ขอให้สายโลหิตเป็นเรื่องสุดท้าย ศัลยาเสนอระงับทำละครอิงปวศ.เสียกรุงครั้งที่ 2 เหตุยิ่งสืบค้นยิ่งไม่แน่ชัด

ละครเรื่อง สายโลหิต เคยถูกสร้างมาแล้วหลายครั้ง โดยเวอร์ชั่นล่าสุดซึ่งสร้างโดยสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 ที่มี พอร์ช ศรัณย์ ศิริลักษณ์, นาว ทิสานาฏ ศรศึก , ออฟ ชนะพล สัตยา ฯลฯ แสดง มีกำหนดแพร่ภาพทุกวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ หลังข่าวภาคค่ำ เริ่มตั้งแต่วันนี้ ( 22 กันยายน)

ทั้งนี้ ศัลยา สุขะนิวัตติ์ เปิดใจในฐานะผู้เขียนบทโทรทัศน์ละครเรื่องดังกล่าว อีกทั้งเคยเขียนบทละครเรื่องอื่นที่มีเนื้อหาเกี่ยวพันกับสงครามเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 แสดงความเห็นว่า ควรเป็นครั้งสุดท้ายของการสร้างละครอิงประวัติศาสตร์เสียกรุงศรีอยุธยา

ศัลยาให้สัมภาษณ์ มติชนออนไลน์ ถึงเรื่องดังกล่าวว่า มีคนพูดถึงและแสดงความเห็นหลากหลาย ในส่วนของเธอนั้นก็เกิดความรู้สึกว่าถึงเวลาที่ “ควรจะให้มันจบลงที่ตัวหนังสือในประวัติศาสตร์เท่านั้น ละครโทรทัศน์ที่เห็นภาพ ได้ยินเสียง น่าจะพอแล้ว” 

เพราะเมื่อเขียนบทละครได้เห็นข้อมูลที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน เป็นข้อมูลที่ไม่แน่นอน ฟันธงไม่ได้เลยสักอย่าง ทั้งสาเหตุว่าเพราะอะไร หรือเรื่องราวเป็นอย่างไรในช่วงระยะเวลา 2-3 ปี ที่ทำสงครามกัน

Advertisement

นี่จึงเป็นเหตุให้เสนอความคิดดังกล่าว

ไม่อยากให้ทำย้ำไปย้ำมา

Advertisement

เรื่องประวัติศาสตร์แห่งสงครามไทยกับพม่าที่นำมาทำเป็นละคร ศัลยาไม่ได้กังวลเรื่องจะไปส่งผลกระทบในแง่ความรู้สึกหรือความสัมพันธ์ ด้วยเชื่อมั่นว่าทุกคนในยุคนี้คงรู้และเข้าใจ

คงไม่มีใครจะมากระทบกระเทือนกับเหตุการณ์นี้มากมายอีกแล้ว ทุกคนรู้ว่าเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่เป็นความขัดแย้ง สงคราม การกระทบกันมีมากมายทั่วโลก การรุกรานเพื่อให้ได้เป็นผู้ชนะ เพื่อให้ได้ทรัพย์สิน ได้ดินแดน ได้กำลังคน เป็นเรื่องปกติในอดีต เราเองไม่คิด และไม่ได้นึกถึงผลกระทบในวงกว้างขนาดนั้น ไม่มีคำพูดที่ว่า เราเกลียดพม่า ไม่มีความคิดอย่างนั้นแล้ว

ศัลยาซึ่งเขียนบทละครโทรทัศน์มาเป็นจำนวนมาก โดยในจำนวนนั้นมีเรื่องที่เกี่ยวพันกับสงครามเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 อยู่ 3 ครั้ง คือ ละคร สายโลหิตเมื่อปี พ.ศ. 2538 , ละคร ฟ้าใหม่ ปี 2547 และ สายโลหิต อีกครั้งในปีปัจจุบัน บอกด้วยว่า สำหรับเราถ้าจะให้เขียนอีกคงไม่เขียน

ขณะในส่วนของคนอื่นๆ เธอก็อยากเสนอให้พักความสนใจ ยังไม่ทำละครในเรื่องที่เกี่ยวข้องดังกล่าวชั่วคราวจะดีไหม เพราะเมื่อยิ่งอ่านไป ยิ่งค้นไป พบเจอความไม่ชัดเจนในหลายเรื่อง ซึ่งถ้าจะไม่นึกอะไร แล้วเขียนๆ ไป เพราะละครก็คือละคร-คงไม่ใช่

จะบอกว่าละครคือละคร ไม่ได้ เพราะเราเขียนเรื่องที่มันเป็นเรื่องจริง เราต้องพยายามให้ตรงกับความเป็นจริงที่สุด

แต่เมื่อความไม่แน่นอนกลายเป็นอุปสรรค อย่างเช่น ความแตกสามัคคีของคนกรุงศรีอยุธยาในตอนนั้นเกิดอย่างไร ก็บอกได้ไม่แน่ชัด ด้วยบันทึกของฝ่ายเราไม่มี ฝ่ายพม่าก็ไม่ได้บันทึกเช่นกัน

เพราะฉะนั้นเวลาเขียนก็แล้วแต่นักประพันธ์จะจินตนาการคำพูดว่าแตกสามัคคีออกไปอย่างไร พอเราต้องมาเพิ่มเติมตอนเขียนบทโทรทัศน์จึงคิดว่าจินตนาการที่หลากหลายของนักประพันธ์อาจทำให้เกิดภาพจำต่างๆกัน เป็นที่มาของความเห็นส่วนตัวว่าละครเสียกรุงน่าจะหยุดสร้างได้แล้ว”

ส่วนเรื่องที่มีคนพูดว่าละครอิงประวัติศาสตร์ในลักษณะนี้จะปลุกความรักชาติให้คนดู ศัลยาก็ว่าน่าจะมีผลอยู่บ้าง แต่ “คนแบบนี้คงไม่มีเยอะหรอก

เวลาคนดูละครแล้วมีฉากรบ แสดงถึงความกล้าหาญ ไม่กลัวต่อความตายในการศึก ก็อาจทำให้รู้สึกฮึกเหิม มีเลือดของความรักชาติพุ่งพล่านขึ้นมาชั่วขณะ ประกอบกับเสียงดนตรี เสียงโห่ร้อง เสียงเพลง แต่คิดว่าคนแบบนี้คงไม่มีเยอะหรอก แม้แต่ตัวของเราเองที่เป็นคนเขียนก็ไม่ได้รู้สึกแบบนั้น ขณะที่ดูละครก็ไม่ได้รู้สึกรุนแรงขนาดนั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image