ความฟินของสาย “ยาโออิ” สินค้าในวัฒนธรรมมวลชน และความป๊อปที่พุ่งข้ามสื่อ

ในเวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทยครั้งที่ 12 ซึ่งเพิ่งจบไปหมาดๆ โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)และ คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร นั้น มีบทความน่าสนใจเยอะมากในสาขาต่างๆ มานำเสนอ โดยในสายวรรณกรรม มีหนึ่งบทความที่ศึกษางานที่กำลังอยู่ในกระแสความนิยมทางด้านวรรณกรรมร่วมสมัยตอนนี้ เพราะว่าด้วย นิยายยาโออิ หรือ นิยายวาย ที่ล่าสุดความนิยมพุ่งสูงขนาดมีบุ๊คแฟร์เป็นของตัวเองโดยเฉพาะ ซึ่งปีนี้จัด Y Book Fair หรือ มหกรรมนิยายวายแห่งชาติ ขึ้นเป็นครั้งที่ 2 แล้ว

รศ.ดร.นัทธนัย ประสานนาม จากภาควิชาวรรณคดี คณะมนุษยศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ได้นำเสนอบทความชื่อ “อยู่กับแฟน ตัวบทยาโออิของไทยกับวัฒนธรรมมวลชนในบริบทข้ามสื่อ” ซึ่งมีประเด็นในการศึกษาที่น่าสนใจมาก เพราะไม่ใช่ศึกษาเพียงตัวบทในหนังสือเท่านั้น แต่ยังข้ามบทไปยังสื่ออื่นๆ อีกด้วย

นัทธนัยอธิบายว่า นวนิยายหรือสื่อยาโออิที่นำเสนอความสัมพันธ์ของชายรักชาย ส่วนใหญ่สร้างโดยผู้หญิงเพื่อกลุ่มผู้หญิง ซึ่งในบริบทไทย ยาโออิเน้นความสัมพันธ์ในหมู่วัยรุ่น ที่ ผศ.ดร.ธเนศ

เวศร์ภาดา เรียกว่าเป็นงานแนว “หนุ่มน้อยรักกัน” ทั้งนี้ยาโออิเป็นคำศัพท์ร่วมที่ครอบคลุมงานเขียนประเภทย่อยหลายแนว เช่น การ์ตูนญี่ปุ่นแนวโชเนนไอ (shonen-ai) เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “Boys” Love” (BL) ที่เสนอภาพการร่วมเพศและการเปิดเผยเนื้อตัวร่างกายของชายรักชาย คำว่ายาโออิยังเป็นที่มาของคำว่า “วาย” (y) อันเป็นคำศัพท์ที่แพร่หลายมากที่สุดที่ใช้เรียกงานเขียนกลุ่มนี้ แฟนผู้ติดตามสื่อประเภทนี้เรียกว่า “สาววาย” (yaoi-chan) ด้วย

Advertisement

นบริบทไทยยาโออิเป็นสื่อที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว จากวัฒนธรรมวรรณศิลป์สู่วัฒนธรรมสกรีน (หมายถึงวัฒนธรรมที่แสดงออกผ่านสกรีน หรือจอภาพ) โดยสัมพันธ์กับวัฒนธรรมแฟนในมิติข้ามสื่อ (transmedia)

จากความนิยมดังกล่าว ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาจึงมีงานวิจัยที่มุ่งให้คำอธิบายต่อปรากฏการณ์ยาโออิ หรือวาย ในสังคมไทยในมุมมองต่างๆ ไม่น้อย แต่ในบทความนี้มีประเด็นที่เราว่าน่าสนใจ คือการศึกษาปฏิบัติการของแฟน (แฟนคลับ) และปฏิบัติการของจีเอ็มเอ็มทีวี ในฐานะ “สถาบัน” จากนวนิยายเรื่อง SOTUS S ซึ่งเขียนขึ้นเมื่อปี 2560 โดย BitterSweet ซึ่งดังสุดสุดทั้งหนังสือและซีรีส์

Advertisement

 

นัทธนัยอธิบายว่า นวนิยาย SOTUS S เกิดขึ้นในบริบทหลอมรวมข้ามสื่อในวัฒนธรรมมวลชน โดย SOTUS S ถูกเขียนขึ้นภายหลังการพัฒนาบทละครโทรทัศน์ของ SOTUS S the Series กลุ่มแฟนของ SOTUS S จำนวนมากคือแฟนของ SOTUS (ซึ่งเขียนขึ้นก่อนหน้า) ในฐานะสื่อแฟรนไชส์ที่ครอบคลุมทั้งฉบับนวนิยาย ซีรีส์ นักแสดงนำ ตลอดจนสารนอกตัวบทของสื่ออื่นๆ ที่อยู่แวดล้อม ปฏิบัติการของแฟนที่วิเคราะห์ในหัวข้อนี้จึงเน้นที่ตัวบทของแฟน เพราะต้องการชี้ให้เห็นชีวิตทางสังคมของ SOTUS S ในลักษณะที่ว่าตัวบทต้นทางถูกชุบชีวิตขึ้นมาในตัวบทใหม่ เป็นตัวบทที่แฟนจัดทำขึ้น ส่วนใหญ่เป็นมิวสิกวิดีโอประกอบภาพเคลื่อนไหวหรือชุดภาพนิ่งของศิลปิน และแฟนฟิค ซึ่งอาจเชื่อมโยงกับตัวบทประเภทอื่นด้วย

ในส่วนแรกคือมิวสิกวิดีโอประกอบภาพเคลื่อนไหวหรือชุดภาพนิ่งของศิลปินนั้น ความนิยมของซีรีส์ก่อให้เกิดการผลิต กรณีศึกษาในที่นี้คือช่องในเว็บไซต์ยูทูบที่ชื่อว่า ATKP ชื่อของช่องนี้ย่อมาจาก Athit (and) Kongphop ตัวละครเอกของแฟรนไชส์ SOTUS ซึ่งมีผู้ติดตามทั้งสิ้นประมาณ 57,064 คน ซึ่งมีรูปแบบการนำเสนอหลายอย่าง รวมถึงการตัดต่อเฉพาะภาพหรือตอนที่เข้ากับเพลง เพื่อผูกเรื่องขึ้นใหม่ให้กลายเป็น

มิวสิกวิดีโอ อาทิ เพลง “ยิ้ม” ของ Jetset”er ที่ผูกเรื่องขึ้นใหม่โดยประมวลรอยยิ้มของอาทิตย์ในยามที่ได้อยู่ใกล้ชิดหรือสนทนากับก้องภพ การผูกเรื่องขึ้นใหม่นี้สลายเส้นแบ่งระหว่างเนื้อหาหลักกับ special scene ที่ปรากฏหลังจากเนื้อหาหลักของแต่ละตอนสิ้นสุดลง ซึ่งถือเป็นการเลือกเล่าเรื่องในแนวทางที่ต่างกับซีรีส์ที่ถูกผลิตโดยจีเอ็มเอ็มทีวี

อีกกรณีที่น่าสนใจคือการที่แฟนฟิคขนาดสั้นฉวยใช้ตัวบทจากภาพหรือแฟนอาร์ต อย่างผลงานของแฟนชาวจีนนามแฝงว่า Kanglin_zl ที่เผยแพร่ทั่วไปในอินเตอร์เน็ต ซึ่งแฟนอาร์ตเหล่านั้นก็สร้างสรรค์ขึ้นจากตัวบทแฟรนไชส์ SOTUS ที่ผลิตโดยจีเอ็มเอ็มทีวี แสดงให้เห็นสภาวะสหบทและความเป็นชุมชนของแฟนในระดับข้ามชาติข้ามสื่อ นอกจากนั้นเนื้อหาของแฟนฟิคกลุ่มนี้ยังแสดงให้เห็นความชิดใกล้ระหว่างตัวละครที่ถูกขยายความอย่างละเอียดลออโดยผสมผสานกับแฟนอาร์ตจากแหล่งอื่นด้วย เช่น จินตนาการของแฟนในการผนวกเรื่อง Fifty Shades of Grey โดยแฟนของ SOTUS ชาวจีน และภาพถูกเผยแพร่ซ้ำในเฟซบุ๊กเพจของกลุ่มแฟน SOTUS S the Series โดยแต่งแฟนฟิคภาษาพม่าประกอบไว้ด้วย หรือแฟนฟิคในเว็บไซต์ธัญวลัยของแฟนผู้มีนามแฝงว่า มิโนโตะ ที่แฟนฟิค SOTUS โดยแต่งเพิ่มจากตอนพิเศษของฉบับนวนิยายผสมกับในซีรีส์ เป็นตอนที่อาทิตย์กับก้องภพพยายามจะมีเพศสัมพันธ์กันครั้งแรก ที่มีลักษณะแบบ sado-masochistic คือเป็นเพศสัมพันธ์ที่ผนวกความรุนแรงเข้าไปด้วย ถอดแบบมาจาก Fifty Shades of Grey แฟนฟิคฉวยใช้ตัวบทเพื่อแสดงให้เห็นความชิดใกล้ที่อยู่ในจินตนาการ ต่างกับตัวบทที่ถูกสร้างโดยจีเอ็มเอ็มทีวี

ในประเด็น ปฏิบัติการของจีเอ็มเอ็มทีวี ในฐานะสถาบันนั้น นัทธนัยมองว่าจีเอ็มเอ็มทีวี ไม่ได้เป็นเพียงช่องทางการฉายเท่านั้น แต่มีบทบาทในฐานะสถาบันหรือผู้อุปถัมภ์ที่ทำให้แฟรนไชส์ SOTUS อยู่ได้และกลายเป็นสินค้า โดยเสนอว่าผลิตภัณฑ์ของจีเอ็มเอ็มทีวี ไม่ได้ถูกใช้ในตัวบทของแฟนเท่านั้น แต่ในปฏิสัมพันธ์ระหว่างแฟนกับสถาบันเจ้าของตัวบท สถาบันกลับใช้วัฒนธรรมแฟน โดยทำให้กลายเป็นสินค้าที่นำมาขายแฟนอีกทอดหนึ่งด้วย ซึ่งนัทธนัยมองว่าเป็นเพราะสาววาย คือกลุ่มผู้บริโภคหรือตลาดหลักของจีเอ็มเอ็มทีวี การทำตลาดในกลุ่มสาววายจึงต้องทำตามเงื่อนไขของวัฒนธรรมวาย ก่อนหน้า SOTUS S จะกลายเป็นกระแส จีเอ็มเอ็ม ทีวีได้จัด Y I LOVE YOU FAN PARTY ถือเป็นกิจกรรมประเภท แฟนมีต ระดับทางการ โดยกำหนดธีมหลักของกิจกรรมเป็นเรือและกะลาสีเรือ

“เรือ” ในที่นี้มาจากคำว่า ship สันนิษฐานว่ามาจาก relationship อันหมายถึงความสัมพันธ์ แฟนที่นิยม “ชิป” หรือ “จิ้น” เรียกว่า “ชิปเปอร์” นั่นเอง

ความเข้าใจวัฒนธรรมวายและวัฒนธรรมแฟนของจีเอ็มเอ็มทีวี มีหลักฐานอย่างชัดเจนคำว่า “เรือ” จากสแลง “ชิป” อันเป็นคำศัพท์จากทำเนียบภาษาของวัฒนธรรมแฟน (ที่หลอมรวมกับวัฒนธรรมวาย) ถูกนำมาทำให้กลายเป็นสินค้าโดยบริษัท เมื่อกล่าวถึงมหาสมุทรโอเชียนวาย ภาพของมหาสมุทรคือสีชมพู อันเชื่อมโยงกับสำนวน “ตายอย่างสงบศพสีชมพู” ของแฟนเมื่อได้เห็นความน่ารักหรือความชิดใกล้ของคู่วายที่ตนเลือก “ชิป” นอกจากนั้น คู่ที่ถูก “ชิป” ยังมีสถานะเป็นกัปตันเรือ ชิปเปอร์เป็นผู้พายเรือ อันเป็นที่มาของสำนวน “หักไม้พายทิ้ง” เมื่อแฟนหรือชิปเปอร์พบว่าคู่วายหรือคู่ชิปชิดใกล้กันมากจนไม่มีความจำเป็นต้องใช้จินตนาการมาช่วย กรณีนี้ จีเอ็มเอ็มทีวี วางตัวเองเป็นผู้ให้บริการเรือสำราญ โดยนัยหมายความว่าบริษัทเป็นผู้อุปถัมภ์หรืออยู่เบื้องหลังกัปตันเรือและผู้โดยสารเรืออีกชั้นหนึ่ง ยังมีการแสดงบนเวทีที่มีการสลับคู่ชิป ตามสำนวนเรียกว่า “เรือผี” ซึ่งเคยเป็นปฏิบัติการของแฟนมากกว่าปฏิบัติการของบริษัท แต่ในพื้นที่นี้การจับคู่ทุกประเภทที่เคยอยู่ในวัฒนธรรมแฟนล้วนถูกทำให้กลายเป็นสินค้าทั้งสิ้น

จีเอ็มเอ็มทีวี จึงอยู่ในฐานะสถาบัน องค์กร หรือผู้อุปถัมภ์ ที่สามารถฉวยใช้วัฒนธรรมวายหรือวัฒนธรรมแฟนในการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ป้อนกลับเข้าไปในวัฒนธรรมแฟนอีกทอดหนึ่งนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image