อยากเห็นตัวเอง ในสายตาเพื่อนบ้านไหม

หนังสือซึ่งมีคุณประโยชน์อย่างยิ่งยามนี้ ยามที่ภูมิภาคอาเซียนไร้พรมแดน ไม่เพียงนักประวัติศาสตร์ แต่นักการเมือง นักรัฐศาสตร์ ข้าราชการ จนแม้แต่พ่อค้าแม่ขายนักธุรกิจ ที่ต้องเดินทางติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ก็ควรต้องศึกษาความคิดความเห็นที่เพื่อนบ้านมีต่อเราอย่างถี่ถ้วน จึงสามารถตอบสนองได้เหมาะสม เพื่อคุณค่าของการอยู่ร่วมกันและประโยชน์ที่ต้องประสานและแลกเปลี่ยนกันโดยสุจริต

 

“ไทยในสายตาเพื่อนบ้าน” เป็นงานจากโครงการวิจัยชุด “ไทยในการรับรู้และความเข้าใจของประเทศเพื่อนบ้าน” ซึ่งได้รับทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ระหว่างปี 2551-2552 โดยมีอาจารย์ “สุเนตร ชุตินธรานนท์” เป็นหัวหน้าโครงการ ที่เมื่อปรับมาเป็นหนังสือรูปเล่มหน้าตาน่าอ่าน ก็ทำให้คุณภาพเนื้อหาอันสาระอุดมเปล่งปลั่งขึ้นมาด้วย

 

Advertisement

หนังสือเล่าภาพรวมทั้งหมดของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเพื่อนบ้าน ที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่า ภาพของเราในสายตาเพื่อนบ้านนั้นเป็นอย่างไร

 

เพราะเรามองพม่าเป็นคู่สงครามมาตลอด โดยเฉพาะที่มาทำลายอยุธยาครั้งหลังสุด มองลาวอย่างดูถูก และมองกัมพูชาอย่างไม่เข้าใจ ขณะที่เห็นเวียดนามเป็นคู่แข่งขันซึ่งยังตามเราไม่ทัน ทั้งยังหวาดเกรงมุสลิมในมาเลเซีย

 

แต่เราไม่เคยรับรู้ หรือไม่เคยสนใจที่จะรับรู้ว่าไทยในสายตาเพื่อนบ้านนั้นอยู่ในสภาพไหน เขามองเราอย่างที่เราอยากให้มองหรือเปล่า และมองเราดีร้ายอย่างไร

 

หนังสือเล่มนี้มีข้อมูลหลากหลายแง่มุม มากมิติ ทั้งเล่าย้อนประวัติศาสตร์ ยกคำพูดของผู้คน นำพาดหัวข่าวมาเรียบเรียง คัดถ้อยคำสัมภาษณ์ และพิเคราะห์หลักฐานทางประวัติศาสตร์ ออกมาเป็นภาพให้เห็นชัดเจน

 

เราต้องรู้จักตัวเองจากสายตาเพื่อนบ้าน เพื่อวางตนให้เหมาะสมโดยควรแก่กาลเทศะในวันนี้และอนาคต

นิยายอิงประวัติศาสตร์ที่น่าอ่าน พิมพ์ถึง 3 ครั้งแล้ว “ผลัดแผ่นดิน” ของอาจารย์ “สุกิจ สุวานิช” เพียงสี่ร้อยกว่าหน้า แต่จะทำให้มองเห็นภาพช่วงกรุงแตกมาจนต้นรัตนโกสินทร์ได้อย่างชัดเจน ด้วยการผูกตัวละครสำคัญไว้ด้วยกันอย่างแนบเนียน แทบจะคล้อยตามไปโดยลืมว่าเป็นนิยายว่า อ๋อ ด้วยเหตุนี้เอง ตระกูลบุนนาคจึงจงรักต่อพระราชวงศ์ แม้จะหนักหนาด้วยอำนาจราชศักดิ์มาตั้งแต่รัชกาลที่ 3 จวบรัชกาลที่ 5 แต่ก็มิได้คิดเถลิงสถานะ

 

ผู้เขียนเริ่มวางตัวละครเอก สิน, ทองด้วง, บุญมา และบุนนาค ด้วยสัมพันธ์ซึ่งเกี่ยวพันมาแต่เล็ก ก่อนจะขยายบทบาทกันไปตามฐานะหน้าที่ ด้วยการเล่าเรื่องบรรยายที่กระชับ ทำให้ตัวหนังสือในพงศาวดารมีชีวิตสีสันขึ้น กระทั่งผู้อ่านต้องติดตามรายละเอียดไปใกล้ชิด แม้จะรู้เหตุการณ์ส่วนใหญ่บ้างแล้วก็ตาม การเชื่อมและคลายปมซึ่งติดข้องในประวัติศาสตร์ ผ่านการใคร่ครวญมาแล้วถึงความเป็นไปได้

 

ดังนั้น นิยายเรื่องนี้จึงเป็นอีกเล่มที่เขียนได้สนุก ตอบคำถามได้แยบคาย และหากเป็นนักเรียนนักศึกษา ก็จะจดจำเค้าโครงประวัติศาสตร์ต้นรัตนโกสินทร์ได้แม่นยำขึ้น น่าหาอ่านดู

แบบทดสอบตัวเองเป็นเรื่องสนุก เพราะจะได้ประเมินและทบทวนตัวเองพร้อมกันไป เพื่อจะได้ปรับปรุงศักยภาพให้เหมาะสมกับการใช้ชีวิตและการทำงานให้ดีขึ้น “61 คำถามสแกนนิสัย (ที่ไม่มีใครบอกคุณ)” ของ “โยะสึเกะ นะกะงะวะ” แปลโดย “กิ่งดาว ไตรยสุนันท์” เป็นหนังสือที่จะทำให้แปลกใจได้ ว่าตัวเราเป็นคนอย่างที่เขาว่านี่หรือ เพราะนี่เป็นการใช้คำถามที่จะทำให้ผู้ทดสอบเผยนิสัยจากจิตใต้สำนึกออกมาได้

 

เรามีวิธีรับมือเรื่องกลุ้มใจอย่างไร, มีโอกาสเป็นเหยื่อพวกโรคจิตหรือไม่, มีสัมผัสที่หกแรงแค่ไหน, อาชีพอะไรเหมาะกับนิสัย, ชีวิตบั้นปลายจะเป็นอย่างไร, มีความเป็นซาดิสม์กับมาโซคิสม์ซ่อนอยู่ในตัวมากแค่ไหน (อื้อฮือ)

 

แถมถ้าอยากรู้ว่าตัวเองกับคนรอบข้างเป็นอย่างไร ก็ต้องรีบหาคำตอบด้วยตัวเองแล้ว

 

“ฮาว แฮปปี้เนส เวิร์คส” หรือความสุขทำงานอย่างไรของ “ณัฐวุฒิ เผ่าทวี” กับบทความ 32 ชิ้นที่อ่านเพลิน ด้วยเรื่องและตัวอย่างที่อาจนึกไม่ถึง ว่าจะนำคำตอบที่ไม่เคยคิดถามมาให้แปลกใจได้ ความสูงบ่งคุณภาพคนด้วยหรือ เมื่อมีคำบอกเล่าว่าคนสูงมักเป็นประธานาธิบดีที่ดี ถ้าไม่เชื่อก็ต้องอ่านหาเหตุผลหรือหลักฐานชี้นำดู

 

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องชวนฉงนแต่ต้องคิดอีกนานา เช่น ทำไมจึงควรสอนลูกหลานให้กล้าคิดต่าง แม้จะเป็นการคิดต่างที่ผิดก็ตาม หรือทำไมเราอาจยอมซื้อเสียงเพื่อลดการซื้อเสียง หรือความสำคัญของการเป็นคนเก็บตัวในสังคมเรา

เรื่องชวนฉงนเหล่านี้จะช่วยให้ผู้อ่านใช้ความคิดได้อย่างน่าประหลาดใจ ขณะเดียวกัน ใครเคยได้ยินเรื่องตลกที่สุดในโลกไหม เรื่องตลกที่สุดในโลกเป็นอย่างไร ไม่มีใครไม่อยากรู้

 

และเชื่อหรือไม่ การมีลูกสาวทำให้พ่อแม่มีความสุขมากกว่ามีลูกชายถึงสองเท่า และการมีลูกสาวเกี่ยวข้องกับทัศนคติทางการเมืองของพ่อแม่อย่างไร ฯลฯ รีบหาอ่านได้แล้ว

 

“เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก” ฉบับอนาคตของอาหาร เรื่องสำคัญที่ทุกคนต้องใส่ใจ ไม่ว่าคนมีอาหารกินเหลือเฟือ หรือคนไม่มีจะกิน ในยุคสมัยที่ยังผลาญพล่าอาหารกันอย่างเอิกเกริก กินทิ้งกินขว้างกันทั่วทุกแห่งที่มีอาหาร ไปดูว่าจากสมูทตี้จิ้งหรีดถึงเบอร์เกอร์เนื้อสังเคราะห์และเบียร์วัชพืช อาหารเหล่านี้อาจเป็นทางออกของโลกอนาคตอย่างไร และทำไมซิลิคอนแวลลีย์ทำให้วิถีการกินของเราปั่นป่วน

 

ดูภาพพิสดารและเรื่องกินใจของโลกที่อาจไม่มีวันหวนคืน กับเด็กชายและสถานที่ที่ไม่มีใครเรียกว่าบ้าน เรือ ทะเล กับภูเขาน้ำแข็ง ก่อนไปดูลอนดอนที่ผงาดเติบโตขึ้นมา และโรคซ้ำกรรมซัดของผู้อพยพชาวเวเนซุเอลาซึ่งหลั่งไหลเข้าไปในบราซิล สุดท้ายดูภาพถ่ายของ “ลาวูเอ” ที่มองโลกด้วยสายตาอันน่าประหลาดใจ

 

“และรู้ไหมว่า โลมาเรียกชื่อเพื่อนแต่ละตัวด้วยเสียงที่ผิดแผกกันออกไป-ภาษาของโลมา”

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image