ย้อนอดีตกรุ (ง) แตก : เปิดกรุวัดราชบูรณะ ตอนที่ 3 ‘เครื่องประดับเศียรทองคำ’

(จากซ้าย) พระมาลาทองคำ และจุลมงกุฎทรงน้ำเต้าจากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะซึ่งคนร้ายลักลอบขุดเมื่อ พ.ศ. 2499 ปัจจุบันจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

เมษายน เป็นเดือนที่เกิดเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ไทยมากมาย หนึ่งในนั้น คือการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ในวันอังคาร เดือน 5 ขึ้น 9 ค่ำ ปีกุน นพศก ตรงกับ 7 เมษายน พ.ศ.2310 เป็นเหตุให้มีการย้ายราชธานีลงไปทางทิศใต้ ณ กรุงธนบุรี ก่อนจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯทุกวันนี้

พระราชโบราณสถาน อีกทั้งวัดวาอารามที่เคยงดงามเกินบรรยายต่างทรุดโทรม ร่วงโรย และรกร้าง
กรุงศรีอยุธยาที่เคยรุ่งโรจน์กลายเป็นเพียงอดีต

ต่อมาในราว พ.ศ.2499 เกิดเรื่องที่ทำให้ชื่อของราชธานีแห่งนี้กลับมาอยู่ในความสนใจของคนไทยอีกครั้ง นั่นคือเหตุการณ์ ‘กรุแตก’ ซึ่งเริ่มมีเค้าลางมาจากเรื่องที่เล่ากันหนาหูว่า มีผู้เสียสตินำเครื่องทองงดงามระยับไปร่ายรำท่ามกลางชุมชนใน ‘ตลาดเจ้าพรหม’ ตลาดใหญ่ในตัวเมืองอยุธยา กระทั่งถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว

เรื่องนี้ถูกนำมาสอดแทรกไว้ในเรื่องสั้น “ขุนเดช” ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ด้านประวัติศาสตร์ในเครือ “มติชน”
สุจิตต์เล่าว่า ตนได้ข้อมูลมาจาก “อามหา-จิรเดช ไวยโกสิทธิ์” หรือขุนเดชตัวจริงในเรื่องสั้นชุดดังกล่าวที่ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์หลายต่อหลายครั้ง

Advertisement

เหตุการณ์จริงต่อจากนั้น คือในเดือนกันยายน พ.ศ.2500 กรมศิลปากรได้พบเครื่องทองคำราชูปโภค พระพุทธรูป สถูปทองคำ และพระพิมพ์มากมายภายในพระปรางค์องค์ใหญ่ของวัดราชบูรณะ จากนั้นได้หาทางทำอุโมงค์ และบันไดลงไปในกรุลึกลับ ต้องคลำทาง วางแผน บันทึกผังกรุ และโบราณวัตถุมหาศาลที่ได้พบอย่างไม่คาดฝัน กลายเป็นหนึ่งในอภิมหาตำนานแห่งการค้นพบมรดกอันประเมินค่าไม่ได้จากบรรพชนยุคกรุงศรีอยุธยาที่น่าตื่นเต้นเป็นอย่างยิ่ง

สภาพภายในพระปรางค์วัดราชบูรณะ ซึ่งมีคนร้ายลักลอบขุดกรุได้สมบัติมหาศาล เมื่อ พ.ศ. 2499
สภาพภายในพระปรางค์วัดราชบูรณะ ซึ่งมีคนร้ายลักลอบขุดกรุได้สมบัติมหาศาล เมื่อ พ.ศ.2499

เรื่องราวทั้งหมดรวมถึงรายละเอียดของการขุดกรุดังกล่าวในทุกขั้นตอน ถูกบันทึกไว้อย่างถี่ถ้วนและเต็มไปด้วยสีสัน ผ่านบทความของนักวิชาการด้านโบราณคดีที่รวมสรรพกำลังทางวิชาความรู้มาร่วมกันวิเคราะห์ตีความวัตถุล้ำค่ามากมาย โดยมีการพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2502 หรือเกือบ 60 ปีมาแล้ว ซึ่ง “มติชน” จะทยอยทำเสนอเป็นตอนๆ ดังเนื้อหาต่อไปนี้

เครื่องประดับเศียร

บทความโดย นายชิน อยู่ดี หัวหน้าแผนกวิชาการ กองโบราณคดี

Advertisement
ศาสตราจารย์ ชิน อยู่ดี (ภาพจากเวปไซต์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร องค์การมหาชน)
ศาสตราจารย์ ชิน อยู่ดี (ภาพจากเว็บไซต์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร องค์การมหาชน)

ในบรรดาเครื่องทองที่คนร้ายลักขุดได้ที่กรุในองค์พระปรางค์วัดราชบูรณะ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา มีสิ่งที่น่าสนใจ 2 ชิ้น คือ
1.เครื่องทอง ที่มีบางท่านเรียกว่า จุลมงกุฎ ทรงน้ำเต้า
2.เครื่องทอง ที่เรียกว่า มาลาทองคำ ใช้เส้นทองถัก
สำหรับชิ้นที่ 1 เป็นอะไรกันแน่ ได้ตรวจดูหลักฐานตามตัวหนังสือจากตำนานเครื่องต้นครั้งกรุงศรีอยุธยา ปรากฏดังนี้

พระมหากษัตริย์

เครื่องสวมพระเศียร ในโอกาส

1.ทรงพระชฎาพระเกี้ยวเพชร ทับทิม มรกต มีสีตามฉลองพระองค์ เสด็จออกแขกเมือง
2.ทรงพระมาลา พระกลีบ 5 ยอดสะดุ้ง (ชฎามหากฐิน) เสด็จพระพุทธบาท (ชฎามหากฐิน)
3.ทรงพระชฎาสอดตามสีฉลองพระองค์ เสด็จไปพระราชทานเพลิงศพ วัดไชยวัฒนาราม
4.ทรงพระมาลาฝรั่งพระเส้าสเทินขนนกลอน ตั้งพยุหยาตราแต่ท่าเจ้าสนุกขึ้นไปจนพระพุทธบาท
5.ทรงพระชฎาขาวริมทองสอดตามสี (ชฎาพอก) เสด็จไปถึงปากป่าทุงบ้านใหม่
6.ทรงพระมาลาเส้าสูงกุหล่าขนนกตั้ง เสด็จไปวัดพระศรีสรรเพชญ์และฉลองวัด
7.ทรงเครื่องพระมหาพิชัยมงกุฎ ทรงมหาพิชัยราชรถและพระที่นั่งกิ่ง
8.ทรงพระมาลาลง (ยันต์) ราชะ (เป็น) ซับใน เครื่องพระราชพิชัยสงครามสำหรับขนช้าง
9.ทรงเครื่องทรงประพาสพระ (มาลา) เส้าสเทิน เสด็จออกไปลพบุรีแลสระแก้วและน้ำโจนแลล้อมเสือ แลขั้นห้างจับเสือ
(ไม่ได้ระบุถึงมงกุฎทรงน้ำเต้าไว้ เข้าใจว่าตำนานเครื่องต้นนี้คงจะบันทึกในแผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง หรือแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ภายหลังที่มีมงกุฎแบบทรงน้ำเต้า เพราะวัดไชยวัฒนารามเพิ่งจะสร้างในแผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง)

เครื่องทองวัดราชบูรณะ

พระมหาอุปราช

ทรงเครื่องทุกอย่าง (หรือบางอย่างไม่กล่าวชัด) เหมือนพระเจ้าแผ่นดิน แต่มิให้ต้องสีเครื่องต้นและฉลองพระองค์ ลดพระสุวรรณมาลัย (ดอกไม้ที่เสียบข้างพระชฎา ซึ่งทุกวันนี้เรียกใบสนว่าพระยี่ก่า)

เจ้าฟ้าเทียบพระมหาอุปราช

ทรงพระชฎากาบต่ำ (ชฎาพอกมีกาบเป็นลายรักร้อยเรียวแหลม ประกับยอดขึ้นไป 4 ทิศ อันนี้บังคับให้ของเจ้าฟ้าสั้นกว่าของพระมหาอุปราช)

เจ้าฟ้า

อย่างที่ 1 ทรงเกี้ยวพระอุไรดอกไม้ทิศ
อย่างที่ 2 พระชฎาตามสีฉลองพระองค์

หลักฐานที่เป็นสิ่งของ ได้แก่ กาบพระเต้าทองคำยอดพรหมพักตร์ ซึ่งอยู่ในกรุเดียวกันนี้ มีกาบมีลายฉลุเป็นรูปประทับนั่ง ที่พระเศียรทรงพระชฎาหรือมงกุฎยอดทรงน้ำเต้าแบบเดียวกับเครื่องประดับเศียรชิ้นที่ 1 หลักฐานปัจจุบันก็ได้แก่มงกุฎหัวโขน ที่เรียกกันว่า มงกุฎยอดน้ำเต้า และมงกุฎยอดน้ำเต้าเฟือง ลดชั้นลงมาใช้กับเจ้านาย เช่น พิเภกผู้เป็นน้องกษัตริย์เมืองลงกา

พิจารณาประกอบกับสิ่งอื่นที่พบในกรุเดียวกัน คือ เครื่องราชกกุธภัณฑ์จำลองและพระแสงดาบ ชวนให้สันนิษฐานว่า เครื่องประดับเศียรทรงน้ำเต้าคงจะเป็นส่วนบนของมงกุฎ ส่วนล่างอาจจะหายโดยคนร้ายลักเอาไปซ่อนไว้ที่อื่น เพราะรูปที่ฉลุบนกาบของพระเต้าทองคำยอดพรหมพักตร์ มีมงกุฎครบทั้งส่วนบน (ทรงน้ำเต้า) และส่วนล่าง มงกุฎนี้ควรจะเป็นของมหากษัตริย์องค์ใดองค์หนึ่ง เพราะถ้าเป็นเครื่องของเจ้าอ้ายพระยาและเจ้าญี่พระยาควรจะมี 2 ชุด

ที่มาของยอดมงกุฎทรงน้ำเต้า ก็คือ เดิมชายไทยไว้ผมสูงและโพกผ้า พยานหลักฐานที่เป็นรูปสัมฤทธิ์ ได้แก่รูปสมัยอยุธยา เลขที่ อย.41 ขณะนี้อยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ที่พระเศียรของรูปดังกล่าวจะเห็นผมสูงมีรอยแถบผ้ารัดหรือผูกโดยรอบคล้ายผมจุก อีกรูปหนึ่งเป็นรูปสมัยอยุธยาเลขที่ อย.54  ขณะนี้อยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ที่ยอดพระเศียรผ้ารัดรอบผมสูง แปลงรูปไปเป็นผ้าแถบพันหลายชั้นเริ่มจะมีเค้าเป็นรูปทรงน้ำเต้า และมีกระบังหน้า ส่วนล่างรอบส่วนหลังของพระเศียรทำเป็นลวดลายคล้ายลายถัก

การวิวัฒนาการของมงกุฎทรงน้ำเต้า คงจะเป็นดังนี้
คั่นที่ 1 เดิมไว้ผมสูงและโพกผ้า
คั่นที่ 2 ต่อมามีผ้าแถบหรือเชือกผูกรัดผมสูง เช่นเดียวกับผูกผมจุกเด็ก
คั่นที่ 3 ประดิษฐ์เครื่องครอบยอดผมสูงมีลักษณะโปร่งด้วยทองหรือเงินแล้วแต่ฐานะ มีรูปทรงน้ำเต้า
คั่นที่ 4 มีกรอบหน้า ผ้าโพกเปลี่ยนเป็นส่วนล่างของมงกุฎทำเป็นลวดลายคล้ายลายถักและมีกรรเจียกจอน
คั่นที่ 5 เมื่อตัดผมสั้น เป็นแบบที่เรียกว่าทรงมหาดไทย ยอดผมสูงหายไป รูปทรงน้ำเต้า ก็ไม่มีความหมายเพราะไม่มีผมสูงแล้ว ยอดมงกุฎก็เปลี่ยนไปเป็นยอดแหลม มงกุฎทรงน้ำเต้าเดิมเป็นเครื่องทรงพระมหากษัตริย์ก็ลดศักดิ์ลงมาเป็นเครื่องทรงของเจ้านาย เช่น พิเภก คนรุ่นหลังลืมเลือนไม่ทราบว่าบริเวณที่เป็นทรงน้ำเต้านั้นเคยเป็นผม เมื่อทำมงกุฎทรงน้ำเต้าสำหรับเป็นหัวโขนก็ทาสีดำไว้ตรงที่เคยเป็นผมสูง

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

 

ที่มาข้อมูล : หนังสือ จิตรกรรมและศิลปวัตถุ ในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และหนังสือ พระพุทธรูปและพระพิมพ์ ในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พิมพ์เผยแพร่ครั้งที่ 2 โดยกรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ.2558

ขอขอบคุณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ห้องจัดแสดงเครื่องทองจากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา
ห้องจัดแสดงเครื่องทองจากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา
วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ทางลงกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะซึ่งกรมศิลปากรขุดอุโมงค์ทำบันไดขึ้นใหม่
ทางลงกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะซึ่งกรมศิลปากรขุดอุโมงค์ทำบันไดขึ้นใหม่

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image