คงไม่ใช่เรื่องง่าย ที่ใครสักคนจะตัดสินใจทำธุรกิจสำนักพิมพ์ในเวลานี้
เพราะอย่างที่รู้กันอยู่ สถานการณ์ตอนนี้ไม่ค่อยดีนัก แต่ทว่าในช่วงปีที่ผ่านมา กลับมีสำนักพิมพ์น้องใหม่แห่งหนึ่งเกิดขึ้น และสร้างความฮือฮาให้กับแวดวงหนังสือสายวิชาการไม่น้อย จากผลงานที่ตีพิมพ์ แถมบางเล่มกำลังจะพิมพ์ซ้ำอีกด้วย
ใช่แล้ว หนังสือแนววิชาการกำลังจะพิมพ์ซ้ำ… อ่านไม่ผิดหรอก
“Illuminations Editions” ไม่ใช้สำนักพิมพ์ของมหาวิทยาลัยใด แต่เป็นสำนักพิมพ์ของอดีตวิศวกรขุดเจาะน้ำมันที่หลงใหลในวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
การเปลี่ยนเส้นทางชีวิตจาก “แท่นขุดเจาะน้ำมัน” กลางอ่าวเม็กซิโก มาสู่ “แท่นพิมพ์” ของ “พิพัฒน์ พสุธารชาติ” แห่ง “Illuminations Editions” จึงน่าสนใจไม่น้อย
“ผมจบวิศวกรปิโตรเลียมมาโดยตรงเลย จากจุฬาฯ ก็ทำงานด้านนี้มาตลอด โดย 5 ปีสุดท้ายของงานสายนี้คือการทำงานบนแท่นขุดเจาะน้ำมันกลางอ่าวเม็กซิโก ทำงาน 5 อาทิตย์ วันละ 12 ชั่วโมง แล้วกลับมากรุงเทพ 5 อาทิตย์ สลับกันไป ซึ่งผมไม่ได้ชอบแต่ทำเพราะรายได้ดีมาก จริงๆคือผมชอบงานสายมนุษย์ศาสตร์สังคมศาสตร์ อยากเขียนหนังสืออยากอ่านหนังสือ ช่วงทำงานนั้นผมก็เขียนบทความลงวิภาษาอยู่บ่อยๆ สนใจมาสิบกว่าปีแล้ว” พิพัฒน์เปิดเรื่องด้วยรอยยิ้ม
ก่อนเล่าถึงจุดหักเหสำคัญที่ทำให้เขาตัดสินใจเดินออกจากแท่นขุดเจาะน้ำมัน มาสู่สิ่งที่เขารักอย่างเต็มตัว นั่นคือ “ความตาย” ของเพื่อน
“ผมมีเพื่อนคนนึงอายุ 60 กว่า เป็นคนมาเลเซียตำแหน่งเป็น Driller ทำงานบนแท่นเจาะมาหลายปี แต่สุดท้ายโดนไล่ออกเพราะผู้จัดการแท่นเจาะคนจีนต้องการลดต้นทุนแล้วจ้างคนจีนมาทำแทน สุดท้ายเขาอยู่บ้านได้ 3 เดือนแล้วก็ตาย ตายแบบง่ายๆเลยทั้งที่ยังไม่ได้ใช้ชีวิตเท่าไหร่เลย ประกอบกับ 4-5 ปีนี้บริษัทขุดเจาะน้ำมันหางานยาก คนที่ทำอาชีพนี้บนโลกตกงานกันบานเลย ผมต้องกลับมาทำงานที่เมืองไทยประมาณ 1 ปี ผมเลยเริ่มคิดว่าทำงานแล้วต้องลงเอยอย่างนี้เหรอ คิดว่าต้องเปลี่ยนล่ะ อยากทำในสิ่งที่รู้สึกว่ามีคุณค่ากับชีวิตเรา”
“ผมเลยหยุดทำงานขุดเจาะน้ำมัน แล้วไปหาคุณโย-กิตติพล (กิตติพล สรัคคานนท์) ซึ่งรู้จักกันผ่านเฟสบุ๊คนี่ล่ะ พอดีคุณโยต้องการบก.แปลหนังสือของมักซ์ เวเบอร์ (Max Weber) เรื่อง จริยธรรมโปรแตสแตนท์กับจิตวิญญาณของทุนนิยม ผมคิดว่าถ้าช่วยการแปลงงานชิ้นนี้ของเวเบอร์ให้เสร็จเนี่ย ผมคงตายอย่างมีคุณค่าขึ้นซักหน่อย ก็เลยทำ ยิ่งทำให้มีโอกาสเจอคุณโยมากขึ้น แล้วก็บอกเขาว่าผมอยากทำหนังสือ”
“Illuminations Editions” เพิ่งสร้างมาได้ปีเดียว แต่พิพัฒน์ พสุธารชาติ ทำให้ “คราสและควินิน” ที่ตนเองเขียน ได้รับเลือกจาก 101.world ให้เป็น 1 ใน 12 เล่ม ‘ความน่าจะอ่าน 2017’ ซึ่งโตมร ศุขปรีชา บอกว่า เป็นความพยายามครั้งสำคัญในการท้าทายและรื้อสร้าง “ปากไก่และใบเรือ” ของ ศ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ขณะที่ “Autonomia” และ “แผนที่สร้างชาติ” โดย ผศ.ดร.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ ก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน และกำลังจะพิมพ์ซ้ำทั้ง 2 เล่ม
“ทำหนังสือที่มีเนื้อหาอะไรก็ได้ที่ผมชอบ แต่ถ้าไม่ชอบผมก็ไม่พิมพ์ แต่บังเอิญว่าเล่มแรกที่ทำ เราขายดีเกินคาด ที่สำคัญคือต้องเป็นความรู้ใหม่ที่ทำให้คนเกิดการถกเถียง ที่ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า provocative คือถ้าอ่านแล้วไม่มีอะไรใหม่ๆให้คนอ่าน ก็ไม่รู้จะทำหนังสือเล่มนี้ไปทำไม
เล่มแรก Autonomia ของอ.เก่งกิจ ขายดีจนทำให้ผมแปลกใจ ทำให้รู้ว่าบ้านเรายังมีคนที่สนใจจะอ่านหนังสือแนวจริงจังแบบนี้อยู่ ผมมองว่าเป็นเพราะว่าสังคมตอนนี้มันแย่ คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกไม่พอใจ เครียดกับสิ่งที่เป็นอยู่ แต่พูดอะไรในที่สาธารณะก็ไม่ค่อยได้ คนเลยอยากเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ผมก็อยากจะสร้างงานที่ช่วยเสริมสร้างความคิดให้กับพวกเขา มีครั้งหนึ่ง อ. เก่งกิจไปทำงานที่ภาคอีสาน เจอคนอ่านทั่วไปคนหนึ่ง ที่ไม่ใช่เป็นนักวิชาการเขาบอกว่าอ่าน Autonomia ไป 3 รอบแล้ว นอกจากนี้บ้านเรายังมีงานวิจัยและวิทยานิพนธ์ ที่ดีๆเยอะแยะแต่ยังไม่ได้พิมพ์ ผมก็อยากทำตรงนี้” พิพัฒน์กล่าวด้วยรอยยิ้ม ก่อนที่จะหยิบผลงานใหม่ที่กำลังอยู่ระหว่างการตีพิมพ์มาให้เราดู
“เล่ม ‘กุญแจแห่งฟากฟ้า: เรขาคณิตวิเคราะห์ จากกรีกโบราณ จนถึงนิวตัน’ ปรับมาจากวิทยานิพนธ์ของ ‘อ. ศุภวิทย์ ถาวรบุตร’ คือผมสนใจคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ผมสนใจนิวตันและโยฮันน์ เคปเลอร์ มาก่อนแล้วตอนที่เขียนหนังสือเล่มแรก คือ ปลายทางที่อินฟินิตี้ แล้วก็มาเจองานของอ.ศุภวิทย์ทีหลัง คือหลายคนคิดว่าวิชาเลขมีจุดมุ่งหมายคือการหาคำตอบ มีการเรียนรู้การแก้สูตร ได้คำตอบแล้วจบ แต่ว่าก่อนหน้าที่จะมีคนคิดสูตรขึ้นมาได้นี้ มันเกิดขึ้นมาได้ยังไง มันมีบริบทอย่างไร คนส่วนมากไม่ได้รู้เรื่องนี้มาก่อน แต่เล่ม กุญแจแห่งฟากฟ้าฯ นี้บอกเลยว่าก่อนที่นิวตันจะเปลี่ยนโฉมวิทยาศาสตร์ของโลกได้ มีอะไรเกิดมาก่อนแล้ว เช่น โคปเปอร์นิคัส คนอย่างเคปเลอร์ กาลิเลโอ ซึ่งนิวตันเอางานจากคนเหล่านี้มาปรับปรุงเพิ่มเติม ทำให้ที่แท้จริงแล้วเขายืนอยู่บนใหล่ของยักษ์ ไม่ใช่เขาคิดเองได้ มันเป็นเหมือนหนังสือที่เล่าถึงประวัติศาสตร์ของคณิตศาสตร์ที่สนุกมาก อีกเล่มคือ หยดเลือด จารึก และแท่นพิมพ์ฯ เป็นวิทยานิพนธ์ปริญญาโทของ ‘ผศ. ดร. ทวีศักดิ์ เผือกสม’ เล่มนี้กำลังทำอยู่ กำลังจะเปิดพรีออเดอร์ปกแข็งเร็วๆนี้” เขากล่าวด้วยแววตาเป็นประกาย
สวยมาก คือความรู้สึกแรกของเราที่เห็นทุกเล่มจาก Illuminations Editions ไม่ใช่เพียงเนื้อหาคุณภาพเท่านั้น พิพัฒน์ยังให้ความสำคัญกับดีไซน์ในทุกรายละเอียดอีกด้วย แม้กระทั่งกระดาษจับดูก็รู้ว่าใช้กระดาษพิเศษ แต่ท่ามกลางคุณภาพและความงาม ราคากลับไม่เคยแพง เพราะเจ้าสำนักตั้งใจที่จะกระจายความรู้เหล่านี้ในวงกว้าง
“ผมเพิ่งซื้อลิขสิทธิ์งานแปลมา 11 เล่ม ส่วนตัวเป็นคนประหยัดไม่ได้ใช้เงินอะไรนักหนาก็ทุ่มให้กับหนังสือไป แล้วยังมีงานเขียนของอาจารย์อีกหลายท่านด้วย กระจายความเสี่ยงไปในหลายๆโปรเจ็ค” พิพัฒน์บอกด้วยเสียงหัวเราะหนึ่งในเล่มนั้นก็ทำให้เราถึงกับตาโต เพราะคืองานของโปรเฟซเซอร์ Patrick Jory ที่สร้างความฮือฮาได้อย่างมากตอนที่ตีพิมพ์อย่าง “Thailand’s Theory of Monarchy”
“งานของอ. Patrick Jory แปลเสร็จไปแล้ว 80% เป็นการพูดถึงการแปรเปลี่ยนของราชาคติในประวัติศาสตร์ไทย ความเกี่ยวข้องกันระหว่างพระเวสสันดรชาดกกับความเชื่อเรื่องกษัตริย์ของไทย ชื่อไทยในตอนนี้คือ บารมีพรรณา : การกลายพันธุ์ของราชาคติในประวัติศาสร์ไทย อีกเล่มที่ภูมิใจมากคือกำลังทำเรื่อง ศาสนากับความรุนแรง มีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ 8 ท่านมาช่วยกันเขียนบทความเกี่ยวกับปัญหาที่เกี่ยวข้องกับศาสนาจากหลายประเทศ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่สำนักพิมพ์เล็กๆ จะเชิญอาจารย์มาเขียนได้ ตอนนี้กำลังปรู๊ฟอยู่”
พิพัฒน์บอกว่า Illuminations Editions เพิ่งเริ่มเติบโต แต่เขาจะตั้งใจทำให้ดีที่สุด เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมสร้างการถกเถียงทางความรู้ให้สังคมไทย เพราะเขาเชื่อมั่นว่าความรู้จะก้าวหน้าได้ต้องมีการถกเถียง การถกเถียงทางความรู้นั้นเอง จะทำให้คนได้ฉุกคิด ในสิ่งที่เขาไม่ทันคิดมาก่อน
“ประเทศไทยความเหลื่อมล้ำสูงมากติดอันดับโลก ความเหลื่อมล้ำที่สูงมากแปลว่ามีคนที่เงินเยอะมากอยู่ไม่กี่คน มันเกิดได้ยังไง มันมาจากโครงสร้างที่บิดเบี้ยวและไม่ยุติธรรมหรือไม่ เพื่อที่จะแก้ไขในสิ่งเหล่านี้ เราจะต้องทำสงครามทางความคิดให้ได้ คงต้องใช้เวลาเป็นสิบๆปี แต่ผมก็ตั้งใจที่จะให้สำนักพิมพ์เป็นส่วนผลักดันตรงนี้ทำในสิ่งที่เราพอทำได้ ทำให้สังคมดีขึ้น”
………….
ดอกฝน