‘Love in Depression’ , บาดแผลและรูโหว่ สารคดีจากชีวิตเอิน กัลยกร

ตอนแรกที่คิดทำภาพยนตร์สารคดีซึ่งเนื้อหาว่าด้วยเรื่องโรคซึมเศร้าที่หลายคนในสังคมเผชิญอยู่ เอิน กัลยกร นาคสมภพ บอกว่าเธอคิดจะขอทุนจากรัฐบาล หากก็ไม่ได้ ครั้นจะขอสปอนเซอร์ก็เกรงว่าอาจต้องมีการปรับเนื้อหาตามใจลูกค้าผู้ให้สตางค์ จนงานอาจจะไม่เป็นอย่างที่ต้องการ สุดท้ายจึงตัดสินใจออกเองทุกบาททุกสตางค์ เพื่อสร้าง ‘Love in Depression’ สารคดีที่จะพูดเกี่ยวกับการอยู่ร่วมกันของผู้ที่ป่วยโรคนี้ และผู้ที่อยู่เคียงข้างพวกเขา

“สิ่งที่ต้องการจะบอกคือเราอยู่ด้วยกันได้ แต่ต้องมีความเข้าใจ มีวิธี”

อันที่จริงในโลกนี้มีสารคดีเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าอยู่หลายเรื่อง แต่เอินบอกว่าเท่าที่เคยเห็นจะออกแนวสัมภาษณ์หมอ คุยกับคนไข้ แต่ “ไม่ได้เห็นถึงเนื้อในความรู้สึกของคนที่เป็นโรค ไม่ได้เห็นความหลากหลายของสาเหตุของโรค ในฐานะผู้ป่วยเลยอยากทำ อยากเป็นกระบอกเสียงให้คนที่เป็น อยากเล่าเรื่องราวผู้ป่วยที่คนอื่นเล่าไม่ได้ ยกเว้นคนที่เป็นผู้ป่วยด้วยกัน”

“และอยากให้คนทั่วไปเข้าใจ”

Advertisement

งานชิ้นนี้จะเล่าเรื่องการเดินทางของคนๆหนึ่ง จากวันที่ป่วย จนถึงวันที่ไปรักษา โดยคนที่ว่านั้นคือ ‘เธอ’ ด้วยเหตุผลว่าไม่กล้าจะไปขอให้ผู้ป่วยคนไหนมาเปิดเผยช่วงเวลาบอบบาง แล้วถ่ายทอดผ่านจอภาพยนตร์ให้คนทั่วไปได้ดู เพราะในฐานะที่ตัวเองก็มีช่วงเวลาที่ว่านั้น ที่ผ่านมาตลอดช่วงเวลา 20 กว่าปีที่ป่วยก็ไม่เคยกล้าที่จะเปิดเผยช่วงเวลาดังกล่าวให้คนอื่นได้เห็นเช่นกัน ยกเว้นก็แค่สามีที่อยู่กันมา 13 ปีเพียงคนเดียว

“เราไม่เคยเล่าให้ใครฟัง ว่าเรากรีดร้องแบบไหน ไม่เคยบอกใครว่าความรู้สึกตอนนั้นเป็นอย่างไร แต่เมื่อต้องการให้คนเห็นว่าโรคซึมเศร้าต่างจากความซึมเศร้าอย่างไร ก็ต้องทำให้เห็น เลยตัดสินใจเอาตัวเองเป็นเคส”

Advertisement

‘เคส’ ที่ในวันนี้ ‘ดีขึ้น’

“เราต้องการอันนี้แหละ อยากให้เห็นว่า ผู้ป่วยทุกคนสามารถมีวันที่ดีขึ้นได้ ไม่ต้องการทำหนังที่คนมานั่งดูแล้วนั่งเศร้า อินไปกับเรา ไม่ต้องการทำหนังที่มีแต่วิชาการ นั่งดูแล้วแบบได้ยินนะ แต่ไม่ถึงใจ ต้องการทำหนังที่มีอารมณ์ ที่ตรึงคนได้ แต่ขณะเดียวกันก็ให้อะไรกับคนดู ดูแล้วรู้ว่าไปไหนต่อได้”

เอินซึ่งป่วยด้วยโรคนี้มาราว 20 ปี แต่คนเพิ่งจะได้รู้กันเมื่อราว 2-3 ปีที่ผ่านมา บอกด้วยว่าช่วงแรกที่เป็นเธอไม่รู้ตัวป่วยด้วยซ้ำ กระทั่งได้เห็นข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต ได้เช็คว่าจากข้อสังเกตุ 9 ประการของผู้ป่วย มีอยู่ 7-8 ข้อตรงกับตัวเอง หากกระนั้นก็ไม่กล้ายอมรับ ด้วยรู้สึกว่าทัศนคติของสังคมต่อผู้ที่เป็นโรคนี้ในขณะนั้นไม่ดีนัก

กระทั่งได้เห็น ทราย เจริญปุระ พูดอยู่บ่อยๆ พูดอยู่เรื่อยๆในเฟซบุ๊กของทรายเกี่ยวกับโรคนี้ จึงค่อยๆเปิดใจยอมรับว่านี่คงเป็นโรคธรรมดาๆ

“การที่พี่ทรายพูดออกสาธารณะ ทำให้เราเปิดใจยอมรับตัวเอง และมันเยียวยาเรา”

ประกอบกับในช่วงเวลาดังกล่าวมีข่าวสิงห์ มุสิกพงศ์ ซึ่งป่วยเป็นโรคนี้เหมือนกันฆ่าตัวตาย แล้วมีหลายคนพูดถึงโรคซึมเศร้าด้วยความไม่เข้าใจ “จนเราทนไม่ไหว ขอออกมาพูดผ่านเฟซบุ๊กเรา ยอมรับเป็นครั้งแรกว่าเราป่วย และเคยคิดอยากฆ่าตัวตาย มาฟังเราบ้างไหม ว่ามันเป็นอย่างไร”

ถึงวันนี้เอินบอกว่าเธอเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่แข็งแรง และสามารถพูดเรื่องดังกล่าวกับสาธารณชนได้แล้ว

“เราถึงได้พูด เพราะรู้ว่าการที่เราพูด มันเปลี่ยนชีวิตคนที่เป็นโรคซึมเศร้าได้ เพราะเราเคยถูกเปลี่ยนเหมือนกันจากการพูดของคนอื่น”

“อยากให้คนอื่นรู้ว่าฉันอยู่ตรงนี้เหมือนคุณ เข้าใจนะ และมันมีทางออก”

เอินยังบอกด้วยว่า การออกมาพูดอย่างนี้ ทำอย่างนี้ รวมถึงการจะเปิดเผยอีกหลายๆเรื่องในภาพยนตร์สารคดีเรื่องดังกล่าว “อาจจะทำให้ต้องเสียสละอะไรบางอย่างในชีวิต ทำให้ต้องมีปัญหาบางอย่าง แต่เรายอมแลกหมดเลย”

“ในวันที่จะไปออกรายการเจาะใจ ในวันที่ลุกขึ้นมาทำสารคดี พูดตรงๆว่าความขัดแย้งรอบตัวเยอะมาก แต่ตอนนั้นก็ถึงจุดที่เรารู้ว่า ถ้าทำอันนี้แล้วช่วยคนได้ เสียใครก็ต้องเสีย”

เพราะมีหลักฐานพิสูจน์ให้รู้แล้วว่า ‘คุ้ม’

คุ้มจากการที่ได้รู้ว่าเพื่อนคนหนึ่งซึ่งเป็นไบโพลาร์ และมีอาการโรคซึมเศร้าผสมอยู่ เพื่อนที่เกือบจะฆ่าตัวตายแต่ตัดสินใจจะมีชีวิตอยู่ หลังได้เห็นเธอออกมาเปิดเผยถึงโรคซึมเศร้าที่เธอเป็น

“เขาส่งข้อความมาหา บอกว่าเป็นครั้งแรกในชีวิตที่มีคนเข้าใจเขา และเขาไม่อยากตายแล้ว จะตั้งใจรักษา และขอบคุณ วันนั้นเราร้องไห้เลยนะ” เอินว่า

นอกจากสารคดีเรื่องนี้ เอินบอกด้วยว่าเธอยังมีโครงการรักฟอร์เวิร์ด ที่จะเป็นสื่อกลางในการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าให้คนอื่นๆได้รู้ รวมถึงจะสร้างแรงจูงใจให้ผู้ป่วยโรคนี้เข้ารับการรักษาอย่างถูกต้อง โดยนำเงิน 10 % จากผลกำไรทางธุรกิจมาดำเนินการ

เหตุผลที่ทำอย่างนั้น เอินว่า “เพราะถ้าไม่ทำ ชีวิตจะไม่มีค่าเลยนะ”

“ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า ตัวเราเองก็เป็นแบบนั้น”

“เราป่วยมา 20 กว่าปี แม้ตอนนี้จะรักษาแล้ว แต่แผลและรูโหว่นี้มันใหญ่มาก เลยมานั่งทำแผนผังว่าอะไรบ้างที่ทำให้ชีวิตของเรามีความสุข อะไรบ้างที่ควรทำ และเรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร”

ซึ่งคำตอบที่ได้นอกเหนือจากการใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางศิลปะ การได้อยู่บ้านที่มีวิวสวย และ ฯลฯ แล้ว ก็ยังมีเรื่องของการให้

และเธอก็ตัดสินใจให้ผ่านโครงการรักฟอร์เวิร์ดและภาพยนตร์สารคดี ‘Love in Depression’ เรื่องนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image