ทำไมแม่นากถึงยังหลอกได้หลอกดี และมีผัวชื่ออะไรกันแน่

ก็เพราะเรื่องของแม่นากพระโขนง วัดมหาบุศย์อันเป็นที่ฝังร่าง เป็นเรื่องภูติผีที่กินใจคนไทยมายาวนานนับร้อยปี ตั้งแต่ปลายสมัยรัชกาลที่ 3 (พ.ศ.2367-2398) จนต้นศตวรรษที่ 21 มา 16 ปีแล้วก็ยังอาละวาดหลอกหลอนผู้คนอยู่ได้

อาจถือเป็นผีไทยอมตะเทียบผีดิบฝรั่งแดรคคูลาและอมนุษย์แฟรงค์เกนสไตน์ที่ยังคอยหลอกอยู่เช่นเดียวกัน แม้ฝรั่งจะสืบทอดผีดิบแวมไพร์มาอีกรุ่น กับเพิ่มซอมบี้ผีตัวใหม่ขึ้นมาให้อกสั่นขวัญแขวนแล้วก็ตาม

แต่ผีไทยยังไม่มีตนใดเทียบแม่นาก เว้นระยะหลัง ที่เรื่องเล่าจากจอหนังจะมีปอบนางหยิบโผล่มาช่วยหลอก ก็แค่เฮฮาไม่กินใจเท่า

ความทรงจำเรื่องแม่นากมาจาก 50 ปีหลังของศตวรรษที่ 20 ที่คนเริ่มรู้จักแม่นากกันกว้างขวางจากหนัง แม่นากพระโขนง โดยเสน่ห์ศิลป์ภาพยนตร์ของ เสน่ห์  โกมารชุน ในปี 2502

Advertisement

นำแสดงโดย สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์ กับนางเอกเจ้าของฉายาอกเขาพระวิหาร ปรียา รุ่งเรือง ซึ่งเป็นเถ้าแก่เนี้ยของเสน่ห์ผู้อำนวยการสร้างด้วย

แม่

 

Advertisement

เป็นต้นฉบับแม่นากที่ตราตรึงอารมณ์ ประทับความทรงจำผู้ชมให้เล่าขานติดต่อกันมายาวนานอย่างซาบซึ้งใจ และทำรายได้อย่างคาดไม่ถึง ถึงล้านบาท เป็นแม่นากชิ้นที่ถูกกล่าวขวัญมากที่สุด จนอาจเรียกได้ว่าเป็นงานแสดงตัวตนและรสนิยมหนึ่งของคนไทยกึ่งพุทธกาล ที่กลายเป็นตำนานไปแล้ว

เรื่องเล่าของนางนากซึ่งอุ้มท้องรอผัวที่ไปรับราชการทหาร จนตายทั้งกลม ผัวกลับมาไม่รู้ ยังอยู่กินกันต่อขณะผีแม่นากคอยหลอกหลอนผู้คนที่จะเปิดปากเล่าความจริงแก่ผัวรัก

ฉากคลาสสิคที่แม่นากยืดแขนยาวลงไปเก็บมะนาวใต้ถุนเรือน ฉากห้อยโหนกับกิ่งไม้หลอกหลอน แหกอกแลบลิ้นปลิ้นตา ฉากวิ่งหนีผีไม่ว่าชาวบ้านหรือพระเณรเถรชี ล้วนเป็นฉากจำฉากเลียนแบบ ที่ไม่ว่าสร้างกี่ครั้งก็ต้องคงภาพเหล่านี้ไว้ให้วี๊ดว้าย หรือหัวเราะเฮฮา ขณะเดียวกัน ความรักของแม่นากที่แสดงออกตลอดเรื่องจนตอนท้ายที่เณรน้อยมากำราบ ร้องไห้คร่ำครวญก่อนจะตระหนักถึงบาปบุญคุณโทษที่ทำไป ก็เรียกน้ำตาผู้ชมได้ตลอดเช่นกัน

ความทรงจำจากหนังแม่นากชุดนี้ที่สร้างต่อมากี่หนๆ (โดยเฉพาะช่วงแรกที่ปรียา รุ่งเรือง เป็นนางเอกรวดเดียวถึง 4 ฉบับ 2502,2505, 2511,2521) จึงยิ่งสำทับให้แม่นากกลายเป็นผีชั้นนำขึ้นมา

ด้วยเนื้อหาที่มีแง่มุมรายละเอียดให้ซาบซึ้งกินใจผู้รับรู้อยู่ไม่จืดจาง

ยิ่งเป็นเรื่องจริงที่ยืนยันได้จากหลักฐานเอกสารที่  เอนก นาวิกมูล  นักค้นเรื่องเก่าเล่าไว้ในนิตยสาร  ศิลปวัฒนธรรม ว่าปรากฏในหนังสือสยามประเภท ที่นาย ก.ศ.ร.กุหลาบ  เขียนไว้แต่ปี 2442 ว่าอำแดงนากเป็นบุตรขุนศรี นายอำเภอ บ้านอยู่ปากคลองพระโขนง   ก็ยิ่งทำให้เรื่องกินใจขึ้นอีก เพียงแต่ผัวแม่นากในคอนแรกนั้น ‘เป็นภรรยานายชุ่ม’ ไม่ใช่พี่มาก

ชื่อ มาก มาปรากฏเอาตอนเรื่องนี้เป็นละครร้องเรื่อง อีนากพระโขนง ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ เมื่อปี 2455 ที่ระบุชื่อตัวละครว่า  นายมาก อายุ 35 สามีอำแดงนาก เป็นคนซื่อๆ

นี่คือส่วนหนึ่งของแม่นากพระโขนง วัดมหาบุศย์ ที่ยังมีผู้คนไปกราบไหว้ศาลอยู่ไม่ขาดสายกระทั่งปัจจุบัน.

 

ขอบคุณภาพจากเพจ วัดมหาบุศย์ แม่นาคพระโขนง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image