ผู้กำกับดังโอดกลางวงเสวนา อยากให้ยุค ‘มิตร-เพชรา’ กลับมาอีก สร้างอะไรคนก็ดู

เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ที่มติชนอคาเดมี จัดกิจกรรมศิลปวัฒนธรรมเสวนา เรื่อง “ยุคทองของ ‘หนังไทย’ ถึงสิ้นยุคสมัย ‘มิตร-เพชรา'” วิทยากรโดย นายพุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู ผู้เชี่ยวชาญจากหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) และนายวิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ผู้กำกับภาพยนตร์และนักเขียนบทภาพยนตร์ เจ้าของผลงานอมตะ “ฟ้าทะลายโจร” ดำเนินรายการโดย นายเอกภัทร์ เชิดธรรมธร บรรยากาศภายในงานเป็นไปอย่างคึกคัก โดยระหว่างการเสวนามีการฉายตัวอย่างภาพยนตร์ไทยสมัยก่อนให้รับชม

นายพุทธพงษ์กล่าวว่า ‘นางสาวสุวรรณ’ เป็นหนังฮอลลีวูดที่มาถ่ายทำในประเทศไทย ซึ่งผู้กำกับเองอยากออกไปถ่ายทำที่ต่างประเทศ ก่อนหน้าจะมาไทยได้ไปถ่ายทำในหลายประเทศมาแล้ว และตั้งใจใช้คนไทยแสดง ทำให้เกิดความคิดว่าเรื่องนี้เป็นหนังไทยเรื่องแรก ความจริงแล้วเรื่องนี้มีตำแหน่งเป็นหนังอเมริกัน ทำให้ตอนเข้าฉายเกิดกระแสเรียกร้องจากคนไทยให้สร้างหนังไทยเองบ้าง ต่อมาช่วงรัชกาลที่ 7 มีปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ข้าราชการส่วนหนึ่งถูกให้ออกจากงาน ซึ่งข้าราชการบางส่วนในกลุ่มนี้รวมตัวกันสร้างหนังไทย ให้กรมรถไฟเป็นผู้ถ่าย ขณะที่ยังไม่ทันสร้างหนังกลับมีปัญหาภายใน จนมีอีกกลุ่มหนึ่งสร้างตัดหน้าคือ ‘พี่น้องวสุวัต’ ในชื่อโรงถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุง โดยหนึ่งนั้นในนั้นคือนายเภา วสุวัต ที่ทำงานในกรมรถไฟ และได้เข้าฉายก่อนในปี 2470 คือเรื่องโชคสองชั้น ภาพยนตร์เงียบซึ่งนับเป็นหนังไทยเรื่องแรกที่คนไทยสร้างและแสดงเอง

“พี่น้องวสุวัตสร้างหนังเรื่อยมา จนปี 2475 ได้สร้างภาพยนตร์เสียงเรื่องแรกของไทยคือ ‘หลงทาง’ ทำให้ไทยมีทั้งหนังพากย์และหนังพูด หรือหนังเสียง จากนั้นเกิดคู่ขวัญคู่แรกของไทยคือ จำรัส สุวคนธ์-มานี สุมนนัฏ ได้เล่นคู่กันเพียงไม่กี่เรื่อง ประกอบกับโรงถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุงทำงานโดยระบบฮอลลีวูด 2 คนนี้กลายเป็น 2 คนแรกและสุดท้ายที่มีเก้าอี้ประจำตัว ซึ่งนักแสดงก่อนหน้านั้นไม่เคยมี ถือเป็นยุคทองของเสียงศรีกรุง ต่อมาเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นยุคซบเซาของหนังไทย ขณะเดียวกันในปี 2485 เกิดน้ำท่วมใหญ่จนน้ำท่วมโรงถ่ายเสียงศรีกรุงเสียหาย จำรัสตายระหว่างสงคราม ซึ่งก่อนหน้านั้นมานีได้เลิกทำการแสดงแล้วเช่นกัน โดยสงครามคล้ายๆ เป็นฆาตกรตัดตอนวงการหนังไทย อย่างไรก็ตาม ช่วงสงครามเกิดมหรสพใหม่คือละครเวที เกิดนักแสดงละครเวทีขึ้น โดยภาพหลังการเป็นผู้รันวงการหนังไทยต่อมา” นายพุทธพงษ์กล่าว

Advertisement

นายพุทธพงษ์กล่าว ช่วงสงครามทำให้ทุกอย่างพักไป ฟิล์มภาพยนตร์ขนาด 35 มิลลิเมตร เริ่มหายาก ทำให้ฟิล์มขนาด 16 มิลลิเมตร เป็นที่นิยมมากกว่า โดยหนังไทยที่ถ่ายทำโดยฟิล์ม 16 มม.และประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามด้านรายได้คือสุภาพบุรุษหนังไทย กลายเป็นจุดเริ่มต้นยุคทองของหนังไทยอีกครั้ง คนสร้างหนังมากขึ้น มีผู้ชมมากขึ้น มิตร ชัยบัญชา เริ่มเล่นหนังราวปี 2501 ในยุคที่หนังไทยอยู่ตัวแล้ว โดยนักแสดงในยุคเดียวกันคือสมบัติ เมทะนี แต่ด้วยบุคลิก รูปร่างหน้าตาของมิตรที่จับใจผู้ชมมากกว่า จากบันทึกพบว่ามิตรแสดงหนังกว่า 300 เรื่อง และมี 172 เรื่องที่แสดงกับเพชรา เชาวราษฎร์ ขณะเดียวกันมิตรเป็นผู้ให้กำเนิด ‘คิวดารา’ เนื่องจากเล่นหนังเยอะ ต้องจัดลำดับคิวการแสดงโดยผลพวงจากหนัง 16 มม.คือพากย์ง่าย แม้ยุคนั้นจะมีทีวีเกิดขึ้นแต่ก็จำกัดพื้นที่ ภาพยนตร์เป็นสิ่งที่คนเข้าถึงง่ายกว่า เป็นสถานที่ที่เสมือนคนดูหลุดเข้าไปอยู่อีกโลกหนึ่ง ผู้ชมสัมผัสถึงขวัญใจตัวเองได้ด้วยการเข้าไปชม ซึ่งหนังที่มิตรแสดงล้วนดูง่าย ส่วนหนึ่งที่ฟิล์ม 16 มม.หายไปก็เพราะมิตรไม่อยู่แล้ว รวมถึงปรับเปลี่ยนเป็น 35 มม.ตามยุคสมัย

“หลังการเสียชีวิตของมิตรเป็นจุดเปลี่ยนให้หนัง 16 มม.หมดไป ต่อมาเพชรามีปัญหาเรื่องสายตา ออกจากวงการ ส่วนตัวเชื่อว่าถ้าวันนี้มิตรยังอยู่ก็ยังมีอิทธิพลในแวดวงหนังเช่นกัน” นายพุทธพงษ์กล่าว

Advertisement

นายวิศิษฏ์กล่าวว่า การถ่ายทำหนังสมัยก่อนมีเสน่ห์กว่าสมัยนี้ เท่าที่อ่านบันทึกพบว่านักแสดงและทีมงานมีใจรักการแสดงจริงๆ รวมถึงมีสิ่งใหม่ๆ ให้เรียนรู้ตลอดเวลา มุมกล้องยุคนั้นถือว่าใช้ได้ เพราะใช้กล้องใหญ่ มีการดอลลี่กล้อง ทั้งยังใช้เสียงนักแสดงจริง เพราะก่อนหน้านี้ราว 20 ปีใช้เสียงนักแสดงพากย์อยู่ สำหรับการใช้ฟิล์มขนาด 35 กับ 16 มม.ถ่ายทำหนังนั้น ในยุคหลังคือไม่ต่างกัน แต่ในโฆษณายุคหลังมักใช้ฟิล์มขนาด 16 มม.มากกว่า เพราะประหยัดงบ

“ในมุมมองคนดูหนังกลางแปลงสมัยมิตรทัน เสมือนตัวเองเกิดมาพร้อมมิตร คนดูหนังสมัยนั้นรักดารา และตามดูกันทุกเรื่อง ผู้สร้างหนังจึงพยายามสร้างให้มิตรกับเพชราคู่กันให้ได้ เพราะคนดูแน่นอน ถือเป็นคู่ขวัญแท้ๆ บุคลิกของมิตรเป็นคนน่ารัก เป็นกันเองกับผู้ชม เขาไม่ได้เล่นบู๊อย่างเดียว แนวตลกก็ได้ แนวชีวิตคนดูตามก็ร้อง เพชราสมัยนั้นสวยมาก เป็นรสนิยมของยุคนั้นที่ชอบมิตร-เพชรา ผมรู้สึกรักและอินกับหนังไทยมากกว่าหนังฝรั่ง

วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง

“วันที่มิตรตาย ผมยังเด็ก ที่โรงเรียนพูดกันแต่เรื่องนี้ เป็นข่าวใหญ่มาก หนังสือพิมพ์ลงเป็นเดือนเพราะคนไม่เชื่อว่าเขาตาย ต้องเอาศพให้ดู ในฐานะผู้สร้างหนัง ผมอยากให้ยุคมิตร-เพชรากลับมาอีก เพราะจะสร้างหนังอะไรก็ได้ มีแค่ 2 คนนี้คนก็ดูแล้ว” นายวิศิษฏ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงหนึ่งของเสวนา ผู้ดำเนินรายการเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานแสดงความเห็นในประเด็นชมหนังกลางแปลงยุคมิตร ชัยบัญชา ผู้ร่วมงานท่านหนึ่งยกมือตอบกลั้วหัวเราะว่า “ผมดูยันเช้าเลย”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image