คอลัมน์ เล่าเรื่องหนัง : Loser ‘แพ้’ แต่จบสวย เมื่อสังคมไม่อาจอยู่ได้ด้วยการพูดถึงแต่ ‘ชัยชนะ’ เพียงอย่างเดียว

เราล้วนเคยได้ยินคำประเภทที่ว่า “กีฬามีแพ้มีชนะ”

“Loser” คือสารคดีที่บอกเราว่า ในโลกกีฬาหลายครั้งการเป็น “คนแพ้” นั้นมีอะไรน่าสนใจ ชนิดที่บางครั้งเรื่องราวของ “คนชนะ” อาจจะน่าเบื่อเกินไปก็เป็นได้

ในเมื่อเรามักจะพูดเสมอว่าเราเรียนรู้จากความพ่ายแพ้มากกว่าชัยชนะ ดังนั้น ถ้าเรา “เรียนรู้จากความพ่ายแพ้” เราก็ต้องหันมาใส่ใจในเรื่องราวของฝั่งผู้แพ้กันบ้าง

ในภาพยนตร์สารคดี “Loser” ได้เล่าเรื่องที่น่าทึ่งของเหล่า “คนแพ้” 8 คนจากเกมกีฬาต่างๆ ซึ่งเป็นความจริงที่ซุกซ่อนอยู่ด้านหลังภาพแห่งชัยชนะ ที่เราอาจไม่เคยได้รับรู้หรือมองเห็นมาก่อน

Advertisement
ภาพจาก Youtube video/Netflix

“ความพ่ายแพ้ใน 8 ตอน” มีตั้งแต่ อาทิ “นักกีฬากอล์ฟดาวรุ่ง” ผู้เป็นความหวังคนทั้งประเทศ เมื่อชัยชนะอยู่แค่เอื้อม เขาแทบจะนอนมาในการคว้าแชมป์รายการใหญ่ระดับโลกแบบไร้คู่แข่ง แต่สุดท้ายเขาทำพลาด และพ่ายแพ้อย่างน่าเสียดาย ชนิดที่ว่านั่นคือโอกาสเดียวครั้งแรก และครั้งสุดท้ายในชีวิต เพราะหลังจากนั้นเขาก็ไม่เคยย่างกรายเข้าใกล้ชัยชนะใดในรายการแข่งขันใหญ่ๆ อีกเลย

นักกีฬาที่ต้องเผชิญสถานการณ์เช่นนี้ เขาผ่านพ้นและรับมือได้อย่างไร?

หรือจะเป็นเรื่องราว ความปรีดีของผู้แพ้ เมื่อทีม “ทอร์คีย์ ยูไนเต็ด” ทีมสโมสรฟุตบอลอังกฤษเล็กๆ ท้ายตารางที่กำลังจะตกชั้นดิวิชั่นล่าง และอาจต้องถูกยุบทีม ทั้งทีมและกองเชียร์ขอลุ้นให้ทำแต้มเสมอได้อีกแค่คะแนนเดียวเท่านั้นพวกเขาก็จะ “รอดตาย” แต่ดูเหมือนความแพ้กำลังมาเยือนอยู่ข้างหน้า

Advertisement

ทีมที่พ่ายแพ้จนซ้ำซาก กำลังจะได้รับปาฏิหาริย์จาก “สุนัขตำรวจ” ตัวหนึ่งที่กำลังจะสร้างโอกาสสุดท้ายให้พวกเขารักษาทีมไว้ได้แบบตลกร้ายที่ว่า ในโลกกีฬาของทีมฟุตบอลทีมนี้ พวกเขาไม่ได้แข่งเพื่อให้ได้ชัยชนะ แต่นักเตะทุกคนล้วนมีสำนึกว่า “เราต้องเตะเพื่อให้ได้อยู่ต่อ”

“Loser” พาเราไปดูคนแพ้ที่บางครั้งความล้มเหลวได้พาเราไป “ค้นพบตัวเอง” ว่าหลงทางอยู่ที่ไหนสักแห่ง แต่บางครั้งที่ที่หลงทางอยู่นั้น เราก็ได้ค้นพบตัวเองเช่นกัน

เช่นในตอนที่โดดเด่นตอนหนึ่งของซีรีส์ชุดนี้ เป็นตอนของนักกีฬาสเก๊ตน้ำแข็งหญิง “เซอรียา โบนาลี” ที่ต้องเผชิญหน้ากับความรู้สึกไม่ได้รับความยุติธรรมเท่าที่ควร จากการเป็น “นักกีฬาสเก๊ตน้ำแข็งผิวสี” ท่ามกลางคู่แข่งนักกีฬาผิวขาว และความท้าทายที่เธอสามารถ “ตีลังกา” กลับหลังลงจังหวะบนเท้าข้างเดียวได้ระหว่างเล่นสเก๊ต แม้เธอจะทำสิ่งที่เหลือเชื่อนั่นได้จนเรียกความนิยมและชนะใจคนดู แต่ก็แพ้ในเกมการแข่งขัน เพราะเธอทำผิดกติกาของกีฬาชนิดนี้จนต้องถูกปรับโทษ

ซีรีส์พาเราย้อนไปสำรวจเหตุการณ์ปี 1998 ในการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวที่นางาโนะ ประเทศญี่ปุ่น ที่โบนาลีเข้าร่วมทีมชาติฝรั่งเศสทั้งที่บาดเจ็บเอ็นร้อยหวายขาด แม้โอกาสชนะมีน้อย เพราะเธอจะไม่สามารถทำท่า “ทริปเปิลจัมพ์” เพื่อเรียกคะแนนจากกรรมการได้ เนื่องจากความเจ็บปวดที่มีมากเกินไป

แม้จะเห็นหนทางแพ้รอมร่อ แต่เธอก็กลับสู่ลานน้ำแข็งและเข้าร่วมแข่งขัน ด้วยความรู้สึกว่า “แค่ทำให้ดีที่สุด”

และความพ่ายแพ้ในโอลิมปิกฤดูหนาวครั้งนั้น โบนาลีได้สร้างสิ่งที่น่าตะลึงจนสร้างความประทับใจให้ผู้คนจดจำและพูดถึง แม้จะลงเอยว่าเธอพ่ายแพ้ก็ตาม แต่กลับเป็นความแพ้ที่จบสวย แพ้ที่เธอได้ปลดเปลื้องตัวเองเป็นอิสระ และสร้างมุมมองใหม่ให้เธอตัดสินใจเบนเข็มบางอย่างในชีวิต

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่นักกีฬาที่เคยเป็นแชมป์ฝรั่งเศส 9 สมัย แชมป์ยุโรป 5 สมัย เจ้าของเหรียญเงินระดับโลก 3 สมัย จะตัดสินใจ “แหกคอก” จงใจทำผิดกติกาอย่างตั้งใจ เพื่อประกาศให้โลกรู้ว่าเธอทำในสิ่งที่รัก แม้จะนอกกรอบในเกมการแข่งขันก็ตาม

“Loser” คัดเลือกเรื่องราวในเกมกีฬา และเบื้องหลังที่เราอาจไม่เคยรู้ หรือเคยได้ยินมาก่อน เพราะ “สปอตไลต์” มักจะหันส่องไปที่ผู้ชนะเสมอ แต่การเฝ้ามองความล้มเหลวของนักกีฬาคนหนึ่งใน Loser นั้น นัยหนึ่งน่าสนใจมาก เพราะเรื่องลักษณะนี้มันสัมผัสถึงเราได้มากกว่า

เมื่อได้ซึมซาบเรื่องราวทั้งหมดจาก 8 ตอน เราเห็นคนแพ้ที่พาตัวเองลุกขึ้นมาอีกครั้ง พวกเขาแพ้แต่จบสวย แพ้แต่เห็นหนทางของตัวเอง หรือแม้แต่แพ้แต่เหมือนชนะ

สารคดีเรื่องนี้ไม่ได้เล่าความล้มเหลวให้เป็นภาพขมขื่น บิวต์ดราม่าโศกเศร้า แม้จะมีอยู่บ้างที่พยายามจะโลกสวยให้กับความพ่ายแพ้ แต่ก็ทำได้ดีในแง่สร้างกำลังใจ

กระนั้นจุดโดดเด่นคือ “Loser” มีวิธีเล่าที่ใส่ “อารมณ์ขันที่ดี” ตัวสารคดีที่กำกับโดยผู้กำกับ 8 คนในแต่ละเอพิโซด จะมีช่วงซีเควนซ์ “แอนิเมชั่น” ที่ใส่เข้ามาเพื่อช่วยในการเล่าเรื่องให้ได้อรรถรสมากขึ้นไปอีก

เป็นซีรีส์สารคดีที่แนะนำให้ชมอย่างยิ่ง ตัวสารคดี “เชื่อมต่อกับคนดู” และให้มุมมองที่มีค่าต่อคนดูในเรื่อง ความล้มเหลว ความพ่ายแพ้ และชัยชนะ เพราะเราจะได้เห็นว่าบททดสอบของชีวิตที่แม้จะลงเอยเป็นคนแพ้ กลับมีความตื่นรู้บางอย่างเข้ามาแทนที่

ยิ่งหากความล้มเหลวนั้นเราพบได้บ่อยกว่าความสำเร็จ แต่มันกลับถูกพูดถึงน้อยกว่าเพียงใด ใจความของ “Loser” ก็คือการถ่ายทอดเรื่องราวของ “คนแพ้”

เพราะในสังคมๆ หนึ่ง เราไม่อาจอยู่ได้ด้วยการพูดถึงแต่ “ชัยชนะ” เพียงอย่างเดียว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image