เสียงของกรรมการ เสียงของ ‘พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ’

“ปีนี้นวนิยายที่เข้ารอบแปดเล่มล้วนแต่มีคุณค่าและมีความโดดเด่น แต่เล่มที่คิดว่าสมบูรณ์แบบที่สุดคือเล่มนี้ ซึ่งในสายตาของคณะกรรมการ ความเห็นพ้องต้องกันค่อนข้างชัดเจนมาก” รศ.ดร. ธัญญา สังขพันธานนท์ หรือที่สายวรรณกรรมรู้จักกันนามปากกาไพฑูรย์ ธัญญา  นักเขียนรางวัลซีไรต์ ซึ่งรับหน้าที่เป็น ประธานคณะกรรมการตัดสินรางวัลซีไรต์ประจำปีนี้ กล่าวถึง  ‘พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ’ ผลงานของ วีรพร นิติประภา ในวันที่ประกาศรางวัล อาจารย์ธัญญาเห็นว่านวนิยายซีไรต์เล่มล่าสุดเล่มนี้ถักทอเรื่องราวของเหตุการณ์ใหญ่ๆ อย่างเช่นประวัติศาสตร์จีนเข้ากับความทรงจำผ่านเรื่องราวของครอบครัวชาวจีนอพยพ ซึ่งให้ภาพที่แตกต่างไปจากความรับรู้แบบเดิมเกี่ยวกับเรื่องราว ‘เสื่อผืนหมอนใบ’ ของชาวจีนโพนทะเล ทั้งนี้เพราะตัวละครแต่ละตัวมีเรื่องราวของตนเอง

ด้านศาสตราจารย์ ดร. ตรีศิลป์ บุญขจร ซึ่งเป็นหนึ่งในกรรมการรอบตัดสินเห็นว่า ‘เส้นเรื่อง’ ที่น่าสนใจ นั่นคือการเล่าความทรงจำผ่าน ‘หนูดาว’ ซึ่งสุดท้ายแล้วจะพบว่าเป็นตัวละครที่ไม่มีตัวตนอยู่จริง ทั้งนี้เพราะ “…ต้องมีตัวละครที่โยงตั้งแต่ 2460 ผ่านเรื่องเล่าแล้วไล่ๆมา ถ้าสังเกตจะเห็นว่าดาวไม่โตซะที เป็นความทรงจำที่เรียกว่า ความทรงจำประดิษฐ์ ความทรงจำที่ดาวได้มา คือความทรงจำจากเรื่องเล่า…” ซึ่งอาจารย์ตรีศิลป์เห็นว่าแหล่งอ้างอิงของความทรงจำดังกล่าวสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ ที่มีทั้งมิติของข้อเท็จจริงและเรื่องเล่า นอกจากนี้ นวนิยายเรื่องพุทธศักราชฯ มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจำนวนมาก จะเห็นจากนักเขียนเล่าผ่านอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครซึ่ง “…เป็นเสมือนประวัติศาสตร์ทางความรู้สึก เป็นเรื่องที่ผ่านมาแล้วผสานกับความรู้สึกของตัวละคร แล้วไม่มีใครเขียนไว้…”

หากพิจารณาด้านภาษาด้วยแล้ว ยิ่งจะพบว่าภาษาที่ใช้เข้ากันกับเรื่องราวที่ขับเน้นอารมณ์ความรู้สึก ผศ. ดร. ธเนศ เวศร์ภาดา เห็นว่า นวนิยายที่เข้ารอบทุกเล่มใช้ภาษาได้ดี แต่นวนิยายเรื่องพุทธศักราชฯ “…แสดงหมุดหมายของลักษณะทางวรรณกรรมไทยปัจจุบัน คือถ้าเราเชื่อว่าวรรณกรรมให้ประสบการณ์ชีวิตและประสบการณ์ทางอารมณ์ เล่มนี้คือตอบโจทย์จริงๆ…เล่มนี้รุ่มรวยไปด้วยคำคุณศัพท์เยอะมาก ในหนึ่งข้อความนี่นับกันได้เลย เล่มนี้เป็นคลังคำคุณศัพท์ไทย ที่แสดงอารมณ์ความรู้สึก แสง สี เสียง กลิ่นรสสัมผัสครบ คือครบจริงๆ…” อาจารย์ธเนศเห็นว่าการใช้ภาษาในนวนิยายเรื่องนี้สอดรับกับการเล่าเรื่องอย่างลงตัว เรียกได้ว่าใช้ภาษาได้อย่างน่าศึกษา รวมทั้ง “… ช่วงจังหวะที่จะเล่นภาษา ทำให้เราต้องถ่วงเวลาการอ่านอ่านของเรา ซึมซับละเลียดเพื่อซึมซับความละเมียดละไมของอารมณ์ตัวละคร…”

รศ.ดร. สุรเดช โชติอุดมพันธ์ เห็นว่า พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ รวมเทคนิคอันหลากหลาย โดยมีความโดดเด่นในเรื่อง ความหลากหลายของเสียง ซึ่งสอดคล้องและล้อไปกับมุมมองทางประวัติศาสตร์ ความทรงจำที่มาจากหลายแหล่งอ้างอิงที่เล่าผ่านเสียงหนูดาวนั้นมีที่มาที่ไป สะท้อนถึงคนพลัดถิ่นที่ต้องการเรื่องเล่าที่ประกอบขึ้นมาเป็นรากเหง้าของตนเอง ผู้อพยพย้ายถิ่นย่อมโหยหาเรื่องเล่าต่างๆเหล่านี้ ยิ่งไปกว่านั้น ผู้เขียนสามารถหาประวัติศาสตร์ที่ไม่ใช่กระแหลักมาเล่า เป็นประวัติศาสตร์ชนิดที่เราจะหาอ่านไม่ได้จากตำราเรียนเพราะความอ่อนไหวที่ของเหตุการณ์ที่ทำให้เราพูดถึงไม่ได้ทั้งหมดและการพูดไม่ได้นี้เองที่มาปรากฏในนวนิยาย เช่น เรื่องกบฏเมืองจีน  นอกจากนี้อาจารย์สุรเดชยังมองว่าเวลาพิจารณาตัวงานจะต้องตอบคำถามว่ากลวิธีสอดคล้องกับเนื้อหาที่ผู้แต่งต้องการนำเสนอไม่ “…ถ้าเราต้องการนำเสนอตัวตนที่แหว่งวิ่น วิธีการเล่านำเสนอตรงนั้นมากน้อยแค่ไหน  เพระฉะนั้นในความไม่สมบูรณ์แบบทางประวัติศาสตร์ที่เอามาเล่าก็สอดคล้องกับความโหยหาตัวตน ความไม่สมบูรณ์แบบของตัวตนคนจีนที่เติบโตขึ้นมาในประเทศไทย”

Advertisement

ผศ. สกุล บุณยทัต เห็นว่าความรู้สึกของผู้คนแต่ละคนที่เป็นตัวละครในนวิยายเรื่องนี้แสดงถึงความจริง ตัวละครหลายตัวมีความคลุมเครือ บางคนไม่สามารถเอาชนะชีวิตในขณะนั้นได้ แต่หวังไปถึงอนาคต “…เขียนแล้วต้องเห็นภาพ มีทั้งเหตุการณ์ ทั้งอาการของตัวละคร ภาษาที่บรรยายละเมียดละไมและละเอียด… เห็นถึงชีวิตของชีวิตที่ทบซ้อนกันอยู่”

ส่วน รศ. ยุรฉัตร บุญสนิท เน้นย้ำถึงเทคนิคการเล่าเรื่อง  ทั้งคนเล่าเรื่อง เรื่องที่เล่า ผู้ฟังเรื่องเล่า และคนที่เสริมเรื่อง ชวนให้พิศวงสงสัยว่าหนูดาว ซึ่งเป็นตัวละครสำคัญคือใคร

โดยสรุป จะเห็นได้ว่านวนิยายซีไรต์เล่มที่สองของวีรพร นิติประภา ผสานระหว่างโครงสร้างทางเศรษฐกิจทางสังคมการเมืองกับตัวตนของตัวละครชาวจีนโพ้นทะเลและคนไทยที่มีเรื่องเล่าของตนเอง อารมณ์ความรู้สึกอันหนักหน่วงในนวนิยายเรื่องนี้ย่อมสัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมการเมืองในระดับมหภาค การใช้ภาษาที่เห็นอารมณ์ความรู้สึก ผัสสะต่างๆทั้งรูป กลิ่น เสียง ตลอดจนเหตุการณ์ต่างๆ ตัวตนอันแหว่งวิ่นของตัวละครสะท้อนถึงความทรงจำอันคลุมเครือ การพยายามแสวงหาเรื่องเล่ามาบอกเล่าความทรงจำ เพื่อประกอบสร้างตัวตนขึ้นมาใหม่ ทั้งเรื่องเล่าจากความทรงจำบุคคลและประวัติศาสตร์ ล้วนแสดงถึงการดิ้นรนของตัวละครภายใต้การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างทางสังคม

Advertisement

ความลงตัวดังกล่าวในนวนิยาย พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ ส่งผลให้วีรพร นิติประภา ขึ้นแท่นนักเขียนรางวัลดับเบิ้ลซีไรต์ผู้หญิงคนแรกของประเทศไทยในพุทธศักราช 2561 นั่นเอง

 

ดอกฝน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image