ย้อนอดีตกรุ(ง)แตก : เปิดกรุวัดราชบูรณะ ตอนที่ 6 ‘ตามรอยโจร’ (ต่อ)

เมษายน เป็นเดือนที่เกิดเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ไทยมากมาย หนึ่งในนั้น คือการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ในวันอังคาร เดือน 5 ขึ้น 9 ค่ำ ปีกุน นพศก ตรงกับ 7 เมษายน พ.ศ.2310 เป็นเหตุให้มีการย้ายราชธานีลงไปทางทิศใต้ ณ กรุงธนบุรี ก่อนจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯทุกวันนี้

พระราชโบราณสถาน อีกทั้งวัดวาอารามที่เคยงดงามเกินบรรยายต่างทรุดโทรม ร่วงโรย และรกร้าง
กรุงศรีอยุธยาที่เคยรุ่งโรจน์กลายเป็นเพียงอดีต

ต่อมาในราว พ.ศ.2499 เกิดเรื่องที่ทำให้ชื่อของราชธานีแห่งนี้กลับมาอยู่ในความสนใจของคนไทยอีก ครั้ง นั่นคือเหตุการณ์ ‘กรุแตก’ ซึ่งเริ่มมีเค้าลางมาจากเรื่องที่เล่ากันหนาหูว่า มีผู้เสียสตินำเครื่องทองงดงามระยับไปร่ายรำท่ามกลางชุมชนใน ‘ตลาดเจ้าพรหม’ ตลาดใหญ่ในตัวเมืองอยุธยา กระทั่งถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว

 

Advertisement
ข่าวครึกโครมในหน้า 1 หนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทย พ.ศ.2499
การลักลอบขุดตั้งแต่ พ.ศ.2499 เป็นข่าวครึกโครมในหน้า 1 หนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทย เดือนตุลาคม พ.ศ.2500

 

เรื่องนี้ถูกนำมาสอดแทรกไว้ในเรื่องสั้น “ขุนเดช” ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ด้านประวัติศาสตร์ในเครือ “มติชน”

สุจิตต์เล่าว่า ตนได้ข้อมูลมาจาก “อามหา-จิรเดช ไวยโกสิทธิ์” หรือขุนเดชตัวจริงในเรื่องสั้นชุดดังกล่าวที่ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์หลายต่อหลายครั้ง

Advertisement

เหตุการณ์จริงต่อจากนั้น คือในเดือนกันยายน พ.ศ.2500 กรมศิลปากรได้พบเครื่องทองคำราชูปโภค พระพุทธรูป สถูปทองคำ และพระพิมพ์มากมายภายในพระปรางค์องค์ใหญ่ของวัดราชบูรณะ จากนั้นได้หาทางทำอุโมงค์และบันไดลงไปในกรุลึกลับ ต้องคลำทาง วางแผน บันทึกผังกรุ และโบราณวัตถุมหาศาลที่ได้พบอย่างไม่คาดฝัน กลายเป็นหนึ่งในอภิมหาตำนานแห่งการค้นพบมรดกอันประเมินค่าไม่ได้จากบรรพชน ยุคกรุงศรีอยุธยาที่น่าตื่นเต้นเป็นอย่างยิ่ง

เรื่องราวทั้งหมดรวมถึงรายละเอียดของการขุดกรุดังกล่าวในทุกขั้นตอน ถูกบันทึกไว้อย่างถี่ถ้วนและเต็มไปด้วยสีสัน ผ่านบทความของนักวิชาการด้านโบราณคดีที่รวมสรรพกำลังทางวิชาความรู้มาร่วม กันวิเคราะห์ตีความวัตถุล้ำค่ามากมาย โดยมีการพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2502 หรือเกือบ 60 ปีมาแล้ว ซึ่ง “มติชน” จะทยอยทำเสนอเป็นตอนๆ ดังเนื้อหาต่อไปนี้

รายงานการเปิดกรุในองค์พระปรางค์วัดราชบูรณะ (ต่อจากตอนที่แล้ว)

โดย นายกฤษณ์ อินทโกศัย รองอธิบดีกรมศิลปากร

ตอนเช้าวันที่ 29 กันยายน 2500 เวลา 9.00 น. ผมพร้อมด้วยผู้กำกับการตำรวจไปดำเนินการที่กรุต่อไปในวันนี้ทำงานจนถึง 16.00 น.เศษ เก็บของขึ้นมาจนหมด มีแหวน กำไลข้อมือเศษทองรูปพรรณต่างๆ พลอย และทับทิม เป็นจำนวนมาก และได้กวาดฝุ่นทรายก้นกรุทั้งหมดขึ้นมาใส่กระสอบเพื่อร่อนหาของด้วย เพราะมีเศษทองและพลอยต่างๆ คลุกเคล้าอยู่กับฝุ่นทรายเหล่านั้นอีกมาก ของที่นำขึ้นมาทั้งหมดเอาไปเก็บใส่กรงเหล็กไว้ที่สถานีตำรวจตามเดิม คืนวันนั้นได้วางกำลังเจ้าหน้าที่รักษากรุไว้ ผมเดินทางกลับกรุงเทพฯ เพราะเสื้อผ้าที่เตรียมไปใช้หมดแล้วไม่มีผลัดเปลี่ยน
วันที่ 30 กันยายน 2500 ผมมาที่กรมฯ เพื่อรายงานกิจการด้วยวาจาให้อธิบดีทราบและพักอยู่ในกรุงเทพฯ คืนหนึ่ง

วันที่ 1 ตุลาคม 2500 เวลา 7.00 น. เดินทางกลับไปอยุธยาสมทบกับผู้กำกับการตำรวจลงไปตรวจกรุอีกครั้งหนึ่ง เพราะสงสัยว่าจะมีกรุห้องที่ 3 ต่อลงไปข้างล่างอีก เนื่องจากมีช่องลมเย็นขึ้นมาจากเบื้องล่าง ผมให้เจ้าหน้าที่งัดหินพื้นห้องขึ้น ก็พบว่ามีอีกห้องหนึ่งจริงเป็นห้องที่ 3 กว้างประมาณ 1.40 เมตร สี่เหลี่ยม สูงประมาณ 1.20 เมตร ภายในห้องนั้นแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนในก่อปูนเป็นห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆ กว้างประมาณ 0.80 เมตร สี่เหลี่ยม บรรจุพระเจดีย์ทองคำ 1 เจดีย์ มีครอบเป็นรูปคล้ายครอบแก้วพระพุทธรูปที่มีขายในปัจจุบันครอบไว้ 4 ชั้น คือ ชั้นต้นเป็นเหล็กบุชิน ชั้นที่ 2 เป็นทองเหลือง ชั้นที่ 3 เป็นทองเหลือง ชั้นที่ 4 เป็นเงิน แล้วก็ถึงเจดีย์ทองคำเปิดได้ ภายในบรรจุพระพุทธรูปทองคำ พระเจดีย์แก้วผนึก พระพุทธรูปแก้วผลึก กับเครื่องทองกระจุกกระจิกอื่นๆ และมีแผ่นใบลานทองคำจารึกอักษรขอมม้วนกลมบรรจุอยู่ด้วย บริเวณรอบๆ เจดีย์ทองคำ มีพระพุทธรูปทองคำและเงิน รูปสัตว์ต่างๆ ทำด้วยทองคำและเงิน พิมพ์เป็นแผ่นบรรจุเรียงรายอยู่โดยรอบ

แถวบน พระเจดีย์ทองคำ พร้อมด้วยเจดีย์แก้วผลึกและพระพุทธรูปทองคำในกรุ 3 แถวกลาง ครอบพระเจดีย์ 4 ชั้น ทีเหล็กบุชิน ทองเหลือง และเงิน ในกรุ 3 เช่นกัน แถวล่าง โต๊ะสัมฤทธิ์ ที่ตั้งสิงของในกรุ 2
แถวบน พระเจดีย์ทองคำ พร้อมด้วยเจดีย์แก้วผลึกและพระพุทธรูปทองคำในกรุ 3 แถวกลาง ครอบพระเจดีย์ 4 ชั้น ทีเหล็กบุชิน ทองเหลือง และเงิน ในกรุ 3 เช่นกัน แถวล่าง โต๊ะสัมฤทธิ์ ที่ตั้งสิงของในกรุ 2

วันที่ 2 และวันที่ 3 ตุลาคม 2500 ตรวจเก็บของที่ส่วนนอกของห้องที่ 3 ซึ่งกว้างประมาณ 0.40 เมตร มีพระพุทธรูปสำริด พระพิมพ์ทำด้วยชิน  กระปุกเคลือบ เครื่องใช้ทำด้วย เงิน สำริด และทองเหลือง บรรจุอยู่โดยรอบได้จัดการขนของในกรุนี้ขึ้นเสร็จในวันที่ 3 ตุลาคม นำไปเก็บรักษาที่สถานีตำรวจพร้อมทั้งกวาดดินทรายก้นกรุขึ้นมาบรรจุกระสอบเอาไว้ร่อนหาของด้วย เย็นวันที่ 3 นั้นกลับพักผ่อนที่กรุงเทพฯ

วันที่ 4 ตุลาคม 2500 เวลา 7.00 น. กลับไปอยุธยา และพร้อมด้วยผู้กำกับการตำรวจไปตรวจกรุอีกว่าจะมีห้องต่อลงไปอีกหรือไม่ ได้ให้เจ้าหน้าที่เปิดห้องที่ 3 ขึ้น พบว่ามีแผ่นอิฐก่อรองรับเต็มทั้งพื้นห้องดิ่งลงไปข้างล่าง ได้รื้ออิฐลงไปประมาณ 1.00 เมตร ก็ยังไม่หมดอิฐก่อ ผมเห็นว่าควรยุติการตรวจค้นได้แล้ว จึงสั่งเลิกให้จัดการถมปราบภายใต้พื้นห้องที่ 3 ที่ขุดตรวจลงไป เสร็จเรียบร้อยเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2500 เป็นอันยุติการตรวจกรุเพียงเท่านี้ ในขั้นต่อไปจะได้จัดการถมกลบเกลี่ยพื้นห้องพระปรางค์ที่ผู้ร้ายขุดตามวิธีการต่อไป

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

ครอบพระเจดีย์ 4 ชั้น ปัจจุบันจัดแสดงในนิทรรสการพิเศษ เรื่อง 'เครื่องทองอยุธยา มรดกของโลก มรดกของแผ่นดิน' ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา
ครอบพระเจดีย์ 4 ชั้น ปัจจุบันจัดแสดงในนิทรรศการพิเศษ เรื่อง ‘เครื่องทองอยุธยา มรดกของโลก มรดกของแผ่นดิน’ ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา

 

พระพุทธรูปทองคำพบในกรุ 3 ตามรายงานของนายกฤษณ์ อินทโกศัย รองอธิบดีกรมศิลปากรในยุคนั้น ปัจจุบันจัดแสดงที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา
พระพุทธรูปทองคำพบในกรุ 3 ตามรายงานของนายกฤษณ์ อินทโกศัย รองอธิบดีกรมศิลปากรในยุคนั้น ปัจจุบันจัดแสดงที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา

 

ส่วนหนึ่งของพระพิมพ์ทองคำพบที่กรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ
ส่วนหนึ่งของพระพิมพ์ทองคำพบที่กรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ

 

พระปรางค์วัดราชบูรณะในปัจจุบันอยู่ระหว่างการปฏิสังขรณ์
พระปรางค์วัดราชบูรณะในปัจจุบันอยู่ระหว่างการปฏิสังขรณ์

 

ที่มาข้อมูล : หนังสือ จิตรกรรมและศิลปวัตถุ ในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และหนังสือ พระพุทธรูปและพระพิมพ์ ในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พิมพ์เผยแพร่ครั้งที่ 2 โดยกรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ.2558

ขอขอบคุณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image