4 หนัง”สารคดีการเมือง”ระดับ”ฮาร์ดคอร์” คอลัมน์ เล่าเรื่องหนัง

“เลือกตั้ง” ครั้งประวัติศาสตร์ของประเทศไทย วันที่ 24 มีนาคม 2562 ยังคงคุกรุ่นด้วยการแข่งขัน “จับขั้วตั้งรัฐบาล” การเลือกตั้งที่คนไทยกำลังติดตามอย่างระทึกใจ และระทึกขวัญด้วยเช่นกันนั้น ทำให้ต้องจัดชุด “ภาพยนตร์สารคดี” เกี่ยวกับ “การเมือง” ที่น่าดูมาเล่าสู่กันฟัง

เป็นภาพยนตร์สารคดีการเมือง 4 เรื่อง สำหรับ “คอการเมือง” และผู้สนใจการเมืองในโลกทุนนิยมสหรัฐอเมริกา ประกอบด้วย 1.Get Me Roger Stone 2.The Final Year 3.Fahrenheit 11/9 และ 4.Trump: An American Dream

เริ่มจาก “Get Me Roger Stone” นำเสนอชีวิตจริงของ “โรเจอร์ สโตน” นักวางแผนยุทธศาสตร์การเมืองที่ทำงานให้กับนักการเมืองพรรครีพับลิกันมาหลายยุคสมัย นับตั้งแต่ยุค ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ซึ่งผลงานล่าสุดของสโตนคือการเป็นที่ปรึกษาทางการเมืองช่วงหาเสียงเลือกตั้งให้กับ “โดนัลด์ ทรัมป์”

ในภาพยนตร์สารคดี เราจะเห็นวิธีทำงานของเขา ที่เรียกว่า “กฎของสโตน” ขุดสารพัดวิธีเพื่อ “ชัยชนะ” เพราะเขายึดถือกฎข้อแรกของตัวเองที่ว่า “การมีชื่อเสีย ดีกว่าการไม่เคยมีชื่อเลย”

Advertisement

จาก “ล็อบบี้ยิสต์การเมือง” ที่ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ไม่รีรอที่จะตั้งคำถามวิธีทำงานของเขาว่า “มือสกปรกขั้นเทพ” และถูกชี้เป้าว่าเป็นคนเบื้องหลังการเมืองที่ “เจ้าเล่ห์” ที่สุดคนหนึ่งในการเมืองอเมริกัน

Get Me Roger Stone พาไปดูวิธีการทำงานเป็นล็อบบี้ยีสต์ของคนที่เข้าใจสื่อ การเมือง และนักการเมืองอย่างดียิ่ง และแน่นอนว่าความขึงขัง ก้าวร้าวในช่วงรณรงค์หาเสียงของทรัมป์เพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีก็ถูกมองว่า คือผลผลิตของโรเจอร์ สโตนที่แท้จริง

สารคดียังพาไปทำความเข้าใจ กลุ่มรณรงค์ทางการเมืองผ่าน “กองทุนอิสระ” ที่รู้จักกันในชื่อ “Super PACS” ที่ย่อมาจาก Super Political Action Committee ซึ่งเป็นกลุ่มที่ถูกตั้งคำถามว่าทำให้การเมืองสหรัฐกลายเป็นการเมืองฉ้อฉลใช้เงินมหาศาลเพื่อชัยชนะ

Advertisement

เงินบริจาคที่ไหลเข้าระบบการเมืองนี้เอื้อให้มหาเศรษฐีของสหรัฐมีอิทธิพลต่อการเลือกตั้งได้ ซึ่งรูปแบบ Super PACS นี้เอง ถูกนำมาใช้ในระบบการเมืองสมัยใหม่ และคนที่มีบทบาทนั้นอย่างมากก็หนีไม่พ้น “โรเจอร์ สโตน” นั่นเอง

คุณมีข้อความอะไรจะบอกคนดูหนังเรื่องนี้ ซึ่งจะเกลียดคุณเมื่อเครดิตท้ายเรื่องขึ้นมา เสียงถามโรเจอร์ สโตน ดังขึ้นมา “ผมสนุกสนานอยู่กับความเกลียดของคุณ เพราะถ้าผมไม่แน่จริง คุณคงไม่เกลียดผม”

ถัดมาเป็นสารคดีรูปแบบซีรีส์ 4 ตอนจบ “Trump: An American Dream” ที่เจาะลึกตัวตน “โดนัลด์ ทรัมป์” ผ่านมิตรและศัตรูมากมายในอดีตของเขา

เราได้เห็นความมั่นใจในตัวเองสูงปรี๊ดมาตลอดของทรัมป์ตั้งแต่หนุ่มยันสูงวัยผ่านซีรีส์ชุดนี้ที่รวบรวมฟุตเทจเก่าสมัยที่ “ทรัมป์” ยังหนุ่มหน้าละอ่อน ในฐานะเป็น “นักธุรกิจดาวรุ่ง” แห่งนิวยอร์ก สลับด้วยการสัมภาษณ์บรรดาบุคคลที่เกี่ยวข้องกับชีวิตทรัมป์ตลอด 40 ปี มาพูดคุยเปิดเปลือยความรู้สึกและมุมมองที่มี

Trump : An American Dream ไม่ใช่ซีรีส์สารคดีสืบสวนสอบสวนการบริหารประเทศของประธานาธิบดีสหรัฐ แต่พูดถึงที่มาของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ตั้งแต่เป็นนักธุรกิจว่า “เขี้ยวลากดิน” แค่ไหน พอๆ กับที่เขาเป็น “นักขายตัวเอง” อย่างหาตัวจับยาก เริ่มจากยุค 70 ที่เขาทำงานในบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของพ่อ ก่อนที่จะสร้างชื่อเสียงในแมนฮัตตัน จากการสร้างตึกชื่อตัวเอง “ทรัมป์ ทาวเวอร์”

เข้ายุค 80 เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวรวดเร็ว การกู้เงินที่ง่ายขึ้น ทรัมป์ขยายธุรกิจสร้าง “กาสิโน” ระดับอภิอลังการในแอตแลนติกซิตี้ นิวเจอร์ซีย์ สู่ยุค 90 ที่เป็นช่วง “ขาลง” ทั้งชีวิตคู่ร้าวฉาน ปัญหาการเงินสั่นคลอนอย่างหนัก ก่อนจะฟื้นกลับมาด้วยตลาดหุ้นวอลล์สตรีท มาสู่ยุคมิลเลนเนียล ทรัมป์กลับมาแจ้งเกิดในรายการเรียลิตี้โชว์ “The Apprentice” เขามีชื่อเสียงโด่งดังมากขึ้นอีก ได้ฐานคะแนนนิยมสะสมก่อตัว จนแนวคิดลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐชัดขึ้นเรื่อยๆ

และแน่นอนว่า เขายึดหลักที่ว่าในทางการเมืองแล้ว ทำอะไรก็ได้ให้ชนะนั่นเอง

ผ่านมาสู่ภาพยนตร์สารคดีลำดับที่สาม “The Final Year” เป็นสารคดีที่ถ่ายทำห้วง 1 ปีสุดท้ายของรัฐบาลบารัค โอบามา สมัยที่สอง โดยขับเน้นไปที่การดำเนินนโยบายต่างประเทศผ่านบุคคลที่ทำงานใกล้ชิดโอบามา 3 คน คือ “จอห์น เคอร์รี” รองประธานาธิบดี “ซาแมนธา พาวเวอร์” เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำสหประชาชาติ และ “เบน โรดส์” มือเขียนสุนทรพจน์ด้านการต่างประเทศให้ประธานาธิบดี

“The Final Year” พาไปดูการทำงานทีมต่างประเทศของ “โอบามา” ว่าพวกเขาพยายามแค่ไหนในการรับมือกับสถานการณ์หนักๆ เช่น “ซีเรีย” ท่ามกลางการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่เริ่มดำเนินขึ้น อย่างไรก็ดี ไม่ว่าทีมงานหลักเหล่านี้จะทำได้ดีแค่ไหน อาทิ การฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับ “คิวบา” หรือวาระการเยือน “ลาว” ของประธานาธิบดีโอบามา เพื่อคานอำนาจจีน โดยโชว์ภาพลักษณ์เพื่อรับผิดชอบต่อการกระทำของสหรัฐที่ผ่านมาในสมัยสงคราม “เวียดนาม”

ไปจนถึงที่โอบามาเยือนเมืองฮิโรชิมาของ “ญี่ปุ่น” ร่วมรับฟังและรับรู้ถึงผลพวงที่สหรัฐอเมริกาเคยยิงระเบิดปรมาณูถล่มสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ตาม แต่บทสรุปกลับลงเอยที่ “ทรัมป์” ชนะการเลือกตั้งพร้อมการชูประเด็นที่ตรงข้ามกับนโยบายต่างประเทศของโอบามาโดยสิ้นเชิง

ปิดท้ายที่ ภาพยนตร์สารคดีการเมืองสุดแหลมคมอย่าง “Fahrenheit 11/9” ของนักทำหนังสารคดีจอมเสียดสีผู้มีเอกลักษณ์อันชัดเจนอย่าง “ไมเคิล มัวร์”

หนังสารคดีที่ทำให้ทั้งกลุ่มฐานเสียง “พรรครีพับลิกัน” ไม่พอใจเนื้อหาว่าเป็นหนังโฆษณาชวนเชื่อ และแม้แต่แฟนคลับของ “พรรคเดโมแครต” ก็แทบรู้สึกใจสลายจากสิ่งที่เห็นในหนังเช่นกัน

ใน “Fahrenheit 11/9” ไมเคิล มัวร์ บอกว่า “จุดเริ่มต้นของหายนะที่แท้จริง” ของการเมืองสหรัฐยุคนี้ ล้วนก่อร่างสร้างตัวฝังรากลึกมานานแล้ว พร้อมตั้งคำถามว่า เราอาจอยู่ในภาวะ “มีประชาธิปไตยน้อยลงอยู่หรือไม่” หรือที่จริงมันไม่มีอยู่จริง

ก่อนจะนำไปสู่คำตอบที่ไมเคิล มัวร์ เห็นว่าเราไม่สามารถหวังอะไรได้จาก “นักการเมืองรุ่นใหญ่” ของทั้งพรรค “รีพับลิกัน” และ “เดโมแครต”

หนังสารคดีนำเสนอตั้งแต่ความอ่อนด้อยของระบบการเมืองสหรัฐ รัฐธรรมนูญอันฉาบฉวย ไปจนถึงความน่าเคลือบแคลงของสื่อมวลชนชั้นนำ

และเมื่อถึงจุดที่เขามองว่าการเมืองถึงทางตัน กลับเห็น “แสงสว่าง” ผ่านบทบาทของ “คนรุ่นใหม่” ทั้งภาคประชาสังคม และภาคการเมือง

“Fahrenheit 11/9” ไม่ประนีประนอมที่จะอยู่จุดกึ่งกลางของการเมือง ถ้าคุณชอบ คุณจะเห็นหนังสารคดีเรื่องนี้ในมุมของการลุกขึ้นทวงสิทธิของประชาชน และอยากสนับสนุน “คนรุ่นใหม่” ให้มาล้างระบบการเมืองเก่าๆ นั่นเอง

เหล่านี้คือภาพยนตร์สารคดีการเมืองร่วมสมัย ที่เนื้อหาฮาร์ดคอร์สำหรับผู้สนใจการเมือง และแน่นอนว่าทั้ง 4 เรื่องจะพาเราไปเข้าใจการเมืองสหรัฐอเมริการะดับ “แก่นแกน” ใจกลางสำคัญของปัญหาเลยทีเดียว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image