ชีวิตคนทำละคร ไม่ควรแขวนอยู่กับเรตติ้ง เรื่องจริงที่ค้นพบ

จากละคร ‘สะใภ้พาร์ทไทม์’ ที่ จ๋า-ยศสินี ณ นคร เริ่มทำหน้าที่เป็นผู้จัดละครให้ช่อง 3 เมื่อปี 2529 ถึงตอนนี้เธอมีผลงานละครแล้ว 12 เรื่อง คือ ‘จำเลยรัก ‘, ‘ใจร้าว’ , ‘น้ำผึ้งขม’ , ‘เงารักลวงใจ’ , ‘หัวใจแห่งขุนเขา’ ตอน ธาราหิมาลัย , ‘สามหนุ่มเนื้อทอง’ , ‘รักประกาศิต’ , ‘สุภาพบุรุษจุฑาเทพ’ ตอน คุณชายธราธร , ‘ทรายสีเพลิง’ , ‘รอยรักหักเหลี่ยมตะวัน’ , ‘รอยฝันตะวันเดือด’ , ‘นางอาย’ และ ‘เพลิงบุญ’ ที่ออกอากาศไล่เรียงกันมาแทบทุกปี บางปีมีหลายเรื่องอีกต่างหาก

อย่างไรก็ดีนับจากนี้จะห่าง-ห่าง

ด้วยเหตุว่า ไม่อยากเป็นเหมือนโรงงานอุตสาหกรรม

“มีช่วงหนึ่งรู้สึกว่าการผลิตละครของเราเหมือนอุตสาหกรรมมากไปไม่สุดกับละคร เหมือนไม่มีเวลา กองนี้ไปไม่ได้ ต้องมากองนี้ รู้สึกว่าไปได้ไม่เต็มที่ เลยอยากกลับมาทำแฮนด์เมดเหมือนเดิม”

Advertisement

แถมตอนนี้การแข่งขันด้านละครสูงนักก็ยิ่งอยากจะทุ่มเทให้เต็มที่ในทุกเรื่องที่ทำ

“พอทำเยอะเกินมือ มันก็ไม่สุดสักทาง”

การทำทีละเรื่องจึงน่าจะดีที่สุด

“พอทำงานมา 10 ปี มันเป็นจุดที่ต้องถามตัวเองว่าความสุขของการเป็นผู้จัดละครอยู่ตรงไหน เมื่อก่อนจะรู้สึกว่าคือต้องประสบความสำเร็จ เรตติ้งดี นั่นคือเราต้องเหนื่อยเฮือกตลอดโดยที่ไม่ได้โงหัวขึ้นมา แล้วรอความสำเร็จของละครเมื่อมันเสร็จ”

“แต่พอโตมาก็รู้สึกว่าการที่เราทำงานทุกวัน ไม่ใช่รอละครจบแล้วลุ้นว่าคนดูชอบไหม แล้วค่อยมีความสุขกับตรงนั้น มันไม่ใช่”

ที่ “ใช่” ควรจะเป็นการได้ทำงานด้วยความสุขในทุกๆ วันต่างหาก

“ละครออกไปแล้วคนจะชอบหรือไม่ ถือเป็นกำไร เลยเหมือนเป็นการปรับตัวเอง หาวิถีชีวิตที่เรามีความสุขไปได้ในทุกวัน ไม่อย่างนั้นงานผู้จัดละครจะทำให้เครียดมาก”

“กระแสหรือเรตติ้งไม่ใช่ทุกอย่างแล้ว แต่เราได้พูดในสิ่งที่เราอยากพูดหรือเปล่า คือความตั้งใจมากกว่า กระแสและเรตติ้งมาแล้วก็ไป ก็ดีนะถ้าละครได้เรตติ้งที่ดี กระแสที่ดี ถือว่าสิ่งที่เราต้องการถูกสื่อออกไปในวงกว้าง และแม้เรตติ้งน้อยหน่อย แต่มันก็ยังมีคนที่ได้รับสื่อและข้อความ อันนี้ถือว่าโอเค ไม่เป็นไร ไม่ได้เอาชีวิตไปขึ้นอยู่กับเรตติ้งและกระแสมากเหมือนเมื่อก่อน”

พูดง่ายๆ คือได้สื่อไปพร้อมๆ กับคนที่ดู ดูแล้วรู้สึกดี เท่านี้ก็พอ

“มีความรู้สึกว่าละครจบ 5 ทุ่ม ปิดทีวีก็ต้องนอนแล้ว อย่างน้อยเขาได้สนุกแล้วจบวัน นั่นแหละเราทำหน้าที่ของเราแล้ว”

ในฐานะคนทำเธอยังบอกว่า การที่หลายคนนิยมดูละครย้อนหลังทางแพลตฟอร์มอื่นๆ ซึ่งส่งผลต่อตัวเลขผู้ชมหน้าจอทีวี และกระทบต่อเนื่องถึงงบโฆษณานั้น “ไม่มีปัญหาเลย”

“เราต้องไม่ยึดติดกับแพลตฟอร์ม ยังไงทีวีก็คือเอ็กซ์คลูซีฟ ทุกคนทำคอนเทนต์ได้ ทำลงแพลตฟอร์มอะไรก็ได้ แต่คนที่เอ็กซ์คลูซีฟเท่านั้นที่จะได้ทำลงทีวี เพราะฉะนั้นมันต้องมีจรรยาบรรณ มีความรับผิดชอบต่อสังคม เพราะเราต้องให้เกียรติว่านี่คือการทำทีวีที่มันถึงทุกคน เป็นสื่อที่มีมาตรฐาน ถ้าขึ้นมาตรงนี้ได้ก็ต้องระวังตัวมากกว่าที่จะไปทำสื่ออื่น”

กับแนวทางของละครโทรทัศน์ที่จะเป็นไปในอนาคตนั้น-จะมีความเป็น ‘เรื่องจริง’ มากขึ้น

“เมื่อก่อนเราดูละครโดยที่ไม่มีสื่ออื่น พอเริ่มมีเรียลิตี้ทีวีคนก็เริ่มเห็นชีวิตจริงๆ ที่มันไม่หล่อ เพราะฉะนั้นละครก็เริ่มเป็นกึ่งเรียลิตี้ เริ่มมีความเป็นจริง บทโทรทัศน์ต้องปรับไม่ให้เป็นภาษาละคร ไม่มีการคุยคนเดียวกับตากล้อง ต้องตัดออกอะไรที่เป็นละครมาก คนจะไม่ไหว มันหลอกไป มันขนลุก”

ขณะเดียวกันยังมีการสื่อสารแบบทูเวย์มากขึ้น ดังนั้นถ้ามีกระแสอะไรมาถึง ไม่ว่าจะเป็นด้านไหน “อย่าไปต้าน”

“ให้สนุกกับมัน อย่าไปเถียง เล่นไปด้วย มีคำถามอะไรที่ตอบได้ ตอบเลย แล้วคนดูจะสนุกไปกับเรา ไม่ใช่มีกระแสอะไรมาแล้วตั้งป้อม ปิดรับ คนมีคำถามแปลว่าเขาดูงานของเรา”

ในส่วนของตัวเรื่อง ที่ส่วนใหญ่มักมาจากบทประพันธ์นั้น เธอว่าจะเลือกจากแก่นของเรื่อง แล้วปรับสิ่งแวดล้อมเอา

“เพราะบทประพันธ์ แก่นก็คือรัก โลภ โกรธ หลง ความรักของคนสมัยนั้นกับสมัยนี้มันก็คือความรัก ผู้ชายจะมีเมียน้อย รูปแบบการนอกใจก็เหมือนเดิมทุกสมัย แต่รายล้อมทั้งหมดก็ปรับให้เข้ากับยุคมากขึ้น”

อย่างเช่นบุคลิกตัวละคร “คนจะมีภาพจำเกี่ยวกับส้วม (จาก ‘เขาวานให้หนูเป็นสายลับ’ ) ว่าแก่น ก๋ากั่น ซึ่งถ้าทำในวันนี้ให้เป็นเด็กสาวก๋ากั่น กระโดดถีบ คุมวิน มีลูกน้อง คนดูรำคาญทันที แต่แก่นของส้วมคือเป็นผู้หญิงที่ต้องเอาตัวรอด ส้วมยุคนี้ก็ต้องเจ้าเล่ห์ ต้องสู้ในแบบของตัวเอง ซึ่งอันนี้เรากำลังสู้กับความคาดหวังของคน ซึ่งทำอย่างไรก็ไม่ดี ทำแบบเดิมคนก็ด่า ทำใหม่คนก็เปรียบเทียบ ก็ต้องค่อยๆ เล่า”

บอกอีกว่าคนทำงานอย่างเธอ การปรับตัวให้ทันกับผู้ชมเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง ด้วยเหตุนี้ “ล่าสุดก็อ่านฟิกวายแล้ว” เล่าพลางหัวเราะ

“ตราบใดที่เรายังปรับตัว ผลงานของเราก็จะสดชื่น ที่สำคัญเราจะเข้าใจคนดู คนดูเปลี่ยนทุกวัน ถ้าเรานั่งที่เดิม เฉยๆ มันไม่สนุก ถ้าปรับจะสนุก ว่าเด็กกับผู้ใหญ่คิดแบบไหน ฟังเขาแล้วเราจะได้เล่าเรื่องไปด้วยกัน เพราะเราจะรู้ว่าเขาอยากดูอะไร อยากฟังอะไร”

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image