ตู้หนังสือ : พ.ศ.นี้แล้ว ยังไม่พ้นมายาพม่าไทย

แม้เป็นเรื่องหลายปีมาแล้ว แต่ยังไม่พ้นทศวรรษก็ยังถือว่าเป็นเวลาร่วมสมัย ที่ลูกสาววัยประถมศึกษาของคนรู้จักคุยกับพ่อถึงเพื่อนพ่อที่จะมาพักด้วยสัปดาห์นั้น ว่าเป็นชาวอะไร เพราะพ่อมักมีเพื่อนต่างชาติแวะเวียนไปมาเสมอ พ่อบอกว่าเป็นชาวพม่าจ้ะ-ลูก ลูกสาวก็ว่า เอ๊ะ-เพื่อนพ่อก็เป็นศัตรูกับเราสิ

คำปรารภชวนตกใจของลูกบนโต๊ะอาหารนี้ ใครเจอเข้าไปคงจังงัง ว่าลูกไปรับความคิดนี้มาจากไหน โรงเรียนให้ความรู้อะไรแก่ลูกกลับบ้าน

คงต้องตั้งหลักอธิบายกันนาน หรือเผลอๆ อาจอธิบายไม่ถูกเอา หรือลูกที่อยู่ในวัยจดจำยังไม่มีวุฒิภาวะพอจะเข้าใจความรู้อันเกิดจากการวิเคราะห์วิจารณ์ได้

อย่าว่าแต่วัยประถมศึกษาเลย หรือพูดอีกที ก็ไม่เพราะจดจำมาตั้งแต่วัยประถมศึกษานี่หรือ ที่ยังทำให้คนจำนวนมากมองเห็นพม่าเป็นศัตรูคู่แค้นมาแต่ไหนแต่ไร โดยเฉพาะการเสียกรุงครั้งที่สองว่าถึงกับเผาบ้านเผาเมือง

Advertisement

ซึ่งระยะหลังๆ มานี้แง่มุมการศึกษาใหม่พิเคราะห์หลักฐานที่มี บอกได้กระทั่งว่า พม่ามิได้ถึงกับเผาเมืองอย่างที่เคยเข้าใจกัน การทรุดโทรมของอยุธยาส่วนสำคัญเป็นเพราะขนอิฐหินรื้อรากกำแพงมาสร้างเมืองหลวงใหม่นั่นเอง

น่าเสียดายที่กระบวนการเรียนรู้ในห้องเรียนของเราล่าช้า ไม่ทันเหตุการณ์ไม่ทันความคิดของผู้คน หลักฐานการเรียนต่างๆ ที่ควรสอนควรศึกษากันในห้องเรียน จึงยังเป็นตำราโบราณที่ท่องกันมาเป็นนกแก้วนกขุนทอง การเรียนรู้ใหม่ไม่ว่าจะผิดหรือถูกอย่างไร กลายเป็นความคิดความรู้นอกห้องเรียน ซึ่งไม่ถูกปลุกให้ผู้คนขวนขวายหาอ่าน ที่หากไม่เริ่มเสียแต่เดี๋ยวนี้ กว่าความเข้าใจจะเกิดขึ้นก็ต้องยืดเวลาไปอีกยาว น่าเสียดายปัญญาที่เสื่อมไปตามเวลาเหล่านั้น

สิ่งสำคัญในการศึกษาเรื่องใดก็ตาม ก็คือความต้องการข้อมูลรอบด้าน ถ้ามีพอให้หาเรียนรู้ได้ บรรดานักเรียนนักศึกษา (คนสามัญทั่วไปที่ไม่จำเป็นต้องเป็นนักเรียนนักศึกษาในเครื่องแบบ) ทั้งหลายมักจะรีบหามาเรียนด้วยความอยากรู้ ในกรณีสงครามไทยพม่านี้ เราทั้งหลายเรียนจากข้อมูลฝ่ายเดียว แม้มีคนไม่น้อยอยากรู้ข้อมูลอีกด้าน ก็ไม่เคยมีโอกาสว่าจะเรียนรู้ได้อย่างไร ว่าฝ่ายพม่าพูดถึงกรณีเดียวกันนั้นๆ อย่างไรบ้าง

Advertisement

จนวันนี้ นักการศึกษาหรือนักประวัติศาสตร์สมัยใหม่ พยายามตอบสนองความสนใจของตัวเอง เพื่อเปิดมุมมองอื่นๆ แก่การศึกษาและสังคม ได้สร้างโอกาสดังกล่าวขึ้น เพื่อให้คนอยากรู้ได้รู้ เพื่อให้การเรียนการสอนไม่ล้าหลัง

“พม่ารบไทย ว่าด้วยการสงครามระหว่างไทยกับพม่า” ของอาจารย์ “สุเนตร ชุตินธรานนท์” เปิดเผยเรื่องสงครามพม่าที่เกิดกับไทย ที่ปรากฏในพงศาวดารพม่าฉบับต่างๆ ซึ่งมีสาระและมุมมองที่หาอ่านไม่ได้จากเอกสารไทย สิ่งที่ยืนยันได้ว่ายังมีผู้คนสนใจศึกษานอกห้องเรียนอีกมากมายก็คือ หนังสือเล่มนี้พิมพ์ถึงครั้งล่าสุดหนที่ 14 แล้วในปีนี้

นอกจากนี้ ผู้เขียนยังเพิ่มเติมบทความที่เขียนขึ้นใหม่อีก 3 เรื่องคือ จากพงศาวดารพม่ารามัญถึงคำให้การของชาวอังวะ-ข้อค้นพบและการตีความใหม่, บางกอก-กรุงธนบุรีในแผนที่พม่าโบราณ, พระวิสุทธิเทวี กษัตรีแห่งล้านนา

ข้อมูลใหม่เหล่านี้จะพลิกความรู้และความเข้าใจเดิมที่เล่าเรียนสืบกันมาในแวดวงวิชาการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยพม่าไปอีกมุม

วันนี้ คำเก่าที่เคยใช้กัน และคนดังกล่าวที่เรียกกันว่า “คงแก่เรียน” ดูจะหายไปจากสังคมแล้ว

– นายพลนักเขียนที่นักอ่านรู้จัก “พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก” จับเรื่อง “อินจัน ฝาแฝดสยาม” ให้คนรุ่นหลังได้เข้าใจว่า แฝดคู่นี้มิได้เป็นคนที่เกิดมาน่าสมเพชเวทนาแต่อย่างใด ตรงกันข้าม แฝดซึ่งเกิดบนแพริมน้ำแม่กลองซึ่งถูกฝรั่งซื้อไปตอนวัย 18 เพราะเห็นประหลาดคู่นี้ สามารถก่อร่างสร้างฐานะ จนใช้ชีวิตได้สมบูรณ์ มีทายาทสืบมาถึงปัจจุบัน 7 รุ่น 1,500 คน และส่วนหนึ่งได้มาคารวะอนุสรณ์บรรพบุรุษที่แม่กลองเมื่อพฤษภาคมที่ผ่านมานี้เอง

เรื่องของอินจันน่ารู้น่าพิศวง หลังจากถูกซื้อตัวมาตระเวนแสดงทั่วสหรัฐ จนเกิดความรักกับสาวชนบทสองพี่น้อง แต่งงานกันจนมีลูกถึง 21 คน มีชื่อเสียงและมีอายุยืนยาวถึง 63 ปีเกินกว่าคู่แฝดใดๆ ซึ่งล้วนมีวัยสั้นกว่ามากมายนี้ กินอยู่อย่างไร ขับถ่ายอย่างไร หลับนอนใช้ชีวิตสมรสกับภรรยาอย่างไร ไม่ว่าผู้ใดในโลกก็อยากรู้ อยากหาคำตอบ

หนังสือเล่มนี้เป็นโอกาสดี


“ทศกุมารจริต” หนังสือปกแข็งเล่มใหญ่โต กว้างเกือบฟุต ซึ่งมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 ทรงเจริญพระชนมพรรษา 7 รอบปี 2559

เป็นนิยายร้อยแก้วภาษาสันสกฤต ที่เพิ่งได้รับการแนะนำโดยบรรดาอาจารย์ชั้นเยี่ยมไปเมื่อตุลาคมที่ผ่านมานี้เองที่ศูนย์สิริกิติ์ ว่าเป็นงานซึ่งรู้จักกันแพร่หลายของกวีและนักทฤษฎีวรรณคดีสันสกฤตผู้มีชื่อเสียงในคริสตศตวรรษที่ 7 “ทัณฑิน” เรื่องของชายหนุ่มสิบคนที่ออกผจญภัยแต่พลัดกัน เมื่อกลับมาพบกันอีกครั้งจึงผลัดกันเล่าเรื่องของตนสู่กันฟัง

นิยายเรื่องนี้อุดมคุณค่าวรรณศิลป์ แสดงภาพสังคมอินเดียและวิถีชีวิตผู้คนซึ่งไม่เคยปรากฏในวรรณคดีสันสกฤตเรื่องอื่น ทั้งแสดงค่านิยม ความเชื่อ ของชาวอินเดียโบราณที่ควรแก่การศึกษาด้านภารตวิทยา และแนวทางเนื้อหายังสอดคล้องกับวิถีวรรณคดีไทย เช่นการผจญภัยแบบจักรๆวงศ์ๆ (ซึ่งรับมาจากอินเดียนั่นแหละ) การอุ้มสม เป็นต้น

จึงนอกจากอ่านสนุกแล้วยังเป็นการศึกษาวรรณคดีเปรียบเทียบได้ด้วย

– รู้จักแม่มะลิไหม มิใช่กวยจั๊บน้ำข้นแม่มะลิโชคชัย 4 ขวัญใจคนนอนดึก แต่เป็นฮิปโปโปเตมัสที่อยู่มาถึง 52 ปีแล้ว ขวัญใจตลอดกาลของคนเที่ยวสวนสัตว์เมืองกรุง “เนชั่นแนล จีออกราฟิก” ฉบับย้อนตำนาน 80 ปี เขาดิน ซึ่งในยุคที่ไม่มีห้างสรรพสินค้าให้เดินเล่นเย็นๆ แอร์ ใครต่อใครก็มักอุ้มลูกจูงหลานไปพักผ่อนหย่อนใจกันในที่นี้ นิตยสารที่งามด้วยภาพ ดีด้วยเรื่องฉบับนี้ ยังมีความจริงที่ต้องรู้เกี่ยวกับน้ำมันปาล์มที่เรากินๆ กันเข้าไป และเรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับนักล่าไบเบิล นอกเหนือจากทางรอดของเสือพูมาแห่งปาตาโกเนีย ที่เกิดจากการท่องเที่ยว

สิ่งน่าชมเกี่ยวกับนิตยสารพากย์ไทยเล่มนี้คือ มาตรฐานของการนำเสนอ นอกจากรูปเล่มหน้าตาอันเป็นแบบฉบับและภาพเนื้อหาแล้ว การใช้ภาษาไทยหมดจดครบถ้วน ด้วยการสะกดอักษรไทยออกเสียงอ่านชื่อต่างชาติทั้งหลาย อย่างถูกต้องชัดเจน ทั้งชื่อคนและสถานที่ มิได้ทิ้งภาษาต่างชาติเป็นอักษรโรมันไว้ให้คนอ่านอ่านเอง อันกลายเป็นวิธีปฏิบัติกันอย่าง “มักง่าย” ของสื่อไทยปัจจุบันไปแล้ว

เช่น คุณพ่อ ชอง-มิเชล เดอ ตาร์รากง, ม้วนหนังสือเดตซี, หนังสือโคเดกซ์ ไซนายติคัส, ฆอร์เฆ การ์เดนัส, อาร์ตูโร โกรเอเฆร์ บีดัล ฯลฯ โดยไม่ต้องให้ผู้อ่านเดาผิดเดาถูก ว่าจะออกเสียงอย่างไรหว่า จากการทิ้งชื่อในอักษรโรมันไว้ง่ายๆ ไม่รับผิดชอบที่จะออกเสียงถูกต้องให้ผู้อ่านฟัง ตรงไหนจำเป็นต้องวงเล็บภาษาโรมันให้รู้ก็วงเล็บไว้ท้ายคำอ่าน เช่น Dead Sea Scrolls หรือ Codex Sinaiticus เป็นต้น

 


บรรณาลักษณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image