กองเกวียนคนทุกข์ จอด-ลดธงอาลัย “หว่อง คาราวาน”

วงการเพลงสูญเสียครั้งสำคัญ เมื่อ หว่อง คาราวาน หรือ มงคล อุทก มือพิณ นักร้องและนักแต่งเพลงแห่งวงเพื่อชีวิตระดับตำนาน “คาราวาน” เสียชีวิตกะทันหัน เมื่อคืน 14 ก.ย.ที่ผ่านมา
โดยเป็นลมล้มที่ลานจอดรถร้านอาหารย่านนนทบุรี ขณะกำลังจะขึ้นรถเพื่อขับกลับบ้าน แม้ว่าหน่วยกู้ชีพพยายามปั๊มหัวใจยื้อชีวิต แต่ไม่เป็นผล
สาเหตุมาจากหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน
การเสียชีวิต ทำให้วงคาราวานเหลือสมาชิกดั้งเดิม 3 คน
คือ สุรชัย จันทิมาธร หรือน้าหงา , ทองกราน ทานา หรือน้าอืด และ แดง วีระศักดิ์ สุนทรศรี
อีกคนที่เคยร่วมงานกับคาราวาน คือ พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ แต่ได้แยกตัวทำงานเดี่ยวหลังออกจากป่า

หว่องหรือมงคล อุทก เกิดเมื่อ 10 พ.ค. 2494 ที่ อ.พนมไพร จ.ร้อยเอ็ด
เข้าสู่วัยหนุ่มในปี ปี 2515 -2516 เรียนหนังสือที่วิทยาลัยเทคนิคโคราช แหล่งรวมศิลปินปัญญาชนแห่งที่่ราบสูงในยุคนั้น และเมืองฐานทัพทหารอเมริกันในสงครามเวียดนาม
ระหว่างอยู่ชั้นปีที่ 2 ประสบอุบัติเหตุต้องตัดขาข้างหนึ่ง และใส่ขาเทียม
ในปี 2514 หรือ 1971 จอร์จ แฮริสัน อดีตสมาชิกบีทเติ้ลส์ ผู้สนใจปรัชญาตะวันออกและปราชญ์อินเดีย จัดคอนเสิร์ตการกุศล The Concert for Bangladesh ร่วมกับพรรคพวก
อาทิ ระวี ชางการ์ มือซีต้าร์ อาลี อัคบาร์ข่าน สองศิลปินอินเดียมีบรรพบุรุษสืบเชื้อสาย จากบังกลาเทศ , ริงโก สตาร์ อดีตบีทเติ้ลส์ , บ็อบ ดีแลน , เอริค แคลปตัน , บิลลี เพรสตัน, ลีออน รัสเซล และวงแบดฟิงเกอร์ ในสังกัดแอพเพิลเร็คคอร์ดส์ ของบีทเติ้ลส์
การแสดงมีขึ้นเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2514 ( 1971 ) ที่เมดิสันสแควร์การ์เด้น นิวยอร์กซิตี้ เพื่อให้นานาประเทศ เกิดความสนใจและหาทุนบรรเทาทุกข์ผู้อพยพจากปากีสถานตะวันออก หรือบังกลาเทศในปัจจุบัน หลังจากเกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ในสงครามปลดปล่อยบังกลาเทศ
บันทึกการแสดงสด กลายเป็นอัลบั้มขายดี ตามาด้วยภาพยนต์ออกฉายทั่วโลกในปี 2515 และเข้ามาฉายในประเทศไทยในเวลาต่อมา
ชื่อของบังกลาเทศโด่งดังไปทั่้วโลก และพลังจากดนตรีในครั้งนั้น เป็นแรงบันดาลใจให้มงคลก่อตั้ง “บังคลาเทศแบนด์” ร่วมกับทองกราน ทานา ชาวอ.ประทาย นครราชสีมา ผู้เล่นไวโอลิน ฟลุต และกีตาร์ ด้วยมือซ้าย
มงคล เล่นกีตาร์ ก่อนมาเล่นพิณ และเมาธ์ออร์แกน

ปี 2516 เป็นปีแห่งการลุกขึ้นสู้ของประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516
หลังจากนักศึกษาประชาชน เคลื่่อนไหวเรียกร้องรัฐธรรมนูญ เรียกร้องประชาธิปไตยจากรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร
จอมพลถนอมสืบทอดอำนาจเผด็จการต่อจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ถึงแก่อสัญกรรมในปี 2506 โดยในระยะแรกได้ดำเนินการยึดทรัพย์จอมพลสฤษดิ์ ซึ่งร่ำรวยผิดปกติ
และจัดการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2512 โดยตั้งพรรคสหประชาไทยมารวบรวมส.ส. แล้วเป็นนายกฯ ต่อ ก่อนทำปฏิวัติตัวเองในปลายปี 2514 กลับมาเป็นนายกฯในระบบเผด็จการใหม่
หลังปฏิวัติ 2514 ประชาชนเบื่อหน่ายชีวิตภายใต้ระบบเผด็จการ ขณะที่กระแสเสรีภาพจากต่างชาติเดินทางผ่านปัญญาชน อาจารย์มหาวิทยาลัยเข้ามาในประเทศ
นิสิตนักศึกษาในยุคนั้น เคลื่อนไหวตั้งคำถาม ออกหนังสือนำเสนอความคิด ความรู้สึกต่อระบบ
มีการตั้งศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย รวบรวมพลังนักศึกษา เคลื่อนไหวในปัญหาการเมือง และเศรษฐกิจ อาทิ การต่อต้านการครอบงำทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น
เดือนเม.ย. 2516 คณะนายทหารและตำรวจชั้นผู้ใหญ่ 60 คนไปตั้งค่ายพักแรม ใช้อาวุธสงครามล่าสัตว์ป่าภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จังหวัดกาญจนบุรี ขากลับ เฮลิคอปเตอร์ลำหนึ่ง ตกที่อำเภอบางเลน นครปฐม มีผู้เสียชีวิต 6 คน พบซากสัตว์ป่า โดยเฉพาะซากกระทิง จำนวนมาก
จอมพลถนอมนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นแถลงว่า เฮลิคอปเตอร์ลำที่ตกไปราชการลับ ศูนย์นิสิตออกหนังสือชื่อ “บันทึกลับจากทุ่งใหญ่” เปิดโปงกรณีนี้
ตามด้วยหนังสือชื่อ “มหาวิทยาลัยที่ไม่มีคำตอบ” โดยนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง นำเอาเรื่องทุ่งใหญ่มาเสียดสีการต่ออายุราชการให้จอมพลประภาส จารุเสถียร
ทำให้อธิการบดี สั่งลบชื่อนักศึกษา 9 คน ออกจากมหาวิทยาลัย เป็นจุดเริ่มต้นของการประท้วงใหญ่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในเดือน มิ.ย. 2516

จากปัญหาในมหาวิทยาลัย มาสู่ปัญหาการเมือง ผู้ชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลคืนอำนาจใน 6 เดือน ตอนแรกรัฐบาลมีท่าทีแข็งกร้าว แต่ผู้ชุมนุมเพิ่มขึ้น จนรัฐบาลต้องถอย และปลดอธิการบดี ม.รามคำแหง
ขณะที่สงครามเวียดนามเพิ่มความรุนแรง ฐานทัพอเมริกันในประเทศไทย เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ประเทศไทยว่าสนับสนุนมหาอำนาจมาทิ้งระเบิดชาวเวียดนามที่ต่อสู้เพื่อเอกราช
ศิลปินอเมริกัน ยุโรป ต่างคัดค้านสงคราม เรียกร้องให้รัฐบาลอเมริกันถอนทหาร เกิดขบวนการฮิปปี้เรียกร้องสันติภาพ ดนตรีร็อค เฮฟวี่ร็อค ดนตรีโฟล์ก และดนตรีเฮฟวี่ ต่างแสดงบทบาทคัดค้านสงคราม
ฐานทัพทหารอเมริกันที่โคราช ทำให้วัฒนธรรมเพลงอเมริกันหลั่งไหลเข้ามา ทองกรานฟังเพลงจากแผ่นเสียง กลายเป็นต้นทุนในการเล่นดนตรีในเวลาต่อมา
เมื่อนักศึกษาประชาชนออกมาเรียกร้องรัฐธรรมนูญ และถูกเจ้าหน้าที่จับกุม เกิดการชุมนุมประท้วงที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขยายออกมาที่ถนนราชดำเนิน
รัฐบาลใช้กำลังทหาร ตำรวจและอาวุธสงครามเข้าปราบปราม จนระเบิดออกมาเป็น 14 ตุลา ฯ 2516 ที่มีประชาชนบาดเจ็บล้มตาย
แต่การลุกขึ้นสู้ของประชาชนในครั้งนี้ แลกมาด้วยห้วงเวลาประชาธิปไตย
เหล่านี้คือสถานการณ์การเมืองและวัฒนธรรม ที่บ่มเพาะ มงคลกับทองกราน และวง “คาราวาน”

Advertisement

หลัง 14 ตุลาฯ 2516 กิจกรรมนักศึกษาเบ่งบาน ขยายไปทั่วประเทศ
มงคลกับบังกลาเทศแบนด์ นำเอาเพลง ” กุลา” ของคาราวาน มาเล่นด้วยพิณในการแสดงที่โคราช สุรชัยได้ยินชอบใจ ติดตามตัวมาร่วมวง
ปี 2517 บังกลาเทศแบนด์กลายเป็นส่วนหนึ่งของคาราวาน
ออกผลงานเพลงเพื่อชีวิต ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง
ผลงานของคาราวานมีทั้งแผ่นเสียงทั้งแผ่นเล็กและแผ่นลองเพลย์ ที่ปัจจุบันราคาสูงลิ่ว
และเทปคาสเซตต์ ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง
เพลงดังของคาราวานที่ มงคล มีส่วนร่วม มีตั้งแต่ “คนกับควาย” ที่ถือเป็นตำนานเพลงประท้วง ทำนองจาก Master of War ของบ็อบ ดีแลน
เพลง“เปิบข้าว” เนื้อเพลงมาจากบทกวีของจิตร ภูมิศักดิ์
เพลง” จิตร ภูมิศักดิ์ “ จากทำนองเพลง John Barley Corn ของวงอังกฤษ Traffic
“ตายสิบเกิดแสน” ทำนอง จาก A Hard Rain ‘s Gonna Fall ของบ็อบ ดีแลน
เพลง” นกสีเหลือง” ผลงานของ ” วินัย อุกฤษณ์”
เพลงที่ผสมทำนองเพลงพื้นบ้าน กับโฟล์กของตะวันตก อย่าง “แปนเอิดเติด ” ” กระต่าย เต่า นกแสงตะวัน ”
เพลงดังของมงคลในยุคนี้ คือ “ลุกขึ้นสู้ ”
ฯลฯ
ในฐานะวงเพื่อชีวิตที่ล้ำยุคด้วยแนวคิด และแนวเพลงเป็นเอกลักษณ์ คาราวานรับเชิญไปแสดงออกทีวีช่องต่างๆ ทั้งต่างจังหวัดและกรุงเทพ รวมถึงช่อง 3 ทำให้รายการถึงกับถูกยกเลิก
คาราวานกลายเป็นวงต้องห้าม ยิ่งทำให้ผู้คนสนใจอยากฟัง
คาราวาน และกรรมาชน วงเครื่องไฟฟ้า ของนักศึกษามหิดล เป็นต้นแบบให้เกิดวงเพื่อชีวิต วงเพื่อการเคลื่อนไหวต่อสู้อีกมากมาย เพื่อตอบสนองการชุมนุมต่างๆ ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในยุคนั้น
ยุคประชาธิปไตย หลัง 14 ตุลาฯ ผิดฉากด้วยเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาฯ 2519
วงคาราวานเดินทางเข้าป่าทางภาคอีสาน ร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หรือพคท. ซึ่งสนับสนุนให้ศึกษาดนตรีเพิ่มเติม และสร้างผลงานในช่วงนี้ไว้อีกมากมาย
1 ในเพลงที่ระลึกจากการต่อสู้ในช่วงนี้คือ ” ถั่งโถมโหมแรงไฟ” แสดงท่าทีสนับสนุนการต่อสู้ของพรรคฯในระยะนั้น

คาราวานออกจากป่า ปรากฎตัวในเวทีแรกคือ” คอนเสิร์ตฟอร์ยูนิเซฟ” ในปี 2525 รายงานตัวต่อผู้ฟังแน่นหอประชุมธรรมศาสตร์
จากนั้นเป็นต้นมา คาราวานกลับเข้าสู่วิถีปกติของนักดนตรี ที่ต้องออกแสดง สร้างผลงาน รวมถึงเขียนหนังสือ เขียนบทกวี
ออกผลงานมากมายเข้าสู่ตลาดเมนสตรีม ผลงานที่กลายเป็นเพลงพ็อพไป มีอาทิ ” ดอกไม้ให้คุณ” และ ” คิดถึงบ้าน” หรือ” เดือนเพ็ญ” ของ ” อัศนี พลจันทร์” หรือ” นายผี”
รวมถึง“คนตีเหล็ก” ที่หนักแน่น ผลงานของ “มงคล “
มงคลเองเขียนประสบการณ์ในแวดวงการเพลงเพื่อชีวิต ในหนังสือชื่อ “เพลงพิณพนมไพร” ตีพิมพ์ครั้งแรก เมื่อปี 2544
ในบั้นปลายมงคลกลับมาเขียนรูป ในฐานะนักศึกษาจิตรกรรม ประติมากรรม จากวิทยาลัยเทคนิคโคราช ลูกศิษย์ของ” ทวี รัชนีกร”
ก่อนเสียชีวิต ล้มป่วย จนคิดว่าจะเล่นดนตรีอีกไม่ได้ แต่ก็กลับมาขึ้นเวที พร้อมกับขายภาพเขียนไปด้วย
คืน 14 ก.ย.ที่ผ่านมา มงคลลาลับในวัย 67 ปี
ตั้งสวดพระอภิธรรม 7 วัน ตั้งแต่ 15-21 ก.ย. ที่ศาลา 1 วัดปากน้ำ ถ.พิบูลสงคราม จ.นนทบุรี
กองเกวียนคนทุกข์แห่งยุคจักรกล จอดพักไว้อาลัย 1 สมาชิกคนสำคัญ ก่อนเดินทางต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image