‘เลือดสีน้ำเงิน’ กับการ’ไม่แท้’ของขวาและซ้าย

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้การศึกษาประวัติศาสตร์กับความทรงจำได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในสังคมไทย สาเหตุประการสำคัญน่าจะมาจากความขัดแย้งทางสังคมการเมืองที่ลุกลามไปทุกภาคส่วนของสังคม การหันกลับไปหาความเข้าใจที่มีต่ออดีต อาจจะช่วยให้เราเข้าใจปัญหาปัจจุบัน รวมทั้งชี้ทางไปสู่อนาคต

ไม่น่าแปลกใจเลย ที่จะมีหนังสือที่ตั้งใจตั้งคำถามถึงความทรงจำที่อยู่ท่ามกลางความขัดแย้งเกิดขึ้นมากมาย ทั้งในตัวงานวรรณกรรม และงานสารคดี หนังสือ เลือดสีน้ำเงิน : ซ้ายไม่จริง ขวาไม่แท้ และประชาธิปไตยในอุดมคติ ที่เขียนโดย ปฐมาวดี วิเชียรนิตย์ ก็ดูจะตอบโจทย์ดังกล่าว หนังสือเล่มนี้บอกเล่าเรื่องราวปัญญาชนกลุ่มเลือดสีน้ำเงิน 5 คน ได้แก่ สอ เสถบุตร, พระยาศราภัยพิพัฒ, ร.ท.จงกล ไกรฤกษ์, ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน และ ม.จ.สิทธิพร กฤดากร ซึ่งปัญญาชนเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในภูมิทัศน์การเมืองไทย โดยเฉพาะต่อเหตุผลกบฏบวรเดช ที่นักประวัติศาสตร์ตีความกันว่าเป็นปฏิปักษ์ปฏิวัติ (counter-revolution)

ความโดดเด่นที่ติดตรึงเราใน “เลือดสีน้ำเงิน” คือการนำเสนอความคิดและวิถีทางการเมืองของปัญญาชนกลุ่มเลือดสีน้ำเงินอย่างเป็นพลวัต ผู้เขียนชี้ให้เห็นความคิดทางสังคมการเมืองของกลุ่มเลือดสีน้ำเงินตั้งแต่ช่วงก่อนปฏิวัติ 2475 เรื่อยไปถึงช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองที่เกิดความขัดแย้งกันเองในกลุ่มคณะราษฎร ระหว่าง นายปรีดี พนมยงค์ และ จอมพล ป. พิบูลสงคราม

อันที่จริงชื่อรองของหนังสือก็น่าคิด ที่สุดแล้ว ซ้ายไม่จริง ขวาไม่แท้ ถือเป็นข้อสรุปของผู้เขียนได้อย่างชัดแจ้ง

Advertisement

นั่นคือ ในภูมิทัศน์การเมืองไทยช่วงก่อนและหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น ยากจะระบุว่าฝ่ายใดมีจุดยืนทางการเมืองแบบใด ฝ่ายปฏิวัติที่มองว่านำพาความก้าวหน้ามาสู่สังคมไทย ก็อาจจะมีธาตุของความเป็นฝ่ายขวา ส่วนกลุ่มเลือดสีน้ำเงินที่เชื่อมโยงกับสถาบันกษัตริย์ก็อาจจะใฝ่ฝันถึงอุดมคติเกี่ยวกับประชาธิปไตยที่แท้จริง

วาทกรรมที่คุ้นเคยกันดีคือคำอธิบายที่ว่าการปฏิวัติ 2475 เป็นการชิงสุกก่อนห่ามนั้น ฟังดูเผินๆ ก็เหมือนเป็นความคิดที่ไม่มีมูล แต่มูลเหตุของความคิดนี้ไม่ใช่เพิ่งจะมาเกิดขึ้น หากแต่มีรากหยั่งลึกมาตั้งแต่ต้น ข้อวิจารณ์ของกลุ่มเลือดสีน้ำเงินบางคนที่เรียกการปกครองโดยคณะราษฎรว่าเป็น “คณาธิปไตย” นั้นเป็นคำกล่าวหาที่รุนแรง แต่หากมองจากปากคำที่สะท้อนความทรงจำของปัญญาชนกลุ่มนี้ก็จะทำให้เข้าใจว่า “เสียง” ของคนที่มองว่าตนเองเป็นฝ่ายถูกกระทำในช่วงเวลาหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทย ฉากอันเร้าใจฉากหนึ่งของหนังสือเล่มนี้ก็คือการบอกเล่าถึงการที่รัฐบาลดักฟังการสนทนาทางโทรศัพท์และการตามสืบกลุ่มน้ำเงินแท้ อย่างกรณีของพระยาศราภัยพิพัฒน

Advertisement

เราอาจจะคุ้นเคยกันดีเกี่ยวกับเรื่องราวของปัญญาชนฝ่ายซ้ายที่ผลิตผลงานเขียนในคุก อย่างเช่น จิตร ภูมิศักดิ์ แต่หนังสือเลือดสีน้ำเงิน จะทำให้เราเห็นอีกภาพของปัญญาชนที่เราเรียกว่า “ฝ่ายขวา” ก็ทำวารสาร “น้ำเงินแท้” ออกมาถึง 17 ฉบับ โดยคัดลอกด้วยลายมือ แต่ก็ถูกเผาหลังจากคณะนักโทษทางการเมืองเห็นพ้องกันว่าต้องเซ็นเซอร์ การวิจารณ์รัฐบาลที่รุนแรงมากขึ้นทุกที

ส่วน สอ เสถบุตร นั้นเป็นที่ทราบกันดีว่าเขาทำปทานุกรมออกมาเพื่อจุนเจือครอบครัวระหว่างติดคุก รวมทั้งยังแอบเขียนคอลัมน์ให้กับหนังสือพิมพ์บางกอกไทม์ โดยให้แม่ช่วยเป็นสื่อกลาง วรรณกรรมจากคุกของกลุ่มเลือดสีน้ำเงินแสดงถึงความกระตือรือร้นทางการเมือง สอ เสถบุตร เขียนนวนิยายเริงรมย์อิงการเมืองเรื่อง พ.ศ.2481 ซึ่งเป็นเรื่องราวในจินตนาการเกี่ยวกับสยามภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์ ด้าน ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน ไม่เห็นด้วยบางประการ จึงแต่งนวนิยายเรื่อง “บุญทำกรรมแต่ง” ขึ้นมา และเขียนนวนิยายอีกหลายเรื่อง รวมทั้งอนุทินชื่อ วันนี้ ผลงานดังกล่าวนี้หล่นหายตามกาลเวลาโดยไม่ได้รับการจัดพิมพ์แต่อย่างใด

โดยทั่วไปเรามักจะเข้าใจว่าการแบ่งซ้ายกับขวาว่ามีเส้นแบ่งที่ชัดเจน หากนึกถึงชื่อ กุหลาบ สายประดิษฐ์ เราจะนึกถึงปัญญาชนนักหนังสือพิมพ์หัวก้าวหน้า การอ่านหนังสือ เลือดสีน้ำเงิน จะทำให้เราเข้าใจใหม่ว่า อันที่จริงแล้วพระยาศราภัยพิพัฒนเคยร่วมงานกับ ศรีบูรพา หรือ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ในช่วงทศวรรษ 2490 ขณะเดียวกันผู้นำคณะราษฎรอย่างปรีดี พนมยงค์ ก็ร่วมมือกับฝ่ายอนุรักษนิยม ซึ่งเห็นได้จากการทำงานของกลุ่มเสรีไทย

หนังสือเลือดสีน้ำเงิน วาดภาพของ ม.จ.สิทธิพร กฤดากร ว่าเป็นเจ้าหน้าที่เห็นแก่ประชาชน และให้ความสำคัญกับเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น ดังจะเห็นได้จากตอนที่ท่านตั้งพรรคการเมืองชื่อ “พรรคสัมมาชีพ-ช่วยชาวนา” โดยชูนโยบาย “ให้เลิกพรีเมียม ซึ่งเป็นภาษีที่ไม่เป็นธรรมแก่ชาวนา…” รวมทั้งการที่ท่านเขียนคอลัมน์ให้ความรู้ด้านการเกษตร ตลอดจนวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นทางการเมือง ส่วนภาพ ร.ท.จงกล ไกรฤกษ์ เป็นภาพของนักการเมืองอาชีพ ข้อเท็จจริงที่ว่าเขาเขียนจดหมายเสนอตัวทำงานกับคณะราษฎรตั้งแต่ต้นก็ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ยืนยันสมมุติฐานของหนังสือเล่มนี้ นั่นคือ ซ้ายไม่จริง ขวาไม่แท้

ที่จริงแล้วประวัติศาสตร์คือเรื่องเล่าประเภทหนึ่ง ประวัติศาสตร์มีการวางโครงเรื่อง นั่นก็ทำให้เข้าใจได้ไม่ยากว่าทำไมหนังสือเลือดสีน้ำเงิน จึงเร้าและตรึงผู้อ่านให้ติดตามเรื่องราวได้ การที่เราเล่าเรื่องราวต่างๆ ได้หลายแบบจะทำให้เราเข้าใจตัวเราเองและคนอื่นได้มากขึ้น การมองประวัติศาสตร์แบบชาตินิยมจัดจะทำให้เราเล่าประวัติศาสตร์ได้จำกัด และทำให้เราไม่อาจจะสื่อสารกับคนอื่นได้ ถ้าเรื่องราวในอดีตมีความยืดหยุ่นพอที่จะเล่าใหม่ได้ ก็จะทำให้เรามีมุมมองที่หลากหลายและรอบด้าน หนังสือเลือดสีน้ำเงิน บอกเล่าประวัติศาสตร์จากอีกมุมมองหนึ่ง ทำให้เราเห็นพลวัตทางความคิดของปัญญาชนที่ถูกขนานนามว่า “ฝ่ายขวา”

ที่สำคัญคือ ถึงที่สุดแล้ว การทบทวนตัวเองโดยมองย้อนผ่านความทรงจำในอดีต ก็อาจจะทำให้เราเข้าใจว่า “ซ้ายไม่จริง ขวาไม่แท้” อาจจะเป็นคำระบุ ที่หมายถึงกลุ่มก้อนหรือฝักฝ่ายทางการเมืองไทยในยุคปัจุบันได้ด้วยเช่นกัน

เป็นอดีต ที่เชื่อมโยงกับปัจจุบันอย่างไม่มีวันจาง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image