ปฏิวัติละครไทยยังไงให้อยู่รอด

เชื่อว่าหลายคนคงได้ยินคำว่าไทยแลนด์ 4.0 กันมาพอสมควร ทั้งการศึกษา 4.0 การค้า 4.0 และล่าสุดได้มีการจัดเสวนาในหัวข้อ ก้าวต่อไป ละครไทยในยุค 4.0  ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมจัดขึ้นในงานสุดยอดศิลปะไทยในรัชกาลที่ 9 ณ ศูนย์การค้า สยามพารากอน เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม ที่ผ่านมา ภายในงานได้เชิญผู้ที่คร่ำหวอดในแวดวงละครโทรทัศน์ ทั้งผู้จัด ผู้เขียนบทและผู้กำกับ มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงการเปลี่ยนผ่านและปรับตัวของละครในยุคปัจจุบัน

ทั้งนี้จิตรลดา ดิษยนันทน์ ในฐานะผู้จัดจากค่ายกันตนา ที่ผ่านงานมาแล้วทั้งเบื้องหน้า และเบื้องหลัง ได้เห็นช่วงเปลี่ยนผ่านมากมาย จนมาถึงยุคปัจจุบันที่ผู้บริโภคดูโทรทัศน์น้อยลง เพราะมีทางเลือกอื่นมากขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้จึงแน่นอนว่าคนทำละครต้องมีการปรับตัว

“แต่ก่อนเรามีละครไม่กี่ช่อง ทั้งอาทิตย์มีดูไม่ถึง 10 เรื่อง แต่ปัจจุบันอาทิตย์หนึ่งมี 40-50 เรื่อง”

และแม้จะเปลี่ยนพฤติกรรมการดูจากโทรทัศน์ไปสู่แพลตฟอร์มอื่น เช่น โทรศัพท์มือถือ หรือคอมพิวเตอร์ แต่คอนเทนต์ความเป็นละครยังคงอยู่ เพียงแต่เนื้อหาต้องปรับให้ทันสมัยขึ้น

Advertisement

“คนดูจะชอบอะไรที่เป็นเรื่องใกล้ตัว เรื่องทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์ มันก็ยังคงอยู่”

“ในเรื่องของความสนุก เนื้อหา เราก็ต้องทำอย่างเต็มที่”

Advertisement

ในด้านของผู้เขียนบท รัมภา ภิรมย์ภักดี เองก็ว่า ในการทำงานต้องมีการปรับตัวกับยุค 4.0 นี้เช่นกัน นั่นคือจะต้องแม่นกับกลุ่มเป้าหมาย

“อันดับแรกก่อนที่จะเขียน ต้องดูก่อนว่าเราเขียนให้ใครดู เพราะมันจะมีผลต่อผู้ชมอย่างมาก”

พอถามถึงเรื่องความยาก ทุกคนต่างตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “ยากมาก” ซึ่งแต่ละฝ่ายแต่ละหน้าที่ก็มีความยากแตกต่างกันไป

ในด้านของผู้จัดมองว่า “ตอนนี้ทุกอย่างเปลี่ยนหมด การทำงานก็ยากขึ้น มีการแข่งขันสูงขึ้น ผู้ชมมีเสรีภาพในการดูจากที่มีช่องเยอะมาก”

เพราะฉะนั้น “ก็จะมาตกที่ตัวคนทำคอนเทนต์ ถ้าคอนเทนต์เราดี ไม่ว่าจะอยู่แพลตฟอร์มไหน คนก็ตามไปดู”

ขณะ ตะวัน จารุจินดา นักแสดงมากความสามารถ ที่ผันตัวมาทำงานเบื้องหลังกับการเป็นผู้กำกับ เผยว่า ข้อดีอย่างหนึ่งของการมีละครเยอะขึ้นมากขึ้น คือความหลากหลายของเนื้อหา ที่จะเห็นได้ว่า มีอะไรให้ดูมากกว่าเรื่องตบตี แย่งผัว แย่งเมีย อันเป็นเนื้อหาซ้ำๆ ทำกันมาตลอดหลายสิบปี

ดังนั้นแนวทางของละครไทยยุค 4.0 ที่น่าจะเป็นคือ การทำละครเพื่อให้เหมาะกับคนดูใหม่ๆ คนดูรุ่นใหม่ ที่หันมาเสพงานทางแพลตฟอร์มใหม่ดังว่า โดยสิ่งที่จิตรลดาบอกคือ “ตอนนี้มันเกิดการผลักดันให้คนทำคอนเทนต์ต้องลุกมาทำงาน เพื่อปรับให้ไปอยู่ในแพลตฟอร์มแบบใหม่พวกนี้ให้ได้ ซึ่งอาจจะเป็นเนื้อเรื่องที่ทันสมัยเหมาะกับกลุ่มคนดู วิธีการทำโปรดักชั่นก็ต้องทันสมัยมากขึ้น”

เพราะถึงอย่างไร สิ่งหนึ่งที่เป็นมาและจะเป็นไปโดยไม่เปลี่ยนแปลง คือ “Content is the king”

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image