บุรีรัมย์เสวนา ‘โพธิสัตว์’ ชาวบ้านคึกติดป้าย ‘ทวงคืน’ อดีตศึกษาธิการโผล่ยันลักลอบขุดอื้อ

วงเสวนาประติมากรรมโพธิสัตว์สัมฤทธิ์ชี้ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ เคยระบุว่าโพธิสัตว์ชุดนี้ฝีมือหล่อชั้นยอด ด้านอดีตศึกษาธิการอำเภอเผยอยู่ในเหตุการณ์เคลื่อนย้ายมีมากกว่า 300 ไม่ใช่แค่ 20 องค์ “ชาวประโคนชัย”ตื่นตัวเตรียมติดป้ายทวงคืนทั่วบุรีรัมย์

ความคืบหน้ากรณีกระแสทวงคืนประติมากรรมโพธิสัตว์สัมฤทธิ์ที่เชื่อว่าพบที่ปราสาทปลายบัด 2 อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ จากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิแทน นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

ล่าสุด เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 28 มีนาคม ที่ห้องศิวาลัย ศูนย์วัฒนธรรมอีสานใต้ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ มีการจัดเสวนาเรื่อง “ประติมากรรมสัมฤทธิ์จากอำเภอประโคนชัย” โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดบุรีรัมย์ ร่วมกับสำนักศิลปากรที่ 12 นครราชสีมา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีประชาชน นักศึกษาและข้าราชการทยอยมาเข้าร่วมตั้งแต่เวลา 12.00 น. ภายในสถานที่จัดงานมีแผ่นป้ายซึ่งชาวบ้านอำเภอประโคนชัยทำขึ้นเพื่อนำมาติดในงาน และจะใช้รณรงค์ต่อไป โดยเป็นภาพประติมากรรมโพธิสัตว์หลายองค์ที่ถูกนำออกไปนอกประเทศ พร้อมข้อความว่า NOT FOR SALE และ WE NEED THESE BUDDHA STATUES BACK TO OUR COUNTRY หมายถึง ไม่ได้มีไว้ขาย, พวกเราต้องการประติมากรรม (พระโพธิสัตว์) กลับคืนสู่ประเทศของเรา

เสวนาโพธิสัตว์ประโคนชัย

Advertisement

นอกจากนี้ ยังมีการนำภาพถ่ายและข้อมูลจากบทความของเอมม่า ซี บังเกอร์ ซึ่งเกี่ยวกับประติมากรรมที่ปราสาทปลายบัด 2 ตีพิมพ์ในวารสารอาร์ต ออฟ เอเชีย เมื่อ ค.ศ.2002 มาติดตั้งบนผนังทางเข้าออกเพื่อให้ผู้ร่วมงานได้ชมอีกด้วย โดยชาวบ้านบางส่วนสวมเสื้อยืดคอกลมสีดำ สกรีนลายพระโพธิสัตว์ และข้อความ “สำนึก โพธิสัตว์ 300 องค์ ปลายบัด 2 ประโคนชัย”

นายประภาส รักษาทรัพย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า จ.บุรีรัมย์เป็นดินแดนที่มีความเก่าแก่ ร่ำรวยทางด้านวัฒนธรรมมาอย่างยาวนาน เมื่อเกิดกระแสความรักและหวงแหนในมรดกของชาติ จึงมีความยินดีที่มีการจัดเสวนาในครั้งนี้เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน เพื่อหาแนวทางในการดำเนินการร่วมกัน อีกทั้งเป็นการกระตุ้นเตือนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตระหนักถึงคุณค่าต่อไป

ผอ.ศิลปากร นครราชสีมาบอก ถ้าอยากทวงจริง ต้องติดป้ายทุกสี่แยก

นายจารึก วิไลแก้ว ผอ.สำนักศิลปากรที่ 12 นครราชสีมา กล่าวว่า เขาปลายบัดซึ่งเป็นที่ตั้งของปราสาทปลายบัด 2 หลัง คือ ปราสาทเขาปลายบัด 1 และปราสาทเขาปลายบัด 2 ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของปราสาทหินพนมรุ้งและปราสาทเมืองต่ำ กรมศิลปากรได้เข้าสำรวจพื้นที่บริเวณเขาปลายบัด ตั้งแต่ พ.ศ.2503-2504 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการก่อสร้างถนนมิตรภาพ แต่ยังไม่ได้มีการขุดค้นทางโบราณคดี ต่อมาใน พ.ศ.2513 ชาวบ้านได้พบศิลาจารึก แล้วมอบให้กรมศิลปากร ได้ชื่อว่า “จารึกเขาปลายบัดสอง” อ่านและแปลโดยนายชะเอม แก้วคล้าย นักอ่านจารึกของกรมศิลปากร เนื้อหาเกี่ยวข้องกับการสาปแช่งผู้ทำลายศาสนสถาน มีโองการกำหนดการปฏิบัติหน้าที่ต่อราชาที่สวรรคต และอำนวยพรแด่ผู้กระทำความดี เป็นต้น ซึ่งชี้ให้เห็นว่าพื้นที่ดังกล่าวมีความสำคัญ โดยมีนักวิชาการบางท่านวิเคราะห์ว่าอาจมีความเกี่ยวข้องกับอาณาจักรศรีจนาศะ ซึ่งปรากฏในจารึกหลักหนึ่ง ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (พช.) เจ้าสามพระยา

Advertisement
จากซ้าย นายชูชาติ ราชจันทร์ วัฒนธรรมจังหวัดบุรีรัมย์, นายจารึก วิไลแก้ว ผอ.สำนักศิลปากรที่ 12 นครราชสีมา, นายทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระ
จากซ้าย นายชูชาติ ราชจันทร์ วัฒนธรรมจังหวัดบุรีรัมย์, นายจารึก วิไลแก้ว ผอ.สำนักศิลปากรที่ 12 นครราชสีมา, นายทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระ

นายจารึกยังกล่าวอีกว่า ในส่วนของการดำเนินงานทางโบราณคดีที่ปราสาทปลายบัด 2 มีการขุดหลุมทดสอบทางโบราณคดีทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนแนวกำแพงด้านตะวันออก ยังอยู่ในสภาพดี ตัวปราสาท โดยคาดว่าปราสาทดังกล่าวหากอยู่ในสภาพสมบูรณ์อาจประกอบด้วยอาคาร 5 หลัง อยู่บนฐานเดียวกันเหมือนปราสาทเมืองต่ำ มีการใช้แท่งโลหะค้ำยันไม่ให้ล้ม และคาดหวังว่าจะพบหลักฐานมากกว่าที่มีอยู่ อย่างไรก็ตาม รอบปราสาทสังเกตเห็นร่องรอยการลักลอบขุดเมื่อหลายสิบปีก่อนได้อย่างชัดเจน

จากนั้นนายจารึกได้นำเสนอภาพและข้อมูลพระโพธิสัตว์ที่พบใน จ.บุรีรัมย์ และใกล้เคียง รวมถึงองค์ที่พบในแห่งอื่น แต่มีรูปแบบศิลปะคล้ายคลึงกัน เช่น บ้านฝ้าย จ.บุรีรัมย์ บ้านโตนด จ.นครราชสีมา รวมถึง อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ เป็นต้น ดังนั้น ศิลปะรูปแบบดังกล่าวไม่ได้พบเฉพาะที่เขาปลายบัด หรือประโคนชัยตามที่เข้าใจกัน อีกทั้งกล่าวว่า การที่มีผู้กล่าวว่ามีการพบโพธิสัตว์ที่เขาปลายบัด 2 ถึง 300 องค์ ตนค้นพบว่าแท้จริงแล้ว บทความของ ศ.ม.จ.สุภัทรดิศ ดิสกุล ระบุไว้เพียง 20 กว่าองค์เท่านั้น

“ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ บอกว่า โพธิสัตว์ชุดนี้อายุราวพุทธศตวรรษที่ 13-14 ถือเป็นประติมากรรมสำคัญมาก แต่ไม่พบเฉพาะบนเขาปลายบัด แต่พบที่บ้านฝ้าย บุรีรัมย์ บ้านโตนด นครราชสีมา และลุ่มแม่น้ำป่าสัก อย่างอำเภอศรีเทพ เพชรบูรณ์ด้วย กรมศิลปากรเคยจัดนิทรรศการมากกว่าหนึ่งครั้ง โบราณวัตถุเหล่านี้มีฝีมือการหล่อชั้นยอด นับเป็นหลักฐานสำคัญทางโบราณคดีที่สำคัญต่อการศึกษาเรื่องเมืองและชุมชนโบราณ” นายจารึกกล่าว

นายจารึกยังกล่าวอีกว่า ประติมากรรมพระโพธิสัตว์ที่คาดว่าพบที่ปราสาทปลายบัด 2 ซึ่งอยู่ในต่างประเทศ มีหลายองค์ เช่น พิพิธภัณฑ์กีเมต์ กรุงปารีส ฝรั่งเศส, พิพิธภัณฑ์ศิลปะคิมเบล สหรัฐอเมริกา และโพธิสัตว์เมไตรยะ ที่เอเชียโซไซตี้ นิวยอร์ก เป็นต้น ซึ่งตนจะมอบข้อมูลทั้งหมดที่กล่าวในวันนี้มอบไว้ที่ศูนย์วัฒนธรรมอีสานใต้ เพื่อใช้เป็นข้อมูลทางวิชาการต่อไป แต่ในส่วนของการทวงคืนนั้น ขึ้นอยู่กับนโยบายของกรมศิลปากรและชาวบ้าน ตนไม่ขอแสดงความคิดเห็นในส่วนนี้ อย่างไรก็ตาม หากชาวบุรีรัมย์อยากได้คืนจริง ควรติดป้ายรณรงค์ทุกสี่แยก

อดีตศึกษาธิการ วัย 73 โผล่ยันลักลอบขุดอื้อ พบมากกว่า 300 องค์จริง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อนายจารึกกล่าวจบ นายสุรพงษ์ พิลาวุธ อายุ 73 ปี อดีตศึกษาธิการอำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ (ปัจจุบันอำเภอเฉลิมพระเกียรติ) ซึ่งเป็นบริเวณที่พบประติมากรรมโพธิสัตว์ ได้ลุกขึ้นแสดงความเห็นว่า ข้อมูลบางประการของกรมศิลปากรนั้น มีความผิดพลาด เช่น จำนวนประติมากรรมที่พบ ตนขอยืนยันตามที่มีนักวิชาการนำเสนอข้อมูลไว้ว่ามีมากกว่า 300 องค์จริง ไม่ใช่แค่ 20 กว่าองค์ นอกจากนี้ สถานที่พบโบราณวัตถุบางชิ้นก็คลาดเคลื่อน เช่น ศิลาจารึก ที่ระบุว่ามาจากปราสาทปลายบัด 1 และเป็นจารึกบนใบเสมา ความจริงเป็นเสาประดับกรอบประตูของปราสาทปลายบัด 2 เป็นต้น เนื่องจากตนอยู่ในเหตุการณ์ตอนเคลื่อนย้าย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุรพงษ์ได้เล่าถึงรายละเอียดจำนวนมากเกี่ยวกับการพบโบราณวัตถุที่ปราสาทปลายบัด 2

“ยืนยันมีสามร้อยกว่าองค์จริง ชาวบ้านซ่อนไว้ในกองปูน พอมีการขัดคอเรื่องผลประโยชน์ เพราะได้ส่วนแบ่งน้อย เลยไปแจ้งตำรวจ การลักลอบขุดมีหลายครั้ง พอได้ของจะกองไว้เป็นกลุ่มๆ บริเวณปราสาท ครั้งแรก พบพระพุทธรูปทางด้านทิศเหนือของปราสาทจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังพบพระโพธิสัตว์ 6 องค์ ลักษณะเหมือนพระสวมกระโปรง มีคนรับซื้อไป ครั้งที่ 2 มีชาวบ้านไปขุดอีก พบกรุเป็นช่องๆ เหมือนรางรถไฟสูงราว 40 ซม. ด้านในมีพระอยู่ตามซอก มีการเอาตะกร้ามาหาบลงจากเขา รอบกำแพงและฐานปราสาทก็มีพระวางเรียงเป็นแถว นักค้าของเก่ารู้กันดีว่า ของเขาปราสาทปลายบัดดีที่สุด เพราะสัมฤทธิ์เนื้อหนา” นายสุรพงษ์กล่าว และว่า ข้อมูลเหล่านี้ชาวบ้านไม่บอกกรมศิลปากร เพราะเจ้าหน้าที่มักแสดงความเป็นเจ้าของสมบัติ และนำกฎหมายไปอ้างให้กลัว

นักวิชาการชี้ ‘ไม่มีโพธิสัตว์ประโคนชัย ไม่มีราชวงศ์มหิธรปุระ’

นายทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า กระแสที่การทวงคืน สืบเนื่องมาจากการที่ประติมากรรมถูกขายออกนอกประเทศไทยไปจำนวนมาก จนเหลืออยู่ไม่กี่องค์ ทั้งที่เป็นโบราณวัตถุที่มีความสำคัญ ซึ่งตนมองว่า หากไม่มีประติมากรรมสัมฤทธิ์ประโคนชัย ก็ไม่เกิดราชวงศ์มหิธรปุระอันเป็นราชวงศ์สำคัญในลุ่มน้ำมูล ตนจึงเสนอให้นำปราสาทเขาปลายบัด 2 ซึ่งเป็นสถานที่พบประติมากรรมแบบประโคนชัยเป็นมรดกโลกร่วมกับเส้นทางอารยธรรมปราสาทหิน และการที่จะเสนอนั้น ต้องมีการค้นคว้าวิจัยข้อมูลต่างๆ อย่างลึกซึ้ง สำหรับการทวงคืนนั้น ตนไม่เข้าใจว่าเหตุใดกรมศิลปากร บอกว่าต้องพิสูจน์ก่อนว่าโบราณวัตถุมาจากปราสาทปลายบัด 2 จริงหรือไม่ ทั้งที่มีหลักฐานมากมายนอกเหนือจากภาพถ่าย ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์บอกเล่าของชาวบ้าน และข้อมูลของนักวิชาการต่างประเทศที่ล้วนระบุตรงกัน ตอนนี้ควรมาขบคิดร่วมกันถึงการดำเนินการทวงคืนและผลักดันให้ปราสาทปลายบัด 2 ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

“ไม่มีสัมฤทธิ์ประโคนชัย ก็ไม่มีราชวงศ์มหิธรปุระ ซึ่งอยู่ในลุ่มน้ำมูล พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 เป็นต้นราชวงศ์ นับถือพุทธศาสนา เป็นหลัก งง ว่าทำไมกรมศิลป์บอกต้องพิสูจน์ ต้องหาภาพถ่าย ตอนนี้ควรตั้งคำถามว่า จะผลักดันให้ปราสาทปลายบัด 2 เป็นมรดกโลกอย่างไร และการดำเนินการทวงโพธิสัตว์คืนมาจะทำอย่างไร คงเป็นเรื่องที่ต้องคิดร่วมกัน” นายทนงศักดิ์กล่าว

จากซ้าย นายโชติวัฒน์ รุญเจริญ นักวิชาการอิสระ และนายประยงค์ วงศ์ประโคน ชาวอำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ สวมเสื้อสรีนลาย 'สำนึก' โพธิสัตว์ 300 องค์ พร้อมเตรียมติดป้ายทวงคืนตามเส้นทางท่องเที่ยว
จากซ้าย นายโชติวัฒน์ รุญเจริญ นักวิชาการอิสระ และนายประยงค์ วงศ์ประโคน ชาวอำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ สวมเสื้อสรีนลาย ‘สำนึก’ โพธิสัตว์ 300 องค์ พร้อมเตรียมติดป้ายทวงคืนตามเส้นทางท่องเที่ยว

ชาวประโคนชัยคึก เตรียมติดป้าย ‘ทวงคืน’ ตามเส้นทางท่องเที่ยว

นายประยงค์ วงศ์ประโคน อายุ 37 ปี ชาวบ้านอำเภอประโคนชัย ซึ่งสวมเสื้อยืดสกรีนลายสำนึกโพธิสัตว์ 300 องค์ มาร่วมงาน กล่าวว่า ตนเดินทางมาถึงงานตั้งแต่เวลา 11.00 น. เพื่อนำไวนิลทวงคืนโพธิสัตว์มาติดที่งาน เนื่องจากติดตามประเด็นนี้มานานแล้ว โดยได้ทราบข่าวจากสื่อและเฟซบุ๊ก ส่วนตัวสนใจด้านโบราณคดีอยู่แล้ว เดิมคนประโคนชัยมีความรู้น้อยเกี่ยวกับประติมากรรมชุดนี้ กระทั่งเป็นข่าว จึงสร้างความตื่นเต้นให้ชาวบ้านมากเมื่อทราบว่า ส่วนหนึ่งไปอยู่ต่างประเทศ โดยตั้งแต่พรุ่งนี้เป็นต้นไป ตนจะนำแผ่นป้ายทวงคืนไปติดตามเส้นทางสำคัญในจังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อรณรงค์อีกด้วย

“ตั้งแต่พรุ่งนี้ จะเอาป้ายทวงคืน ขนาด 1.20 คูณ 2.40 เมตร ติดตามจุดต่างๆ เช่น เส้นทางที่จะไปปราสาทหินพนมรุ้ง ซึ่งจะมีงานขึ้นเขาในช่วงเดือนเมษายน จุดจำหน่ายของฝาก เพื่อให้เป็นจุดสังเกต สำหรับกระแสในพื้นที่ ชาวบ้านมีการพูดคุยกันโดยสอบถามว่าโพธิสัตว์อยู่ไหน หน้าตาเป็นแบบไหน ทำไมหายไป” นายประยงค์กล่าว

นายสรเชษฐ์ วรคามวิชัย อดีตอาจารย์ มรภ. บุรีรัมย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา น้อยคนจะรู้ว่าที่ประโคนชัยเคยมีพระโพธิสัตว์มูลค่านับล้านบาท ตอนนี้ได้รับรู้แล้ว ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี ทั้งยังมีจำนวนมากอีกด้วย อย่างไรก็ตาม หากทวงคืนมาแล้ว ต้องไม่ปล่อยให้คนขโมยไปอีก หรือถูกหลงลืมดังเช่นที่เป็นมา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 6-7 เมษายนนี้ นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากรจะเดินทางมาลงพื้นที่และพูดคุยประเด็นนี้ที่อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง เกี่ยวกับแนวทางในการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวต่อไป

หน้า 1

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image