เส้นทาง 6 ปี ซีรีส์การเมืองดัง House of Cards ผู้ปั้นให้ “เน็ตฟลิกซ์” แจ้งเกิดระดับโลก? คอลัมน์ เล่าเรื่องหนัง

ปิดฉาก 6 ปี สำหรับซีรีส์เรื่องดัง House of Cards หลังจาก “เน็ตฟลิกซ์” ตัดสินใจให้ซีซั่นที่ 6 เป็นซีซั่นสุดท้ายของละครการเมืองสุดดังเรื่องนี้ โดยซีซั่น 6 เพิ่งออกฉายผ่านระบบสตรีมมิ่งของเน็ตฟลิกซ์ไปเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

ย้อนไปเมื่อปี 2556 ซีรีส์ “House of Cards” ออกฉายแบบสตรีมมิ่งทางอินเตอร์เน็ตผ่านผู้ให้บริการ “เน็ตฟลิกซ์” ครั้งแรก สร้างความฮือฮาและถูกพูดถึงอย่างมาก ด้วยเนื้อหาที่เข้มข้น สนุก น่าติดตาม ทั้งยังมากับโมเดล 6 ปีก่อน ที่ใหม่เอามากๆ คือการผลิตซีรีส์ความยาว 13 ตอน ปล่อยออนแอร์รูปแบบสตรีมมิ่งให้ดูจบได้ในรวดเดียว โดยไม่ต้องรอชมสัปดาห์ละตอนเหมือนรูปแบบรายการโทรทัศน์ที่เราคุ้นเคยมานานหลายทศวรรษ

ทั้งเนื้อหาเรื่อง และโมเดลใหม่ของการนำเสนอ ทำให้ “House of Cards” กลายเป็น “กระแสปากต่อปาก”

ดังขนาดที่สมัย บารัค โอบามา เป็นประธานาธิบดีสหรัฐ และเปิดบัญชีทวิตเตอร์ครั้งแรก ประโยคแรกที่เขาทวีต คือการพูดถึง ซีรีส์เรื่องนี้

Advertisement

นอกจากนี้ ซีรีส์เรื่องนี้ ยังถูกใช้เป็น “กรณีตัวอย่าง” แรกๆ ของการที่ “ธุรกิจบันเทิง” ใช้ “บิ๊กดาต้า” เข้ามาจับพฤติกรรมคนดูจนพัฒนาเนื้อหาที่ถูกใจดึงเรตติ้ง สร้างทั้งแบรนด์ มาทั้งรายได้ให้ “เน็ตฟลิกซ์”

ก่อนจะกล่าวถึงแง่มุมธุรกิจ และจุดเริ่มต้นที่น่าสนใจของซีรีส์ ขอเล่าถึงเนื้อหาของซีรีส์ House of Cards กันก่อน

ซีรีส์ที่ผู้ชื่นชอบเนื้อหาแนวการเมืองเข้มข้น หรือแนวดราม่าควรได้มีโอกาสดูสักครั้ง เรื่องราวชิงไหวชิงพริบแบบจริงจัง และโหดแบบไม่ต้องเห็นเลือดสาด ใช้เพียงสมอง ไหวพริบ วาจา วาทกรรม สื่อสารมวลชน การล็อบบี้ อำนาจ ลูกล่อลูกชนในแง่กฎหมายและระบบนิติรัฐ

Advertisement

House of Cards กวาดรางวัลเวทีดังๆ และเสียงวิจารณ์ทางบวกมาล้นหลาม ไม่ใช่แค่เป็นซีรีส์ที่คว้ารางวัลเกรดเอมาแล้วเท่านั้น แต่ความสนุกและเรื่องราวสุดเชือดเฉือนยังเป็นตัวรับประกันความสำเร็จนี้

ในซีซั่นแรกได้ เดวิด ฟินเชอร์ ผู้กำกับภาพยนตร์ที่มีผลงานหนังรับประกัน อาทิ Se7en, Fight Club, The Curious Case of Benjamin Button มาร่วมเป็นเอ็กซ์เซกคิวทีฟ โปรดิวเซอร์ให้ซีรีส์

ภาคการแสดงได้ เควิน สเปซีย์ ผู้ถนัดกับบทตัวละคร “คนเทาๆ” ที่มักส่งพลังการแสดงให้คนดูรู้สึกไม่เคยไว้วางใจตัวละครนั้นๆได้เลย มารับบทนำในเรื่องนี้ พ่วงด้วยดาราคุณภาพอีกหนึ่งคณะ

ตัวละครเอก “ฟรานซิส อันเดอร์วู้ด” ที่รับบทโดย “เควิน สเปซีย์” เป็นมนุษย์การเมืองเต็มขั้น ลูกล่อลูกชนมีเพียบ แผนการในหัว 5 ชั้นขึ้นไป รู้จักใช้คน และอ่านสถานการณ์ทางการเมืองได้แหลมคม

แม้จะมีหลายเสียงวิจารณ์ว่า House of Cards นั้นสุดจะมองโลกในแง่ร้ายกับวงการการเมืองและนักการเมืองเสียเหลือเกิน แต่หากดูแบบเข้าใจความเป็นไปทางการเมือง เข้าใจว่าการเมืองคือ “การต่อรอง” ให้แต่ละฝ่ายได้ประโยชน์มากที่สุด เสียประโยชน์น้อยสุด จะพบว่า House of Cards พูดเรื่องของ “นักการเมือง” ในประเทศโลกเสรีอย่างสหรัฐอเมริกาได้เข้มข้น แต่ละซีซั่นเรื่องราวจะเขยิบเดินหน้าไปในทิศทางที่ “แหลมคม” อันตราย และเล่นแรงกันขึ้นเรื่อยๆจนถึงบทสรุปในซีซั่นสุดท้าย

จากเรื่องราวของเนื้อหา ยังเห็นอีกมุมของความสำเร็จตลอด 6 ปี ของการฉายซีรีส์เรื่องนี้ ในแง่ “ธุรกิจบันเทิง” เพราะ House of Cards มีโมเดลทางการตลาดที่น่าสนใจตรงที่ ซีรีส์เรื่องนี้ดั้งเดิมเป็นเวอร์ชั่นของมินิซีรีส์ที่ออกฉายในอังกฤษในยุค 90 ซึ่ง “เน็ตฟลิกซ์” ใช้ข้อมูล “บิ๊กดาต้า” ที่มีในเวลานั้นแกะรอยคนดูและวิเคราะห์ข้อมูลออกมาจนระบุได้ว่าแฟนๆ ของ House of Cards เวอร์ชั่นอังกฤษ ส่วนมากสนใจดูภาพยนตร์ที่ “เควิน สเปซีย์” แสดง และสนใจงานหนังของผู้กำกับ “เดวิด ฟินเชอร์”

การวิเคราะห์ที่ลงลึกแม่นยำในข้อมูลเพื่อถอดรหัส นำมาสู่การสร้างซีรีส์เพื่อตอบโจทย์คนดูให้มากที่สุด ทำให้เน็ตฟลิกซ์กล้าทุ่มงบประมาณสร้างซีรีส์ House of Cards เวอร์ชั่นสหรัฐอเมริกาออกมานั่นเอง และนั่นจึงเป็น “คำตอบทางธุรกิจ” ว่าทำไมซีรีส์เรื่องนี้จึง “ฮิต” และ “ประสบความสำเร็จ” ล้นหลาม

และยังเป็นคำตอบกลายๆ ว่า เมื่อผู้สร้างตัดสินใจถอด “เควิน สเปซีย์” นักแสดงนำหลักออกจากซีรีส์ในซีซั่น 6 จากเรื่องอื้อฉาวล่วงละเมิดทางเพศ ทำให้ “เน็ตฟลิกซ์” พร้อมตัดจบซีซั่นสุดท้ายแบบหักอกแฟนคลับ เพราะเมื่อไม่มี “สเปซีย์” ก็ถือว่าไม่ใช่ House of Cards อีกต่อไป

หากย้อนดูผลประกอบการไตรมาส 4 ปี 2555 ก่อนที่ “House of Cards” จะออกฉาย เน็ตฟลิกซ์มีสมาชิกราว 33 ล้านราย มูลค่าบริษัท อยู่ที่ 5.7 พันล้านดอลลาร์ ปัจจุบัน เน็ตฟลิกซ์ มีสมาชิกเพิ่มเป็น 109 ล้านราย มีมูลค่าบริษัทสูงถึง 85,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

อานิสงส์แรกจาก House of Cards ทำให้แบรนด์เน็ตฟลิกซ์ดังขึ้น เพราะตัวซีรีส์ที่มีคุณภาพกวาดรางวัล และกระแสคนดูที่ชื่นชอบ

“เน็ตฟลิกซ์” ในฐานะบริษัทบันเทิงที่มาจากสาย เทก-สตาร์ตอัพ ใช้ “บิ๊กดาต้า” วิเคราะห์แกะรอยพฤติกรรมคนดูซีรีส์ ตั้งแต่เมื่อเราดูจบ ไปจนถึงเราหยุดดูชั่วคราว หรือฉากไหนที่มีการกดวนดูซ้ำ ทั้งหมดนี้คือข้อมูลที่จะสร้างงานบันเทิงเชิงพาณิชย์เพื่อตรึงให้คนดูอยู่กับจอ

แม้กระทั่งรูปแบบการฉายในระบบสตรีมมิ่งที่ไม่มีโฆษณา และเปิดให้คนดูแบบรวดเดียว 13 ตอน แต่แบรนด์สินค้าต่างให้ความสนใจเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในข้อตกลงโฆษณากับซีรีส์เรื่องนี้ ตั้งแต่สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ วิดีโอเกม แบรนด์เสื้อผ้า รองเท้า

การโฆษณาไทอินในรายการโทรทัศน์ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่การใช้กลยุทธ์ด้านการตลาดของ House of Cards ในช่วงหลายปีที่ออกฉาย ถูกยกเป็นกรณีศึกษาของการผลิตงานบันเทิงพาณิชย์ เพราะทำให้แบรนด์สินค้าได้เห็นตัวเลขที่เข้าถึงผู้ชมได้มากกว่าโฆษณาตามโทรทัศน์ดั้งเดิม แสดงให้เห็นว่าผู้คนใช้เวลาบนหน้าจอต่อเนื่องอย่างไร

อย่างไรก็ดี นอกจากบิ๊กดาต้า ที่เป็นข้อมูลระดับเปลี่ยนแปลงธุรกิจของตัวเองได้ ที่สำคัญคือการสร้างสรรค์เนื้อหา “ซีรีส์” ที่ถูกใจคนดูออกมาได้ด้วย

ที่มาของซีรีส์เรื่องนี้จึงถูกออกแบบอย่างมีระบบจนประสบความสำเร็จทั้งเงิน ทั้งกล่อง ซีรีส์เป็นที่ชื่นชอบ และแบรนด์ผู้สร้างอย่างเน็ตฟลิกซ์ได้แจ้งเกิดในระดับโลก

ฉะนั้นความสำเร็จของ “เน็ตฟลิกซ์” และ “House of Cards” จึงถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของโมเดล “โลกบันเทิง” ยุคใหม่นั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image