โรงหนังสแตนด์อโลน ความรุ่งเรืองที่ร่วงโรย

ภายในหอศิลป์ แนม สุวรรณแพทย์ บนชั้น 2 ของพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย ในบริเวณหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ขณะนี้ได้มีการจัดนิทรรศการโรงหนังสแตนด์อโลน ความรุ่งเรืองที่ร่วงโรย โดยเป็นการจัดแสดงภาพถ่ายในอดีตของโรงหนังสแตนด์อโลนที่เคยมีอยู่ในประเทศไทย

ในพื้นที่ของหอศิลป์ นอกจากจะเต็มไปด้วยภาพที่บอกเล่าถึงความเจริญรุ่งเรืองของโรงหนังสแตนด์อโลนผ่านภาพถ่ายแล้ว เรายังได้ทราบเกี่ยวกับประวัติการสร้างโรงหนังในไทย ว่าก่อนที่จะมีโรงหนังนั้น ได้มีการสร้างหนังขึ้นมาก่อนและฉายในสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นห้องในโรงแรมหรือตึกแถว โรงละคร หรือพื้นที่ว่างปลูกกระโจมชั่วคราวเพื่อจัดฉาย

จนมีโรงหนังถาวรแห่งแรกในสยาม เมื่อปี พ.ศ.2448 ชื่อว่า Japanese Cinematography หรือที่เรียกกันว่า โรงหนังญี่ปุ่น ก่อตั้งโดยนายโทโมโย วาตานาเบะ

Advertisement

ในวันที่โรงหนังสแตนด์อโลนมีความเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด ในช่วงปี 2500 เป็นต้นมา ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด มีโรงหนังไม่ต่ำกว่า 700 แห่ง แต่เมื่อกาลเวลาผ่าน ในช่วงปี 2524 พฤติกรรมการดูหนังของคนก็เริ่มเปลี่ยนไป เทคโนโลยีต่างๆ ทันสมัยมากขึ้น โทรทัศน์มีราคาถูกลง มีร้านให้เช่าวิดีโอ มีช่องเคเบิลทีวีและจานดาวเทียม ส่งผลให้โรงหนังสแตนด์อโลนเริ่มลดจำนวนหายไป หลงเหลือไว้เพียงรูปถ่ายและความทรงจำ

สำหรับใครที่สนใจอยากจะย้อนวันวาน รำลึกถึงความคลาสสิกของโรงหนังสแตนด์อโลน ก็สามารถเข้าชมนิทรรศการได้ทุกวัน เวลา 10.00-17.00 น. ณ หอศิลป์ แนม สุวรรณแพทย์ พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย

Advertisement

ศิรินภา นรินทร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image