Grass is Greener ความไม่เท่าเทียม-ย้อนแย้งของโลก”กัญชา” คอลัมน์ เล่าเรื่องหนัง

การผลักดัน “กัญชาทางการแพทย์” เป็นประเด็นร่วมและสากลของหลายประเทศทั่วโลก จนถึงปัจจุบันนี้มีกว่า 30 ประเทศให้ใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ได้แล้ว และเริ่มไปไกลกว่านั้นคือการพูดถึง “กัญชาเพื่อสันทนาการ”

เมื่อเรื่องของกัญชากำลังเข้าสู่กระแสหลักของโลก พร้อมกับการคาดการณ์ว่าตลาดทั่วโลกจะเติบโตถึงกว่า 5.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ภายใน 6-7 ปีข้างหน้า

ในยุคที่โลกกำลังอนุญาตให้ “กัญชา” เปลี่ยนสถานะจากยาเสพติด หากย้อนไปดูแหล่งกำเนิดในอดีตของกัญชาและกัญชงนั้น มีที่มาจากเอเชียและข้ามโลกโดยผ่านเส้นทางการค้ามาสู่อีกซีกโลกหนึ่ง จุดเริ่มแรกของกัญชาเมื่อหลายร้อยปีก่อนที่ยังไม่ถูกประกาศเป็นสารเสพติด กระทั่งถูกห้ามเสพในฐานะสารเสพติด

ขณะที่ผ่านมานับศตวรรษ โลกใหม่ของกัญชาในปัจจุบันกำลังเปลี่ยนไปมากขึ้นทุกขณะ และแน่นอนว่าวันนี้ความหมายของ “กัญชา” กำลังมาไกลจากอดีตขึ้นเรื่อยๆ

Advertisement

ในภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “Grass is Greener” ได้เล่าเรื่องที่มาไกลมากจนเราอาจคาดไม่ถึงเช่นกัน

ความล้ำของสารคดีเรื่องนี้คือ ในขณะที่เรากำลังพูดถึงการผลักดันประเด็นกัญชาทางการแพทย์ในประเทศไทย และยังต้องรอไปอีกหลายปีสำหรับแนวคิดกัญชาเพื่อสันทนาการในไทย แต่ใน Grass is Greener ได้ขยับไปแตะถึงปัญหา “กัญชาทางพาณิชย์” ที่ไกลถึงขนาดที่ว่า ธุรกิจกัญชาในสหรัฐอเมริกากำลังกีดกันต่อกลุ่มคนผิวดำในสหรัฐ

หนังสารคดีตั้งคำถามว่าคนขาวกำลังครอบครองหรือได้ส่วนแบ่งทางการตลาดของกัญชาทางพาณิชย์ในสหรัฐ ขณะที่ภาพลักษณ์ของคนแอฟริกัน-อเมริกัน ถูกมองเป็น “คนเมากัญชา” มากกว่า “ผู้ประกอบการธุรกิจกัญชา” อย่างถูกกฎหมาย และถูกปิดกั้นโอกาสการเข้าถึงธุรกิจนี้

Advertisement

เรียกว่าประเด็นล้ำหน้าเกินกว่าจะคาดคิดสำหรับประสบการณ์ในไทย

และไม่ได้แค่คิดขึ้นมาลอยๆ ในหนังสารคดีไปสัมภาษณ์ “ผู้ประกอบการธุรกิจกัญชาถูกกฎหมาย” ที่เป็นชาวแอฟริกัน-อเมริกัน และคนผิวขาวถึงมุมมองนี้ ซึ่งพวกเขาต่างสะท้อนมุมมองจากประสบการณ์และทัศนคติของแต่ละคน

ช่วงต้นของหนังสารคดี ได้พยายามขุดหาสาแหรกของผู้นิยมและสนับสนุนการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการในสหรัฐอเมริกา ที่ล้วนเกิดจากคนผิวดำ โดยเฉพาะจากกลุ่มนักดนตรีแจ๊ซในยุคทศวรรษที่ 20 ที่ปรากฏถึงการใช้กัญชาอย่างแพร่หลายในเวลานั้น ซึ่งมีนักดนตรีแจ๊ซระดับต้นๆ อย่าง “หลุยส์ อาร์มสตรอง” ที่ไม่เคยปิดบังการใช้กัญชาของเขา และยังถูกชูขึ้นมาในฐานะไอคอนคนผิวดำผู้ใช้กัญชาเพื่อสันทนาการ

ยิ่งหากไปเจาะลึกดูเนื้อเพลงแจ๊ซยุค 20 ในหลายบทเพลงจะมีคำสแลงที่เรียกขาน “กัญชา” ในแบบต่างๆ ที่ยังคงเป็นคำสแลงใช้เรียกขานกัญชากันอยู่ในปัจจุบัน

อาจฟังดูตลกเล็กๆ ที่ราวกับว่าต้อง “เคลม” ว่าใครคือคนหนุนนำกัญชาขึ้นก่อนในสหรัฐ ใครคือผู้เคยถือครองและใช้กัญชามาก่อนมากกว่ากัน ระหว่างคนแอฟริกัน-อเมริกัน ตั้งแต่กลุ่มนักดนตรีแจ๊ซมาจนถึงกลุ่มศิลปินฮิพฮอพ กลุ่มเม็กซิกัน-อเมริกัน

หนังสารคดีพาย้อนไปดูประวัติศาสตร์กัญชาในสหรัฐที่แพร่หลายจากคนผิวดำ ผู้อพยพจากเม็กซิโก กระทั่งมีการออกกฎหมายห้ามเสพกัญชาและถือเป็นสารเสพติด ผ่านยุค “สงครามปราบปรามยาเสพติด” มาหลายทศวรรษนับตั้งแต่ประธานาธิบดี “ริชาร์ด นิกสัน” เป็นต้นมา ส่งผลให้มีผู้คนถูกจับและจำคุกในคดียาเสพติดหลายแสนคน และจำนวนไม่น้อยพบว่าเป็นคดีมีกัญชาในครอบครอง ตั้งแต่ปริมาณ 1-2 กรัม แต่ต้องรับโทษกันไม่ต่ำกว่า 10 ปี

โดยนัยสำคัญนี้ คือในหมู่ผู้ถูกรับโทษนี้ก็มักล้วนเกี่ยวข้องกับการเชื่อมโยงระหว่างการก่ออาชญากรรม-ยาเสพติด (กัญชา)-คนผิวสี ไว้ด้วยกัน

“Grass is Greener” มองประวัติศาสตร์ของกัญชาในสหรัฐและคนแอฟริกัน-อเมริกันที่ดูแนบสนิทกันมาเป็นร้อยๆ ปี ตั้งแต่ยังเป็นตลาดซื้อขายใต้ดิน และพวกเขาถูกจับกุมจำคุก

ก่อนที่โลกจะเปลี่ยนผ่านให้กัญชาถูกจัดประเภทใหม่ทั้งการแพทย์และสันทนาการ ย้ายจาก “ตลาดมืด” สู่ “อุตสาหกรรมระดับเศรษฐี” มาลงทุนในการต่อยอดแตกแยกย่อยเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งทั้งหมดเป็นตลาดของคนผิวขาว?

โลกของ “กัญชาเชิงพาณิชย์” ในสหรัฐอเมริกา เสี้ยวหนึ่งจึงพูดถึงความย้อนแย้งนี้

เมื่อกัญชาที่อาจอยู่ในกระแสหลักของโลกในไม่ช้า และเริ่มมีตลาดนักลงทุนที่มีผู้เล่นที่มีเงินทุนเข้ามา ได้กีดกันคนผิวดำ-ผิวสีในการจะเข้ามาเป็นผู้ประกอบการหรือไม่?

เฉกเช่นในอดีตที่คนผิวดำ ผิวสีเคยถูกจับข้อหามีกัญชาไว้ในครอบครองอย่างมากมาย

หนังสารคดีชี้ให้เห็นสถิติว่า ในสหรัฐคนผิวดำสามารถเป็นเจ้าของร้านขายกัญชาถูกกฎหมายได้น้อยกว่า 1%

ก่อนที่หนังสารคดีพยายามชี้ชวนหาคำตอบถึงสถานการณ์ในสหรัฐเวลานี้ เราอาจมองได้ว่า คนดำถูกปฏิบัติอย่างไรในตลาดการซื้อขายนี้ เมื่อพวกเขาถูกมองว่าเป็น “ขี้เมายา” มากกว่า “ผู้ประกอบ” ถูกตัดสินว่าเป็น

“มืออาชีพ” ในธุรกิจนี้น้อยกว่า

เสียงตัดพ้อของคนแอฟริกัน-อเมริกันในธุรกิจนี้ ที่สารคดีชิ้นนี้กำลังโน้มนำให้เรามองในเสี้ยวมุมหนึ่งว่า ธุรกิจกัญชาเชิงพาณิชย์นี้อาจเป็น “ที่ว่าง” ให้เพียงนักลงทุนที่มีเงินทุนและประสบความสำเร็จอยู่แล้วสามารถเข้ามาขอใบอนุญาตในอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตนี้ และเริ่มปิดประตูให้กับคนผิวสีผู้เคยผูกพันกับกัญชาในอดีตหรือไม่

เมื่อกัญชาผนวกเข้ากับประเด็นแบ่งแยกสีผิว และชนชั้น

เมื่อวันนี้ความคิดของคนเปลี่ยนและเริ่มจะยอมรับกัญชา

กัญชาได้กลายเป็นกระแสหลักในการรับรู้ของสาธารณชน

แต่เรื่องราวที่มีมิติใหม่ระหว่างกัญชากับคนผิวสีนี้ช่างย้อนแย้ง และอาจเป็นหนึ่งในหลายปัจจัยที่จะถูกมองว่ากีดกันแบ่งแยกอย่างไม่เท่าเทียม

คนผิวสีในสหรัฐที่ติดคุกจากคดีครอบครองกัญชาจำนวนเล็กน้อย มีมากมายในหลายเรือนจำ ขณะที่นอกคุกธุรกิจกัญชาเชิงพาณิชย์กำลังเบ่งบานในสหรัฐ โดยในปี 2018 รัฐต่างๆ มีรายได้จากการเก็บภาษีเข้ารัฐจากการจำหน่ายกัญชาถูกกฎหมาย มากกว่า 1.4 พันล้านดอลลาร์

“Grass is Greener” ทำหน้าที่ตั้งคำถามและพาไปสัมผัสประเด็นอันย้อนแย้งที่ซับซ้อนและน่าสนใจนี้

กระทั่งสามารถเก็บไว้เป็นกรณีศึกษา เพราะอาจเกิดกับประเทศไหนก็ได้ในอนาคต เมื่อวันนี้โลกของกัญชาได้เปิดกว้างในทุกมิติมากขึ้นทุกขณะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image