The Birth of Sake 6 เดือนในความ “เหน็บหนาว” ผ่านจิตวิญญาณของ “นักทำสาเก” คอลัมน์ เล่าเรื่องหนัง

การทำ “สาเก” ก็เหมือนการเลี้ยงเด็กคนหนึ่ง ต้องเลี้ยงดูเอาใจใส่เขาให้ดี เมื่อเติบใหญ่ขึ้นมาจึงได้ชื่อว่าเป็นสาเก นี่คือนิยามแรกที่เปรียบเทียบให้เห็นภาพอย่างคมคายถึงกระบวนการทำ “สาเก” เครื่องดื่มเก่าแก่ของญี่ปุ่น ที่ต้องใส่ใจและให้รายละเอียดมากมาย โดยเฉพาะหากนั่นคือการผลิตสาเกด้วยวิธีดั้งเดิมที่แสนยุ่งยาก ไม่ได้เข้าสู่กระบวนการใช้เครื่องจักรครบวงจรเฉกเช่นโรงงานอื่นอย่างที่ยุคสมัยควรจะเป็น

ภาพยนตร์สารคดี The Birth of Sake (ปี 2015) พาเราเข้าสู่โลกของโรงผลิตสาเก “เทโดริกาว่า” หนึ่งในโรงงานเก่าแก่ที่ยังใช้แรงงานคนเป็นหลักในการทำสาเก และเหลือเพียงน้อยนิดในญี่ปุ่น

งานภาพใน The Birth of Sake นั้น ตีตราความสวยงามในทุกฉาก หนังใช้จังหวะช้าเนิบนิ่งที่ไม่ได้ทำให้คนดูเบื่อหน่าย แต่สะกดจิตให้เรามองเห็นเบื้องลึกเบื้องหลังของโรงทำสาเกอย่างช้าๆ

นี่คือผลงานสร้างสารคดีของ “อีริค ชิราอิ” นักสร้างหนังชาวนิวยอร์ก ซึ่งมีประสบการณ์ทำงานสารคดีให้กับทั้ง เนชั่นแนล จีโอกราฟิก, และสถานีพีบีเอส รวมทั้งผลงานซีรีส์ด้านอาหารของเชฟคนดังผู้ล่วงลับ “No Reservations” ของ “แอนโทนี่ บอร์เด้น”

Advertisement

“The Birth of Sake” พาไปสัมผัสกระบวนการตลอด 6 เดือน ของการผลิตสาเกที่ดำเนินไปพร้อมกับความเย็นยะเยือกในฤดูหนาว ซึ่งจะมีระยะเวลาทำสาเกแบบฤดูกาล คือ ตั้งแต่เดือนตุลาคมจนถึงกลางเดือนเมษายน และใช้เวลาทำทั้งช่วงกลางวันและกลางคืน

เมื่อฤดูร้อนของแต่ละปีใกล้สิ้นสุดลง คือสัญญาณว่า กลุ่มคนงานโรงงานทำสาเก เตรียมอำลาครอบครัว เพื่อนฝูง ลาจากบ้านเกิดมุ่งหน้าขึ้นเหนือ มาเจอกันที่ “เทโดริกาว่า” เพื่อเข้าสู่ฤดูกาลทำสาเกที่จะดำเนินต่อไปจากนี้อีกครึ่งปี ที่ซึ่งพวกเขาต้องตื่นตีสี่ครึ่งทุกวัน และทำงานต่อหลังกินมื้อเย็นไปจนถึงดึก ทำให้คนงานทำสาเกต้องใช้ชีวิตร่วมกันที่โรงงานตลอดเวลา 6 เดือน

หนังสารคดีพาไปดูชีวิตประจำวันของกลุ่มคนงาน เดินเรื่องผ่านแก่นแกนสำคัญอย่าง “เทรุยูกิ ยามาโมโต” หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญการบ่มสาเก วัย 68 ปี ที่มีตำแหน่งเรียกว่า “โทจิ” ตำแหน่งที่มาพร้อมความรับผิดชอบและประสบการณ์ เพราะสาเกจะออกมาดีแค่ไหน “โทจิ” คือศูนย์กลางสำคัญที่จะต้องทำหน้าที่ขับเคลื่อนนำพาแรงงานค่อยๆ ลงมือทำไปแต่ละขั้นตอนอย่างประณีต ตั้งแต่หุงข้าวจำนวนมาก ไปจนถึงการถูกลิ้งข้าวให้แห้ง เข้าสู่กระบวนการหมัก เดินทางสู่การกลั่น และบรรจุขวด ซึ่งแต่ละขั้นตอนมีรายละเอียดที่ต้องใส่ใจอย่างมาก โดยเฉพาะ ความยากของการควบคุมอุณหภูมิ

Advertisement

ทั้งหมดดำเนินไปผ่านการใช้ความเฉียบคมทางสัญชาตญาณของ “โทจิ” ที่บ่มเพาะประสบการณ์อยู่ในวงการนี้มากว่า 53 ปี คอยควบคุมและลงแรงร่วมกับคนงานเพื่อผลิตสาเกแต่ละฤดูกาลให้ออกมาดีที่สุด

“ค่อยๆ สั่งสมประสบการณ์ขัดเกลาสัญชาตญาณให้แหลมคมขึ้นเรื่อยๆ แล้วจะทำสาเกได้ดีขึ้นแน่นอน” โทจิ กล่าวแนะนำทายาทรุ่นที่ 6 ของโรงผลิตสาเกที่กำลังเรียนรู้กระบวนการขั้นตอนอย่างละเอียดเพื่อปูทางสู่การขับเคลื่อนธุรกิจของครอบครัวที่ดำเนินมากว่า 140 ปีต่อไป

หนังสารคดีฉายภาพให้เห็นขั้นตอนที่เป็นวิธียุ่งยากแบบดั้งเดิมของการทำสาเก แต่เต็มไปด้วยจิตวิญญาณน้ำพักน้ำแรง ความมุ่งมั่น และที่สำคัญคือ “ความสามัคคี” ของแรงงานทั้งหมดที่ “โทจิ” ย้ำเสมอว่า “สาเกที่ดีจะต้องมาจากความสามัคคี” และไม่ว่าจะกี่ปีกี่ฤดูกาล “โทจิ” ยังคงรักษามาตรฐานเหล่านี้ไว้ได้อย่างเต็มกำลัง

บนความคร่ำเคร่งเข้มงวดในการทำงานของ “โทจิ” กลับมีความประนีประนอมเป็นระยะ เราได้เห็นช่วงการทำงานที่เงียบกริบ ใช้สมาธิ จดจ่อของทีม และช่วงสนุกสนานสลับกันไปมา ชนิดที่ลุกมาร้องรำทำเพลงระหว่างทำงานในช่วงกะดึกเพื่อผ่อนคลายและไม่ตึงเครียดกันเกินไป

ในอีกทางหนึ่งที่น่าชื่นชมคือชั้นเชิงการเล่าเรื่องของสารคดีเรื่องนี้ มีความผูกโยงไปยังชีวิตในชนบทของคนงานแต่ละคนในโรงงานทำสาเก

คนดูจะได้สัมผัสล่วงรู้ความเป็นมาของคนงานในบางแง่มุม ไล่ตั้งแต่ “โทจิ” และลูกชาย “ฮิเดกิ” ที่มาทำงานที่เดียวกัน

ความคิดคำนึงจากส่วนลึกของผู้เป็นลูกชายที่เป็นคนเงียบๆ เฝ้ามองความมุ่งมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ของพ่ออย่างเสมอต้นเสมอปลายตลอดเวลากว่า 50 ปี ไม่ได้ออกมาในทาง “ภูมิใจ” แต่ลึกๆ แล้วเขามองความหลงใหลในการทำสาเกและทุ่มเทให้กับสาเกอย่างหนักของพ่อ ได้สร้าง “ช่องว่าง” ความสัมพันธ์อันเหินห่างระหว่างเขากับพ่อมาตั้งแต่ครั้งยังเด็ก เมื่อพ่อต้องออกไปทำงานในช่วงฤดูกาลทำสาเกยาวนานถึง 6 เดือน

ในทุกปี และปัจจุบัน “ฮิเดกิ” ที่อยู่ในโรงงานสาเกแห่งนี้ก็ไม่อยากเดินซ้ำรอยพ่อของเขาที่ต้องจากครอบครัวนานถึงปีละ 6 เดือนเช่นกัน

ในขณะที่ “ยาสุยุกิ โยชิดะ” หรือ “ยาจัง” ทายาทเจ้าของโรงทำสาเก วัย 28 ปี ที่เข้าร่วมเป็นคนงานฝึกหัดทำสาเก เลือกจะมอง “โทจิ” อย่างนับถือและเป็นแรงบันดาลใจคนสำคัญของเขามากกว่าพ่อแท้ๆ เพื่อสืบสานธุรกิจของตระกูลต่อไป ท่ามกลางความรู้สึกกดดันอย่างหนักหน่วงที่จะพาธุรกิจสาเกคราฟท์ของครอบครัวไปต่อให้ได้ในยุคที่ผู้คนหันไปนิยมเบียร์ ไวน์ วิสกี้ หรือแม้กระทั่งโซจูแทน

ขณะที่ “จีจัง” คนงานวัย 68 ปี ที่ต้องใช้ชีวิตลำพังเพียงคนเดียวในชนบทหลังภรรยาเสียชีวิตลง แต่ละวัน เขาเฝ้ารอให้ฤดูร้อนจบสิ้นลงเพื่อจะได้กลับสู่โรงงานทำสาเกพบเจอเพื่อนคนงาน ได้ใช้ชีวิต และมีกิจกรรมการทำงานด้วยกันตลอดระยะเวลา 6 เดือนในฤดูหนาว

และเมื่อเวลามาถึง กระบวนการทำสาเกเสร็จสิ้นลง ฤดูหนาวหน้าที่จะมาถึงอีกครั้ง คนงานบางคนอาจมีจุดหมายใหม่ บางคนเฝ้ารอการได้กลับมา บางคนเลือกที่จะอุทิศชีวิตให้กับมันตลอดกาล

หากมองเหนือจากเรื่องราวการทำ “สาเก” ออกไป “The Birth of Sake” คือสารคดีที่จะทำให้เราได้กลับมามองและทบทวนตัวเองอีกครั้ง ว่าเราได้ “ทำหน้าที่การงาน” ในแง่มุมใด ไม่ว่าจะทำเพราะหารายได้ ทำเพราะหน้าที่ ทำเพราะความรับผิดชอบ ทำเพราะหลงใหล ทำเพราะสนุก ทำเพราะแก้เหงา ทำเพราะมีชื่อเสียง ทำเพราะได้มุมมองใหม่ ทำเพราะได้ประสบการณ์ ทำเพราะให้เรารู้สึกมีความหมาย

แล้วคุณล่ะ…ทำงานเพราะอะไร?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image