่อจะชิงเมืองเชียงใหม่ จากเจ้าแสนพู ไม่กล่าวถึงพระญาไชยสงครามได้นำพระอัฐิใดๆ กลับมาเชียงรายเลย

กู่พระยาเมงราย ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย ปรากฏใน
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 หน้า 3683 วันที่ 8 มีนาคม 2478 เป็นครั้งแรก แต่ไม่ทราบถึงที่มาและแหล่งข้อมูลที่อ้างอิง

เอกสารที่พบข้อมูลที่มาของความว่า พระญาไชยสงครามได้นำพระอัฐิของพระญามังราย พระราชบิดา กลับมายังเมืองเชียงราย และประดิษฐานไว้ยังบนดอยแห่งหนึ่งในเวียงเชียงราย มาจากหนังสือ “ตำนานเมืองเหนือ” ของ สงวน โชติสุขรัตน์ ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ สิงหาคม พ.ศ.2497, พิมพ์ครั้งที่ 2 สิงหาคม พ.ศ.2499, พิมพ์ครั้งที่ 3 กันยายน พ.ศ.2503 ในหน้าสารบัญชื่อเรื่อง “กู่พระเจ้าเมงราย หน้าวัดงามเมือง” หน้า 384 กล่าวว่า

3. กู่พระเจ้าเมงราย หน้าวัดงามเมือง กู่หรืออนุสาวรีย์ของพระเจ้าเมงรายนี้ พระเจ้าชัยสงคราม ราชโอรสองค์โตของพระเจ้าเมงรายทรงสร้างขึ้น หลังจากที่พระเจ้าเมงรายสวรรคต เพราะถูกอสนีบาตที่กลางเวียงเชียงใหม่ ในปี พ.ศ.1860 (จ.ศ.679 ปีมะเส็ง นพศก) เจ้าขุนชัยสงครามได้ครองราชสมบัติแทน แต่พระองค์ไม่โปรดที่จะครองเมืองเชียงใหม่ จึงมาครองเมืองเชียงรายอยู่เช่นกาลก่อน และโปรดให้อัญเชิญพระอัฏฐิธาตุบางส่วนของพระราชบิดามาก่อสถูปบรรจุไว้ที่เมืองเชียงราย

จากรายชื่อหนังสือที่ สงวน โชติสุขรัตน์ ใช้ประกอบในการเรียบเรียง สามารถแบ่งออกเป็นเอกสารพื้นถิ่นอยู่ส่วนหนึ่ง คือเอกสารที่ใช้เป็นหลักในการเขียนประวัติศาสตร์ล้านนาโดยทั่วไป ดังที่ได้นำบางส่วนเสนอมาแล้วข้างต้น ซึ่งเอกสารเหล่านี้ทุกฉบับเนื้อหาหรือโครงเรื่องเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด มีการคัดลอกต่อๆ กันมาหลายสำนวน กระนั้นก็มิได้ทำให้เนื้อหาผิดเพี้ยนหรือแตกต่างกันไปมากแต่ประการใด

แน่นอนว่าหลังจากชุดความรู้ในหนังสือตำนานเมืองเหนือ ได้เผยแพร่ออกมา จากนี้ข้อมูลได้ก็ได้ถูกจัดพิมพ์ในเอกสารของหน่วยงานต่างๆ เรื่อยมา เช่น การประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานและคุ้มครองตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504
จังหวัดเชียงราย
79. “วัดงำเมือง” และ “กู่พระยามังราย” ต.เวียง อ.เมือง จ.เชียงราย
1. พระพุทธรูป 2 องค์
2. เจดีย์ศิลาแลง 1 องค์
ไม่ปรากฏประวัติการก่อสร้างที่แน่นอน

บนดอยงำเมือง มีเจดีย์เก่าแก่องค์หนึ่งฐานเป็นศิลาแลง เดิมกล่าวว่าบรรจุอัฐิพระยามังราย แต่ได้ถูกรื้อพังทลายสิ้น เหลือแต่ฐานศิลาแลง ปัจจุบันได้ย้ายอัฐิพระยามังรายมาบรรจุไว้ที่เจดีย์ด้านล่างเชิงดอยงำเมือง ส่วนโบสถ์วิหารบนดอยงำเมืองของเดิมพังหมด เหลือแต่พระพุทธรูป 2 องค์ องค์ใหญ่ก่อด้วยอิฐถือปูน องค์กลางก่อด้วยทองเหลือง เรียกว่า “พระเจ้าล้านทอง” เดิมอยู่วัดล้านทอง เชียงแสน* ต่อมาได้อัญเชิญมาประดิษฐาน ณ วัดงำเมือง เป็นปูชนียสถานคู่บ้านคู่เมืองที่สำคัญของเมืองเชียงรายแห่งหนึ่ง

จะเห็นได้ว่าข้อมูลนี้ ได้กล่าวว่า “มีเจดีย์เก่าแก่องค์หนึ่งฐานเป็นศิลาแลง แต่ได้ถูกรื้อพังทลายสิ้น เหลือแต่ฐานศิลาแลง ปัจจุบันได้ย้ายอัฐิพระยามังรายมาบรรจุไว้ที่เจดีย์ด้านล่างเชิงดอยงำเมือง” แสดงว่า เจดีย์ที่ชาวเชียงรายเชื่อว่าเป็น “กู่พระญามังราย” ทุกวันนี้ “ไม่ใช่กู่พระญามังราย” ที่ถูกสมมุติขึ้นในคราวแรกอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม เมื่อเรื่องราวชุดความรู้นี้ได้แพร่หลายเข้าสู่โสตสำนึกของชาวเชียงรายโดยทั่วไป ต่อมาจึงเกิดศรัทธาต่อความเชื่ออันบริสุทธิ์ ด้วยเจตนาหวังให้เป็นสถานที่เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระญามังราย องค์ปฐมกษัตริย์ผู้สร้างเมืองเชียงรายและล้านนา จึงมีการกำหนดให้เป็น “สถูปพระเจ้าเม็งรายมหาราช” อนุสรณ์สมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ในปี พ.ศ.2525

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2535 ได้สร้างพระบรมรูปพระญามังรายไว้ด้านหน้าเจดีย์ โดย พระราชรัตนากร เจ้าอาวาสวัดพระแก้ว, พระครูวิทิตสาธุการ เจ้าอาวาสวัดดอยงำเมือง ประธานฝ่ายสงฆ์ นายบุญเลิศ เจริญผล อัยการศาลอุทธรณ์จังหวัดเชียงราย เป็นประธานฝ่ายฆราวาส พร้อมพุทธศาสนิกชนทั่วไปสร้างขึ้น

ในปี พ.ศ.2551 ได้ทำการปรับปรุงฐานพระราชอาสน์และฉัตร โดยการท่าเรือแห่งประเทศไทย เพื่อให้สมพระเกียรติยิ่งขึ้น

สรุปได้ว่า
1. ไม่ปรากฏหลักฐานข้อมูลในเอกสารชั้นต้นฉบับใดกล่าวว่าพระญาไชยสงครามนำพระอัฐิของพระญามังรายกลับมาเมืองเชียงราย และนำมาประดิษฐานไว้ ณ วัดดอยงำเมือง แห่งนี้

2. กู่พระยาเมงราย ถูกบัญญัติขึ้น พ.ศ.2478 โดยยังไม่สามารถค้นพบแหล่งที่มาของข้อมูลได้ เป็นหน้าที่ของชาวเชียงรายที่ต้องช่วยกันสืบค้น เพื่อให้ข้อมูลประวัติศาสตร์เป็นไปอย่างน่าเชื่อถือและพิสูจน์ได้

3. ชุดความรู้ในหนังสือ “ตำนานเมืองเหนือ” ของ สงวน โชติสุขรัตน์ ตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2497 เป็นหนังสือเล่มที่เก่าสุด (ในขณะนี้) ที่พบข้อมูลว่าพระญาไชยสงครามนำพระอัฐิของพระญามังรายกลับมายังเมืองเชียงราย
ซึ่งตามรายชื่อเอกสารที่นำมาอ้างอิงท้ายเล่มนั้น ไม่ปรากฏฉบับใดกล่าวถึงเรื่องราวนี้เช่นกัน

4. เจดีย์วัดดอยงำเมือง ไม่ใช่ กู่พระยาเมงราย หากแต่กู่องค์นั้น (ที่ถูกทำให้เป็นกู่พระยาเมงราย) อยู่อีกแห่งหนึ่ง ซึ่งถูกรื้อทำลายไปแล้ว

ทั้งหมดนี้ขอทิ้งปริศนาปลายเปิดไว้ให้ผู้รู้ท่านอื่นนำหลักฐานมายืนยันความถูกต้องของประวัติศาสตร์เรื่องนี้ เพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจใคร่รู้ประวัติศาสตร์เชียงรายต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image