‘ยิปซี แอร์ส’ ถึงไทย โดยนักไวโอลินชื่อก้องโลก

‘จันทร์กระจ่างฟ้า นภาประดับด้วยดาว โลกสวยราว  เนรมิตประมวลเมืองแมน / ลมโชยกลิ่นมาลา กระจายดินแดน เปรียบพี่แสน คนึงถึงน้องนวลจันทร์ / งามใดหนอ…..’

ถ้าใช้วัยรุ่นวันนี้เป็นตัวตั้ง เพลงดังกล่าวข้างต้น ก็ไม่ถือเป็นเพลงรุ่นพ่อรุ่นแม่แล้ว แต่ถือเป็นเพลงรุ่นปู่ย่าตายายที่เคยได้ยิน และว่าอันที่จริง เป็นเพลงคุ้นเคยของคนรุ่นทวดเสียด้วยซ้ำ

เพียงแต่เพลงนี้ถูกขับร้องยาวนานมาถึงรุ่นชรินทร์ นันทนาคร , จินตนา สุขสถิตย์ กระทั่งรุ่นหลาน อุเทน   พรหมมินทร์ ความงดงามของเนื้อไทยจึงยังมีชีวิตอยู่

หมายความว่าอย่างไร เพลงนี้ไม่ใช่เพลงไทยหรือ

Advertisement

แน่นอน คำร้องเป็นคำไทย เขียนโดย เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เมื่อปี  2477 แต่ทำนองนั้นมาจากท่อนที่ 3 ของเพลง ซิกอยแนร์ไวเซน (Zigeunerweisen)  หรือที่รู้จักกันอีกนามว่า ยิปซี แอร์ส (Gypsy Airs) อันลือลั่นโลกที่คีตกวีและนักไวโอลินชาวสเปน พาโบล เดอ ซาราซาเต ในยุคโรแมนติคเขียนไว้     ยาวระหว่าง 8 ถึง 10 นาที แล้วแต่ผู้เล่นคนไหนจะตีความเร็วช้า จากความไพเราะอ่อนหวานของท่วงทำนองและเทคนิคอันแพรวพราย

อ่านถึงตรงนี้ ใครใจร้อนก็อาจเปิดยูทู้ปเข้าไปฟังก่อนได้ ทั้งจากนักไวโอลินระดับโลกหลายต่อหลายคน และเสียงไทยในชื่อเพลง คิดถึง

ใช้วิทยาการได้ถูกเรื่องก็ดีอย่างนี้เอง

Advertisement

อารัมภบทถึงเพลงนี้มายาวด้วยเหตุใด ก็ด้วยเหตุที่มิตรรักนักเพลงสมควรจะตื่นเต้น เมื่อเพลงนี้มาถึงไทยแล้ว และจะแสดงโดยนักไวโอลินระดับโลก

ผู้ทำงานกับวงอาร์บีเอสโอ (รอแยล บางกอก ซิมโฟนี ออร์เคสตรา) มาอย่างต่อเนื่อง วิทยา ตุมรสุนทร แจ้งข่าวน่ายินดีว่า  มูลนิธิวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุ งเทพ จะร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม จัดคอนเสิร์ทเทอดพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณฯ  รายการ โจชัว เบลล์ เพลย์ส แมกซ์ บรุค ไวโอลิน คอนแชร์โต แอนด์ พาโบล ซาราซาเต  อังคารที่ 4 กันยายนนี้ 20.00 น. ณ หอประชุมศูนย์วัฒนธรรมไทย

ขึ้นต้นเรื่องวันนี้  ด้วยเพลงสุดยอดอมตะที่ชาวไทยและชาวโลกรู้จัก แต่ไวโอลินคอนแชร์โตของบรุค ก็เป็นงานที่ชาวดนตรีคลาสสิคทั่วโลกซาบซึ้งในความยอดเยี่ยมกันดี ด้วยการเริ่มต้นอย่างเศร้าสร้อยจับใจ ก่อนจะค่อยๆเข้มข้นขึ้นโดยสลับความเพราะพริ้งไว้เป็นระยะ ติดตามด้วยท่อนกลางอันหวานซึ้ง คลอทำนองไปกับวงอย่างงดงามมีชีวิตชีวา จนระงมสรรพสำเนียงขึ้นสูงในท้ายที่สุด  และจบลงอย่างยิ่งใหญ่สง่างาม

ถือเป็นเพลงเดี่ยวไวโอลินที่นักไวโอลินทั้งหลายต้องเล่น และนักฟังเพลงทั้งหลายต้องฟังแล้วฟังอีก จนเสียงเพลงนี้เป็นอีกเพลงที่ไม่มีวันจางหายไป

จึงเป็นอีกโอกาสสุดยอดที่นักฟังเพลงต้องไม่พลาด และผู้สนใจใคร่รู้ในสุนทรียรสต้องไปเปิดหูเปิดตา

ส่วนโจชัว เบลล์ นักไวโอลินอเมริกันรูปหล่อวัย  50  ปีนั้น ผลงาน  30  ปีที่ผ่านมาสาธยายไม่หวาดไม่ไหว     แค่งานจิ๊บจ๊อยเช่นเดี่ยวไวโอลินประกอบหนัง เดอะ เร้ด ไวโอลิน ก็คว้าออสการ์ไป ทั้งเคยเข้าชิงเพลงประกอบสารคดี เชสซิ่ง ไอซ์ (Chasing Ice)  ในเพลง บีฟอร์ มาย ไทม์ ที่ดาราสาว สการ์เลท โจแฮนสัน  เป็นผู้ขับร้องอีกด้วย

ผลงานบันทึกเสียงก็มีอีกสารพัด ล่าสุดอัลบั้ม14 แผ่นของ บราห์มส์ ก็ดังโดด รวมถึง บาค กับซิมโฟนีของ เบโธเฟน ที่ได้รับความนิยมจนขึ้นอับดับหนึ่ง นี่เป็นผลงานส่วนน้อยเท่านั้ นเอง

เบลล์มาไทยคราวนี้กับไวโอลินคู่ใจซึ่งมีชื่อเล่นว่า สตราดิวาริอุส เอ็กซ์-ฮูเบอร์แมน ที่สร้างแต่ปี 2256  ในยุคทองของนักผลิตไวโอลินชื่อก้องของโลก อันโตนิโอ สตราดิวาริอุส ชาวอิตาเลียนเมืองเครโมนา     มูลค่าหลายร้อยล้านเหรีญ ซึ่งมีเสียงที่ไพเราะเป็นเลิศ ก่อนนี้เคยถูกขโมยไปสองครั้ง และหายไปนานถึง 50 ปีจึงตกมาถึงมือเบลล์

เที่ยวนี้จึงเป็นโอกาสดีว่า หอประชุมวัฒนธรรมที่สร้างด้วยเงินช่วยเหลือจากญี่ปุ่น 600  ล้านบาท เปิดใช้เมื่อ 2528 กับไวโอลินเงินล้านอายุหลายร้อยปี จะอุ้มเสียงสอดรับความงดงามกันได้ขนาดไหน

เบลล์ยังเคยเล่นเปิดหมวกริมถนนมาแล้ว เพื่อพิสูจน์ทฤษฎีว่า ถ้าไม่ใช่คนดังแม้มีฝีมือเป็นเลิศคนก็ไม่สนใจ     ผลคือคนไม่สนใจจริงๆ ฮาไม่ออก

คอนเสิร์ทครั้งนี้อำนวยเพลงโดย Charles Olivieri-Munroe ผู้อำนวยเพลงชาวแคนาดา

บัตรเข้าชมราคา 800 , 2,000 , 3,500 , 5,000 บาท และทุกราคาลด 20 เปอร์เซนต์สำหรับผู้ถือบัตรมาสเตอร์การ์ดและวีซาธนาคารกรุงเทพ ทั้งยังลด 50 เปอร์เซนต์สำหรับนักเรียนนักศึกษาไม่เกินปริญญาตรี  ซื้อบัตรได้สะดวกที่ไทยทิคเก็ต

สำหรับบัตรห้าพันนั้น เป็นบัตรพิเศษ ได้เข้าร่วมงานเลี้ยงรับรองศิลปินกับแขกรับเชิญหลังเสร็จการแสดง     ได้ถ่ายภาพหรือเซลฟี่กับศิลปินด้วย

ผู้สนใจไต่ถามรายละเอียดและจองบัตรพิเศษได้ที่มูลนิธิ โทร. 02-2556617-8  และ  02-2544954 ได้ในเวลาราชการจันทร์ถึงศุกร์

อย่าพลาดทีเดียวเชียว พบกันแน่นอนวันแสดง.

อารักษ์

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image