ขายหน้าอนาจาร โดย คำ ผกา

ขายหน้าอนาจาร โดย คำ ผกา

ขายหน้าอนาจาร

“เชอรี่ สามโคก” นางแบบเซ็กซี่ เข้ามอบตัวกับตำรวจ หลังเต้นโชว์หวิวในงานมอเตอร์โชว์ 2016 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งข้อหากับ เชอรี่ สามโคก และนายอภิสิทธิ์ ว่า ร่วมกันกระทำการอันควรขายหน้าต่อธารกำนัล” http://news.mthai.com/hot-news/general-news/486779.html

แล้วประเทศไทยก็เดินมาถึงจุดนี้ จุดที่นักแสดงที่ได้รับจ้างมาแสดงในงานขายรถ ต้องไปมอบตัวกับตำรวจและถูกฟ้องขึ้นศาลราวกับเป็นอาชญากร

ชาวบ้านการศึกษาน้อยอย่างฉันและไม่มีความรู้ทางกฎหมายเลย ค่อนข้างว่าคำว่า “การอันควรขายหน้าต่อธารกำนัลนั้น” กินความหมายมากหรือน้อยเพียงใด อย่างไรจึงเรียกว่า “ควรขายหน้า”

หากใช้บรรทัดฐานการเต้น และการแสดงอันส่อไปในทางอนาจาร

Advertisement

– การเต้นโชว์ อะโกโก้บาร์ทั้งหมด ต้องถูกกวาดจับทั้งหมดหรือไม่?

– ฉากตบตีแย่งผู้ชายอย่างไร้สมองในละครไทยต้องถูกจับหรือไม่?

– การเต้นเร่าร้อนของแดนเซอร์นักร้อง นักดนตรีดังหลายๆ คนก็มีท่าทางอันชวนกระสันไม่น้อย เพียงแต่อาจเต้นได้สวยกว่า เชอรี่ สามโคก ต้องถูกกวาดจับด้วยหรือไม่?

Advertisement

– ภาพโฆษณา นุ่งกางเกงขาสั้นๆ อวดเรียวขา อวดเนินอก พร้อมการส่งสายตายั่วยวนต่อคนดูทางบ้าน ควรถูกกวดจับด้วยหรือไม่ เพราะทางท่วงท่าแม้ดูไม่อนาจารแต่ส่อนัยทางเพศชัดเจนกว่าการเต้นแบบ เชอรี่ สามโคก ที่ดูแล้วชวนเซ็กซ์เสื่อมมากกว่าชวนกระสัน-สิ่งนี้ควรถูกฟ้องศาล ด้วยหรือไม่?

– ดารา แสดงการอาบน้ำกลางห้างควรถูกจับด้วยหรือไม่ เพราะการอาบน้ำไม่ควรทำต่อหน้าคนอื่น ควรทำในห้องน้ำบ้านตัวเองเท่านั้น

– ฯลฯ

คําถามของคนไม่รู้เรื่องกฎหมาย คำถามต่อไป การแสดงที่งานมอเตอร์โชว์นั้น เป็นการแสดงที่ไม่ได้ถ่ายทอดสดออกอากาศในสื่อใดๆ แต่เป็นการจ้างวานให้แสดง ณ สถานที่จัดงาน ไม่มีการบังคับ ขืนใจ จับใครมามัดติดกับเก้าอี้แล้วสั่งให้ดู หากใครเห็นว่า อุบาทว์ ลามก ก็ควรจะเดินหนีไป แล้วไปดูการแสดง หรือพริตตี้ที่สูงส่ง แต่งกายดี สวยงามของรถยี่ห้ออื่นๆ สินค้าชนิดอื่นๆ

หรือรับไม่ได้สักยี่ห้อ ก็ควรจะกลับบ้านไปสวดมนต์ ให้จิตใจผ่องใส แต่คนที่ถ่ายวิดีโอออกมาเผยแพร่ ควรมีความผิดมากกว่าในฐานละเมิดลิขสิทธิ์ และความเป็นส่วนตัวใช่หรือไม่?

บ้างก็บอกว่า ต้องเป็นห่วงเด็ก ประทานโทษ นี่งานมอเตอร์โชว์นะ ไม่ใช่งานบาร์บี้โชว์หรืองานรถของเล่นโชว์ อีกประการหนึ่ง ใครๆ ก็รู้ว่า งานมอเตอร์โชว์ เป็นงานโชว์พริตตี้ โชว์นม โชว์อึ๋ม ขายความเซ็กซี่มานับทศวรรษ-จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็วิจารณ์ได้

แต่หากคิดว่าลูกเต้าเหล่าหลานของตนเปราะบางมาก ทนเห็นอะไรแบบนี้ได้ เกราะกำบังทางศีลธรรมจะพังทลาย ทางออกคือ ก็อย่าพาลูกตัวเองไป เพราะนี่ไม่ใช่งานวันเด็ก เจ้าของสินค้าคนจัดงาน เขามีข้อสมมุติฐานและเขาเชื่อของเขาว่าถ้ามีความโป๊ในงานมากๆ แล้วมันจะดึงดูดคนที่เป็นกลุ่มลูกค้าของเขา

แล้วเขาคงไม่ได้มองว่า “เยาวชน” คือกลุ่มลูกค้าของมอเตอร์โชว์ ไม่อย่างนั้นคงเตรียมคุมะมงมาขายรถแทนพริตตี้

หรือถ้าในอนาคต งานมอเตอร์โชว์เห็นว่า พ่อแม่กลุ่มที่มีความเปราะบางในศีลธรรมทางเพศคือกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงสุด เขาก็คงเปลี่ยนจากการใช้พริตตี้มาเป็นมาสคอตการ์ตูนเพื่อเอาใจลูกค้าของเขา

นี่ยังไม่นับว่า รถยนต์คือบุคลาธิษฐานของผู้หญิงที่จะโดนขี่หรือขับโดยผู้ชาย จากบุคลาธิษฐานอันเป็นมโนทัศน์เกี่ยวกับเพศอันล้าหลังนี้เองที่ทำให้คนที่มายืนพรีเซ้นต์รถในงานมอเตอร์โชว์ต้องเป็นผู้หญิงที่มีความเซ็กซี่เย้ายวนพอๆ กับความเย้ายวนของ “รถ” ที่ก่อความกระสันปั่นป่วนแก่ผู้พบเห็นให้อยากครอบครองเป็นเจ้าของ

กลับมาที่เรื่องกาลเทศะ ฉันจึงไม่เห็นว่า การแสดงของ เชอรี่ สามโคก ผิดที่ผิดทางที่ตรงไหน?

ในเมื่องานมอเตอร์โชว์คืองานที่ใครๆ ก็รู้ว่าจุดขายของมันคือเรื่อง “เพศ”

เชอรี่และคู่เต้นของเธอไม่ได้ไปเต้นอยู่กลางสี่แยกหรือกลางถนน แต่ถึงเธอไปเต้นอยู่กลางถนนก็ไม่น่าจะมีอะไรผิดอยู่ดี เพราะเธอ “เต้น” เธอไม่ได้ไป “ร่วมเพศ”

หากจะบอกว่า ท่าเต้นของเธอมันส่อไปในทางเสพสังวาส ก็คงต้องถามต่อไปว่า ทำไมเราถึงยอมรับว่าการเต้นแทงโก้นั้นสวยงาม ทั้งๆ ที่การเต้นแทงโก้นั้นทั้งยั่วยวน เร่าร้อน และมีนัยแห่งการเสพสังวาสที่แจ่มชัด

หากจะตอบว่าก็เต้นแทงโก้มันสวย เมื่อตอบว่า แทงโก้มันสวย ความผิดของเชอรี่และคู่เต้นจึงไม่ใช่เรื่อง “ศีลธรรมทางเพศ” หรือ “ความอนาจาร” ใช่หรือไม่?

ความผิดของเชอรี่และคู่ก็แค่ไม่สามารถเต้นให้ “สวย” เท่านั้น และการเต้นที่ไม่สวย ไม่ดู classy ก็ย่อมไม่ใช่อาชญากรรมใช่หรือไม่?

เพราะฉะนั้น คนที่ด่าเธอต้องเอาให้ชัดๆ ว่าตกลงจะด่าเธอเรื่องอนาจาร หรือเรื่องไม่สวย?

พลวัตของสังคมกับ “ข้อบังคับทางเพศ” นั้นไม่ได้หยุดนิ่งอยู่กับที่ และไม่มีมาตรฐานที่ถูกต้องเป็นหลักการสากลหรือเป็นกฎของพระเจ้าห้ามเปลี่ยนแปลงถกเถียง

ในหมู่สังคมประชาธิปไตยเองก็มีระดับของการ “ควบคุมเรื่องเพศ” แตกต่างกันออกไป สแกนดิเนเวียมีความก้าวหน้า เสรีนิยมมากกว่าที่อื่น ญี่ปุ่นยังไม่ยอมให้การ์ตูนลามกเด็กผิดกฎหมายด้วยข้ออ้างว่านั่นไม่ใช่มนุษย์ เป็นแค่การ์ตูน และสร้างความขุ่นเคืองให้กับประชาคมโลกที่กังวลเรื่องสิทธิเด็กอย่างยิ่ง

การจัดเรตติ้งของแต่ละสังคมก็ไม่เหมือนกันอีก ขึ้นอยู่กับฐานคิดทางปรัชญาว่าด้วยสิทธิเด็ก สิทธิเสรีภาพของพลเมืองที่แต่ละสังคมสมาทานนั้นเป็นปรัชญาสกุลไหน และแม้กระทั่งมันเกี่ยวพันกับนโยบายประชากร แรงงาน การสาธารณสุข อาหารของแต่ละประเทศ

นั่นแปลว่า การควบคุมทางเพศ และกฎหมายครอบครัวเกี่ยวพันกับเศรษฐกิจอย่างลึกซึ้ง แต่เกี่ยวพันกับศีลธรรมอย่างเบาบางหรือเกือบจะไม่เกี่ยวเลยยกเว้นในหมู่คน “เคร่งศาสนา” ซึ่งต้องตระหนักอยู่เสมอว่าตนมีชีวิตอยู่ในรัฐโลกวิสัยภายใต้กฎหมายแบบโลกวิสัย

แต่สังคมไทยถกเถียง ด่าทอเรื่องเพศกันอยู่ในมิติของ

– อัปรีย์สีกบาล

– ทำให้สังคมเสื่อมทราม

– เป็นแบบอย่างที่ไม่ดีแก่เยาวชน

– เป็นภัยต่อศาสนา ศีลธรรม และความเป็นไทย

– เป็นภัยต่อผู้หญิง คนไปดูอะไรอย่างนั้นมาอาจเกิดอารมณ์ทางเพศแล้วไปข่มขืนใครเข้า (พิสูจน์ในทางสถิติให้ดูหน่อยว่า การแต่งตัวโป๊คือเหตุแห่งการข่มขืน? และแค่ไหนจึงเรียกว่าโป๊พอที่ก่อให้เกิดการข่มขืน ถ้า rapist มีรสนิยมต่อข้อศอกเป็นพิเศษ ผู้หญิงเปิดข้อศอก ถือว่าโป๊หรือไม่?)

– ทำให้ศักดิ์ศรีและเกียรติยศของเพศหญิงเสื่อมทราม แต่ไม่ได้คิดต่อว่าเสื่อมทรามอย่างไร ทำไมเกียรติผู้หญิงจึงเปราะบางจัง แค่ไปแก้ผ้าก็เสื่อมเสียแล้ว?

ถ้าเกียรติของผู้หญิงมันเปราะบางแตกหักง่ายขนาดนี้ เราคิดกันบ้างไหมว่า ใครเป็นคน “สร้าง” สิ่งเหล่านี้มาไว้ให้ “ผู้หญิง”???

การถกเถียงที่อยู่บนฐานนี้จึงไม่อาจก่อให้เกิดพลวัตอย่างการถกเถียงที่อยู่บนฐานคิดของประวัติศาสตร์ และปรัชญาการเมือง เศรษฐศาสตร์ ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายที่เป็นรูปธรรมต่อประเด็นเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิเด็ก สิทธิแรงงาน สิทธิในการอ่าน เขียน การออกแบบหลักสูตรเกี่ยวกับเพศศึกษา การวางแผนประชากร ฯลฯ นโยบายทางวัฒนธรรม ศิลปะ เพราะเมื่อถกเถียงกันเรื่องความดี ความงาม ศีลธรรม และสำนึกแบบแม่และเมียของวิกตอเรียนที่เชื่อว่าปกป้องลูกและเด็ก คือสุดยอดออกัสซั่มของหน้าที่แม่และเมีย

เรื่องเพศในฐานะที่เป็นประเด็นทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองในมิติของความสัมพันธ์ทางอำนาจ มิติการครอบงำทางอุดมการณ์ ศาสนา จึงเหลือเพศที่จำกัดไว้แค่ “ใดๆ ที่เกี่ยวกับการร่วมเพศ” และมีเพียงสีขาวและดำ ทางเลือกจึงมีแค่การ กำจัด กีดกัน ปัดให้พ้นไปจากสายตา อย่างดีที่สุดคือเรียกร้องการจัดโซนนิ่ง คือ กูกับมึงพึงอยู่กันคนละโลก

เหล่าคุณหญิงคุณนายคนมีการศึกษาทั้งหลายก็จะดาหน้ากันออกมาบอกว่า

“เดี๊ยนไม่ได้ต่อต้านเรื่องเพศ หรือการแต่งตัวโป๊ โชว์เนื้อหนัง แต่เดี๊ยนคิดว่า โป๊นั้นต้องโป๊อย่างมีรสนิยม ถูกต้องตามกาลเทศะ ส่วนการแสดงนั้น ไม่เห็นมีความจำเป็นอะไรที่ต้องไปทำท่าลามกผสมพันธุ์กันในที่สาธารณะ บัดสีบัดเถลิง เรื่องเพศควรเกิดขึ้นในที่รโหฐานเท่านั้น นี่มันการตลาดราคาถูก เราขายของกันด้วยรสนิยมก็ได้ บลา บลา บลา”

คำถามคือ แล้วทำไมสังคมต้องเดินตามรสนิยมของ “คุณ”?

ใครคือคนกำหนด “รสนิยม” นั้น?

คำถามต่อมาคือ “รสนิยม” นั้นท้าทาย เปลี่ยนแปลงได้หรือไม่?

สิ่งที่สังคมต้องการคือการ revisit ประเด็นเกี่ยวกับเพศในมิติประวัติศาสตร์ สังคม การเมือง เศรษฐกิจ อย่างจริงจัง ไม่ใช่การจับคนเต้นแก้ผ้าไปส่งตำรวจ

เราคงต้องกลับมาถามตัวเองสังคมที่ทนดูการเต้นแบบ เชอรี่ สามโคก และคู่เต้นของเธอไม่ได้เป็นสังคมแบบไหน เหตุใดเราจึงเปราะบางต่อการแตกสลายถึงเพียงนั้น

การเต้นที่คล้ายการร่วมเพศของมนุษย์คู่หนึ่งสามารถทุบทิ้งทำลายสังคมของเราลงได้จริงหรือ

ลำพังการเต้น “อนาจาร” ของมนุษย์คู่หนึ่งสามารถทุบทิ้งอนาคตของเยาวชนเราลงได้จริงหรือ?

เยาวชนและเด็กคือมนุษย์สีขาวที่ทนดูหรือไม่ควรเห็นสิ่งเหล่านี้โดยสิ้นเชิงจริงหรือ?

ถ้าสังคมนี้มันจะเปราะบางขนาดนั้นก็สมควรแล้วกระมังที่เขาบอกว่าเรายังไม่พร้อมจะมีการเลือกตั้งหรือมีประชาธิปไตย เพราะแค่จะนั่งดูการเต้น “อนาจาร” อย่างมีสติยังทำไม่ได้ จะไปปกครองตนเองได้อย่างไร?

การแก้ผ้าไม่ใช่อาชญากรรม ตราบเท่าที่เขาไม่ได้บังคับให้คุณดู แต่การบังคับให้เราดูในสิ่งที่เราไม่อยากดู (ไม่ว่าจะแก้ผ้าหรือใส่สูท) ต่างหากที่เป็นอาชญากรรม

ความอัปลักษณ์ อนาจารไม่ใช่อาชญากรรม แต่การกวาดล้างสิ่ง “โสโครก” (ในสายตาของคุณ) ออกไปจากโลกนี้แล้วมุ่งมั่นจะสร้างโลกที่สวย สะอาด ปลอดเชื้อ ปราศจากสิ่งขวางหูขวางตาและมีแต่คนที่มีพฤติกรรม “ถูกต้อง” ต่างหากคืออาชญากรรม

และนั่นคือสิ่งที่คนแบบฮิตเลอร์ใฝ่ฝันอยากจะเห็นและลงมือทำ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image