รวมหนังสือห้ามอ่านในนิทรรศการ ‘Paradise of the Blind’ ความต้องห้ามที่เย้ายวน

อะไรที่มีป้ายแปะว่า “ต้องห้าม” ล้วนแต่เย้ายวนทั้งสิ้น

เย้ายวนด้วยความสงสัย ด้วยคำถาม ด้วยความฉงนถึงสาเหตุของความต้องห้าม

ที่ห้องสมุด The Reading Room กำลังมีนิทรรศการ SLEEPOVER#1: Paradise of the Blind โดย สุทธิรัตน์ ศุภปริญญา ซึ่งรวบรวมหนังสือต้องห้ามจากหลายประเทศทั่วโลกมาจัดแสดงแบบไม่ต้อมห้ามในการเปิดอ่าน โดยชื่อของนิทรรศการอย่าง Paradise of the Blind เป็นหนึ่งในหนังสือต้องห้ามของประเทศเวียดนาม และเป็นหนึ่งในรายชื่อหนังสือต้องห้ามในเอเชียและโอเชียเนีย

สุทธิรัตน์ ศุภปริญญา เริ่มทำงานศิลปะที่นำชื่อหนังสือต้องห้ามมาใช้เป็นชื่อผลงาน หรือที่มาของการสร้างผลงานศิลปะ ตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2558 เพื่อย้ำเตือนว่าการหลงเหลือแต่เพียงรายชื่อหนังสือต้องห้าม แต่มิอาจมีโอกาสได้อ่านเนื้อหานั้นสร้างจินตภาพใดได้บ้าง อีกทั้งภาวะต้องห้ามนั้นกลับค่าได้ด้วยการนำชื่อเรียกของมันมาใช้อีกครั้ง

Advertisement

Paradise of the Blind เกิดขึ้นด้วยวิธีคิดที่ว่า ในสรวงสวรรค์แห่งความมืดมิดของสภาวะต้องห้าม ที่เต็มไปด้วยการผลิตซ้ำ ความรุนแรง ความถูก-ผิดของกฏหมายที่ดิ้นได้ อำนาจควบคุมที่มาจากเบื้องบน และการทำลายทางความคิดอย่างเป็นรูปธรรม การทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นเรื่องราวหรือข้อมูลต้องห้ามเหล่านี้นั้น อาจสร้างสวรรค์แห่งศีลธรรมที่แยกจากความเป็นจริงบนโลก ทำให้ชีวิตไม่สัมพันธ์กับความเป็นจริง ไร้ความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสาร ขาดความเข้าใจความหลากหลายทางสังคม และไม่มีความอดทนอดกลั้นต่อความเป็นอื่น นรกหรือสวรรค์ที่เกิดขึ้นในใจของผู้อ่าน ที่สุดแล้วอาจขึ้นอยู่กับความสามารถในการจัดการความนึกคิด ความรู้สึก และการกระทำของตนเอง

และนอกจากนี้ในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 เป็นวันครบรอบ 50 ปี การเสียชีวิตของนักเขียนชาวไทย จิตร ภูมิศักดิ์ เพื่อเป็นการระลึกถึงและแสดงความเคารพ นิทรรศการนี้จึงได้รวมผลงานของจิตร ที่เคยเป็นหนังสือต้องห้ามเอาไว้ด้วย คือ “โฉมหน้าศักดินาไทย” ที่ถูกห้ามในปี 2520 ซึ่งผู้ชมสามารถเผชิญหน้ากับหนังสือต้องห้ามทั้งหมดได้จากสำเนาที่ได้ถูกตัดโดยเครื่องทำลายเอกสาร หรือจากหนังสือต้นฉบับที่มีอยู่ในห้องสมุด

นอกจากหนังสือโฉมหน้าศักดินาไทย ที่เคยถูกห้ามในอดีตแต่ปัจจุบันสามารถหาอ่านได้ทั่วไปตามปกติแล้วนั้น ยังมีหนังสือที่ถูกห้ามจากอีกหลายประเทศอาทิ จีน เวียดนาม สิงคโปร์ มาเลเซีย และเกาหลีใต้ด้วยสาเหตุที่แตกต่างกันไปตามดุลยพินิจของรัฐบาลในแต่ละยุคสมัยของแต่ละประเทศ

Advertisement

Paradise of the Blind เป็นผลงานของนักเขียนหญิงชาวเวียดนาม Duong Thu Huong ที่ตีพิมพ์ในปี 1988 และเป็นนวนิยายเวียดนามเรื่องแรกที่ได้รับการแปลและตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษที่ประเทศสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตามนวนิยายเรื่องนี้ถูกแบนในประเทศเวียดนามเพราะทัศนคติทางการเมืองที่ปรากฏในนวนิยาย โดยเล่าผ่านมุมมองย้อนกลับไปนึกถึงความหลังต่างๆในชีวิตของตัวละครเอก “ฮั่ง” ซึ่งกำลังเดินทางกลับไปเยี่ยมลุงของเธอด้วยรถไฟ

หนังสือต้องห้าม

นอกจากนี้ยังมีหนังสือเด็กที่โด่งดังระดับโลกอย่าง Alice’s Adventures in Wonderland หรือที่เรารู้จักกันในชื่ออลิซผจญภัยในแดนมหัศจรรย์ ผลงานของ ชาร์ล ลุดวิทซ์ ดอดจ์สัน ที่เคยถูกห้ามตีพิมพ์ในมณฑลหูหนาน ประเทศจีนในปี ค.ศ. 1931 ด้วยเหตุผลที่ว่า มีเรื่องราวของการบรรยายสัตว์ต่างให้มีสถานะที่เท่าเทียมกับมนุษย์ ไม่ใช่แค่เรื่องสถานะของสัตว์ที่เป็นปัญหา แม้แต่ความรักในเพศเดียวกันก็เป็นปัญหา เพราะเพื่อนบ้านใกล้ๆเราอย่างสิงคโปร์ ก็เคยสั่งห้ามหนังสือการ์ตูนสำหรับเด็ก And Tango Makes Three อยู่ในห้องสมุดอย่างเด็ดขาด เพราะว่ามีเนื้อหาเกี่ยวกับครอบครัวลูกนกเพนกวินกำพร้าที่มีพ่อแม่เป็นนกเพนกวินเพศชายสองตัว โดยเรื่องนี้เป็นเรื่องจริงเกี่ยวกับนกเพนกวินเพศผู้ 2 ตัวในนครนิวยอร์กที่เลี้ยงดูลูกเพนกวินตัวหนึ่ง ก่อนจะพ่ายกระแสกดดันจากสังคมและย้ายหนังสือไปไว้ในแผนกผู้ใหญ่ของห้องสมุดแทน

ขณะที่ตัวพ่ออย่างซัลมาน รัชดี (Salman Rushdie) ก็เจอคำว่าต้องห้ามแปะหน้าผากตลอดเวลา หนังสือเรื่อง The Satanic Verse กลายเป็นหนังสือต้องห้ามทั้งในอดีตและปัจจุบันในหลายประเทศทั่วโลก ผลงานของเขาทั้งหมดเป็นหนังสือต้องห้ามในมาเลเซีย ถึงเล่มนี้จะไม่เคยได้รางวัลอะไร แต่The Satanic Vers ถือเป็นนิยายที่โด่งดังสุดของรัชดี เพราะหลังจากตีพิมพ์ในปี 1988 โคไมนีผู้นำอิหร่านก็ประกาศว่านี่คือหนังสือต้องห้ามและออกคำสั่งประหารชีวิตรัชดี เพราะบางส่วนในหนังสือเกี่ยวพันไปถึงประวัติชีวิตของมาฮาว หรือศาสนาโมฮัมหมัด ตั้งแต่นั้นมารัชดีต้องใช้ชีวิตอยู่ภายใต้การคุ้มครองของเจ้าหน้าที่ตำรวจจนถึงปัจจุบัน

ส่วนประเทศที่มีแฟนคลับชาวไทยแบบมหาศาลอย่างเกาหลีใต้ก็มีหนังสือต้องห้ามเหมือนกัน โดยเป็นหนังสือชุดต้องห้ามสำหรับทหาร ซึ่งหนึ่งใน 23 เล่มที่ถูกสั่งห้ามเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 2008 นั้น คือ Year 501: The Conquest Continues โดย โนม ชัมสกี (Noam Chomsky)

จริงๆยังมีอีกเยอะมากในนิทรรศการครั้งนี้ ที่จัดถึงวันที่ 29 พ.ค. ณ ห้องสมุด Reading Room

เป็นหนังสือต้องห้ามที่หลายเล่มดูแล้วก็ให้รู้สึกสงสัยมาก ว่ามาได้อย่างไร

วิธีคิดบนพื้นฐานของความบ้าอำนาจนี่ ที่ไหนๆก็ดูตลกดีนะ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image