คอลัมน์ เล่าเรื่องหนัง : Period. End of Sentence. เรื่อง ‘ผ้าอนามัย’ ที่หนักหนาทั่วแผ่นดิน

สารคดีเรื่อง “Period. End of Sentence.” จากอินเดีย ได้เข้าชิงรางวัล “ออสการ์” สาขา “ภาพยนตร์สารคดีสั้นยอดเยี่ยม” ในปีนี้

นี่คือเรื่องราวที่เล่าอย่างเรียบง่าย แต่เต็มไปด้วยแรงบันดาลใจของหญิงอินเดียกลุ่มหนึ่งในพื้นที่ชนบท ซึ่งพวกเธอประสบปัญหาแบบที่คนเมือง หรือคนชั้นกลางจะไม่รู้สึกสัมผัสได้เลย

นั่นคือ พวกเธอเผชิญปัญหาจากการมี “ประจำเดือน” และเมื่อพูดถึงประจำเดือนของสตรีก็ต้องตามมาด้วยอุปกรณ์อย่าง “ผ้าอนามัย” ซึ่งสารคดีเรื่องนี้เล่าถึงเรื่องราวที่ผู้หญิงอินเดียจำนวนมาก ต้องเผชิญปัญหาขาดแคลนผ้าอนามัย ลำบากชนิดเปลี่ยนชีวิตเลยทีเดียว

นี่ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ แต่เป็นปัญหาระดับ “วาระแห่งชาติ” หนักหนาทั่วแผ่นดินอินเดีย เพราะหากพวกเธอได้มีโอกาสเข้าถึงและได้ใช้ผ้าอนามัย ชีวิตหลายคนย่อมเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นแน่นอน

Advertisement

สถิติบอกว่าเด็กหญิงอินเดียในถิ่นทุรกันดารยากจนจำนวนไม่น้อยต้องออกจากโรงเรียน เพียงเพราะพวกเธอประสบปัญหาจากการมีประจำเดือน ยังไม่นับรวมคุณภาพชีวิตของเหล่าสตรีอินเดียที่ยากจนและอยู่ห่างไกลความเจริญที่ต้องใช้เศษผ้า กระดาษหนังสือพิมพ์แทนผ้าอนามัย

“Period. End of Sentence.” คือสารคดีสั้นที่ถ่ายทอดเรื่องที่อาจจะพูดหรือเล่าได้ยากนักในสังคมอินเดีย เรื่อง “ประจำเดือน” ซึ่งในสังคมอินเดีย เกือบจะเหมือน “เรื่องต้องห้าม”

ลูกสาวไม่พูดกับแม่ ภรรยาไม่พูดกับสามี ถึงสภาพทางธรรมชาติของเพศหญิงนี้

Advertisement

“Period. End of Sentence.” นำเสนอให้เห็นชีวิตของหญิงยากจนในชนบท ที่พวกเธอเขินอายที่จะพูดเรื่องประจำเดือน

เมื่อถามหญิงอินเดียว่า ประจำเดือนเกิดจากอะไร?

บางคนก็ไม่รู้ คิดว่าเป็นประสงค์ของพระเจ้า บางคนรู้แต่เพียงมีข้อห้ามว่าถ้ามีประจำเดือนห้ามเข้าไปไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือหากไปถามเด็กสาว แต่ละคนก็เขินอายที่จะพูดเรื่องนี้ในทางสุขอนามัย

หากไปถามผู้ชายในหมู่บ้านหลายคนตอบไม่ได้ บ้างก็รู้แค่ว่า การมีประจำเดือนคือ “ไข้” ชนิดหนึ่ง!?

เมื่อเรื่องประจำเดือน ถูกพูดถึงได้ยากในสังคม แน่นอนย่อมส่งผลว่า หากพวกเธอต้องการเข้าถึงการมีผ้าอนามัยไว้ใช้งาน แต่ขาดแคลน

“มันจึงยิ่งยากเย็นที่จะออกมาพูดหรือเรียกร้อง”

ในสารคดีฉายภาพให้เห็น “วิถีชีวิตผู้หญิงอินเดียในชนบท” และกลุ่มที่ยากจนจำนวนมาก ไม่มีสิทธิได้ใช้ผ้าอนามัย ทั้งสาเหตุจาก “ราคา” และความเป็นไปในสังคมบางอย่างที่ไม่กล้าแม้แต่จะไปซื้อใช้

เป็นปัญหาหนักหนาทั่วแผ่นดินอินเดียอย่างปฏิเสธไม่ได้ที่ว่า ผู้หญิงประเทศนี้มีโอกาสได้ใช้ผ้าอนามัยเพียงแค่ 10% จากทั้งประเทศ!!

แม้บางรายงานระบุว่าราวๆ 18%

ไม่ว่าอย่างไรตัวเลขดังกล่าวก็นับว่า “น้อยนิดมหาศาล”

ผนวกกับที่ก่อนหน้านี้ รัฐบาลอินเดีย “เก็บภาษีผ้าอนามัย” สูงถึง 12% เพราะกำหนดให้อยู่ในกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยจนถูกประท้วงต่อเนื่อง ถึงขนาดที่มีการเลือกตั้งท้องถิ่นในอินเดียปีก่อน ผู้สมัครรับเลือกตั้งฉวยโอกาสใช้แคมเปญหาเสียง จะทำให้ราคาผ้าอนามัยลดราคาขายเหลือชิ้นละ 1 รูปี รวมทั้งจะไปแจกผ้าอนามัยฟรีให้วิทยาลัยของรัฐในท้องถิ่นนั้นด้วย ผลคือ ชาวบ้านโดนหลอก จนเป็นข่าวไปทั่ว

แม้ปีที่ผ่านมารัฐบาลอินเดียจะยกเลิกการเก็บภาษีผ้าอนามัยแล้ว แต่ปัญหาการเข้าถึงผ้าอนามัยก็ไม่ได้คลี่คลาย

สารคดี “Period. End of Sentence.” ตั้งต้นที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง ห่างจากกรุงเดลีเมืองหลวงของประเทศแค่ 60 กิโลเมตร แต่ก็ “ราวกับคนละโลก” ที่นี่ผู้หญิงมีปัญหาเรื่องสุขอนามัย พอมีประจำเดือน และยากจน ก็ต้องใช้เศษผ้า หรือหนังสือพิมพ์แทน

หนังสารคดีพูดคุยกับผู้หญิงหลายวัย หลายคนรู้จักผ้าอนามัย เคยเห็นในทีวี เคยเห็นวางในชั้นขายของ แต่ไม่มีเงินซื้อ ใครพอมีกำลังทรัพย์ซื้อก็ยังไม่ค่อยจะกล้าออกไปซื้อ เพราะอาย และถูกจ้องมอง

บางคนเป็นประจำเดือนทีต้องขาดเรียน บางคนถึงกับตัดสินใจเลิกเรียน เพราะไม่รู้จะจัดการปัญหานี้อย่างไร พวกเธอไม่สามารถที่จะใช้ชีวิตปกติได้ แค่จะเปลี่ยนผ้า (ใช้เศษผ้าแทนผ้าอนามัย) ก็ยังทำได้ยาก

เรื่องจริงในอินเดียคือ เด็กหญิงจำนวนไม่น้อยต้อง “ลาออกจากโรงเรียน” ด้วยสาเหตุเป็นประจำเดือนเพราะโรงเรียนไม่มีห้องน้ำ ต้องไปหาที่แอบเปลี่ยนเศษผ้า หรือบางโรงเรียนแม้มีห้องน้ำ แต่ไม่ได้แยกห้องน้ำชาย-หญิง

สารพัดปัญหาเหล่านี้ หากพวกเธอสามารถเข้าถึงและได้ใช้ “ผ้าอนามัย” ย่อมช่วยให้ชีวิตพวกเธอง่ายดายขึ้น

ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ร่วมมือกับกลุ่ม “The Pad Project” ที่ทำโครงการรณรงค์ นำเครื่อง “ผลิตผ้าอนามัย” แบบต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์) มาตั้งในหมู่บ้าน โดยใช้เงินทุนสนับสนุนเป็น “เงินบริจาค” จากโรงเรียนแห่งหนึ่งในลอสแองเจลิส ที่ช่วยกันทำ “กิจกรรมระดมทุน” มาได้ แล้วส่งเงินทุนมาช่วยซื้อ “เครื่องจักรขนาดเล็ก” มีคนมาสอนให้หัดผลิต และฝึกฝนให้กลุ่มผู้หญิงในหมู่บ้านรวมตัวกันตั้ง “กลุ่มผลิตผ้าอนามัย” ทำเองมาขายในราคาถูก และช่วยเหลือเรื่องการเข้าถึงผ้าอนามัยให้กับผู้หญิงในละแวกหมู่บ้านใกล้เคียงอีกกว่า 40 หมู่บ้าน

ขณะที่เรื่องราวพัฒนาต่อมาให้เราเห็นว่าผู้คนต่างมีวิธีคิดใหม่ ไม่มีใครลังเลหรือเขินอายที่จะพูดเรื่องประจำเดือนแล้ว และไม่มีปฏิกิริยาทางลบกับสิ่งนี้ด้วย

เราจะได้เห็นชีวิตผู้หญิงในหมู่บ้านที่ต่างมาร่วมกันทำผ้าอนามัยขาย และทำการตลาด ทั้งเด็กสาวที่ปฏิเสธชีวิตแบบแผน เมื่อเธอไม่อยากแต่งงาน แต่ตั้งใจเรียนสอบเข้าเพื่อเป็นตำรวจ ซึ่งรายได้จากการขายผ้าอนามัยจะเป็นเงินทุนให้เธอได้เรียนในโรงเรียนฝึกตำรวจต่อไป

หรือบางคนก็บอกว่า ชีวิตที่ต้องแต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อย และเป็นเพียงแม่บ้านไร้ค่า กลับรู้สึกชีวิตมีคุณค่า เพราะหาเงิน (จากการผลิตผ้าอนามัย) ได้เองเป็นครั้งแรก หรือป้าแก่ๆ ที่บอกว่าทั้งชีวิตไม่เคยมีอาชีพเลย อาชีพแรกที่ได้ทำในชีวิตคือมาช่วยกันทำผ้าอนามัย

“Period. End of Sentence.” ได้เข้าชิงออสการ์สาขาภาพยนตร์สารคดีสั้นยอดเยี่ยมปีนี้

ไม่ว่าจะได้รางวัลหรือไม่ก็ตาม แต่สารคดีเรื่องนี้ได้ทำหน้าที่สื่อสารเรื่องราวที่ “ทรงพลัง” จากหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ที่เพียงผู้คนจากอีกซีกโลกหยิบยื่นน้ำใจช่วยเหลือพวกเธอเหล่านี้ ได้ทำให้เกิดเรื่องดีๆ ต่อเพื่อนมนุษย์ร่วมโลกราวกับปาฏิหาริย์ขึ้นมาได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image