อ่าน ‘เลือดสีน้ำเงิน’ เพื่อตาย ‘ตาหลับ’ อย่าง ‘ตาสว่าง’

ไม่ทันจะได้เลือกตั้ง งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 23 ก็วนมาถึงอีกแล้ว ที่ศูนย์สิริกิติ์ ระหว่างนี้ถึง 28 ตุลาคมนี้ และในงานเดียวกัน ก็รวม เทศกาลหนังสือเด็กและเยาวชน ครั้งที่ 12 เข้าแบ่งปันสาระความรู้อันบันเทิงด้วย

แน่นอนอีกเช่นเคย ร้านหนังสือ แหล่งพิมพ์ สำนักพิมพ์นับร้อยต่างนำเสนองานกันอย่างเข้มข้น เพื่อนักอ่านและนักนิยมหาหนังสือเป็นบรรณาการแก่ลูกหลาน ญาติสนิทมิตรสหาย ที่จะได้เดินเลือกหากันตามแต่ตำบลและอำเภอน้ำใจ นอกเหนืองานสนทนา อภิปราย และกิจกรรมอันเพลิดเพลินนานา ตลอดมหกรรมประจำปีที่คนนับแสนนับล้านรอคอย

และแน่นอนเช่นเดียวกัน ในที่นี้ ไม่พูดพร่ำทำเพลง ต้องนำหนังสือน่าอ่านระดับดีเยี่ยมมาบอกกล่าวให้เร่งไปเสาะหา

เล่มที่ต้องติดป้ายแผ่นโตๆตัวหนังสือใหญ่ๆว่า ‘พลาดไม่ได้’ ก็คืองานยอดเยี่ยมของ ปฐมาวดี วิเชียรนิตย์เจ้าของวิทยานิพนธ์บัณฑิตวิทยาลัยเรื่อง การต่อสู้ทางความคิดของ ‘กลุ่มเลือดสีน้ำเงิน’ ในสังคมการเมืองไทย พ.ศ. 2475-2500 ในการศึกษาความคิดอดีตนักโทษการเมืองคดีกบฏบวรเดช 5 นายอันได้แก่ ม.จ.สิทธิพร กฤดากร, ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน, พระยาศราภัยพิพัฒ, สอ เสถบุตร และ ร.ท.จงกล ไกรฤกษ์

Advertisement

เพียงเห็น 5 นามนี้ คนชอบเรียนประวัติศาสตร์ คนอยากรู้เรื่องตัวเอง รวมทั้งบรรดานักอ่านทั้งหลาย ย่อมรู้แล้วว่า เป็นนามที่เกี่ยวข้องกับความรู้แท้ของประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ ที่ถูกทำให้ความเข้าใจไขว้เขวและสับสนเพียงไร

จะสาธยายสรรพคุณอย่างไรก็ไม่ดีเท่าอ่านคำนิยมของอาจารย์ สายชล สัตยานุรักษ์ ที่มีต่อหนังสือซึ่งปรับปรุงจากวิทยานิพนธ์เล่มนี้ ที่ผู้เขียนค้นคว้าข้อเท็จจริงมาอย่างหนัก จนแม้กระทั่งบังเอิญพบจดหมายอดีตกบฏบวรเดชที่เขียนขอร่วมงานกับคณะราษฎรหลังการปฏิวัติไม่กี่เดือน ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ก็ยังมี จึงประกันความน่าเชื่อถือยิ่งยวดดังเคยกล่าวถึงหนังสือซึ่งทำจากวิทยานิพนธ์ไว้หลายคราวแล้ว

นี่คือ ‘เลือดสีน้ำเงิน ซ้ายไม่จริง ขวาไม่แท้ และประชาธิปไตยในอุดมคติ’ งานชั้นยอดของมหกรรมคราวนี้

Advertisement

หนังสือเล่มงามที่เห็นรูปเล่มปกนอกกระดาษแข็งประกบปกใน ฝีมือสีน้ำสะดุดตาของ ตะวัน วัตุยา น่าหยิบจับ

ที่อาจารย์สายชลพูดไว้ตอนท้ายคำนิยมว่า “การอ่านหนังสือเล่มนี้จึงคุ้มค่า ไม่ว่าจะเห็นด้วยกับคุณปฐมาวดีหรือไม่เพียงใดก็ตาม เพราะอย่างน้อยก็ช่วยให้เข้าใจ ‘คน’ และ ‘ความคิดของคน’ ที่เคยโลดแล่นอยู่ในพื้นที่ทางการเมืองของไทย จากมุมมองใหม่ที่แตกต่างจากมุมมองอื่นๆที่เคยมีมาแล้ว

หนังสือเล่มนี้ช่วยเตือนเราด้วยว่า ‘สงครามแย่งชิงพื้นที่ความทรงจำ’ ยังคงดำเนินไปอย่างเข้มข้นในสังคมการเมืองไทย ซึ่งไม่ว่าเราจะเข้าร่วมการต่อสู้โดยตรงหรือไม่ก็ตาม เราก็จำเป็นต้องรู้เท่าทันความรู้ทางประวัติศาสตร์ทุกชุด เพราะมโนภาพต่ออดีตมีส่วนสำคัญในการกำหนดท่าทีของเราต่อปัจจุบัน และหล่อหลอมความใฝ่ฝันของเราต่ออนาคต

การ ‘เลิกเชื่อ’ และ ‘เลือกเชื่อ’ ความรู้เกี่ยวกับอดีตแต่ละชุด จึงมีความสำคัญอยู่เสมอ”

คำนิยมของอาจารย์ทิ้งท้ายถึงประเด็นสำคัญจริงๆต่อคนรุ่นหลัง 2500 ที่เติบโตมากับหลากหลายข้อมูลซึ่งถ่ายทอดโดยตรงและโดยอ้อมจากเหล่านักโทษ ด้วยความรู้สึกว่าคนเหล่านั้น ‘ถูกกระทำ’ ต่อเมื่อการเรียนรู้เติบโตตามวัยและพบว่า บรรดาบุคคลเหล่านั้นเป็นกลุ่มเลือดสีน้ำเงิน ที่ ‘น่าจะ’ หรือ ‘ย่อมจะ’ เป็นปฏิปักษ์การปฏิวัติ ความสับสนจากข้อมูลและขั้นตอนการเรียนรู้จึงเกิดกับการทำความเข้าใจได้ไม่ยาก

จึงจำเป็นอยู่เอง ที่เรา ‘ต้องรู้เท่าทันความรู้ทางประวัติศาสตร์ทุกชุด’ อย่างที่อาจารย์สายชลว่าจริงๆ

ต่อให้อีกไม่กี่ปี คนเกิดก่อนหรือหลัง 2500 ไม่กี่วัน ยังต้องเร่งหาอ่านหนังสือเล่มนี้ เพื่อตายตาหลับอย่างชนิด ‘ตาสว่าง’ ให้ได้ มิใช่ตายไปอย่างเลอะเลือนงมงายจากการถูกยัดเยียดความคิดจากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมา

ส่วนคนรุ่นหลังก็ต้องอ่าน เพื่อให้สมกับเวลาที่ผ่านไปกว่าครึ่งศตวรรษ กว่าที่นักวิชาการทั้งหลายจะค้นคว้าหลักฐานข้อมูลต่างๆมาเสนอให้เห็นชัดแจ้ง เพื่อจะได้เลิกเชื่อหรือเลือกเชื่อได้ด้วยสติปัญญา มิใช่เพียงหูฟังหรืออ่านจากความคิดความเห็นด้านเดียว

นี่คือหนังสือที่เข้มข้นสุดยอด เหมาะกับเวลา เหมาะกับวันนี้ เพื่ออนาคตที่พลาดไม่ได้โดยแท้.

พยาธิ เยิรสมุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image