อคติคงค้าง เมื่อโลกไซไฟ-แฟนตาซี (ในร้าน) ยังเป็นของนักเขียนชาย

ในวันที่โลกก้าวไปไกลขนาดนี้ ยังคงมีบางแง่มุมที่ว่าด้วยอคติระหว่างเพศกับความสามารถทางการงาน ที่เร้นอยู่ในสังคมอย่างเงียบๆ

แม้กระทั่งในโลกของการเขียน

เว็บไซต์ BookRiot มีบทความหนึ่งที่ตั้งคำถามขึ้นมาว่า “ทำไมนิยายแฟนตาซีที่เขียนโดยนักเขียนหญิง ถึงมักถูกจัดให้ขายอยู่ในหมวดหนังสือวัยรุ่น Young Adult?” ในขณะที่นิยายแฟนตาซีจากนักเขียนชาย ถูกจัดให้ขายให้กลุ่มไซไฟ วิทยาศาสตร์ ทั้งที่งานเขียนไม่น้อยจากนักเขียนหญิง คือแฟนตาซีจัดๆ จ๋าๆ ที่นักอ่านทั่วโลกต่างยอมรับ

Mya Nunnally ตั้งข้อสังเกตว่า นี่คือการกีดกันทางเพศอย่างหนึ่งที่คนทำการตลาดเองก็ไม่รู้ตัวหรอก แต่เพราะนักการตลาดส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่ที่เติบโตมาในยุคสมัยที่เชื่อว่าโลกของแฟนตาซี จินตนาการแบบล้ำยุค ความไซไฟ ความดิสโทเปียทั้งหลายคืองานสร้างสรรค์ของนักเขียนชาย

Advertisement

“เป็นการจัดประเภทนิยายด้วยอคติที่ผิดพลาดมาก จินตนาการและไซไฟไม่ใช่พื้นที่สำหรับผู้ชายเท่านั้น ดูอย่าง The Hunger Games ซิ แน่นอนว่าเป็นผู้หญิงเขียน แต่คุณปฏิเสธถึงความแฟนตาซีของมันได้หรือเปล่า และมันก็กลายเป็นหนังสือที่นักอ่านแนวนี้ห้ามพลาด ทั้งที่ถูกจัดขายไว้ในกลุ่ม YA (Young Adult) ด้วยซ้ำ”

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานาน และนักเขียนหญิงแนวแฟนตาซีทั้งหลายก็รู้ดี หลายคนแก้ไขด้วยการตั้งนามปากกาเป็นผู้ชาย หนึ่งในเหตุการณ์ที่เล่าขานกัน ก็คือ แฟนตาซีขึ้นหิ้งที่เป็นแรงบันดาลใจให้แก่แฮร์รี่ พอตเตอร์ อย่าง Wizard of Earthsea ของ Ursula K. Le Guin ที่เสนอต้นฉบับไปสำนักพิมพ์ช่วงแรกๆ ก็ไม่มีใครยอมพิจารณาเลย โดยให้เหตุผลกับเธอมาว่าผู้หญิงจะเขียนแฟนตาซีสนุกได้อย่างไร Ursula K. Le Guin เลยตัดสินใจส่งใหม่ โดยเปลี่ยนนามปากกาให้เป็นตัวย่อคือ U. K. Le Guin และก็ได้พิมพ์ทันที จนกลายเป็นแฟนตาซีชื่อดัง ที่เป็นแรงบันดาลใจให้นิยายพ่อมดแม่มดในยุดถัดๆ มา แม้กระทั่ง J. K. Rowling ก็เคยให้สัมภาษณ์ว่าที่ใช้ชื่อย่อก่อนเปิดเผยตัวหลังหนังสือดังนั้น ก็เป็นเพราะไม่อยากให้นักอ่านรู้ว่าเป็นนักเขียนหญิงก่อนนั่นเอง

Advertisement

จนถึงปัจจุบัน การกีดกันทางเพศแบบไม่รู้ตัวยังคงมีอยู่ในนิยายแฟนตาซีและวิทยาศาสตร์ แม้ว่านิยายแฟนตาซีจะกลายเป็นตลาดใหญ่ของนักเขียนหญิงก็ตาม เพราะนักการตลาดยังคงจับงานแฟนตาซีจ๋าๆ ของนักเขียนหญิงไปอยู่ในหมวด Young Adult อยู่เรื่อยๆ จนกลายเป็นข้อถกเถียงหลายครั้ง ทั้งระหว่างนักเขียน นักอ่าน และร้านหนังสือ

แม้กระทั่งในเวลาในเว็บไซต์ theguardian ที่ลงสัมภาษณ์นักเขียนหญิงที่เขียนงานไซ-ไฟ มักมีคอมเมนต์ที่ถกเถียงว่านี่ใช่งานไซไฟหรือไม่อยู่เสมอ

Samantha Shannon ผู้เขียนซีรีส์แฟนตาซีเรื่อง The Season Season ซึ่งมักจะถูกจัดให้วางอยู่ทั้งในหมวดหนังสือผู้ใหญ่ และ YA มองเห็นแนวโน้มของการแบ่งแยกที่ชัดมากขึ้นในตลาดหนังสือ และเธอก็สงสัยว่านั่นคือสิ่งที่ถูกต้องแล้วจริงๆ หรือ

“ฉันสงสัยว่างานของนักเขียนชายมีแนวโน้มที่จะถูกจัดหมวดหมู่โดยอัตโนมัติ ให้เป็นหนังสือสำหรับเด็กหรือวัยรุ่นน้อยลง ในขณะที่หนังสือจากนักเขียนหญิงมักจะถูกติดป้ายว่าเป็นหนังสือสำหรับผู้ใหญ่ และ YA มากขึ้น เพราะหมวดนั้นถูกสร้างโดยผู้หญิง และมีตัวละครหญิงที่แข็งแกร่งอย่างในเรื่อง The Hunger Games”

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าฝ่ายการตลาดจะจัดหมวดหนังสือแบบชวนสงสัย แต่สำหรับคนอ่านแล้วพวกเขาไม่สนใจมากนัก ผู้อ่าน YA มีช่วงอายุที่กว้างมากขึ้น กว่า 55% ไม่ถูกชี้ชวนด้วยการจัดหมวดอีกแล้ว

Kate McHale นักอ่านที่ชื่นชอบทั้งงาน YA, ไซไฟ และ แฟนตาซี กล่าวว่า การจัดหมวดหมู่หนังสือของร้านแค่ทำให้พวกเขาหาหนังสือได้ง่ายขึ้นเท่านั้น และหลายครั้งก็ไม่ใช่ประเภท แต่เป็นเพียงช่วงอายุที่เหมาะสมเท่านั้น อย่าง YA เป็นต้น ความคิดที่แยก YA เป็นหมวดประเภท เช่นเดียวกับที่แยกเป็นไซไฟหรือแฟนตาซีสำหรับเธอแล้ว จึงไม่เข้าท่าเอาซะเลย

 

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image