ทำอย่างไรเมื่อหนังไทยไร้โรง?

“ผมรู้สึกเจ็บปวดจนต้องขอออกมาพูด ว่าทำไมทำขนาดนี้ ทำไมใจร้ายกับเราจัง” นนทกร ทวีสุขกรรมการผู้จัดการ บริษัท ก้าวไทยทะยาน จำกัด ผู้กำกับภาพยนตร์ วานรคู่ฟัด ถ่ายทอดความรู้สึก ในงานเสวนา ทำอย่างไรเมื่อหนังไทยไร้โรง ซึ่งจัดขึ้นเมื่อไม่กี่วันมานี้ี่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ หลังภาพยนตร์ที่เขาลงทุนไป 30 ล้านบาท เพื่อถ่ายทอดศิลปะวัฒนธรรมไทย อย่างโขนและศิลปะการป้องกันตัว มีโอกาสได้ฉายในโรงฉายภาพยนตร์เครือใหญ่เพียง 1 สัปดาห์ ก่อนจะถูกถอดอย่างไม่ใยดี ทั้งๆที่เขาก็ทำตามกติกาของโรงทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายเงิน 24,000 บาทเพื่อการฉายในโรงระบบดิจิตอล พร้อมทั้งยังแบ่งเปอร์เซนต์รายได้ในอัตราโรง 55 % ผู้สร้าง 45 %

“พอหนังเราไม่ทำเงิน ก็เอาหนังฝรั่งมาฉาย”เขาว่า

ทั้งๆที่ตามความเห็นของเขา “ควรมีระยะเวลาในการฉายนานพอสมควร เพื่อให้ภาพยนตร์ได้พิสูจน์ตัวเอง”

อีกทั้ง “มันไม่แฟร์สำหรับคนไทย โรงหนังไทยควรมีพื้นที่สำหรับหนังไทยด้วยกัน”

Advertisement

เพราะไม่เช่นนั้นหนังไทยจะอยู่ยาก และพากันตายตกไปตามๆกัน

หนังไทยไร้โรง

 

Advertisement

ด้านบัณฑิต ทองดี นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย มองว่าสมาคมฯพยายามหาทางแก้ปัญหานี้อยู่ แต่ฝั่งโรงภาพยนตร์ก็ยืนยันว่า คำตอบอยู่ที่รายได้จากการฉาย นั่นคือ ถ้าหนังทำเงินก็มีสิทธิ์ยืนโรงต่อ

“แต่ผู้สร้างคนไหนๆก็อยากเห็นหนังตัวเองฉายได้ครบหนึ่งเดือนทั้งนั้นแหละครับ” เขาว่า

โดยส่วนตัวจึงมองว่าโรงภาพยนตร์เป็นการดำเนินงานเพื่อธุรกิจโดยแท้ และนี่ไม่ใช่ ‘ครั้งแรก’ ของเหตุการณ์

ดังนั้นเมื่อเรื่องไหนขายไม่ได้ก็ต้องถูกโละออก เช่นเดียวกันถ้าเรื่องใดเรื่องหนึ่งเกิดทำเงินขึ้นมา โรงก็พร้อมจะถอดเรื่องอื่น เพื่อรองรับเรื่องที่ทำเงินดังว่า

มันคืออุปสงค์ อุปทาน โดยแท้

ขณะที่นิมิตร สัตยากุล ประธานกรรมการบริษัท มาสเตอร์ฟิจเจอร์‘สายหนัง’ ผู้เป็นสายหนังที่ซื้อภาพยนตร์จากบริษัทต่างๆไปฉายเป็นภาพยนตร์กลางแปลงในเขตภาคกลาง บอกว่า หลังเกิดเหตุการณ์เขาก็ตัดสินใจเลยว่าเขาจะสร้างระบบการฉายหนังไทยแบบดิจิตอลกลางแปลงขึ้น เพราะจากประสบการณ์ตลอด 50 ปีที่อยู่ในวงการนี้มา ขอบอกเลยว่ายังไงๆนี่ก็คือระบบธุรกิจ ซึ่งถ้าคิดอยากเแก้ปัญหาหนังไทยไร้โรง ระบบฉายหนังไทยแบบดิจิตอลกลางแปลงนั่นละที่จะช่วยได้!!

“เพราะยุคนี้กำลังเปลี่ยนผ่านจากระบบฟิล์มมาเป็นดิจิตอล ฉะนั้นอีกไม่เกิน 5 ปี จะไม่มีหนังกลางแปลงฉายแน่นอน”

จะทำยังไง แบบไหน นิมิตบอกคร่าวๆว่าเขาคิดไว้แล้ว โดยตอนนี้มีเครื่องฉายดิจิตอลฝีมือคนไทย ที่ทำได้ในราคาถูก สามารถเคลื่อนย้าได้ง่าย เหมาะจะนำออกไปใช้ฉายในที่ต่างๆ ขณะที่ในเรื่องลิขสิทธิเขาก็คิดระบบป้องกันด้วยระบบที่จะแจ้งให้ทราบว่าภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวกำลังฉายอยู่ที่ไหน โดยใคร ซึ่งรายละเอียดการฉายนั้นต้นสังกัดของภาพยนตร์เท่านั้นที่มีสิทธิอนุญาต

ส่วนเชน โชคระพีกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยฟิล์มเมคเกอร์ ผู้สร้างภาพยนตร์เรื่อง เปิงมาง ซึ่งเคยมีประสบการณ์นำาภาพยนตร์ของตัวเองไปขายให้ต่างประเทศพูดทิ้งท้ายว่า ถ้าเป็นไปได้ก็อยากแนะนำให้คนทำหนังนำผลงานออกไปขายเองเช่นเดียวกับเขา

“เรามาเมามันกับความฝันและเงินของตัวเองกันดีกว่าครับ” ว่าอย่างนั้น

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image