จากพื้นผิว ถึงโครงสร้าง สู่อุดมการณ์ การศึกษา “วรรณคดี” บนพื้นฐานของกรอบทฤษฎ

ไม่บ่อยครั้ง ที่จะมีหนังสือเกี่ยวกับวรรณคดีศึกษาตีพิมพ์ขึ้นมาสักเล่มหนึ่ง อาจเพราะในแง่ของเชิงธุรกิจ เข้าใจเลยว่าสายวรรณคดีศึกษาคงเป็นกลุ่มคนอ่านที่เฉพาะกลุ่มมากๆ

เมื่อเจอหนังสือ ฿วรรณคดีศึกษา: จากพื้นผิว ถึงโครงสร้าง สู่อุดมการณ์฿ โดย ผศ.ดร.เสาวณิต จุลวงศ์ จึงพลาดไม่ได้ที่หยิบยกมาแนะนำกัน เพราะงานเขียนเล่มนี้มีความน่าสนใจหลายประการ ที่สำคัญคือไม่ได้มีประโยชน์เพียงผู้อ่านสายวรรณคดีเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสายมนุษย์ศาสตร์-สังคมศาสตร์โดยรวมอีกด้วย

“วรรณคดีศึกษา: จากพื้นผิว ถึงโครงสร้าง สู่อุดมการณ์” เกิดขึ้นจากการที่ผู้เขียนต้องการแสดงให้เห็นถึงการศึกษาวรรณคดีในแนวทางต่างๆทั้งเก่าและใหม่ เพื่อให้เห็นถึงความเป็นไปได้ของของการนำทฤษฎีมาใช้ในการศึกษาวรรณคดี

ในบทนำของหนังสือ The Theory of criticism from Plato to the present โดย Raman Selden ได้กล่าวถึงวิวาทะกันทางความคิดระหว่างแนวการวิจารณ์ดั้งเดิมกับแนววิจารณ์ใหม่ที่เกิดขึ้นในคริสต์ศตวรรษ 1960 ซึ่งกลุ่มการวิจารณ์ดั้งเดิมร้องทุกข์ว่ากลุ่มการวิจารณ์ตามแนวทฤษฎีใหม่ทำเสมือนว่าทฤษฎีการวิจารณ์ไม่แคยเกิดขึ้นมาก่อนที่จะมี รอล็อง บาร์ต และ ฌาคส์ แดร์ริดา ซึ่งการวิวาทะดังกล่าวต่างกับวงการศึกษาและการวิจารณ์วรรณคดีไทย ซึ่งมักจะยืนยันการอ่านวรรณคดีโดยไม่ต้องอิงทฤษฎี

Advertisement

ผศ.ดร.เสาวณิตอธิบายว่า หากอ้างอิงทรรศนะของกลุ่มการวิจารณ์ดั้งเดิมของตะวันตกดังที่ยกมาข้างต้น จะเห็นว่าการวิจารณ์และการศึกษาวรรณคดีไม่ว่ายุคสมัยใด ล้วนแต่มีทฤษฎีเป็นกรอบความคิดหรือเป็นพื้นฐาน เพราะทฤษฎีคือฐานที่รองรับการคิดของเราในแบบต่างๆ และที่จริงแล้วการศึกษาวรรณกรรมไทยที่ผ่านมาล้วนตั้งอยู่บนพื้นฐานของความคิดทางทฤษฎีอย่างใดอย่างหนึ่ง เพียงแต่มักมิได้ตั้งต้นทำความเข้าใจแต่แรกเริ่มของการศึกษาว่า แนวทางการศึกษาของเราอยู่ในกรอบความคิดอะไรหรือทฤษฎีใด

เมื่อการศึกษาวรรณคดีมีหลายแนวทาง และมีความเปลี่ยนแปลงเรื่อยมาในแต่ละช่วงเวลา โดยอาจจำแนกแนวทางของการศึกษาจากระดับของการเข้าสู่ตัวบท เป็นระดับพื้นผิว ระดับโครงสร้าง และระดับอุดมการณ์ โดยการศึกษาที่สำรวจหรือเข้าไปแตะต้องจัดการกับสิ่งที่ปรากฏเป็นตัวบท ได้แก่ เนื้อหา ภาษา และกลวิธี อาจเรียกได้ว่าเป็นการศึกษาในระดับพื้นผิว โดยเนื้อหาในระดับพื้นผิวนั้นจะศึกษาเนื้อเรื่องและแนวคิด ส่วนภาษาและกลวิธี คือคำ ความหมาย ลีลา ฉันทลักษณ์ รูปแบบ วรรณศิลป์ รวมไปถึงกลวิธีการแต่งนั่นเอง

สำหรับเราแล้ว จากประสบการณ์ที่เคยเจอมา ยืนยันเลยว่าการศึกษาระดับพื้นผิวสำคัญมาก อย่าดูแคลนอย่างที่เราเองเคยรู้สึก เพราะนี่คือ “การอ่านละเอียด” ถ้าพื้นฐานไม่แน่น จะก้าวไปสู่โครงสร้างหรืออุดมการณ์ไม่ได้เลย ซึ่งผศ.ดร.เสาวณิตเองก็อธิบายเช่นนั้น

Advertisement

ในขณะที่การศึกษาวรรณคดีในระดับโครงสร้าง คือการมองวรรณคดีทะลุผ่านระดับของเนื้อเรื่องและภาษา เข้าไปสู่สิ่งภายในที่ประกอบขึ้นเป็นองคาพยพแห่งตัวบท นั่นต้องอาศัยการมองอย่างเข้าใจก่อนว่า วรรณคดีคือตัวบท ไม่ใช่ผลงาน การศึกษาในระดับโครงสร้างจึงมุ่งค้นหาการทำงานขององค์ประกอบภายในที่ผลต่อการประกอบสร้างตัวบท และความหมายในตัวบท โดยแนวทางการศึกษาแบ่งได้ 2 ทางคือ การศึกษาแนวศาสตร์แห่งเรื่องเล่า และแนวสัญศาสตร์ หรือสัญวิทยา

สุดท้ายคือการศึกษาอุดมการณ์ ซึ่งเป็นคำที่ใช้ในกรอบความคิดแบบลัทธิมาร์กซ์ หมายถึงสรรพสิ่งซึ่งแฝงฝังจิตสำนึกทางสังคมของบุคคล  แนวทางการศึกษาลักษณะนี้มักเป็นการศึกษาแนวหลังโครงสร้าง ที่อาศัยแนวคิดและแนวทางการศึกษาแบบต่างๆอย่างไม่จำกัด เช่น การรื้อสร้าง วาทกรรม มายาคติ ภาพแทน และอื่นๆแล้วแต่ความเหมาะกับคำถาม,คำตอบในการศึกษาของตัวเอง

ในการศึกษาอุดมการณ์ มีบทความหนึ่งที่อยากแนะนำให้อ่านมากๆ คือ “รอยแยกของความคิดในกวีนิพนธ์การเมืองยุคแบ่งสีแบ่งข้าง” เป็นการศึกษากวีนิพนธ์การเมืองร่วมสมัย เพื่อค้นหาความคิดเบื้องหลังการแตกแยกทางความคิดทางการเมืองในสังคมไทยปัจจุบัน โดยวิเคราะห์ตีความเนื้อหาและแนวคิดทางการเมืองในกวีนิพนธ์ปัจจุบันเปรียบเทียบกับอดีต เพื่อให้เห็นอุดมการณ์ที่กำกับการมองสภาพการเมือง ที่แปรมาเป็นเนื้อหาและแนวคิดอย่างที่ปรากฏในกวีนิพนธ์การเมืองร่วมสมัย

ขั้วตรงข้ามในปัจจุบัน กลับมีต้นทางมาจากสายธารอุดมการณ์เดียวกัน ในวันที่น้ำแยกสาย ไผ่แยกกอ จุดยืนที่ต่างขั้วส่งผลให้มองสภาพการณ์ปัจจุบันไปคนละมุม และวิพากษ์วิจารณ์ซึ่งกันและกัน

เป็นอีกเล่มหนึ่งที่ต่อให้ไม่เรียนวรรณคดี ก็อยากแนะนำให้อ่านกัน

…………………….

ดอกฝน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image