โค้งสุดท้ายสัปดาห์หนังสือ กับ 3 เล่มเจ๋งที่ไม่อยากให้พลาด

 

เวลาเดินผ่านรวดเร็วมาก ไม่ทันไรก็เข้าสู่โค้งสุดท้ายของ งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่44

ใครที่ยังไม่ไปวันนี้ยังพอทัน หนังสือฮอตหลายเล่มที่พิมพ์ไม่ทันช่วงต้นงาน ก็มาวางยั่วตายั่วใจยั่วสตางค์ให้กระโดดดึ๋งๆ ออกจากกระเป๋าเรียบร้อยแล้ว  รวมถึง 3 เล่มนี้ในแนวคิด ประวัติศาสตร์คืออนาคต ที่อยากแนะนำว่าเด็ดจริง ไม่แพ้หนังสือเล่มไหนเลย

เล่มแรก เป็นเล่มที่ อธิป กลิ่นวิชิต บรรณาธิการข่าวศิลปวัฒนธรรมบันเทิง สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสบอกมาว่าอยากอ่านมาก ราษฎรสามัญหลังวันปฏิวัติ ๒๔๗๕ โดย ศราวุฒิ วิสาพรหม

Advertisement

“ประวัติศาสตร์ไทยพูดเรื่องการช่วงชิงอำนาจระหว่างตัวละครในประวัติศาสตร์มาหลากหลายแง่มุม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับประชาชนถูกพูดถึงน้อยมาก ถ้าอยากจะเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับประชาธิปไตยของเมืองไทย นี่ก็อาจจะเป็นหนังสือที่ช่วยให้เห็นภาพมากขึ้น” อธิปบอก

ก่อนอธิบายเพิ่มเติมว่า “การจะเข้าใจปัจจุบันและอนาคต เป็นไปไม่ได้เลยถ้าไม่เข้าใจประวัติศาสตร์ เพราะว่าทุกสิ่งมีผลสืบเนื่องกัน ต้นตอบางปัญหาที่สร้างความวุ่นวาย และดูเหมือนจะหาทางออกไม่ได้ในปัจจุบัน ก็มีรากฐานมาจากสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตแทบทั้งสิ้น บางปัญหาที่เกิดในปัจจุบันไม่สามารถทึกทักเอาคำตอบโดยใช้สามัญสำนึกแบบที่เราชอบทำกันได้ โดยเฉพาะเรื่องการเมืองซึ่งถูกเคลือบและปกปิดไว้ด้วยวาทกรรมที่แต่ละฝ่ายจะสรรหามาสร้างความชอบธรรมให้ตัวเอง

มีคำพูดคลาสสิคทำนองว่า “คนไม่รู้ประวัติศาสตร์ จะทำผิดพลาดซ้ำสอง” ซึ่ง วินสตัน เชอร์ชิล ทำให้ประโยคนี้โด่งดังขึ้นมา ซึ่งเป็นความจริง เพราะหลายเรื่องไม่ใช่สิ่งใหม่ การถกเถียงกันทั้งเรื่อง ความเท่าเทียม ความดีงาม นิติรัฐ ฯลฯ ซึ่งคนไทยเพิ่งได้ยินไม่กี่ปีนี้ คนในโลกถกเถียงกันมาเป็นพันๆ ปีแล้ว

Advertisement

การไม่แยแสประวัติศาสตร์ก็ทำให้เราติดหล่มทางความคิดซึ่งคนรุ่นก่อนเคยหลุดพ้นมาได้ ไม่ต้องถามว่าทำไมเมืองไทยไม่ไปไหนเลยในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา”

เพราะฉะนั้นประวัติศาสตร์ราษฎร์อย่าง  “ราษฎรสามัญหลังวันปฏิวัติ ๒๔๗๕” ที่มุ่งให้เห็นถึงความซับซ้อนถึงการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ภายหลังการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 ที่ส่งผลกระทบต่อราษฎรในช่วงเวลา 15 ปี คือระหว่างพ.ศ. 2475  จนถึงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2  จึงเป็นหนึ่งในเล่มไม่ควรพลาด เพราะเห็นได้อย่างชัดเจนเลยว่าการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองอวสานสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สู่รัฐประชาชาติ ไม่ได้มีผลกระทบจำกัดอยู่แต่เฉพาะความเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างหรือสถาบันทางการเมืองและกลุ่มชนชั้นนำหรือข้าราชการเท่านั้น อย่างที่เคยเรียนๆกันมา แต่ส่งผลถึงชีวิต “สามัญชน” คนเดินดินธรรมดาอย่างมหาศาลด้วย

มาที่ การเมืองในการทหารไทย สมัยรัชกาลที่ 6 โดย เทพ บุญตานนท์ บ้าง ในคำนำเล่ม ผู้เขียนได้เขียนไว้ว่าภาพลักษณ์ของนักรบกับพระมหากษัตริย์เป็นสิ่งที่มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด การยกย่องวีรกรรมของพระมหากษัตริย์จึงมักมีพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับทหารเป็นปัจจัยสำคัญ สถานะพระมหากษัตริย์กับกองทัพได้ถูกกำกับอย่างชัดเจนว่าทรงมีสถานะเป็น “จอมทัพ” วัฒนธรรมเช่นนี้ถูกปฏิบัติอย่างสืบเนื่องและจะไม่มีปัญหาตราบใดที่พระมหากษัตริย์ยังคงมีภาพลักษณ์ของความเป็นนักรบ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ทรงปราศจากภาพลักษณ์ดังกล่าวแล้วนั้น ถือเป็นอันตรายยิ่งต่อผู้ปกครอง และโดยเฉพาะในกรณีของ “พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว”

เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำรงตำแหน่งเป็น “สยามมกุฏราชกุมาร” พระองค์มิได้มีตำแหน่งทางการทหารที่สำคัญ อีกทั้งยังมิได้ทรงพระศึกษาเล่าเรียนด้านการทหารมาโดยตรง ต่อมา เมื่อพระองค์ทรงครองราชสมบัติ อันเป็นยุคสมัยที่ประเทศทั่วโลกต่างมีกษัตริย์ที่เป็น “นักรบ” มีความสามารถปรีชาด้านการศึกสงคราม และเป็นยุคสมัยที่เหล่าชายชาติทหารต้องการ “ผู้นำ” ที่เป็น “ทหาร” จึงทรงปราศจากพระราชอำนาจทางการทหารอย่างแท้จริง และซ้ำร้ายกว่านั้นอำนาจทางการทหารเกือบทั้งหมด กลับตกอยู่ในมือของพระเชษฐาและพระอนุชาในพระองค์ซึ่งทรงมองว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามกับพระองค์อีกด้วย พระองค์จึงจำเป็นต้องปรับพระองค์เพื่อเสริมสร้างภาพ “การทหาร” และทรงกระทำทุกวิถีทางเพื่อนำทหารมาอยู่ฝ่ายพระองค์

การแต่งตั้งโยกย้ายคนสนิท การเสริมสร้างกำลังกองทัพส่วนพระองค์ อาทิ เสือป่า กรมทหารรักษาวัง ล้วนแล้วแต่เป็นกุศโลบายที่พระองค์พยายามดึงอำนาจกองทัพมาทั้งสิ้น แต่หนทางไม่ง่ายเช่นนั้น เพราะ “พระราชอำนาจ” ทางการทหารทั้งหมดกลับไปตกอยู่ในพระเชษฐาและพระอนุชาในพระองค์

หนังสือเล่มนี้ปรับปรุงมาจากวิทยานิพนธ์เรื่อง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกับการสร้างภาพลักษณ์ทางทหาร เป็นงานเขียนทางประวัติศาสตร์ที่หลักฐานแน่นมาก และพร้อมเปิดพื้นที่ให้กับการตั้งคำถาม ผ่านภาษาที่อ่านง่ายและการเรียงเรื่องอย่างชวนติดตาม

เล่มสุดท้ายเป็นหนังสือแปล The Way of the Knife โดย Mark Mazzetti ผู้สื่อข่าวรางวัลพูลิตเซอร์สาขาการรายงานข่าวนานาชาติ ซึ่งแปลโดย นพดล เวชสวัสดิ์ ในชื่อภาษาไทยอย่าง เจาะลึกสงครามลับ CIA’

The Way of the Knife เปิดโปงให้เห็นถึงกระบวนการทำงานของซีไอเอ องค์กรที่ขึ้นชื่อว่าทรงอิทธิพลและลึกลับที่สุดในโลก ติดตามบทบาทของซีไอเอหลังเหตุ 9/11 ที่เปลี่ยนจากงานเชิงจารยุทธ์มาเป็นงานเชิงความมั่นคงและการสงคราม ทำหน้าที่ฝึกทหารเพื่อปฏิบัติภารกิจพิเศษ วางแผนการรบจากเงามืดเพื่อช่วงชิงชัยชนะ ในสงครามรูปแบบใหม่

โดยเริ่มเรื่องจากเหตุวินาศกรรม 9/11 กลางมหานครนิวยอร์ก ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประวัติศาสตร์สงคราม ท่ามกลางกระแสตื่นกลัวผู้ก่อการร้ายทั่วโลก แต่ละประเทศต่างพยายามหาวิธีป้องกันการเกิดเหตุโศกนาฏกรรมเช่นนั้น และสหรัฐอเมริกา ในฐานะเหยื่อการโจมตีโดยตรงก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น ทำเนียบข่าวได้สั่งการเพิ่มขีดความสามารถและกำลังรบทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายทั่วโลก เพื่อปกป้องชีวิตของพลเมืองตนและผลประโยชน์ด้านต่างๆ ภายใต้เหตุผลที่อ้างว่า “ต้องการปกป้องโลกใบนี้” หน่วยข่าวกรองกลางสหรัฐหรือซีไอเอ ได้รับมอบหมายบทบาทใหม่ที่มากกว่าสายลับผู้รวบรวมข่าวกรอง ซีไอเอกลายเป็นผู้ปฏิบัติการลับทางทหารในพื้นที่อ่อนไหวห่างไกล ซึ่งกองกำลังสหรัฐเข้าไม่ถึง ทำหน้าที่ไล่ล่าสังหารผู้ก่อการร้าย ซ่อนร่องรอยสหรัฐให้เป็นมือที่มองไม่เห็น ขณะเดียวกันกระทรวงกลาโหมหรือเพนตากอน ไม้เบื่อไม้เมายาวนานของซีไอเอ ก็รุกคืบเข้ามาสวมบทผู้ล้วงข่าว ยกระดับความสามารถที่นอกเหนือจากปฏิบัติการทหารทั่วไป ต่างฝ่ายต่างขับเคี่ยวกันอย่างดุเดือด

การกลับบทบาทของสององค์กรระดับโลกนี้ เผยให้เห็นวิถีการสู้รบแนวใหม่ในรูปแบบของสงครามลับนอกเขตประกาศสงคราม โดรนสังหาร สงครามตัวแทน เส้นสายผู้นำเผด็จการ หรือองค์กรสายลับต่างชาติ ฯลฯ คือตัวแปรใหม่ๆที่ตบเท้าเข้าครองสนามรบในสงครามลับ สู่ประวัติศาสตร์บาดแผลใหม่ที่ถูกยกระดับจนซับซ้อน ย้อนแย้ง และแข็งกร้าวอย่างที่สุด

สามเล่มนี้เจอได้ที่บูทสนพ.มติชน โซนพลาซ่า วันอาทิตย์นี้วันสุดท้าย ถ้าพลาดไปก็อย่าลืมหากันได้ที่ร้านหนังสือทั่วไป

แต่ก็ไม่อยากให้พลาดเลยจริงๆ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image