The Dropout สำรวจความคิด ‘เอลิซาเบธ โฮล์มส์’ แห่ง ‘เธรานอส’ นักสู้ นักฝัน หรือนักดันทุรัง

ภาพจาก Youtube Video / Hulu

เล่าเรื่องหนัง by ติสตู : The Dropout สำรวจความคิด ‘เอลิซาเบธ โฮล์มส์’ แห่ง ‘เธรานอส’ นักสู้ นักฝัน หรือนักดันทุรัง

ด้วยการขายไอเดียเจาะเลือดปลายนิ้วไม่กี่หยดใส่เข้าไปในเครื่องตรวจขนาดกะทัดรัด ใช้เวลาไม่นานเจ้าเครื่องไซซ์ที่ใหญ่เท่ากับไมโครเวฟ ก็จะวิเคราะห์ผลเลือดและหาสาเหตุของการเกิดโรคภัยของเราได้ ซึ่งวิธีนี้มันจะสะดวกและรวดเร็วแค่ไหนโดยที่ทุกคนไม่ต้องไปเจาะเลือดถึงโรงพยาบาล นี่คือแนวคิดที่บริษัทสตาร์ตอัพด้านเทคโนโลยีชีวภาพอย่าง “เธรานอส“ (Theranos) มั่นอกมั่นใจว่ากำลังจะปฏิวัติวงการแพทย์และสาธารณสุขระดับพลิกโลก

แต่สุดท้ายวันนี้ทั้งโลกก็ล่วงรู้ว่า “เธรานอส” บริษัทสตาร์ตอัพที่เคยถูกประเมินมูลค่าไว้สูงถึง 9,000 ล้านเหรียญสหรัฐ กลายเป็นสตาร์ตอัพลวงโลกจนเป็นกรณีศึกษาหม้อใหญ่ของวงการสตาร์ตอัพว่า แม้ความฝันจะเป็นของฟรี ทุกคนมีสิทธิที่จะฝันใหญ่ ฝันไกล และไปให้ถึง แต่บางครั้งก็มีขอบเขตความเป็นจริงที่ต้องไม่ดันทุรัง ทะเยอทะยานจนหลอกตัวเองและลามไปหลอกคนอื่น

เรื่องราวของบริษัทเธรานอส และผู้ก่อตั้งอย่าง “เอลิซาเบธ โฮล์มส์” อยู่ในความสนใจมาโดยตลอด ความอื้อฉาวของเรื่องจริงในวงการเทคโนโลยีสตาร์ตอัพถูกถ่ายทอดออกมาทั้งจากข่าว สารคดี หนังสือ และล่าสุดในซีรีส์เรื่อง “The Droupout” ที่พยายามจะเล่าเรื่องราวที่มีมิติลึกขึ้นกว่าที่เราเห็น โดยพาเราไปรู้จัก “เอลิซาเบธ ฮล์มส์” ตั้งแต่ยังเป็นเด็กมัธยมจนถึงเข้ามหาวิทยาลัย พื้นฐานครอบครัว แนวคิด การใช้ชีวิต เพื่อให้เข้าใจตัวตนของเอลิซาเบธมากขึ้น

“The Dropout” ใช้วิธีเล่าเรื่องสลับไปมาระหว่าง “เอลิซาเบธ โฮล์มส์” ที่อยู่ในช่วงสอบปากคำจากการถูกดำเนินคดีสลับไปกับเรื่องราวของเธอตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนกระทั่งเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดและมุ่งมั่นจะคิดค้นนวัตกรรมบางอย่างออกมาให้ได้จนนำมาสู่ไอเดีย “เครื่องตรวจเลือดสุดอัจฉริยะ” ที่เพียงแค่เจาะเลือดปลายนิ้วออกไปนิดเดียวแล้วนำเข้าไปตรวจในเครื่องที่เธอคิดค้น ก็จะสามารถตรวจจับโรคร้ายอย่างมะเร็ง หรือเบาหวานได้อย่างรวดเร็ว ลดภาระการไปโรงพยาบาล และทุกคนสามารถใช้บริการตรวจเจาะเลือดผ่านเจ้าอุปกรณ์นี้ที่ไหนก็ได้

Advertisement

ไอเดียที่ว่าถูกโยนทิ้งจากอาจารย์ที่เธอไปเสนอแนวคิด พร้อมคำอธิบายของอาจารย์ถึงความยากที่ผลเลือดจะเที่ยงตรงในเครื่องขนาดพกพาแค่นั้น ตลอดจนความเป็นไปไม่ได้ต่างๆ นานา เหตุผลทางการแพทย์และการวินิจฉัยโรค ถึงตรงนั้นเองที่เราเริ่มเห็นแล้วว่า ความพยายามจะเป็นนักสู้แบบดันทุรังของ “เอลิซาเบธ โฮล์มส์” นั้นมีเต็มเปี่ยม แบบที่น่ากลัวว่ามันไม่ยึดโยงกับชุดความรู้ที่เป็นไปได้ แต่ความพยายามก็พาเธอไปถึงจุดที่ได้รับเงินทุนและตั้งบริษัทสตาร์ตอัพ
เธรานอสขึ้นมาได้ พร้อมให้กำเนิดภาพลักษณ์ของนักธุรกิจหญิงดาวรุ่งที่เดินสายพูดสร้างแรงบันดาลใจจนเรียกความเชื่อมั่นให้ผู้คนมากมาย นิตยสารฟอร์บส์ยกย่องว่าเธอเป็นเศรษฐินีที่อายุน้อยที่สุดในโลก และถึงขนาดติด 1 ใน 100 บุคคลทรงอิทธิพลของนิตยสาร ไทม์มาแล้ว แต่ที่สุดมันก็เป็นความฝันที่ไม่สามารถสร้างเทคโนโลยีนี้ได้จริง จนเลยเถิดบานปลายเป็นคดีความและส่งผลให้เธรานอสต้องปิดตัวลงในปี 2561

ซีรีส์พยายามสำรวจและลงลึกให้เห็นความคิดและแรงจูงใจของ “เอลิซาเบธ โฮล์มส์” ในการคิดค้นนวัตกรรมนี้ โดยใช้ข้อมูลผ่านการสัมภาษณ์ของเธอตามสื่อต่างๆ บันทึกคำให้การของอดีตแฟนของเธอที่มีส่วนร่วมในเธรานอส ซึ่งถูกเผยแพร่ระหว่างการพิจารณาคดี และบันทึกสอบปากคำของเอลิซาเบธอีกหลายชั่วโมง จนออกมาเป็นบทซีรีส์ที่ศึกษาจากเอกสารจำนวนมาก ถือเป็นความพยายามที่จะวิเคราะห์ตัวตนจริงๆ ของอดีตนักธุรกิจสตาร์ตอัพดาวรุ่งที่เลือกลาออกจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดตอนอายุ 19 ปี เพื่อมาเริ่มต้นตั้งบริษัทและสร้างฝันเป็นนักธุรกิจนวัตกรรมให้ได้โดยมีต้นแบบแรงบันดาลใจจาก “สตีฟ จ็อบส์” และเธอยังเชื่อแบบที่ปลุกใจตัวเองว่าสักวันจะต้องสร้างสิ่งประดิษฐ์สำคัญสักอย่างขึ้นมาบนโลกให้ได้ และได้รับสถานะนักคิดค้น นักนวัตกรรม และผู้ประกอบการที่ยิ่งใหญ่

สิ่งที่เราเห็นช่วงแรกของซีรีส์คือ เอลิซาเบธ โฮล์มส์ เหมือนจะเป็น “นักสู้” ที่ไม่ยอมแพ้จนเธอเสนอไอเดียเครื่องตรวจเลือดระดับที่ดึงดูดนักลงทุนได้สำเร็จ แต่สุดท้ายมันก็คือการโกหกซ้ำแล้วซ้ำเล่า เมื่อการวิจัยต่อยอดล้มเหลวหลายต่อหลายครั้ง และเธอเลือกจะไม่หยุด แต่ยังคงเดินหน้าแบบถลำลึก

Advertisement

“The Dropout” เล่าเรื่องในช่วงต้นแบบไม่ได้ชี้ผิดไปที่ “เอลิซาเบธ โฮล์มส์” ในทันทีทันใด เรื่องราวจึงออกมาในท่วงทำนองที่พยายามทำความเข้าใจในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง และแม้กระทั่งการพยายามใส่ความเห็นอกเห็นใจไปบ้าง แต่อย่างไรเสียทั้งหมดก็สะท้อนให้เห็นถึงความทะเยอทะยานที่ตามมาด้วยความพังทลาย

แม้จะเป็นเรื่องยากเอาการกับการค้นหาว่าเกิดอะไรขึ้น และเอลิซาเบธกำลังคิดอะไรในห้วงนั้น ด้านหนึ่งซีรีส์ก็พยายามชี้ให้เห็นถึงช่วงเวลาบูมของสตาร์ตอัพที่มาจากคนหนุ่มสาวที่เวลานั้นเงินลงทุนต่างหลั่งไหลเข้าไปหานักนวัตกรรมกลุ่มนี้ ซึ่งแน่นอนว่าเอลิซาเบธ คือตัวแทนภาพลักษณ์ของคนรุ่นใหม่ที่พยายามอย่างบ้าคลั่งที่จะประสบความสำเร็จให้ได้ทุกวิถีทาง

ซีรีส์สอดแทรกให้เห็นประเด็นหลุมพรางของวัฒนธรรมแบบซิลิคอน วัลเลย์ ของเหล่า สตาร์ตอัพทั้งหลาย ที่มีทางเดินมาคล้ายๆ กันกับเอลิซาเบธ โฮล์มส์ นั่นก็คือ ตั้งต้นจากการมีแพชชั่น มีความฝันและไอเดียโซลูชั่นที่จะแก้ปัญหาต่างๆ พัฒนาไอเดียก่อเกิดเป็นนวัตกรรม นำแนวคิดเสนอนักลงทุนร่วมทุน พัฒนาต่อยอดโปรเจ็กต์เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์นั้นออกมา

แต่ใช่ว่าทุกคนจะสร้างอะไรออกมาใช้ได้จริงๆ จังๆ แม้จะมีอยู่ที่สตาร์ตอัพจำนวนหนึ่งทำได้จริง หรืออย่างน้อยก็มีความคืบหน้าที่น่าปรบมือให้ แต่ก็มีอีกจำนวนมากมายที่ล้มเหลว เช่นเดียวกับ
สตาร์ตอัพอย่างเธรานอสที่พังทลายลงบนเงินเดิมพันที่สูงมากนั่นเอง สำหรับใครที่สนใจชมซีรีส์เรื่องนี้ สามารถหาชมได้ทางสตรีมมิ่งจาก Disney+

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image