หยวนๆไป เพื่อจะได้ ‘ไม่หัก’ นี่คือรักแบบ ‘ต่าย ชุติมา-ทิม พิธา

เอ่ยชื่อ ต่าย ชุติมา ทีปะนาถ แฟนคลับภาพยนตร์ไทยคงร้องอ๋อ เพราะภาพของเธอในภาพยนตร์เรื่อง ‘Seasons Change เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย’ ยังประทับแน่นในความทรงจำ ขณะเดียวกันหากเอ่ยชื่อ ทิม-พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้คนในฟากธุรกิจคงร้อง อ๋อ! เพราะนอกจากเขาจะเป็นผู้บริหาร บริษัท ซีอีโอ อกริฟู้ด และเกรท โอเชียน ฟู้ด อันเป็นธุรกิจของครอบครัวแล้ว ยังดำรงตำแหน่งกรรมการบริหาร บริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด อีกอย่างหนึ่งด้วย

ถึงวันนี้ทั้งคู่แต่งงานกันมาได้ 6 ปี โดยมี ‘น้องพิพิม’ ลูกสาววัย 2 ขวบเศษ มาร่วมเป็นสมาชิกในครอบครัว-ครอบครัวที่ดูเหมือนจะมีความสุขและอบอุ่นยิ่ง

“ต่ายโตมาในครอบครัวคนจีน ครอบครัวใหญ่ มีความสัมพันธ์แบบปู่ ย่า ตา ยาย รู้สึกว่าการที่มีสัมพันธ์ดีกับผู้ใหญ่ในบ้าน เขาดูแลเรา เราดูแลเขา นี่คือสิ่งสำคัญที่ทำให้เด็กเติบโตอย่างมีคุณภาพ”

Advertisement

“การที่คนเราจะเติบโตอย่างมีคุณภาพต้องมีพื้นฐานมาจากชีวิตครอบครัวที่แข็งแรง” ต่ายบอก

ขณะทิมก็ว่า สำหรับเขา “ครอบครัวคือความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่ว่าจะดีหรือร้าย”

“ความเป็นครอบครัวอยู่ที่ว่าเรามีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันหรือเปล่า ชีวิตของคนเรามีทั้งสุขและทุกข์ ตอนที่เป็นทุกข์ก็คือจุดทดสอบเลยนะ คุณเป็นครอบครัวที่แข็งแรงหรือไม่ การมีครอบครัวของเราคงไม่ต่างจากครอบครัวของคนอื่น มีทั้งยากและง่าย อยู่ที่เวลาที่คนในครอบครัวมีปัญหา เราแก้ปัญหาและรับมือกับมันอย่างไรมากกว่า”

Advertisement

การเป็นสามี ภรรยา ที่หลายคนเปรียบว่าเหมือนลิ้นกับฟัน ที่ต้องกระทบกันบ้างนั้น ต่ายบอกว่าคู่ของเธอก็เหมือนคนทั่วไป ที่ “ก็มีบ้างที่คิดไม่ตรงกัน แต่พออะไรที่เห็นไม่ตรงกันก็จะคุยกันด้วยเหตุผล ว่าถ้าเขาทำแบบนี้ มันจะเป็นแบบนี้ คุยกันดีๆ”

“แต่ว่าสุดท้ายพอธงของเราคอยอยากเลือกสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิต มันก็ไม่ทำให้เราโกรธกัน”

 

เธอยังบอกด้วยว่าเรื่องที่คิดไม่ตรงกันดังที่เล่า ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของลูก เพราะเอาเข้าจริงเรื่องของเธอกับเขานั้น “ไม่ได้มีอะไรปรับจูนอีกแล้ว”

“เพราะว่าต่างคนต่างเสียสละตัวเองครึ่งหนึ่งเพื่ออยู่ด้วยกัน”

“ถ้าเราเป็นตัวของตัวเองมากเกินไป มันก็ไม่มีคำว่าชีวิตคู่ เวลาทำอะไรก็ต่างคนต่างเกรงใจกัน ถึงอยู่ด้วยกันได้”

ทิมเองก็คิดไม่ต่าง ขณะเดียวกันยังบอกเพิ่มเติมว่า ในความเห็นเขา คน 2 คนที่จะอยู่ด้วยกัน “มีความเสมอต้นเสมอปลาย ซื่อสัตย์ เสียสละ มีน้ำใจกับครอบครัว เกรงใจคนในครอบครัว”

“เพราะถ้าฝ่ายหนึ่งต้องให้ตลอด วันหนึ่งมันก็จะหัก ต้องเสียสละให้กันบ้าง หยวนๆสลับๆกัน” นี่คือคำเสริมจากภรรยา ผู้เห็นด้วยกับคำพูดนี้ของสามีทุกประการ

หนูน้อย ‘พิพิม’

“ต่ายรู้สึกว่าต่ายจะเข้มงวดกว่า” พูดประโยคนี้แล้ว คุณแม่วัย 31 ปี ก็ยิ้ม

“เพราะอยากให้เขาเป็นเด็กดี มีเหตุผล เลยใช้เหตุผลกับเขา ไม่ใช่ตามใจทุกอย่าง อย่างเด็ก 2 ขวบจะเริ่มมีความคิดเป็นของตัวเอง บางทีอะไรที่เล่นไม่ได้ ที่เป็นสิ่งอันตราย เราก็ต้องไม่ใจอ่อน ต้องอธิบายกับเขา ว่าไม่ได้เพราะอะไร แล้วก็อยู่ข้างๆเขา จนเขาหยุดร้องไห้ ต้องอธิบายว่าเราห้ามเพราะอะไร ไม่ได้เป็นแม่ที่ตามใจ แต่ก็ไม่ได้เข้างวดมาก ทางสายกลาง”

ซึ่งเป็นวิธีที่ทิมเห็นด้วยเต็มร้อย

“อายุยังไม่ถึง 3 ขวบ ต้องมีทั้งดึงและดัน แน่นอนว่ามีกรอบ แต่ว่าในขณะเดียวกัน กรอบนี่อาจจะเป็นว่าไปตัดปีกของเขาหรือเปล่า ของบางอย่างให้เด็ก เด็กเอาไปใช้อย่างหนึ่ง  ผู้ใหญ่เอาไปใช้อย่างหนึ่ง แต่เราไม่ได้เข้มงวดทุกเรื่อง เด็กคือเด็ก อย่างกระดาษห้ามฉีก ไม่ได้นะ ถ้าคิดแบบนี้ โลกอาจไม่มีจิตรกรตัดแปะ ไม่มีจินตนาการ ต้องมองในมุมเด็กด้วย ไม่ใช่มองในมุมของผู้ใหญ่ตัดสิน หรือว่าตีกรอบให้เสมอไป”

เขายังบอกอีกว่า “จริงๆการให้ลูกใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติก็ดีนะครับ 10 ปีข้างหน้าเราอาจไม่อยู่ เราไม่รู้ว่าโลกเป็นอย่างไร แต่ว่าถ้าเขามีความสุขง่ายๆกับธรรมชาติ โดยที่ไม่ได้อยู่กับวัตถุก็เป็นเรื่องดี และเป็นคนที่มีจิตสาธารณะ นี่คือสิ่งที่อยากจะปูพื้นฐานให้เขา”

ส่วนแพลนอนาคตว่าโตแล้วอยากให้เป็นอะไร ทิมบอกไม่มีเลย

ที่มีก็แค่อยากให้เป็นคนที่มีจิตสาธารณะดังที่บอก กับมีความเป็นธรรมชาติ และมีวินัย

“ถ้าเขามีทั้ง 3 อย่าง แล้วโตขึ้นมาอยากทำอาชีพไหน ก็ดีทั้งนั้น”

“ถ้าเกิดเราอยากให้เขาเป็นอะไรก็แล้วแต่ แต่ว่าเราไม่ได้สอนพื้นฐานให้ เขาก็จะเป็นจิตรกร หรือนักธุรกิจที่ไม่มีวินัย ไม่มีน้ำใจ คือถ้าเราปูพื้นฐานสามข้อให้เขาแน่นๆ ผมเชื่อว่าที่เหลือเขาก็ไปเลือกของเขาได้ เขาจะเป็นคนดี และเก่งในสิ่งที่เขาเลือก อันนั้นสำคัญกว่า”

และเมื่อถามทั้งคู่ว่า ในวันพักผ่อนที่ครอบครัวได้อยู่กันพร้อมหน้า ถ้าไม่เลือกพักผ่อนอยู่กับบ้านพวกเขามักไปที่ไหน คำตอบที่ได้คือ ถ้าไม่ใช่สวนเบญจกิตติ ก็สวนเบญจศิริ

“เป็นสองสวนที่ไปบ่อย” ทิมบอก

บ่อยจนพอไปถึงแล้วปล่อยลูกลงจากรถ เจ้าตัวก็รู้เลยว่าควรจะตรงดิ่งไปทางไหน

“อยากให้กรุงเทพมีที่ที่เด็กมีความสุขได้โดยที่ไม่ต้องใช้เงิน เพราะชีวิตจะขึ้นจะลงแค่ไหน แต่ถ้าไม่ต้องพึ่งเงินทองมากจนเกินไป ก็มีความสุขแล้ว”

สุขแบบที่เขาและเธอพยายามส่งต่อให้พิพิมผู้เป็นลูกสาว

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image