‘The Idol’ ความฝัน ความหวัง และอีกมุมของคนในฉนวนกาซ่า

 

หลายครั้งได้เห็นผ่านตากับเรื่องราวประเภทคนล่าฝันฝ่าฟันชีวิตจนประสบความสำเร็จ แต่คงต้องยอมรับว่าคงไม่มีเรื่องใดที่ชวนทึ่งได้เท่ากับ ‘The Idol คว้าไมค์ สู้ฝัน’ หนังของผู้กำกับชาวปาเลสไตน์ ฮานี อาบู – อัซซาด ซึ่งกำลังเข้าฉายที่เอสพลานาด รัชดาฯ, เมเจอร์รัชโยธิน และลิโด้

‘The Idol คว้าไมค์ สู้ฝัน’ ได้แรงบันดาลใจจากชีวิตของ โมฮัมเหม็ด อัสซาฟ (Mohammad Assaf) เด็กชายชาวลิเบีย ผู้เติบโตในค่ายผู้อพยพที่ฉนวนกาซ่า ซึ่งมีความใฝ่ฝันอยากจะเป็น ‘นักร้อง’

นอกจากเสียงดีที่เป็นพรสวรรค์ อัสซาฟก็แทบไม่มีสิ่งอื่นใดพอจะเอื้อให้ความฝันเป็นจริง เพราะสภาพความเป็นอยู่ในกาซ่าเรียกได้ว่าเข้าขั้น ‘ลำบาก’ ไหนจะระเบิดโจมตี ไหนจะอาหารการกินที่ขนาด ‘ปลา’ ยังถูกยกให้เป็นอาหารหรูของพระราชา ไหนจะความเชื่อของบางคนที่ว่าดนตรีเป็นเครื่องมือของปิศาจ

Advertisement

ทว่าเขาและพี่สาวซึ่งอยู่ในวัยไม่กี่ขวบก็พยายามเข้าไปใกล้ความฝันมากที่สุด ไม่ว่าจะด้วยการทำงานสารพัดตั้งแต่จับปลามาปิ้งขาย กระทั่งเป็นพนักงานส่งอาหารเพื่อหาเงินไปซื้อเครื่องดนตรีมือสองมาตั้งวงกับเพื่อน การตระเวนเล่นดนตรีตามงานแต่งเพื่อฝึกฝีมือ ฯลฯ

อย่างไรก็ตามการเจออุปสรรคเข้ามาทดสอบระลอกแล้วระลอกเล่าเป็นใครคงได้มีท้อบ้าง อัสซาฟเองก็เช่นกันที่ความล้มเหลว ความสูญเสียกัดกร่อนความฝันไปเรื่อยๆ แต่สุดท้ายแล้วเขาได้ก้าวข้ามมันไปจนสามารถขึ้นสู่เวทีประกวด ‘อาหรับไอดอล 2013’ ได้อย่างงดงาม

แม้จะเดาตอนจบได้ไม่ยากเช่นเดียวกับหนังล่าฝันเรื่องอื่นๆ แถมในอินเตอร์เน็ตยังมีประวัติของอัสซาฟให้อ่านอย่างละเอียด แต่น่าแปลกที่ตัวหนังกลับดึงดูดเราไว้ได้ตลอดทั้งเรื่อง มิหนำซ้ำยังสร้างอารมณ์ร่วมทั้งหัวเราะและน้ำตาคลอไปกับหลายฉาก

Advertisement

นั่นอาจเพราะเราไม่ได้พบปะเรื่องราวของฉนวนกาซ่าและผู้คนที่นั่นในมุมนี้สักเท่าไหร่ ทุกครั้งที่ได้ยิน ได้เห็นจากข่าวมักเป็นในแง่ของความสูญเสีย การตกเป็นเหยื่อความรุนแรง แต่ใน ‘The Idol คว้าไมค์ สู้ฝัน’ ทำให้ได้ฉุกคิดว่าคนในกาซ่าก็มีความหวัง ความฝันไม่ต่างจากเรา

เพียงแต่ความฝันนั้นต้องใช้แรงกาย แรงใจทุ่มเท ยึดมั่นกับมันให้มากหน่อย

อัสซาฟต้องใช้เวลาตั้งแต่เด็กจนโตในการกระตุ้นตัวเองให้รักษาความฝันไว้ การเดินทางไปออดิชั่นของเขาไม่ใช่ไปตระเวนสมัครตามภาคต่างๆ แบบในบ้านเรา แต่ต้องเดินทางออกจากฉนวนกาซ่า ถูกกักตัวเป็นวันๆ เพื่อโอกาสครั้งเดียวกับการไปออดิชั่นที่อียิปต์ ซึ่งถ้าพลาดก็ไม่รู้ว่าจะกลับเข้า “บ้าน” ได้อีกหรือเปล่า

ถึงอย่างนั้นก็น่าลอง หากนั่นเป็น ‘ทางรอดหนึ่งเดียว’ ที่ช่วยยกระดับชีวิตผู้อพยพอย่างเขา

the-idol-hany-abu-assad

นอกจากความพยายามของโมฮัมเหม็ด อัสซาฟที่น่ายกย่อง ผู้กำกับอัซซาดก็น่าชื่นชมไม่แพ้กัน เพราะหนังคงไม่เห็นภาพความเป็นอยู่ของชาวกาซ่าได้สมบูรณ์แบบนี้ ถ้าเขาไม่ยอมเสี่ยงถ่ายทำที่นั่นจริงๆ โดยใช้ทีมงานชาวปาเลสไตน์ ไม่เว้นแม้แต่เหล่านักแสดงวัยเด็ก ซึ่งลงทุนไปตระเวนออดิชั่นตามโรงเรียนต่างๆ จนได้เด็ก 4 คนมารับบทนำ

โดยอัซซาดให้สัมภาษณ์ไว้ว่า  “ผมมักถามตัวเองเสมอว่า ทำไมถึงอยากทำหนังเรื่องนี้และใช้เวลาเกือบสองปีของชีวิตกับการทุ่มเททำหนังเรื่องนี้ให้เสร็จสมบูรณ์ คำตอบมันง่ายและชัดเจนเลยว่าเรื่องราวของโมฮัมเหม็ด อัสซาฟ น่าทึ่งมาก จนตัวผมที่เพิ่งคว้ารางวัลในเทศกาลหนังเมืองคานส์ รู้สึกตื่นเต้นที่เห็นเขากำลังคว้าชัยในรายการอาหรับ ไอดอล มากกว่าตัวผมเองเสียอีก”

“ผมเห็นผู้คนกว่าพันคนรวมตัวกันที่จัตุรัสในกรุงนาซาเร็ธเพื่อฟังผลคำตัดสินรอบสุดท้ายของรายการ ผมกระโดดโลดเต้นราวกับเด็กและผมก็ไม่เคยรู้สึกตื่นเต้นแบบนี้มานานมากแล้ว จนกระทั่ง อาลี จาฟาร์ (ผู้อำนวยการสร้าง) เสนอให้ผมกำกับหนังเกี่ยวกับโมฮัมเหม็ด อัสซาฟ แขนผมก็ขนลุกซู่และผมรู้ทันทีว่าผมจะทำทุกอย่างเพื่อให้เรื่องราวของเขากลายเป็นหนังยอดเยี่ยมให้ได้”

แล้วเขาก็ทำได้อย่างที่พูดจริงๆ

และแม้จะเสียดายที่ตัวหนังไม่ได้ขึ้นคำแปลของบทเพลงซึ่งอัสซาฟร้องในช่วงเวลาต่างๆ เพราะเนื้อเพลงนั้นน่าจะช่วยขับตัวเรื่อง แต่อย่างที่ว่ากันว่า ‘ดนตรีเป็นภาษาสากลของมนุษยชาติ’ ดังนั้นต่อให้ฟังไม่ออก แปลไม่ได้ ทว่ากลับเข้าใจได้ถึงอารมณ์ความรู้สึก ณ ขณะนั้น

ที่สำคัญ ‘The Idol คว้าไมค์ สู้ฝัน’ ทำให้ซึ้งกับคำว่า ‘โลกนี้ยังมีคนลำบากกว่าเราเยอะ’

เราอึดอัดกับความเป็นอยู่ แต่คนอีกมากดิ้นรนเพื่อให้มีชีวิตอยู่

เราล้มเหลวจนเหมือนจะก้าวไปไม่ไหว แต่คนขาขาดกลับใช้ 2 มือถัดไปกับพื้นเพื่อไปข้างหน้า

แล้วจะกลัวอะไรในเมื่อวันนี้เรายังหายใจอยู่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image