คอลัมน์ เล่าเรื่องหนัง : A Sinner in Mecca โลกสองใบ ในโลกมุสลิม

เป็นประเด็นข่าวระดับสากล เมื่อ “บรูไน” ได้ผ่านกฎหมายอาญาใหม่ ภายใต้ “กฎหมายชารีอะห์” หรือกฎหมายศาสนาอิสลาม มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ที่กำหนดอัตราโทษรุนแรงต่อความผิดทางอาญาต่างๆ รวมถึงโทษประหารชีวิตด้วยการขว้างปาหินใส่ต่อผู้กระทำผิดฐานคบชู้นอกใจ และการมีพฤติกรรมรักร่วมเพศ

ขณะเดียวกัน บรูไน ถือเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกหรือตะวันออกเฉียงใต้ ที่บังคับใช้กฎหมายชารีอะห์ทั่วประเทศ เหมือนกับหลายชาติมุสลิมในตะวันออกกลางอย่างซาอุดีอาระเบีย

การบังคับใช้บทลงโทษของบรูไน ทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ออกมาเป็น “สองความเห็น” ในโลกของมุสลิมนั้น ประชาชนในประเทศอิสลามอย่าง “อียิปต์” ถึง 74% ที่สนับสนุนการใช้ชารีอะห์ ขณะที่ “โมร็อกโก” สนับสนุน 83%

ขณะเดียวกันในอีกด้านหนึ่ง สหประชาชาติประณามว่า นี่เป็นกฎหมายที่โหดร้าย และไร้มนุษยธรรม

Advertisement

นักแสดงดังอย่าง “จอร์จ คลูนีย์” และ “เอลตัน จอห์น” ศิลปินนักร้องชาวอังกฤษ ออกมาเรียกร้องให้ร่วมกันบอยคอตโรงแรมของบรูไนที่ตั้งอยู่ในยุโรปและสหรัฐอเมริกา

ที่ว่ามาเป็นมุมมองจาก “โลกคนละใบ” เมื่อโลกตะวันตกให้คุณค่าในเรื่อง “ความหลากหลาย” ขณะที่หลายประเทศมุสลิม สนับสนุนกฎหมายตามหลักศาสนาชารีอะห์ที่ใช้กันมาอย่างยาวนาน โดยให้เหตุผลว่าเป็นกฎหมายเพื่อการอยู่ร่วมกันของคนหมู่มากเพื่อความเหมาะสมของคนในประเทศ

โดยฝั่งสนับสนุน “บรูไน” มองว่า ประเทศนี้ไม่เคยใช้โทษประหารมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1957 ขณะเดียวกันประชาชนสามารถเลือกย้ายไปอยู่ประเทศที่ชอบได้ โดยไม่บังคับห้ามย้ายถิ่นฐาน

Advertisement

ความเป็น “รักร่วมเพศ” หรือ “เกย์ในมุสลิม” นั้น เคยถูกถ่ายทอดในภาพยนตร์สารคดีที่ชื่อ “A Sinner in Mecca” ภาพยนตร์สารคดีปี 2015

ผลงานของผู้กำกับภาพยนตร์ชาวมุสลิม “ปาเวซ ชาร์มา” (Pavez Sharma) ซึ่งเขาเปิดตัวชัดเจนว่าเป็น “เกย์มุสลิม” และใช้เพียง “ไอโฟน” เครื่องเดียวในการเข้าไปถ่ายทำพิธีฮัจย์ในนครเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย

เรื่องราวใน A Sinner in Mecca บอกเล่าการเดินทางไปแสวงบุญยังนครเมกกะของชาวมุสลิมทั่วโลก ซึ่งเขาตั้งคำถามว่า “การมีเพศสภาพเป็นเพศทางเลือกจะสามารถเป็นส่วนหนึ่งของพิธีอันศักดิ์สิทธิ์นี้ได้หรือไม่”

แม้จะเป็นการเสี่ยงต่อกฎหมายของซาอุดีอาระเบียในการเข้าไปบันทึกเหตุการณ์ในมัสยิด และสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ ที่ชาวมุสลิมใช้แสวงบุญ

แต่ที่น่ากังวลไปกว่านั้นคือ ความเป็นผู้กำกับมุสลิมเกย์ของ “ชาร์มา” ที่สุ่มเสี่ยงต่อกฎหมายที่ต่อต้านกลุ่มรักร่วมเพศอย่างรุนแรง ซี่งตัว “ชาร์มา” นั้น เคยเปิดเผยเพศสภาพของตัวเองผ่านผลงานภาพยนตร์เรื่อง “A Jihad for Love” ที่ออกฉายในปี 2007

มาถึงภาพยนตร์สารคดี “A Sinner in Mecca” ชาร์มาต้องการจะสื่อให้เห็นภาพความเคร่งครัดของชาวมุสลิมที่มาร่วมแสวงบุญที่นครเมกกะมานานนับศตวรรษ ผ่านสายตาของเขาในฐานะ “มุสลิมที่เป็นเกย์”

สำหรับชาวมุสลิมทั่วโลกเพียงแค่การเดินทางเข้าร่วมในพิธีฮัจย์ในแต่ละปีก็มีความยากลำบากอยู่แล้ว แต่สำหรับ ชาร์มา การเข้าไปสังเกตการณ์และใช้ไอโฟนเครื่องเดียวถ่ายทำสารคดีเรื่องนี้ไปด้วย ก็ไม่ง่ายเช่นกัน

เพราะเขากำลังตั้งคำถามที่ท้าทายความเชื่อเดิมในเรื่อง “มุสลิมเกย์” เป็นสิ่งที่ศาสนาอิสลามไม่อาจยอมรับได้

“ปาเวซ ชาร์มา” ให้สัมภาษณ์ใน “ลอสแองเจลิส ไทม์ส” เมื่อเดือนกันยายน ปี 2015 ในบทความที่ชื่อ Filmmaker Parvez Sharma on Islam, homosexuality and the new A Sinner in Mecca ถึงเบื้องหลัง และแนวคิดการทำภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้

เขากล่าวถึงฉากในสารคดีที่ฉายให้เห็น “โทษประหารชีวิต” ชาวมุสลิมที่เป็นคนรักร่วมเพศ ซึ่งเขาบอกว่าเป็นเรื่องเศร้าที่ยังมีเหตุการณ์เช่นนี้อยู่ในศตวรรษที่ 21 และเขามองว่าสมควรที่โลกจะต้องรับรู้เรื่องที่เกิดขึ้น

ขณะที่กลวิธีในการเข้าไปถ่ายทำสารคดีในพิธีฮัจย์ เขาทำอย่างรอบคอบด้วยการเข้าร่วมกับกลุ่มนิกายชีอะห์โดยปกปิดตัวตนที่เขาเป็นนิกายสุหนี่ รวมถึงปกปิดเพศสภาพของตัวเองด้วย

การเดินทางเพื่อมาเข้าพิธิฮัจย์ ณ นครเมกกะของมุสลิมทั่วโลกเปรียบเสมือนการยืนยันความศรัทธาที่มีต่ออัลเลาะห์ และในครั้งนี้มันเป็นการเดินทางที่ยากลำบากที่สุดนอกเหนือจากการไปแสวงบุญแต่มันคือการถ่ายภาพยนตร์ที่บอกเขาว่า

“คุณเพียงแค่ทำตามศรัทธาที่คุณมีในศาสนาของคุณ และต่อสู้กับความขัดแย้ง (ด้านเพศสภาพ) ให้ได้ มันจะทำให้รู้สึกเข้มแข็งขึ้นจากประสบการณ์นี้ และทำให้มุสลิมเกย์ทั่วโลกที่ไม่กล้าออกมาทำพิธีได้เห็นความกล้าหาญนี้” ชาร์มาให้สัมภาษณ์ไว้

แม้หนังสารคดี “A Sinner in Mecca” อาจจะถูกมองว่าเป็นการประณามศาสนาของตัวเอง แต่เขากลับมองว่า นี่เป็นสิ่งที่ “สะท้อนตัวตน” ของเขาทั้งความเป็นมุสลิม และความเป็นคนรักร่วมเพศ

เขาไม่สามารถตัดตัวตนใดตัวตนหนึ่งออกไปได้ ความศรัทธาที่มีต่ออัลเลาะห์เป็นส่วนหนึ่งในชีวิต และก็ไม่รู้ว่าจะสามารถเป็นอะไรได้อีกถ้าไม่ใช่มุสลิม

อีกสิ่งหนึ่งที่เขาต้องรับมือหลังจากการที่ภาพยนตร์เผยแพร่ออกไปคือ “ความเกลียดชัง” ไม่ว่าจะเป็นอีเมล์ข่มขู่หรือการคุกคามในรูปแบบต่างๆ เขายอมรับว่าเรื่องราวเหล่านี้เป็นเรื่องใหม่เกินกว่าที่มุสลิมบางกลุ่มจะยอมรับแต่เขาก็ยืนยันว่าหากได้รับชมเนื้อหา หรือแม้แต่ดูตัวอย่างสารคดีในยูทูปก็จะได้เห็นความเคารพศรัทธาที่มีต่อศาสนาอิสลาม รวมถึงการส่งสารโดยตรงถึงกลุ่มมุสลิมที่เคร่งครัดด้วย

“A Sinner in Mecca” ที่ผู้กำกับ ปาเวซ ชาร์มา เดินไปบนเส้นทางของความเสี่ยงในการถูกเกลียดชังแน่นอนว่ามันเป็นเรื่องราวที่อ่อนไหว และสุ่มเสี่ยงจากการถูกโจมตี เขาหวังว่าจะไม่ถูกมองแค่เพียงเป็นคนรักร่วมเพศ

แต่ต้องการให้เห็นความมุ่งมั่นที่จะทำภาพยนตร์สารคดีในฐานะ “มุสลิมรุ่นใหม่” ที่ต้องการให้โลกได้เรียนรู้ความเปลี่ยนแปลง และยอมรับความแตกต่างหลากหลายที่เกิดขึ้น

ถือเป็นหนังสารคดีจากเหรียญอีกด้านของโลกมุสลิม ซึ่งที่สุดเรื่องนี้ก็จะถูกมองเป็นสองทรรศนะ เป็นโลกสองใบ และเป็นเหรียญสองด้านทางความคิด และความเชื่อตลอดไป?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image